
ว่าไปแล้วเสน่ห์อย่างหนึ่งใน Tomboy ของซีลีน เซียมมา ก็ละม้ายคล้ายกับ Portrait of a Lady on Fire (2019) ในแง่ที่มันเป็นการพาคนดูเข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์เรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นอย่างจำเพาะเจาะจง ณ ช่วงเวลาและสถานที่หนึ่ง ๆ และอาจพูดได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มักถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะด้วยเพราะมันเกิดขึ้นอย่างผิดที่ ผิดเวลา หรือทั้งสองข้อผสมปนเปกัน ข้อแตกต่างก็คงอยู่ที่ในคราวของ Tomboy มันไม่ได้เป็นผลพวงจากการไขลานย้อนเวลากลับไปยังอดีตกาล ในวันที่ความรักร่วมเพศยังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน หนังไม่เพียงเผยให้เห็นความสัมพันธ์อันใสซื่อบริสุทธิ์ระหว่างเด็ก ๆ แต่รวมถึงระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ตลอดจนความผันแปรอย่างลื่นไหลของร่างกายและจิตใจ สัมผัสอันแผ่วเบาและเป็นธรรมชาติของคนทำหนังในการถ่ายทอดประสบการณ์อันเฉพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นกับเด็กคนหนึ่ง ทำให้คนดู ซึ่งถึงแม้จะก้าวพ้นช่วงวัยดังกล่าวมาเนิ่นนาน สามารถรู้สึกราวกับได้ย้อนเวลากลับไปสำรวจความทรงจำของตัวเอง หรือกล่าวโดยสั้น กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
ส่วนที่ชาญฉลาดมาก ๆ คือการที่คนทำหนังเลือกใช้ชื่อหนังว่า Tomboy มันไม่เพียงเปิดโปงว่า มิเกล (โซอี เออร็อง) เด็กชายที่เราคนดูพบเห็นในตอนต้น แท้จริงแล้วเป็นเด็กหญิง ลูกสาวคนโตของครอบครัว แต่ยังเป็นการทำให้แน่ใจว่าอัตลักษณ์ตัวตนของเธอจะไม่ถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับส่งมอบสุนทรียะทางภาพยนตร์ ในการกระตุกเร้าความตะลึงงันของคนดู เรื่องราวของมิเกลซึ่งเกิดขึ้นในช่วงซัมเมอร์ปิดภาคเรียน ในตอนที่เขาย้ายตามครอบครัวมาลงหลักปักฐาน ณ เขตชนบทห่างไกลความวุ่นวาย แง่หนึ่งก็ทำงานเชิงสัญลักษณ์ในทำนองเดียวกับหมู่เกาะเงียบงันใน Portrait of a Lady on Fire และเป็นที่นี้เองที่เขาได้พบกับลิซ่า (ฌาน ดีส์ซง) เด็กหญิงหนึ่งเดียวในบรรดากลุ่มเด็กซนของชุมชน “นายไม่เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ” เธอกล่าวกับเขาอย่างมีพิรุธในช่วงหนึ่ง อาจเป็นการบอกใบ้เป็นนัยว่าเธอรู้ (หรือไม่ก็ไม่รู้) ตัวตนที่แท้จริงของเขา ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ ก่อนที่หนังจะค่อย ๆ เผยให้เห็นภาพที่มิเกลพยายามเข้าไปหลอมรวมกับเด็กชายคนอื่น ๆ ตั้งแต่เตะฟุตบอล ว่ายน้ำ เล่นต่อสู้ รวมถึงเลียนแบบกิริยาท่าทางที่เด็กผู้ชายชอบทำกันอย่างการถ่มน้ำลายเวลาเล่นฟุตบอล

หนังของเซลีน เซียมมา มักฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและพื้นที่อยู่เสมอ อย่างในกรณีของสระว่ายน้ำใน Water Lilies ที่กลายมาเป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์ หรือย่านชานเมืองของกรุงปารีส อันเป็นชุมชนของวัยรุ่นผิวดำใน Girlhood ในแง่นั้น Tomboy เองก็ดูจะไม่ใช่ข้อยกเว้น หนังเผยให้เห็นภาพที่เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันอย่างอิสระเสรีในพื้นที่ชุมชน นั่งจับกลุ่มคุยเจี้ยวแจ้วอยู่ตามซอกตึก ก่อนจะวิ่งแหวกไปตามป่าละเมาะ ทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นโดยไร้การแทรกแซงจากเงื้อมมือของผู้ใหญ่ พูดอีกอย่างหนึ่ง ความเฉพาะตัวของช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ที่หนังเลือกเข้าไปจดจ่อ เมื่อปะทะเข้ากับมวลอากาศของฤดูร้อน ตลอดจนพื้นที่เปิดโล่งของชุมชนรอบนอก สอดประสานรวมตัวกันกลายเป็นช่วงเวลาอันแสนวิเศษที่เปิดโอกาสให้มิเกลได้เป็นในสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น
แต่จนแล้วจนรอด มันก็นำไปสู่กำแพงบางอย่างที่ขวางกั้นระหว่างเขาและเด็กชายทั้งหลาย อย่างตอนที่พวกเด็กชายไปยืนยิงกระต่ายกันอยู่ข้างต้นไม้ มิเกลทำได้เพียงบิดกลั้นความปวดอยู่เบื้องหลัง โชคดีที่ความอึดอัดคับข้องดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้เขาและลิซ่าค่อย ๆ เข้ามาสนิทแนบชิดกันยิ่งขึ้น แง่หนึ่งก็ตอกย้ำถึงการมีอยู่ของพันธะระหว่างมิเกลและลิซ่า ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นบนระนาบของความรักลึกซึ้ง แต่รวมถึงมิตรภาพอันอ่อนหวานที่ไม่อาจหาได้ในหมู่เด็กผู้ชาย อีกข้อที่น่าสังเกต คือวิธีการที่คนทำหนังจ้องมองความสัมพันธ์ในครอบครัวของมิเกลโดยไม่มุ่งกล่าวโทษหรือตัดสิน เผยให้เป็นความเป็นครอบครัวที่ถึงแม้จะบกพร่อง แต่ก็แน่นแฟ้นและอบอุ่น ในทางหนึ่งก็เปรียบเสมือนการลบภาพจำกลาย ๆ ว่าการที่เด็กคนหนึ่งเลือกจะมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหล หาได้เป็นผลพวงจากความผุกร่อนของสถาบันครอบครัว
ฉากสั้น ๆ ที่ถึงแม้จะดูหละหลวมไปจากพล็อตเรื่องราว ทว่างดงามดีจริง ๆ (และถูกใช้เป็นรูปปกสำหรับบทรีวิวนี้) เกิดขึ้นในตอนที่มิเกลนั่งเป็นเป้านิ่งให้ฌานน์ (มาลอนน์ เลอวานา) น้องสาวของเขา วาดรูปเขาลงบนกระดาษ รูปวาดนั้น ถึงแม้จะไม่สมจริงหรือสวยงามเทียบเท่ารูปที่มาริยานน์วาดเอโลอิสใน Portrait of a Lady on Fire แต่ก็ทำงานเชิงสัญลักษณ์ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า มันเปรียบได้กับความพยายามของสองพี่น้องในการบันทึกรูปลักษณ์ตัวตนของมิเกลเอาไว้ อาจเพราะมันเป็นตัวตนที่พวกเขาและเราคนดูต่างรู้ว่าเมื่อเสียงระฆังดังขึ้นและฤดูร้อนสิ้นสุดลง มิเกลก็ไม่ต่างกับซินเดอร์เรลลาที่ต้องระเห็จกลับไปเป็นคนรับใช้ เมื่อเขาจำต้องกลับออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง ไปเข้าโรงเรียนที่อนุญาติให้เขาเป็นได้เพียงเด็กผู้หญิงอีกครั้ง ว่าไปแล้วการที่หนังเลือกจะโฟกัสจับจ้องไปยังช่วงเวลาฤดูร้อนดังกล่าว โดยไม่ล่วงล้ำไปยังอดีตหรืออนาคตของมิเกล ไม่สนใจว่าเขาหรือเธอจะเคยสวมบทบาทมิเกลมาก่อนหรือไม่ หรือในอนาคตจะมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนนี้ก็ย่อมทิ้งร่องรอยหลักฐานชั้นดี ว่ากาลครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นมิเกล ถึงแม้ว่ามันจะเป็นช่วงเวลาอันแสนสั้นก็ตาม
Grade: A-
Directed by Céline Sciamma
Screenplay by Céline Sciamma
Produced by Bénédicte Couvreur
Starring Zoé Héran, Malonn Lévana, Sophie Cattani, Mathieu Demy, Jeanne Disson
Cinematography by Crystel Fournier
Edited by Julien Lacheray
Music by Para One