แพรดำ – การเมืองเรื่องศาสนา ในวันที่คนไทยเสื่อมศรัทธา

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ

ประเด็นนึงที่น่าสังเกตใน แพรดำ ของรัตน์ เปสตันยี คือหนังไม่เพียงโอบรับเอาแนวคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษมาผสมกลมกลืนเข้ากับอาชญากรรมฟิล์มนัวร์ แต่ท่าทีของหนังที่มีต่อพุทธศาสนาชี้ชัดให้เห็นว่าศาสนาไม่เพียงทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนหรือเป็นเพียงที่พึ่งทางใจ แต่อาจมีสถานะเทียบเท่ากับศาลผู้มีอำนาจตัดสินชี้ขาด มีอำนาจในการตีตราว่าการกระทำใดส่งบุญกุศล การกระทำใดคือสิ่งผิดบาป อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหนังจึงไม่อาจถูกตรวจสอบด้วยบรรทัดฐานทางกฏหมายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่านการตัดสินโดยบรรทัดฐานทางพุทธศาสนาด้วย แอบคิดไปถึงว่าการทับซ้อนทางอำนาจดังกล่าวในทางหนึ่งก็เป็นผลพวงของพลวัตการเมืองไทยในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขั้วอำนาจเก่าและองคาพยพกำลังหาหนทางในการแปรสภาพไปสู่อำนาจใหม่ในรูปแบบของรัฐเผด็จการนั่นแหละ

ศาสนาซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงถูกกระชับรัดกุมให้แนบชิดและแนบเนียนเข้ากับอำนาจรัฐยิ่งขึ้น ความฉลาดหลักแหลมของเผด็จการไทยคือพวกเขารู้ว่าลำพังเพียงกลไกทางกฏหมายและกำลังทางทหาร ไม่เพียงพอที่จะบังคับควบคุมประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรืออย่างน้อย ๆ อำนาจแบบนั้นก็ไม่จีรังยั่งยืน มันจึงจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องมีการใช้กระบวนการทางศาสนา อาศัยความเชื่อหรือกระทั่งความคลั่งไคล้อย่างไม่ลืมหูลืมตามาเป็นเครื่องมือในการบังคับควบคุมผู้คน หลักฐานขั้นต้นที่น่าสังเกตก็คือวิธีการที่คนทำหนังจัดวางองค์ประกอบภาพของฉากในสถานีตำรวจและศาล

ซึ่งกระบวนการข้างต้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดด ๆ แต่ดำเนินควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านทางยุคสมัย จากเก่าไปสู่ใหม่ จากสังคมจารีตไปสู่สังคมแห่งทุน จากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง จนถึงที่สุด การเปลี่ยนผ่านทั้งหลายทั้งมวลก่อให้เกิดการช่วงชิงพื้นที่ระหว่างขั้วอำนาจเก่าและใหม่ ซึ่งสัญญะของความแตกต่างแปลกแยกก็ดูจะแทรกซึมอยู่แทบทุกรายละเอียดของหนัง ตัวละครอย่างแพร (รัตนาวดี รัตนาพันธ์) หญิงหม้ายที่สวมชุดดำเพื่อไว้ทุกข์ให้แก่สามีผู้ล่วงลับ แง่หนึ่งก็เปรียบได้กับตัวแทนของผู้คนที่ถูกฉุดรั้งโดยอดีต กำหนดกฏเกณฑ์ทางสังคมที่เข้มงวดส่งผลให้เธอไม่กล้าที่จะเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับทม (ทม วิศวชาติ) ถึงแม้ว่าลึก ๆ แล้วเธอจะชอบพอเขามากเพียงใดก็ตาม

ขณะที่ตัวละครอย่างเสนีย์ (เสณีย์ อุษณีษาณฑ์) และทม โดยพื้นเพแล้วต่างก็เป็นคนต่างจังหวัดที่โยกย้ายสัมโนครัวมาแสวงหาโชคทรัพย์ในเมืองกรุง ธุรกิจไนท์คลับที่ทั้งสองควบคุมดูแลเป็นทั้งสัญญาณเตือนถึงความเสื่อมถอยทางจิตวิญญาณและหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงการรุกคืบของทุนนิยม ในวันที่ความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจแบบเก่ากำลังถูกแทนที่ด้วยลัทธิวัตถุนิยม ในอีกความหมายหนึ่ง พื้นที่ในไนท์คลับซึ่งจัดแสดงการร่ายรำท้องถิ่นจึงเป็นทั้งพื้นที่ที่สะท้อนความกระอักกระอ่วนของการคงอยู่ร่วมกันระหว่างจารีตวัฒนธรรมไทยและทุนนิยมตะวันตก โดยเฉพาะในวันที่ศิลปะวัฒนธรรมถูกแปรสภาพกลายเป็นสินค้าโดยสมบูรณ์ (ในทำนองเดียวกับ โรงแรมนรก ผลงานก่อนหน้าของรัตน์ เปสตันยีที่พื้นที่ในหนังกลายมาเป็นสังเวียนที่วัฒนธรรมตะวันออก ตะวันตก และอาชญากรรมเข้ามาปะทะกันอย่างดุเดือด)

ความไม่อาจผสมกลมกลืนดังกล่าวยังถูกเน้นย้ำผ่านเรื่องราวของเสนีย์ อย่างตอนที่หนังเปิดเผยให้เห็นว่าเขามีน้องชายฝาแฝดชื่อเสมาที่ยังใช้ชีวิตอาศัยอยู่ในบ้านนอก ก่อนจะเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในตอนต้นเรื่อง การแตกเป็นสองส่วนของแฝดเหมือนตอกย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านจากสังคมชนบทสู่สังคมเมืองแบบจะแจ้งมาก ๆ เมื่อแฝดคนหนึ่งใช้ชีวิตธรรมดาสามัญอยู่ในชนบท ขณะที่อีกคนหนึ่งใช้ชีวิตสุขสมโสมมอยู่ในเมืองกรุง และนัยยะของการเสียชีวิตของเสมาก็แทบจะเป็นการอุปมาอุปไทยถึงการเสื่อมสลายของสังคมจารีตในขณะนั้น

อีกข้อน่าสังเกตที่น่าจะส่งเสริมแนวคิดทั้งหลายข้างต้นคือวิธีการที่หนังฉายภาพเหตุการณ์ในวัดที่บรรดาพุทธศาสนิกชนกำลังนั่นฟังเทศน์จากพระสงฆ์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ฉากดังกล่าวถูกตัดจับคู่กับภาพเหตการณ์ในไนท์คลับที่บรรดานักเที่ยวกลางคืนกำลังจ้องมองไปยังนางรำบนเวที การทิ้งน้ำหนักจัดวางนางรำในลักษณะเดียวกับพระสงฆ์นอกจากจะเป็นการเชื้อเชิญให้คนดูเปรียบเทียบลักษณะความเป็นขั้วตรงข้ามของยุคสมัยเก่าและใหม่ บุญและบาป จารีตและทุน ยังเป็นการเสียดสีสถานะของศาสนา ราวกับว่าแท้จริงแล้วความศรัทธาก็อาจจะไม่ต่างอะไรจากความหลงละเมอเพ้อพก พระธรรมคำสอนเองก็อาจไม่ได้มีสถานะสูงส่งหรือเหนือกว่าบทเพลงที่ขับร้องโดยนางรำในไนท์คลับ

อีกฉากสั้น ๆ ที่ดูจะสลักสำคัญอย่างยิ่งยวด เกิดขึ้นในตอนที่เรื่องราวดำเนินจนความขัดแย้งเริ่มคลี่คลาย ฝุ่นที่ตลบฟุ้งเริ่มเบาบางและความชัดเจนเริ่มปรากฎ คนร้ายถูกจับกุมและกำลังจะเข้ารับการสำเร็จโทษในเรือนจำ คนทำหนังเลือกที่จะจับภาพจากระยะไกล เผยให้เห็นภาพคนร้ายกำลังถูกคุมตัวเข้าไปยังสถานกักกัน ก่อนที่กล้องจะเคลื่อนตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ให้ความรู้สึกถึงการหลุดพ้นจากบ่วงพันธการหรือการล่องลอยขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ก่อนที่กล้องจะไปหยุดอย่างฉับพลัน ณ ระดับของธงชาติไทยที่ลอยสูงเหนือทุกสรรพสิ่ง สำนวนไวยกรณ์ดังกล่าวคือการยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีวันและไม่มีใครที่จะหลุดพ้นการจับจ้องและบังคับควบคุมโดย ‘ชาติ’ ไปได้

ขณะที่ด้านของแพร หลังจากเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตรกรรมจนต้องผ่านเรื่องหนักอึ้งที่ล้วนสาหัสเกินกว่าจะรับมือ เธอจึงตัดสินใจหันหน้าเข้าหาพระธรรมด้วยการบวชชี ฉากเหตุการณ์ที่คนร้ายกราบสักการะบูชาพระสงฆ์ก่อนจะได้รับการสำเร็จโทษถูกลำดับจัดวางในทำนองเดียวกับฉากตอนที่แพรเข้ารับการบวช เป็นอีกครั้งที่หนังเน้นย้ำบทบาทความสำคัญของพุทธศาสนาซึ่งแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม จนถึงที่สุด ถึงแม้หนังจะมีทีท่าว่าการเข้าหารสพระธรรมของแพรนั้นคือสิ่งที่นำพาให้เธอได้พบกับความสุขสงบของชีวิต แต่การตัดสลับชีวิตของแพรในรั้ววัดกับชีวิตในห้องขังของคนร้ายก็ชวนให้อดคิดไม่ได้เช่นกันว่าท้ายที่สุดแล้ว เธอเองก็กำลังถูกจองจำไม่ต่างจากผู้กระทำผิด เพียงแต่เป็นในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง


กำกับ รัตน์ เปสตันยี
อำนวยการสร้าง รัตน์ เปสตันยี
เขียนบท รัตน์ เปสตันยี
กำกับภาพ รัตน์ เปสตันยี, เอเติล เปสตันยี
ลำดับภาพ รัตน์ เปสตันยี
ดนตรี ปรีชา เมตไตร์, คณะดุริยางค์ประณีต

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s