
นอกเหนือไปจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองออสโล หากจะมีอีกสักข้อหนึ่งที่ยึดเชื่อมแต่ละภาคใน Oslo Trilogy ของยัวคิม เทรียร์เข้าด้วยกัน ก็น่าจะเป็นการที่หนังฉายชัดให้เห็นว่า ‘ออสโล’ ในฐานะสถานที่ที่ตัวละครเหล่านั้นอยู่อาศัย มีส่วนสำคัญในการก่อร่างตัวตนและกำหนดความเป็นไปของชายหนุ่มหญิงสาวที่มันโอบอุ้มเพียงใดและอย่างไร เช่นในกรณีของ ฟิลิปและอีริกใน Reprise (2006) ที่ต่างออกเดินทางตามหาแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของพวกเขา ก่อนจะพบกับอุปสรรคหลายประการที่ทำให้ต้องล้มลุกคลุกคลาน หรืออย่าง แอนเดอรส์ ใน Oslo, August 31st (2011) (ซึ่งส่วนตัวยังคงเชื่อว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของไตรภาค) ที่ว่าด้วยเรื่องราวการค้นหาโอกาสครั้งที่สองของชายติดยา เมื่อพิจารณาดูแล้ว ถึงแม้เรื่องราวของ จูลี (เรนาเต ไรน์สเว ในบทบาทที่ส่งเธอไปรับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด) ใน The Wost Person in the World จะเรียบง่ายและไม่ได้หนักอึ้งเท่ากับสิ่งที่ฟิลิป อีริก และแอนเดอรส์ ต้องพบเจอ แต่โดยรวม ๆ แล้วมันก็ยังว่าด้วยเรื่องราวของคนหนุ่มสาวตัวเล็กตัวน้อยที่ต่างค้นพบว่าออสโลนั้นอาจกว้างใหญ่เกินไปสำหรับพวกเขา
เรื่องชุลมุนวุ่นวายของจูลี ว่าไปแล้วก็อาจละม้ายคล้ายกับสิ่งที่ใครหลายคนในวัยย่าง 30 กำลังรู้สึก มันเป็นเหมือนเส้นชัยที่ไม่มีใครอยากเดินไปถึง ด้วยว่ามันเป็นช่วงวัยที่โลกไม่อาจยินยอมให้เราใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยได้อย่างเมื่อครั้งวัย 20 ได้อีกต่อไป ทั้งที่ลึก ๆ แล้วเราต่างก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร หรือกระทั่งอยากลงหลักปักฐานกับใคร อย่างที่จูลีเพิ่งค้นพบหลังจากเลือกเรียนแพทย์ไปแล้ว ว่าแท้จริงแล้วเธอสนใจในเรื่องราวของจิตใจมากกว่าร่างกาย แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบการถ่ายภาพที่สุด แต่ก็อีกนั่นแหละ เธอก็มิวายลงเอยด้วยการเป็นพนักงานประจำในร้านหนังสือ เธอเปลี่ยนคนรัก(หรือคู่นอน)มาหลายคนก่อนจะพบกับแอคเซล (แอนเดอรส์ แดเนียลเซน ลี) นักวาดการ์ตูนใต้ดินวัย 40 ก่อนที่ทั้งสองจะตกลงคบหากัน ถึงแม้เขาจะเตือนเธอแล้วก็ตามว่าด้วยวัยที่ต่างกันมากเกินไปอาจทำให้มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งก็ไม่ผิดคาดจริง ๆ เมื่อวันหนึ่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เกิดระหองระแหง จนกระทั่งมันนำพาให้เธอไปพบกับไอวินด์ (แฮร์เบิร์ต นอร์ดรัม) หนุ่มบาริสตารุ่นราวคราวเดียวกัน
วิธีการที่เทรียร์ตลบแตลงความเป็นหนังรอมคอม ว่าไปแล้วก็เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของครูหนังแห่ง French New Wave อย่างฟร็องซัวส์ ทรูว์โฟต์ ซึ่งมักจะว่าด้วยความสัมพันธ์และความสับสนอลหม่านของการเติบโตอยู่เสมอ ในแง่นั้นสถานการณ์ที่จูลีกำลังประสบพบเจอก็อาจเรียกได้ว่าเป็นผลพวงของกาลเวลาที่หล่นหาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในกรอบสถานที่และเวลาที่จำเพาะเจาะจงมาก ๆ (ออสโล ในปัจจุบัน) ในวันที่เธออายุครบ 30 ปี เสียงบรรยายเล่าย้อนพร้อมฉายภาพให้เราคนดูเห็นว่าผู้หญิงในเชื้อสายตระกูลของเธอกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้างในวันที่พวกเธออายุเท่ากับจูลี บ้างแต่งงานมีครอบครัว บ้างหย่าร้าง บ้างล้มหายตายจากไปแล้ว (เพราะสมัยหนึ่งผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี เธอกล่าวผ่านเสียงบรรยาย) “ผมเกิดในยุคสมัยที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ” แอคเซลกล่าวกับจูลีในช่วงหนึ่ง ก่อนจะเสริมต่อไปว่า “ในตอนนั้นวัฒนธรรมความทรงจำถูกถ่ายทอดผ่านสิ่งของ มันน่าสนใจเพราะเราสามารถใช้ชีวิตอยู่รอบ ๆ มันได้ สามารถหยิบมันขึ้นมาจับสำรวจได้ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว” นั่นอาจจะเป็นตอนที่จูลีสำนึกรู้ว่าโลกที่เธอเติบโตมานั้นหมุนเร็วเพียงใด และเธอได้ทำเวลาหลุดลอยไปอย่างมากมายเท่าไร
ตัวละครแอคเซล ในความหมายหนึ่งก็อาจเปรียบได้กับตัวตายตัวแทนของยุคสมัยที่เสื่อมสลาย เขาบ้างาน เฝ้าฝันอยากมีครอบครัวในอุดมคติ และลึก ๆ แล้วก็เหยียดเพศ มันเห็นเด่นชัดในวันที่การ์ตูนเหยียดเพศของเขาไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในโลกสมัยใหม่ (จนถึงจุดที่ ‘รูตูด’ ของบ็อบแคตก็ไม่อาจมีที่ยืนบนจอภาพยนตร์) ขณะที่ไอวินด์เปรียบเปรยได้กับพื้นที่ปลอดภัยของจูลี เขาบ้าบิ่น พร้อมจะฉีกกฎความสัมพันธ์ และอยากจะอยู่กับปัจจุบันมากกว่าอนาคตเหมือน ๆ กับเธอ ช่วงหนึ่งบทภาพยนตร์ของเทรียร์ และเอสกิล โวกต์ สุ่มเสี่ยงจะติดหล่มชายเป็นใหญ่ที่เชื่อว่าหญิงสาวไร้เดียงสาอย่างจูลีมีเพียงสองทางเลือกเท่านั้นคือ ผู้ชายและผู้ชาย (และหนังก็ดูจะละเลยที่จะสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างจูลีกับผู้หญิงคนอื่น ๆ) แต่การที่หนังสามารถตั้งคำถามที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งกว่านั้นนับว่าชาญฉลาดมาก ๆ คำถามว่า “ฉันเป็นใครในโลกอันกว้างใหญ่แห่งนี้?” เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่บางครั้งก็อาจใช้เวลาทั้งชีวิตในการค้นหาคำตอบ “นายโอเคที่จะเสิร์ฟกาแฟไปจนกระทั่งอายุ 50 จริงหรอ?” จูลีกลายเป็นฝ่ายตั้งคำถามกับไอวินด์ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลังจากความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดเธอก็เติบโตขึ้น บางทีจูลีอาจจะไม่ใช่ ‘คนที่เลวร้ายที่สุดบนโลก’ แต่เป็นโลกนี้ต่างหากที่ตัดสินเธอเร็วเกินไป
Grade: A-
Directed by Joachim Trier
Written by Eskil Vogt, Joachim Trier
Produced by Andrea Berentsen Ottmar, Thomas Robsahm
Starring Renate Reinsve, Anders Danielsen Lie, Herbert Nordrum
Cinematography by Kasper Tuxen
Edited by Olivier Bugge Coutté
Music by Ola Fløttum