Mouchette (1967)

สำรวจชีวิตของเด็กหญิงผู้บอบช้ำในวันที่โลกผลักไสเธอจนไร้ที่ยืน

Mouchette คือผลงานที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘มาสเตอร์พีซฝาแฝด’ กับ Au Hasard Balthazar (1966) เพราะทันทีที่เบรสซงเสร็จภารกิจกับหนังชิ้นก่อนหน้า เขาได้ทำการสานต่องานชิ้นต่อไปที่จะลงไปสำรวจประเด็นความอึดอัดคับข้องของคนชายขอบในเขตชนบทของฝรั่งเศสอีกครั้ง หนังส่งเขาไปรับรางวัล OCIC Award ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ (หลังจากพ่ายแพ้ในเวทีรางวัลใหญ่ที่ตกเป็นของ Blowup ของมิเกลันเจโล อันโตนิโอนี) ว่ากันตามตรง นี่คือหนังที่หนักหน่วง ไม่ใช่เพียงในแง่เนื้อหาสาระที่มันว่าด้วยความโหดร้ายทารุณที่เด็กหญิงถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด แต่รวมไปถึงวิธีการบอกเล่าที่เบรสซงเลือกจะไม่อาศัยสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบมาเจือจางความรุนแรงเหล่านั้น เหมือนที่เขาเคยทำใน Au Hasard Balthazar

หนังบอกเล่าเรื่องราวของมูเช็ตต์ (นาดีน นอร์เตียร์) เด็กหญิงบ้านนอกที่ต้องเลี้ยงดูคุณแม่ที่ป่วยนอนติดเตียง ขณะที่พ่อของเธอก็ดูจะไม่แยแสเธอกับแม่มากนัก แม้กระทั่งที่โรงเรียน มูเช็ตต์ต้องรับมือกับความเข้มงวดกวดขันของคุณครูและเพื่อน ๆ ลูกหลานคนมีอันจะกินที่ดูจะไม่เปิดอกเปิดใจยอมรับเธอเท่าใดนัก เหล่านี้ดูจะสะท้อนความผันแปรที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสยุคหลังสงครามโลก ทั้งความขัดสนที่กำลังแผ่ขยาย ทุนนิยมและวัตถุนิยมที่กำลังรุกคืบ ตลอดจนจิตใจของผู้คนที่กำลังบอบช้ำและเสื่อมศรัทธา อย่างช้า ๆ มันหล่อหลอมให้มูเช็ตต์เรียนรู้ที่เก็บงำความเจ็บปวดไว้กับตนเองโดยไม่ปริปากบ่นใด ๆ

เบรสซงขึ้นชื่อในด้านการบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาษาภาพ ฉากหนึ่งที่น่าจะอธิบายวิธีที่เขาถ่ายทอดความอึดอัดคับข้องเหล่านี้ได้อย่างกระจ่างชัด คือ ตอนที่มูเช็ตต์เข้าไปเล่นรถบั๊มพ์ ณ สวนสนุก หนังเชื้อเชิญให้คนดูสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ ระหว่างที่เธอถูกรถคันแล้วคันเล่ากระแทกซ้ำ ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน ทว่าแทนที่จะตอบสนองด้วยความเดือดดาล ใบหน้าของมูเช็ตต์กลับเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มแห่งความปลื้มปิติ และมันนำพาให้เธอมาพบกับชายหนุ่มผู้น่าหลงใหล ทว่าจนแล้วจนรอดมันไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากคุณพ่อผู้เข้มงวดเข้ามาขวางเขาและเธอก่อนจะตบตีสั่งสอนเธออย่างดุเดือด

มูเช็ตต์ที่กำลังบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจเดินโซซัดโซเซจนกระทั่งหลงทางเข้าไปในป่า จนกระทั่งเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างนายพรานขี้เมาและคนเฝ้าสัตว์ป่าที่ลงไม้ลงมือจนมีฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต มูเช็ตต์ได้รับผลกระทบและถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนนำไปสู่บทสรุปที่ถูกพูดถึงและตีความกันอย่างแพร่หลายในฉาก ‘ความพยายามสามครั้ง’ ของมูเช็ตต์ ที่จะกลิ้งตัวลงจากเนินสูงลงไปยังหนองน้ำเบื้องล่าง นัยยะของการปล่อยกายและใจไถลกลิ้งลงไปตามแรงโน้มถ่วงสะท้อนชีวิตของมูเช็ตต์ได้เป็นอย่างดี เธอใช้ชีวิตอย่างเอนอ่อนไปตามแรงผลักของสังคม ทำงานหนักไม่เคยบ่น แต่จนแล้วจนรอด สิ่งที่เธอได้รับกลับมากลับมีเพียงความโหดร้ายอย่างทารุณ

บางที ความพยายามถึงสามครั้งสามคราอาจจะบ่งบอกถึงความแน่วแน่ว่าเธอหมดสิ้นความหวังในการอาศัยอยู่บนโลกอันโหดร้ายนี้เพียงใด และแง่หนึ่งก็ดูจะหยอกล้อไปกับฉากเปิดเรื่องได้อย่างคมคาย ในตอนที่นายพรานขี้เมาลักลอบเข้าไปวางลวดหนามกับดักและซุ่มรอให้ไก่เข้ามาติดบ่วง โดยมียามผู้สังเกตการณ์คอยแอบดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อมีไก่เข้ามาติดกับนายพรานไม่ออกไปโดยทันที เพียงแต่เฝ้ารอจนกระทั่งยามเปิดเผยตัวตนและเดินเข้าไปปลดลวดหนามจากคอของเหยื่อ บางทีมูเช็ตต์คงจะเหมือนกับไก่ตัวนั้นกระมัง เธอคือเหยื่อของสังคมชายเป็นใหญ่ วันใดโชคดีอาจจะรอดพ้นเรื่องราวความทุกข์ร้อนในวันนั้นไปได้ แต่คำถามที่สำคัญ คือ เธอจะรอดไปได้อีกสักกี่วัน

Grade: B+

Directed by Robert Bresson
Produced by Anatole Dauman
Screenplay by Robert Bresson
Based on Mouchette by Georges Bernanos
Starring Nadine Nortier, Jean-Claude Guilbert, Marie Cardinal, Paul HebertMusic by Jean Wiener, Claudio Monteverdi
Cinematography by Ghislain Cloquet
Edited by Raymond Lamy

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s