
มันเริ่มจากภาพชายหนุ่มหญิงสาวกำลังนอนเปลือยเปล่าอยู่บนเตียง เธอนั่งหันหลังให้กับแสงสลัวของอาทิตย์ยามเช้า ระหว่างบอกเล่าเรื่องราวที่ทั้งวิกลจริตและลึกลับอย่างน่าค้นหาให้เขาฟัง มันเกี่ยวกับเด็กหญิงมัธยมคนหนึ่งที่ตัดสินใจโดดเรียนเพื่อแอบเข้าไปยังบ้านของเพื่อนชายที่เธอตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ และเพื่อทิ้งหลักฐานว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเข้าไปนั่งนอนเล่นอยู่ในห้องนอนของเขา เธอจึงหยิบสิ่งของของเขาติดไม้ติดมือกลับไป พร้อม ๆ กับทิ้งอะไรบางอย่างของเธอไว้เป็นการแลกเปลี่ยน
มันเป็นฉากที่บ่งชี้ถึงความลึกลับอย่างไม่ชอบมาพากล ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของฮารุกิ มุราคามิ และแฟน ๆ หนังสือคงจดจำได้ทันทีว่ามันเป็นฉากที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น “Scheherazade” (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ Men Without Women เช่นเดียวกับ Drive My Car และไร้ข้อโต้แย้งว่าเป็นเรื่องที่วิตถารทว่าน่าลุ่มหลงที่สุด) ซึ่งตรงกันข้ามกับต้นฉบับของมุราคามิ ที่เปิดเรื่องด้วยภาพของยูสุเกะซึ่งกำลังอยู่ในสภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือ รถ Saab (ในหนังสือเป็นสีเหลือง) ของเขาชำรุดเสียหาย และกำลังต้องการใครสักคนมาช่วยขับรถระหว่างที่เขานั่งซ้อมบทละครเวทีอยู่ข้างหลัง อีกข้อแตกต่างคือในเรื่องของมุราคามิ เราผู้อ่านไม่ได้เห็นภาพภรรยาผู้ล่วงลับของยูสุเกะอย่างเด่นชัดมากนัก การยืดขยายเรื่องราวเพียง 40 หน้ากระดาษออกเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวสามชั่วโมงด้วยการจับต้นชนปลายหลายเรื่องสั้นเข้าด้วยกัน อาจสร้างความวิตกกังวลในหมู่แฟนคลับเดนตายของมุราคามิ แต่สัมผัสอันแผ่วเบา เชื่องช้า ทว่าแม่นยำของฮามากุจิไม่ได้ทำให้เรื่องราวที่กระชับรัดกุมอยู่เดิมรู้สึกราวกับถูกยืดยาวจนเยิ่นเย้อ แต่เปรียบได้กับการเชื้อเชิญให้เราคนดูเหยียบคันเร่งแต่เพียงแผ่วเบา เพื่อเหม่อมองออกไปยังทิวทัศน์ริมทางที่เราอาจไม่เคยมองเห็น
อย่างกรณีของยูสุเกะ (ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ) เขาเป็นนักแสดงละครเวทีชื่อดังผู้มากความสามารถ รอบแสดงของเขามักแออัดไปด้วยคนดูเต็มจำนวนที่นั่ง พฤติกรรมประหลาดของเขาคือเขามักจะซักซ้อมท่องบทระหว่างขับรถ โดยมีเสียงของโอโตะ (เรกะ คิริชิมะ) ภรรยาของเขาซึ่งอัดเสียงใส่เทปแคสเซ็ตต์ไว้ เป็นคู่ซักซ้อม แรกเริ่ม กิจลักษณะนี้ให้ความรู้สึกราวกับเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างหนึ่งที่เขาต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ จนถึงจุดที่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปและหนังคลี่คลายปมให้เห็นความอีหลักอีเหลื่อทางความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เสียงที่เคยทำงานราวกับเป็นบทสวดภาวนาก็ดูจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นแส้ที่เฆี่ยนตียูสุเกะซ้ำ ๆ ราวกับว่าความเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งเดียวที่คอยย้ำเตือนว่าเขายังคงมีลมหายใจ จุดหักเหเกิดขึ้นในวันที่ยูสุเกะออกไปทำงานตามปกติ ทว่ากลับมายังห้องพักของเขาและภรรยาก่อนเวลาปกติ และได้พบกับภาพบาดตาบาดใจเมื่อภรรยาของเขากำลังร่วมรักกับชายแปลกหน้าอยู่บนโซฟาในห้องนั่งเล่น เรื่องน่าฉงนคือยูสุเกะไม่ได้ระเบิดความคุ้มคลั่งอย่างทันทีทันใด เขาหันหลังและเดินกลับออกไปจากห้องอย่างเงียบเฉย จนกระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างที่เขากำลังออกไปทำงานตามปกติ โอโตะกล่าวกับเขาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “กลับมาเย็นนี้ขอคุยด้วยหน่อย” ไร้ข้อสงสัยว่ายูสุเกะรู้แก่ใจเป็นอย่างดีว่ามันคือเรื่องอะไร แต่ส่วนที่เขาไม่รู้คือ เพราะอะไรเธอถึงทำเช่นนั้น? ทว่าเมื่อกลับมาถึงบ้าน เขากลับพบภรรยานอนสิ้นลมหายใจอยู่บนพื้น
ว่าไปแล้วมันก็ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทำนองเดียวกันใน Asako I & II ตอนที่บากุเกิดหายตัวไปอย่างลึกลับ ทิ้งให้อาสะโกะต้องประสบกับความเคว้งคว้างอย่างโดดเดี่ยว ทว่าคราวนี้ ใน Drive My Car สิ่งที่ยังคงหวนกลับมาหลอกหลอนไม่ใช่ร่างเสมือนของคนรักเก่า แต่เป็นเสียงบันทึกจากเทปที่ยังคงถูกเปิดซ้ำไปซ้ำมา และอย่างที่เกริ่นนำไว้ข้างต้น เสียงนั้นดูจะยิ่งย้ำเตือนถึงรอยแผลซึ่งยูสุเกะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปกปิดเก็บงำมันไว้อย่างมิดชิด มันถูกซ้ำเดิมด้วยบทสนทนาโต้ตอบ อย่าง “ผู้หญิงคนนั้นไม่สมควรที่จะได้รับการให้อภัยจากการนอกใจของเธอ” ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันแยบยลของคนทำหนังที่เลือกหยิบองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในนิยายต้นฉบับอย่างบทละครเวที ‘Uncle Vanya’ ของเชคอฟ มาสำรวจตีความใหม่จนสามารถซ้อนทับเป็นเนื้อเดียวกับเรื่องราวของตัวละคร ว่าไปแล้ว หากจะมีสักอย่างหนึ่งที่การซ้อนทับของ Drive My Car และ Uncle Vanya บ่งชี้ ก็คือการที่ยูสุเกะ ใช้ตัวละคร ‘คุณลุงวานยา’ เป็นเกราะกำบังตัวเขาจากความระทมขมขื่นทั้งหลายแหล่ พูดอีกอย่าง ตัวละคร ‘คุณลุงวานยา’ เปิดโอกาสให้ยูสุเกะได้กลายเป็นอื่น ได้หลบหนีจากความบอบช้ำซึ่งเป็นผลพวงทางความสัมพันธ์ของเขากับภรรยา

ในแง่นั้น รถ Saab สีแดงแง่หนึ่งก็ดูจะทำงานราวกับเป็นหลุมหลบภัยของยูสุเกะ ในทำนองเดียวกับตัวละครคุณลุงวานยา มันเป็นพื้นที่อันคับแคบซึ่งไม่เพียงตัดขาดเขาจากความอลหม่านของโลกภายนอก แต่เปิดโอกาสให้เขาได้ซักซ้อมกระบวนการของการกลายเป็นอื่น อาจกล่าวได้ว่าเหตุที่ยูสุเกะชอบใช้เวลาส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่ในรถ นอกเหนือไปจากความจำเป็นของการเดินทาง ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดช่องให้เขาได้อยู่เพียงลำพัง แต่ส่วนที่ฮามากุจิดูจะมุ่งสำรวจต่อไปอีก คือจะเกิดอะไรขึ้นหากพื้นที่ส่วนบุคคลนั้นถูกบุกรุกโดยผู้คนซึ่งเขาไม่สนิทคุ้นเคย นั่นคือตอนที่เรื่องราวดำเนินไปถึงเหตุการณ์ที่ยูสุเกะตอบรับคำเชิญของเทศกาลละครเวทีที่ชักชวนให้เขาไปกำกับการแสดง ‘Uncle Vanya’ โดยใช้นักแสดงนานาชาติ เรื่องน่าตะขิดตะขวงเกิดขึ้นเมื่อเขาจำต้องยินยอมตอบรับคำร้องขอของผู้จัดเทศกาลที่จะให้เขามีคนขับรถส่วนตัว “เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ” คิดดูอีกที การปรากฏตัวของมิซากิ (โทโกะ มิอุระ) ในฐานะคนขับรถ ก็เปรียบได้กับการกระเทาะเปลือกซึ่งชายผู้บอบช้ำจากความสูญเสียได้สร้างขึ้นมาห่อหุ้มตัวเขาเอง และเมื่อเปลือกนั้นถูกทำลายลงแล้ว มันจึงเปิดโอกาสให้เขายินยอมให้คนอื่น ๆ เข้ามาในป้วนเปี้ยนในเขตสงวนของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเขาตัดสินใจแคสต์โคชิ ทาคัตสึกิ (มาซากิ โอคาดะ) ชายหนุ่มผู้มีสัมพันธ์กับภรรยาของเขาอย่างลับ ๆ มารับบทคุณลุงวานยา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของเขา
การตัดสินใจที่ดูหุนหันพลันแล่นและไม่มีที่มาที่ไปนี้พูดกันแบบให้เข้าใจง่ายก็เปรียบได้กับการบังคับหักคอให้โคชิต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวเขาเอง ทว่าไม่ใช่ในร่างของยูสุเกะ แต่เป็นคุณลุงวานยา มองด้านหนึ่งมันคืออุบายสำหรับชำระแค้น ด้วยการให้ปล่อยให้ชายผู้คบชู้กับภรรยาของเขาได้เข้าไปสัมผัสความระทมขมขื่นที่คุณลุงวานยา(และเขา)ต้องประสบ ทว่าในขณะเดียวกัน การสลับทับซ้อนทางตัวตนและจิตวิญญาณเหล่านี้ค่อย ๆ เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มทั้งสอง (ซึ่งในขณะนี้นอกจากจะมีความลุ่มหลงต่อผู้หญิงคนเดียวกัน ยังศิโรราบต่อตัวตนของคุณลุงวานยา ร่วมกัน) ได้เข้าใจและปรับความเข้าใจกัน ผ่านสำนวนภาษาของเชคอฟ ซึ่งยูสุเกะในฐานะผู้กำกับการแสดง เคี่ยวเข็ญให้นักแสดงของเขาท่องจำตัวบทโดยไม่เจือปนอารมณ์ของตัวเองลงไป “ความน่ากลัวของเชคอฟคือการที่บทของเขาดึงตัวตนที่แท้จริงของคุณออกมา” เขากล่าวกับโคชิในช่วงหนึ่ง ในแง่นั้น การจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเชคอฟอย่างสมบูรณ์นักแสดงจึงต้องยอมจำนนต่อตัวบทให้จงได้
แต่จนแล้วจนรอด คำถามที่เกิดขึ้นจนได้ คือ สุดท้ายแล้วกระบวนการหลบหลีกความเจ็บปวดเหล่านี้มันได้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ เหตุการณ์ที่ดูจงใจจนน่าผิดสังเกตคือตอนที่ยูสุเกะสวมบทเป็นคุณลุงวานยา ซึ่งหนังเผยให้เห็นอย่างจะแจ้งว่าเขาเองก็ยังไม่วายที่จะถูกความบอบช้ำครั้งเก่าลอบเข้ามาทำร้ายจนเกือบเสียความควบคุมตนเองอยู่ดี ข้อที่นับได้ว่าชาญฉลาด คือการที่ฮามากุจิไม่มักง่ายหาทางลัดให้แก่ปัญหาของตัวละครของเขา แต่ยืนยันว่าหนทางเดียวที่จะเยียวยารักษาบาดแผลของความเจ็บปวดได้คือการกลับไปเผชิญหน้าและอยู่ร่วมกับมัน หาใช่การกักเก็บตัวเองอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรือแม้แต่การเสแสร้งกลายเป็นอื่น Drive My Car อาจดำเนินเดินเรื่องอย่างเชื่องช้าและยาวนาน แต่กระบวนการเยียวยารักษาของมนุษย์เราก็เป็นเช่นนั้น มิใช่หรือ
Grade: A
Directed by Ryusuke Hamaguchi
Screenplay by Ryusuke Hamaguchi, Takamasa Oe
Produced by Tsuyoshi Gorô, Misaki Kawamura, Osamu Kubota, Sachio Matsushita, Yoshito Nakabe, Keiji Okumura, Jin Suzuki, Akihisa Yamamoto
Starring Hidetoshi Nishijima, Misaki Watari, Kōji Takatsuki
Cinematography by Hidetoshi Shinomiya
Edited by Azusa Yamazaki
Music by Eiko Ishibashi