
อย่างหนึ่งที่ทำให้ผลงานก่อนหน้าของชาน เฮเดอร์ อย่าง Tallulah (2016) ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามเมื่อครั้งที่หนังเปิดตัว ณ เทศกาลหนังซันแดนซ์ คือการที่เธอ ในฐานะมือเขียนบทและผู้กำกับ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่ถูกบอกเล่ามานับครั้งไม่ถ้วนได้อย่างสดใหม่ ผ่านเหตุการณ์และกลวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเบือนหน้าหนีความเป็นจริงอันโหดร้าย พูดได้อย่างไม่เคอะเขินว่าวิธีการที่เธอปล่อยให้ตัวละครของเธอค่อย ๆ เติบโตท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่ประดังประเดทำให้เราในฐานะคนดูพร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปกับตัวละครอย่างไม่มีข้อติแย้ง
ในแง่นั้น CODA ผลงานล่าสุดของเธอซึ่งได้เปิดตัวที่เทศกาลหนังซันแดนซ์อีกเช่นกัน ก็นับได้ว่าเป็นหนังที่อาจหาญและทะเยอทะยานยิ่งขึ้นไปอีก ไม่เพียงในแง่ที่มันมุ่งทำตัวเป็นเครื่องขยายเสียงสำหรับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ติดริมชายขอบของดินแดนแห่งความฝัน อย่างกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและครอบครัวที่กำลังประสบความยากลำบากในการรวมหลอมเข้ากับสังคมที่ไม่แยแสพวกเขา หรือกระทั่งกลุ่มชาวประมงที่กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง แต่ยังรวมไปถึงการที่หนังสำเร็จเด็ดขาดในการมองหาจุดประกายความหวังเล็ก ๆ ท่ามกลางซากหักพังเหล่านั้น ผ่านการแหวกคุ้ยสำรวจเส้นทางชีวิตที่เกี่ยวพันกันอย่างยุ่งเหยิงของเด็กสาวแสนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งชะตาฟ้าลิขิตให้เธอมาเกิดและโตในครอบครัวผู้พิการทางการได้ยิน อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง CODA (Child of Deaf Adults)
พูดแบบกำปั้นทุบดิน หากคนทำหนังเลือกที่จะมุ่งให้ CODA เป็นหนังสำรวจ สะท้อน วิพากษ์วิจารณ์ความด่างพร้อยของสังคมอย่างถึงลูกถึงคนมันก็คงเป็นอะไรที่น่าเบื่อ แต่ส่วนที่ชาญฉลาดและทำงานอย่างเป็นผลดีจริง ๆ คือการที่หนังเลือกจะส่องสำรวจประเด็นหนักอึ้งเหล่านั้นผ่านเรื่องราวการเติบโตของรูบี (เอมีเลีย โจนส์) ด้วยกลยุทธิ์ที่เผยให้เห็นทั้งแง่มุมที่แข็งแกร่ง เปราะบาง และบอบช้ำของเธอ ก่อนที่จะปล่อยให้คนดูได้ก้าวข้ามพ้นสถานการณ์เลวร้ายไปพร้อม ๆ กับตัวละคร วิธีการหนังฉายภาพครอบครัวของรูบียามออกเดินเรือไปพร้อมกับครอบครัว เผยให้เห็นพวกเขาถูกห้อมล้อมด้วยทะเลกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ด้านหนึ่งก็ชวนให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าชีวิตของพวกเขา ถึงแม้จะขัดสน แต่ก็สุขสมบูรณ์เพียงใดยามออกเดินทางสู่ความเวิ้งว้างของท้องทะเล จนเมื่อเดินทางกลับเข้าฝั่งสู่โลกแห่งความเป็นจริงนั่นแหละ ที่กระแสคลื่นอันเชี่ยวกรากถาโถมอย่างไร้ความปรานี
ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ช่วงแรกหนังแนะนำให้คนดูรู้จักรูบีในฐานะเด็กหญิงผู้แข็งแกร่ง อย่างภาพระหว่างเธอออกหาปลายามเช้าตรู่กับครอบครัว เธอช่วยเหลืองานอย่างแข็งขันไม่แพ้พี่ชายระหว่างที่ร้องเพลงไปพลางอย่างอารมณ์ดี รวมถึงยังแบกรับภาระหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัวในการติดต่อสื่อสารกับผู้คน ก่อนที่หนังจะค่อย ๆ เผยให้เห็นด้านที่เธอเองก็ยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นแสนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ทั้งอ่อนไหว บกพร่อง ยังอยู่ในช่วงวัยของการค้นหาตัวตน และพร้อมที่จะเป็นฝ่ายรับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากคนรอบข้าง นั่นคือช่วงเวลาที่หนังสะท้อนให้เห็นว่าโลกอันโหดร้ายแห่งนี้เร่งรัดให้เด็กไร้เดียงสาคนหนึ่งต้องรีบเติบโตเพียงใด ในแง่นั้น ถึงแม้สถานการณ์ที่รูบีกำลังประสบจะมีความจำเพราะจาะจงสูง มันจึงไม่ใช่เรื่องยากหรือใหม่อะไรที่เราคนดู ในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่ล้วนเจ็บปวด ก้าวพ้น และเติบโต จะรู้สึกร่วมหัวจมท้ายไปกับการเติบใหญ่ของเธอ และโดยที่ไม่ต้องใช้เวลาและความพยายาม หนังก็สามารถจู่โจมเข้าไปยังจุดอ่อนไหวของคนดูแต่ละคน จนรู้ตัวอีกที น้ำตาที่ถูกกักเก็บอย่างแน่นหนาก็เอ่อล้นอย่างไร้การขัดขืน
CODA ยังว่าด้วยผลกระทบจากความอยุติธรรมที่ครอบครัวหนึ่งได้รับจากสังคมที่กีดกันพวกเขาอย่างเป็นระบบ “เราไม่เห็นต้องหาทางสื่อสารกับพวกเขา พวกเขาต่างหากที่ต้องหาทางสื่อสารกับเรา” พี่ชายของรูบีกล่าวอย่างน่าคิดในช่วงหนึ่ง CODA อาจหละหลวมในการมอบคำตอบอันเป็นรูปธรรมให้กับปัญหาที่ครอบครัวของรูบีประสบ แต่ฉากหนึ่งที่งดงามมาก ๆ และดูจะยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดขึ้นในตอนที่รูบีขับร้องเพลงพร้อม ๆ กับแปลความหมายเนื้อร้องผ่านภาษามือให้ครอบครัวของเธอไปด้วย เป็นฉากที่ไม่เพียงตอกย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างการตามล่าหาความฝันและรักษาไว้ซึ่งสายสัมพันธ์ครอบครัว แต่ยังบ่งชี้เป็นนัยถึงความเป็นไปได้ในการสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันของสองสำนวนภาษา หนึ่งใช้เสียง และอีกนึกเงียบงัน
Grade: B+
Directed by Sian Heder
Screenplay by Sian Heder
Produced by Fabrice Gianfermi, Philippe Rousselet, Jerôme Seydoux, Patrick Wachsberger
Starring Emilia Jones, Eugenio Derbez, Troy Kotsur, Ferdia Walsh-Peelo, Daniel Durant, Marlee Matlin
Cinematography by Paula Huidobro
Edited by Geraud Brisson
Music by Marius de Vries