Supernova (2020)

ในวันที่ไม่อาจจดจำ แม้กระทั่งวิธีการลืม

นึกแบบคร่าว ๆ ปีสองปีมานี้มีหนังหลายเรื่องที่หยิบจับเอาประเด็นความป่วยไข้จากโรคสมองเสื่อม (Dementia) มาเล่นแร่แปรธาตุบอกเล่าในจังหวะทำนองที่สดใหม่ อย่าง I’m Thinking of Ending Things ของชาร์ลี คอฟแมน Dick Johnson is Dead ของเคิร์สเตน จอห์นสัน รวมถึงหนังรางวัลออสการ์ของฟลอเรียน เซลเลอร์ อย่าง The Father ในแง่นั้น Supernova ของแฮร์รี่ แม็คควีน ซึ่งกำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ก็ดูจะเป็นงานที่อนุรักษ์นิยมสูงไปโดยปริยาย ด้วยวิธีการบอกเล่าที่ไม่มุ่งหมายจะรื้อถอนทำลายโครงสร้างของหนังดราม่าความเจ็บป่วยและความสัมพันธ์ แต่อาศัยความเรียบง่าย พิถีพิถัน และไม่วู่วามที่จะบดขยี้คนดูให้แหลกเป็นผุยผง ค่อย ๆ พาคนดูร่วมออกเดินทางไปกับตัวละคร ไปสู่จุดหมายปลายทางซึ่งเราต่างรู้ว่ามันมักจะจบลงอย่างไร

บางทีอาจจะเหมาะสมกว่าที่ Supernova จะถูกยกไปเทียบเคียงกับงานของเคลลี ไรต์คาร์ตอย่าง Old Joy และ First Cow ซึ่งต่างว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มผู้แสนธรรมดาสามัญ ซึ่งต่างกำลังออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนในโลกที่กว้างใหญ่เกินไปสำหรับพวกเขา จะต่างก็ตรงที่ใน Supernova แซม (โคลิน เฟิร์ธ) และ ทัสเกอร์ (สแตนลีย์ ทัซซี) ต่างรู้เห็นเต็มอกว่าปลายทางของพวกเขาคือทางตัน แต่กระนั้นทั้งสองตัดสินใจที่จะออกเดินทางเพื่อใช้เวลา ซึ่งกำลังร่อยหรอลงทุกขณะ ให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ “เราจะไม่ย้อนกลับไปอีกแล้ว” ประโยคแรกที่หนังกล่าวกับคนดู อาจสื่อสารได้ทั้งในเชิงความหมายว่าพวกเขาจะไม่หวนกลับไปเก็บข้าวของที่ทัสเกอร์หลงลืมเป็นรอบที่เท่าไรก็ไม่ทราบได้ หรืออาจรวมถึงในเชิงว่า นี่คือการเดินทางครั้งสุดท้ายของพวกเขา เพราะมันอาจไม่เหลืออดีตให้หวนกลับไปหาอีกต่อไปแล้ว

เปรียบเทียบกันระหว่างตัวละครทั้งสอง ทัสเกอร์ดูจะเป็นคนที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในสิ่งที่เขาต้องการ เขาเป็นนักเขียนชื่อดังที่ไม่ชอบให้ใครมาบงการชีวิตของเขา (โดยเฉพาะเจ้าจีพีเอสในรถบ้านของเขาและแซม ที่เสียงดันไปละม้ายคล้ายกับมากาเร็ต แธ็ตเชอร์) ขณะที่แซมนั้นสุขุมรอบคอบ เป็นนักเปียโนฝีมือดี ทว่าต้องผันเปลี่ยนชีวิตมาดูแลทัศเกอร์ คนรักที่กำลังเจ็บป่วยจากภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเขายืนยันอย่างแน่ชัดว่าการได้อยู่เคียงข้างใช้เวลากับคนที่เขารักคือทุกสิ่งที่เขาต้องการ แต่เรื่องน่าอึดอัดคือการที่ทัสเกอร์ไม่เห็นเช่นนั้น “ผมกำลังกลายเป็นเพียงผู้โดยสาร ที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง” เขากล่าวอย่างใจสลายในช่วงหนึ่ง นั่นคือตอนที่คำถามซึ่งไม่มีใครกล้าเอ่ยปากเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับที่แฮร์รี่ แม็คควีนรู้ดีว่าไม่ช้าก็เร็วเขาจะต้องมอบคำตอบที่ไม่มีใครอยากได้ยิน และหลักฐานที่ยืนยันว่าคนทำหนังทำหน้าที่ของเขาได้ลุล่วงอย่างเกินความคาดหมาย ก็คือตอนที่เราคนดูต่างรู้ว่าคำตอบนั้นคืออะไร แต่ก็มิวายล้มเหลวที่จะกลั้นฝืนไม่ให้ต่อมน้ำตาแตกพ่ายได้อยู่ดี

แต่ก็อย่างที่ชื่อหนังบอกใบ้ไว้ ส่วนที่ทำให้หนังเล็ก ๆ เรื่องนี้นับได้ว่าทะเยอทะยานจริง ๆ คือความพยายามของผู้สร้างที่จะสัมพันธ์เชื่อมโยงเรื่องราวความเจ็บป่วยและการสูญสลายของมนุษย์ตัวกระจ้อยเข้ากับการระเบิดพลังของดาวฤกษ์ “เศษเสี้ยวร่างกายของเราล้วนเกิดจากดวงดาวนับล้าน” ทัสเกอร์กล่าวขึ้นมาในช่วงหนึ่ง บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามันสัมฤทธิ์ผลอย่างที่คนทำหนังต้องการหรือเปล่า (พูดแล้วก็นึกไปถึง Amour ของฮาเนเก้ที่มุ่งตรวจสอบความรักและการเสื่อมสลายเหมือน ๆ กัน) เพราะเอาเข้าจริงลำพังความติดดินของหนัง ซึ่งก็เป็นผลพวงรวม ๆ กันจากความสมถะของตัวละคร การเคลื่อนกล้องเชื่องช้าอย่างมีนัยยะของดิค โป๊ป (ผู้กำกับภาพขาประจำของไมค์ ลีห์) การแสดงแบบน้อยแต่ให้ผลมากของทั้งสองนักแสดง ก็เพียงพอที่จะส่งผ่านความเจ็บปวดและเหน็บหนาว ให้ทะลุผ่านออกมาทางจอภาพยนตร์ จนรู้ตัวอีกที เมื่อหนังจบลง บรรยากาศหนาวเย็นที่ปกคลุมอยู่ตลอดการเดินทางบนท้องถนนที่ทอดยาวก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความอบอุ่น ความสัมพันธ์ที่คลุมเครือไร้ทางออก กลับกลายเป็นความเจ็บปวดที่ชัดแจ้งและสมจริงเหลือเกิน.

Grade: B+

Produced by Emily Morgan, Tristan Goligher
Directed by Harry Macqueen
Screenplay by Harry Macqueen
Starring Colin Firth, Stanley Tucci, Pippa Haywood, Peter Macqueen, Nina Marlin
Cinematography by Dick Pope
Edited by Chris Wyatt
Music by Keaton Henson

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s