ร่างทรง (2021) ในวันที่ ‘อีมิ้ง’ ไม่อาจระลึกชาติ และกรุงเทพยังเกลียดกลัวอีสาน

ระหว่างรับชม ‘ร่างทรง’ ผลงานล่าสุดของโต้ง-บรรจง ก็เผลอนึกไปถึงเหตุการณ์สั้น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ตอนที่ลุงบุญมีกำลังเศร้าโศกเสียใจว่าความตายที่คืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะจะพลัดพรากเขาและห้วย วิญญาณภรรยาที่เสียไปเมื่อ 19 ปีก่อน ให้ต้องแยกจากกันอีกครั้ง ร่างวิญญาณจึงกล่าวปลอบประโลมลุงบุญมีด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาว่า “วิญญาณไม่ได้ยึดติดอยู่กับสถานที่ แต่ยึดอยู่กับผู้คนต่างหาก” ในโลกของลุงบุญมีฯ อภิชาติพงศ์ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของ ‘ผี’ ในสรรพสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ตั้งคำถามว่ามันเป็นเพียงความเชื่อเลื่อนลอยหรือไม่ แต่แสดงให้เห็นว่าทั้งเรามนุษย์และวิญญาณทั้งหลายต่างอยู่ร่วมปะปนและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน(ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือจินตภาพ)อย่างไร มันเป็นความเชื่อพื้นฐานที่ฝังรากไม่แต่เพียงในอีสาน แต่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในหมู่คนนับถือพุทธ ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ ‘ร่างทรง’ ยืนยันผ่านเสียงบรรยายของป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) ที่เกริ่นนำไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง ว่า “มีผียู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะในบ้าน ในป่าเขา ต้นไม้ ไร่นา” ทว่าส่วนที่แตกต่าง คือขณะที่เรื่องหนึ่งถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ด้วยความเป็นธรรมชาติโดยไม่ตัดสินชี้ขาด อีกเรื่องหนึ่งจ้องมองไปด้วยความเคลือบแคลง และหวาดกลัว

มันเด่นชัดตั้งแต่ภาพแรกที่หนังเผยให้เห็นมุมมองระยะไกลของหมู่บ้านปริศนาซึ่งถูกโอบล้อมด้วยป่าเขา ตอกย้ำถึงการตัดขาดจากความศิวิไลศ์ ก่อนที่จอภาพจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าใกล้อย่างช้า ๆ ด้วยจังหวะการย่างก้าวที่เน้นย้ำถึงความลี้ลับและภัยซ่อนเร้นที่หลบแอบอยู่ตามซอกหลืบของหมู่บ้านในป่าลึกแห่งนี้ โต้ง-บรรจงพาคนดูไปรู้จักกับครอบครัวซึ่งสืบทอดร่างทรงของ ‘ย่าบาหยัน’ ผ่านกระบวนวิธีแบบสารคดีปลอม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการสานต่อความลุ่มหลงที่เขามีต่อเทคโนโลยีการบันทึกภาพตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาสร้าง ‘Shutter กดติดวิญญาณ’ โดยเฉพาะในแง่มุมที่มันอาจเป็นเครื่องมือช่วยบันทึก (หากมิใช่พิสูจน์) การมีอยู่ของชีวิตหลังความตาย หากแต่เพียงว่าความพยายามครั้งใหม่นี้มาพร้อมกับความทะเยอทะยานที่สูงยิ่งขึ้น ว่ากันตามแทคติคบนหน้ากระดาษ ความพยายามของโต้ง-บรรจงที่จะผสมกลมกลืนเรื่องจริงและฟิกชันผ่านกลวิธีการถ่ายทำแบบสารคดีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในแวดวงหนังสยองขวัญ แต่ส่วนที่นับได้ว่ากล้าหาญ และควรจะได้รับคำสรรเสิญมากกว่าที่เป็น คือความพยายามของคนทำหนังที่จะแหกขนบธรรมเนียมของสารคดีล้อเลียนด้วยการผนวกรวบรวมเอากลอุบายทางฟิล์มเทคนิคมาทำลายฟอร์มที่มันควรจะเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วการมีอยู่ของเสียงสกอร์ที่พยายามจะโหมกระพือบังคับควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของคนดูครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดจนการลำดับภาพที่จัดวางอย่างจงใจจะตอกย้ำด้วยตัวมันเองว่าเอาเข้าจริง คนทำหนังก็ไม่ได้มีความมั่นอกมั่นใจว่าลำพังเพียงพลังของภาพและความสมจริงของมันจะตรึงขึงคนดูได้อย่างอยู่หมัดก็ตาม

เพราะไม่ว่า ‘ร่างทรง’ จะงัดลูกไม้ใดมาขุดคุ้ยความจริงที่ซุกซ่อนอยู่หลังตัวละครเหล่านี้ ภาพอันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์ การตัดแทรกด้วยบทสัมภาษณ์รายบุคคล การใช้ฟุตเตจจากกล้องวงจรปิด ทั้งหมดต่างล้มเหลวที่จะสร้างภาพที่ใกล้เคียงกับความจริง กล่าวโดยสั้น ส่วนที่วกมาทำร้ายหนังอยู่ตลอดหาใช่ความบกพร่องทางเทคนิค แต่เป็นวิธีการที่ร่างทรงของโต้ง-บรรจงจ้องมองไปยังตัวละครซึ่งแบกรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันจำเพาะเจาะจงเหล่านี้ต่างหาก พิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นที่หนังพยายามจะไปแตะสำรวจนั้นผิวเผินเกินกว่าที่จะเรียกได้โดยไม่เขินอายว่าเป็นภาพแทนของความเป็นอีสาน ให้เห็นภาพ นอกจากหลักใหญ่อย่างเงื่อนไขเบื้องต้นของการเข้าทรง การสืบทอดตำแหน่ง และบทบาทหน้าที่ของร่างทรงที่หนังอธิบายสั้น ๆ เพียงว่าพวกเขา “รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติ” หนังไม่ได้สำรวจอย่างถี่ถ้วนว่าท้ายที่สุดแล้วความเชื่อเรื่องการทรงผีเข้าไปผูกโยงหรือส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนท้องถิ่นอย่างไร ตลอดจนการตั้งคำถามต่อความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมือง ความเชื่อที่ว่ามีผีอยู่ในป่าเขา ต้นไม้ ไร่นา ก็ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาตรวจสอบต่อไปอีกว่ามันมีที่มาที่ไปหรือส่งผลต่อชุมชนแห่งนี้อย่างไร ซ้ำร้าย มันกลับกลายเป็นปมที่ยกขึ้นมาลอย ๆ ก่อนจะถูกทิ้งขว้างเมื่อหนังแปลงโฉมตัวเองไปเป็นหนังผีคริสเตียนอย่างเต็มรูปแบบในตอนท้าย หรือแม้แต่ข้อเท็จจริงเรื่องของการบริโภคเนื้อสุนัข ซึ่งถูกเรี่ยไรไว้ตามทางก่อนจะขยับขยายกลายเป็นปมใหญ่ในตอนหลัง เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ถูกสำรวจอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแต่คำพูดเลื่อนลอยของป้าน้อย (ศิราณี ญาณกิตติกานต์) ที่กล่าวทีเล่นทีจริงไว้ว่า “ทีคนเลี้ยงปลา ยังกินเนื้อปลาได้เลย”

ยิ่งตั้งคำถามต่อ ‘ร่างทรง’ เพียงใด ก็ยิ่งอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงหนังของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘บ่มีวันจาก’ ที่ไม่ได้เพียงนำความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดมาสำรวจหาที่ทางใหม่และยืนยันว่ามันสามารถสอดรับเข้ากับแว่นตาของโลกสมัยใหม่ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ว่ากันแบบตรงไปตรงมา สายตาที่ ‘ร่างทรง’ จ้องมองไปยังตัวละครคนอีสานในเรื่อง หาใช่สายตาที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ (หรือแม้แต่เห็นอกเห็นใจ) กลับกัน มันคือสายตาอันเย็นชาที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง การปรากฏอยู่ของตากล้อง ซึ่งเป็นที่ค่อนแคะว่าทำลายความน่ากลัวของหนัง เอาเข้าจริงตัวละครเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการสวมบทเป็นตัวตายตัวแทนของสายตากรุงเทพที่จ้องมองไปยังอีสานอย่างไม่กะพริบตา ตากล้องในร่างทรงยืนยันว่ามันมีเส้นแบ่งที่ไม่อาจลบระหว่างกรุงเทพและอีสาน ในทำนองเดียวกับที่มันแบ่งแยกความจริงและฟิกชันออกจากกัน กล่าวอย่างถึงที่สุด ในสายตาของร่างทรง อีสานคือสัญลักษณ์ของความแปลกประหลาด ล้าหลัง และอันตรายอย่างยิ่งยวด ‘ร่างทรง’ อาจประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้คนดูตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วมีอะไรที่ ‘จริง’ บ้างในความเชื่อเหล่านี้ แต่ล้มเหลวในการเรียกร้องให้คนดูมองและยอมรับในความแตกต่างอย่างเข้าอกเข้าใจ น่าเศร้าที่สุด เมื่อนี่คือหนังที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในเวทีออสการ์

Grade: C+
กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกูล
เขียนบท นา ฮง-จิน, ฉันทวิชช์ ธนะเสวี
อำนวยการสร้าง นา ฮง-จิน, บรรจง ปิสัญธนะกูล
แสดง นริลญา กุลมงพลเพชร, สวนีย์ อุทุมมา, ศิราณี ญาณกิตติกานต์, ยะสะกะ ไชยสร, บุญส่ง นาคภู่, ภัคพล ศรีรองเมือง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s