
ช่วงหนึ่งของ The Souvenir จูลี (ออเนอร์ สวินตัน เบิร์น) ถูกซักไซร้จากอาจารย์ของเธอว่า “สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น (ทำภาพยนตร์) ไม่ง่ายกว่าหรือที่จะบอกเล่าเรื่องราวจากความทรงจำของตนเอง แทนที่จะทำหนังซึ่งว่าด้วยประสบการณ์ของคนอื่น” คำตอบของเธอนั้นสั้นง่าย แต่สรุปรวบยอดใจความของ The Souvenir ได้อย่างชัดแจ้งดีเหลือเกิน “ฉันอยากจะก้าวออกไปจากชีวิตที่มีพริวิลเลจ ออกไปสัมผัสชีวิตของผู้คน ชุมชน และบริบทสังคมที่แตกต่าง”
ใน The Souvenir โจแอนนา ฮ็อกก์ บอกเล่าเรื่องราวของการก้าวออกไปซากโซนปลอดภัย ไปยังพื้นที่ซึ่งเธอไม่ประสีประสา ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ ชีวิต และการทำงาน ถักทอจากประสบการณ์ส่วนตัวของเธอจนออกมาเป็นเรื่องราวของจูลี นักเรียนฟิล์มในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ ซึ่งเธอจะต้องทำหนังธีสิสสำหรับจบการศึกษา ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เธอก็กำลังเรียนรู้ชีวิต ความหมายของการเป็นผู้ใหญ่ในโลกที่เธอยังไม่สามารถเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้ หนังเปิดเรื่องด้วยเสียงของจูลี เธอเล่าถึงพล็อตเรื่องราวในหนังที่เธออยากจะสร้าง มันว่าด้วยเหตุการณ์ซึ่งเกิดในเมืองซันเดอร์แลนด์ในช่วงปีค.ศ. 1980 โทนี เด็กชายอายุ 16 ปีที่ผูกพันกับแม่ของเขาอย่างสนิทแนบชิด จนเกิดความกลัวว่าวันหนึ่งเขาจะสูญเสียเธอไปในที่สุด ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นซันเดอร์แลนด์ ในฐานะเมืองที่ให้กำเนิดเขาเช่นกัน ก็กำลังประสบกับความยากลำบากจากสภาวะเสื่อมโทรมและความผุพัง ในแง่นั้น สัญญาณเตือนถึงความตายของแม่และเมืองซันเดอร์แลนด์ ดูจะทำงานราวกับเป็นลางบอกเหตุถึงความสั่นคลอนทางจิตใจที่จูลีกำลังประสบ ในฐานะหญิงสาวที่กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความผันผวนของชีวิต เมื่อเธอจำต้องละทิ้งชีวิตเบื้องหลัง เพื่อออกเดินทางสู่ปลายทางความฝันที่เธอเองก็ยังไม่อาจมองเห็นภาพของมันอย่างถนัดถนี่
มันเริ่มจากการหยิบยืมเงินทองเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะขยายขอบเขตไปเป็นการโกหกคำโต จนนำมาซึ่งความตะขิดตะขวงทางความสัมพันธ์ แง่หนึ่งก็บ่งชี้ถึงความอิงแอบที่แอนโธนีมีต่อแฟนสาวของเขา ในทำนองเดียวกับที่โทนี่ในเรื่องของจูลี่ผูกติดตัวเขากับคุณแม่ แต่ส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคือสายตาที่คนทำหนังเพ่งมองความเป็นไปของตัวละครเหล่านี้ โจแอนนา ฮ็อกก์ และผู้กำกับภาพเดวิด เรเดเกอร์ เฝ้ามองตัวละครเหล่านี้อย่างเหินห่าง หลายครั้งจงใจเผยให้เห็นภาพชายหนุ่มหญิงสาวถูกโอบรัดด้วยความคับแคบอย่างไร้ทางออกของห้องพักที่เนืองแน่นไปด้วยเฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ มีเพียงหน้าต่างบานใหญ่ในห้องทำงานเท่านั้นที่อนุโลมให้แสงสว่างและลมอากาศจากภายนอกลอดผ่านเข้ามาบรรเทาความแออัดคับแคบภายใน ขณะที่ด้านหลังกล้อง การจ้องมองอย่างห่าง ๆ โดยไม่มุ่งตัดสินถูกผิดนี้ก็เปิดช่องให้มวลสารของความคับข้องที่คุกรุ่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของทั้งคู่ได้แผ่ขยายพลังงานของมันออกมาอย่างแผ่วเบา ทว่าเพียงพอที่จะทำให้เราคนดูสัมผัสและรู้สึกได้ นี่คือกระบวนวิธีที่ท้าทายไม่เพียงคนทำหนัง แต่รวมถึงคนดูด้วยเช่นกัน

มันดูจะสะท้อนออกมาผ่านความสัมพันธ์ระหว่างจูลีและแม่ของเธอ (ทิลดา สวินตัน – แม่แท้ ๆ ของเออร์เนอร์ สวินตัน เบิร์น) ซึ่งก็ไม่ถึงขั้นเต็มไปด้วยความขุ่นหมองข้องใจ กลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ดูจะขับเคลื่อนไปด้วยความห่วงใจและเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็พร้อมที่จะโอบรับการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะเมื่อจูลีได้พบกับแอนโธนี (ทอม เบิร์ค) ชายหนุ่มผู้ซึ่งอายุมากกว่าเธอเล็กน้อย ทว่ายังดูหนุ่มแน่น การแต่งตัวอย่างภูมิฐาน ร้านอาหารหรูที่เขามักนัดเจอกับจูลี ตลอดจนสำนวนวาจาที่ชัดค่อยชัดคำและมักเจือปนด้วยรสชาติของการถากถาง บ่งชี้ (อย่างน้อยก็ในตอนต้น) ว่าเขาน่าจะสืบสายเลือดมาจากครอบครัวอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับจูลีซึ่งมาจากครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองหลวง เมื่อพิจารณาดูแล้วก็ไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญอีกที่ชื่อของแอนโธนีดันไปละม้ายคล้ายกับ ‘โทนี่’ ตัวละครที่จูลีเขียนขึ้นมาสำหรับหนังของเธอ ในแง่นั้นก็อาจมองได้ว่าสำหรับโจแอนนา ฮ็อกก์ แอนโธนีคือภาพสะท้อนของโทนี่ในจินตนาการของจูลีอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง หลักฐานที่พอจะยืนยันสมมุติฐานนี้เกิดขึ้นในตอนที่เรื่องราวกลับตาลปัตร เมื่อแอนโธนีที่ถูกวาดภาพเป็นชายหนุ่มผู้ขึงขังหนักแน่นในความคิดของตนเอง ค่อย ๆ เผยธาตุแท้ที่ไม่น่าอภิรมณ์ของตัวเองออกมา
อีกฉากหนึ่งที่น่าพูดถึง คือตอนที่อาจารย์ของจูลีและนักเรียนในคลาสแลกเปลี่ยนกันเรื่องฉากฆาตกรรมอันลือลั่นใน Psycho (1960) พวกเขาวิเคราะห์วิธีการที่ฮิตช์ค็อกละเว้นการถ่ายทอดความรุนแรงอย่างโจ๋งครึ่ม เปิดช่องให้คนดูได้สวมใส่จินตนาการของตนเอง ซึ่งโดยปริยายได้ทวีคูณความสยดสยองให้ออกฤทธิ์รุนแรงอย่างน่าตื่นตะลึง แทคติกอันชาญฉลาดนี้ถูกเอามาปรับใช้ใน The Souvenir ได้อย่างลงตัว หลายครั้งหลายคราที่หนังหันเหสายตาออกไปจากเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้น ปล่อยให้คนดูได้รับรู้เรื่องราวผ่านบริบทแวดล้อมทางอ้อม ราวกับฮ็อกก์ต้องการให้คนดูของเธอเติมคำในช่องว่างเหล่านั้นด้วยตัวเอง อย่างเมื่อคราวที่จูลีและแอนโธนีเจอกันครั้งแรก หนังไม่แม้กระทั่งเผยให้เห็นเหตุการณ์ที่พวกเขาแนะนำตัวทำความรู้จักกัน ภาพตัดไปก็ตอนที่ทั้งคู่คุยกันอย่างเข้าเรื่องเข้าราวไประยะหนึ่งแล้ว หรือตอนที่มีการลักขโมยเกิดขึ้น เราคนดูไม่เห็นเหตุการณ์แน่ชัด กว่าจะประจักษ์แก่สายตาก็ตอนที่ผลของการกระทำนั้นได้ลุล่วงไปแล้ว หรือฉากต่อเนื่องที่แอนโธนีระบายความโกรธเคืองของเขาด้วยการออกหมัดชกไปยังกำแพงห้อง สายตาของหนังบังคับให้คนดูจับจ้องอยู่กับจูลี พร้อม ๆ กับที่ปล่อยให้คนดูได้รับรู้เรื่องราวผ่านเสียงที่แผดดังขึ้นจากนอกจอภาพแทน มันไม่ได้เพียงแค่แยบคาย แต่สอดรับกับเรื่องราวชีวิตของจูลี ซึ่งกำลังมืดแปดด้านกับความอลหม่านของชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การทำหนังที่เธอเองยังไม่ถนัดช่ำชอง ไหนจะความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มที่ระหองระแหงขึ้นทุกขณะ พูดอีกนัยหนึ่ง จูลีเองก็กำลังพยายามทำความเข้าใจและหาคำตอบให้กับชีวิตของเธอเองไม่ต่างจากที่เราคนดูทำกับชีวิตของเธอ
มองในอีกแง่ กระบวนวิธีการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยระยะห่างนี้ก็สอดรับกับความจริงที่ว่าส่วนใหญ่ (หากมิใช่ทั้งหมด) ของ The Souvenir นั้นถูกรื้อฟื้นปัดฝุ่นมาจากความทรงจำเมื่อ 30 กว่าปีก่อนของผู้สร้าง มันจึงไม่แปลก และเมคเซนส์มาก ๆ ที่กระแสธารความทรงจำเหล่านี้จะเต็มไปด้วยรูโหว่อันเป็นผลลัพธ์โดยธรรมชาติของกาลเวลา หนังไม่ได้มอบบทสรุปสำเร็จรูปมาให้ว่าเหตุใดผู้หญิงที่ฉลาดหลักแหลมอย่างจูลีถึงยึดติดอยู่กับพิษความสัมพันธ์กับผู้ชายที่ไม่เอาไหนอย่างแอนโธนี แต่บางที เมื่อพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วน มันอาจจะแอบแฝงอยู่ในชื่อเรื่อง ‘The Souvenir’ ที่ล้อมาจากภาพวาดซึ่งปรากฏในหนังช่วงหนึ่ง ของฌ็อง-ออเนอร์เร ฟราโกนาร์ ศิลปินชื่อดังในช่วงคริสวรรษที่ 1800 ในภาพนั้นหญิงสาวกำลังสลักชื่อคนรักของเธอลงบนต้นไม้ โดยมีสุนัขของเธออยู่เคียงข้าง เบื้องลึกเบื้องหลังของภาพนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่อง ‘Julie’ โดยฌ็อง-ฌากส์ รูซโซ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคู่รักต่างชนชั้น “เธอดูเศร้านะ” จูลีกล่าวขึ้นมาขณะจ้องมองดูรูปภาพ “ผมว่าเธอกำลังตกหลุมรักอย่างบ้าคลั่ง” แอนโธนีตอบกลับ บางทีอาจไม่มีใครผิดหรือถูก จูลี ทั้งในรูปภาพของฟราโกนาร์และในหนังของฮ็อกก์ อาจกำลังรู้สึกทั้งโศกเศร้าและรักอย่างบ้าคลั่งในคราวเดียวกัน
Grade: A
Directed by Joanna Hogg
Written by Joanna Hogg
Produced by Joanna Hogg, Luke Schiller
Starring Honor Swinton Byrne, Tom Burke, Tilda Swinton
Cinematography David Raedeker
Edited by Helle Le Fevre
รับชม The Souvenir ได้ใน Netflix