Malignant (2021)

ในวันที่จิตใจและร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายที่ไม่อาจรักษา


ความน่าสะพรึงกลัวในหนังสยองขวัญเรื่อง Malignant ของเจมส์ วาน คือการที่มันพูดถึง ‘เนื้อร้ายที่ไม่อาจกำจัดได้’ และในทำนองเดียวกับมะเร็ง ยิ่งเวลาผ่านไปมันยิ่งดูดกลืนพลังจากเจ้าของร่างกายจนถึงจุดที่ก้อนเนื้อขนาดย่อมกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายและความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง นั่นคือตอนที่ผลงานล่าสุดของเจมส์ วานยิ่งทวีความลึกลับซับซ้อนเข้าไปอีก เมื่อประเด็นดังกล่าวถูกผูกโยงเข้ากับความเปราะบางของจิตใต้สำนึก ซึ่งมองจากไกล ๆ ก็ชวนให้ตั้งคำถามไปได้ถึงความสัมพันธ์และการถ่วงดุลระหว่าง Id, Ego และ Superego (มีฉากหนึ่งที่ตัวละครพยายามจะอาศัยกลไกทางจิตวิเคราะห์มาช่วยไขกระจ่างเรื่องลี้ลับทั้งหลายทั้งมวล) น่าเสียดายที่จนแล้วจนรอดมันก็ไปไม่ถึงขั้นนั้น หรือให้ถูก นั่นอาจจะไม่ใช่ทิศทางที่เจมส์ วานอยากจะไปตั้งแต่แรก

ว่าไปแล้วฉากเปิดเรื่องของ Malignant ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยชั้นดี มันเล่าถึงเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อมีผู้ป่วยซึ่งเป็นเคสทดลองเกิดหลุดออกจากการกักขังและพยายามจะหลบหนีจนเกือบสำเร็จ มันจบลงด้วยการนองเลือดครั้งใหญ่ และน่าจะเป็นฉากแผ่รังสีความสยดสยองที่ตรึงคนดูได้อยู่หมัดตั้งแต่ฉากแรก หากไม่ใช่ด้วยสัมผัสอันหนักอึ้งของเจมส์ วานที่ทำให้มันออกมาดูประดักประเดิดอย่างน่าใจหาย รู้ตัวอีกที หนังก็พาคนดูไปรู้จักกับแมดดิสัน (แอนนาเบล วอลลิส) หญิงสาวที่ประสบภาวะแท้งมาถึงสองครั้งสองคราโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด จนกระทั่งการแท้งทั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อเธอถูกสามีทำร้ายร่างกายจนเลือดตกยางออก เรื่องแปลกอีกประการที่เกิดขึ้นคือการที่เธอสามารถมองเห็นนิมิตรของฆาตกรปริศนาได้ในระหว่างที่เขาก่อเหตุแต่ละครั้ง และเขาอาจจะเกี่ยวของกับตัวตนในอดีตของเธอ หากมิใช่ในทางกายภาพก็ในทางจินตภาพ

ส่วนที่เหลือของ Malignant คือความพยายามของผู้สร้างที่จะปล่อยให้คนดูค่อย ๆ ประกอบร่างชิ้นส่วนปริศนาที่เขาเรี่ยรายไว้ตามทางเข้าด้วยกัน แทคติกของมือเขียนบท เจมส์ วาน, อิงกริด บีซู (ภรรยาขอเขา) และ อาเคลา คูเปอร์ คือการพาเราคนดูไปสัมผัสกับฉากนองเลือดอันสยดสยองซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านนิมิตรของแมดิสัน ว่าไปแล้วมันก็ชวนให้นึกถึงงานของมาสเตอร์อย่างเดวิด โครเนนเบิร์ก ในแง่ของการเอาความทุพพลภาพทางร่างกายมาตีความให้เป็นเรื่องน่าเกลียดน่ากล้ว ซึ่งก็นับได้ว่าสำเร็จลุล่วงตามเป้าประสงค์ของคนทำหนัง แต่ขณะเดียวกันมันกลับแลกมาด้วยการขาดตกบกพร่องในด้านความมีชีวิต (กระทั่งจิตใจ) ของแมดิสัน คำถามที่น่าสนใจซึ่งไม่ถูกตรวจสอบคือ การเชื่อมโยงทางความคิดจิตใจกับคนอีกคนหนึ่งส่งผลกระทบกับเธอในฐานะมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณอย่างไร กลับกัน นี่คือตัวละครที่ถูกเขียนมาอย่างหละหลวมด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อลำเลียงความรุนแรงจากจอภาพส่งตรงมายังคงดู


บาดแผลดังกล่าวเห็นเด่นชัดในตอนที่เธอเปิดเผยกับซิดนีย์ (แมดดี ฮัสสัน) น้องสาวของเธอว่า “ฉันโหยหาการมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับใครบางคนมาตลอด” เพราะเอาเข้าจริง ความสัมพันธ์ของทั้งสองตัวละครนั้นถูกตรวจสอบอย่างผิวเผินเกินกว่าที่เราคนดูจะสัมผัสได้ถึงความเชื่อมโยงอะไรก็ตามแต่ที่หนังอยากจะให้เรารู้สึกในตอนท้าย แต่ก็เอาเถอะ อย่างน้อย ๆ การได้สัมผัสรับชมความรุนแรงทั้งทางภาพและเสียงซึ่งโหมกระหน่ำอย่างเป็นผลจาก Jump-scare ครั้งแล้วครั้งเล่า การออกแบบฉากแอคชันอันน่าตื่นตะลึง ไปจนถึงเทคนิคทางงานภาพ มุมกล้อง การจัดแสงที่ชัดเจนว่าคำนับทักทายไปยังหนังสยองขวัญสไตล์ Giallo ล้วนทำงานได้ดีเพียงพอในฐานะหนังคืนโรงที่ย้ำเตือนถึงความสำคัญของ Cinematic experience ซึ่งเราคนไทยห่างหายมานานเกินไปจริง ๆ
.

Grade: B

Directed by James Wan
Screenplay by Akela Cooper
Produced by James Wan, Michael Clear
Starring Annabelle Wallis, Maddie Hasson, George Young, Jacqueline McKenzie, Michole Briana White
Cinematography by Michael Burgess
Edited by Kirk Morri
Music by Joshep Bishara

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s