Fast and Feel Love – เมื่อโลกเร็วโหด จนใครบางคนถูกลืมหล่นหาย

พูดถึงหนังที่สามารถส่องขยายให้เห็นถึงความสำคัญของเวลาในระดับเศษเสี้ยววินาที เรื่องแรก ๆ ที่นึกถึงคงจะเป็น Chungking Express ของหว่องกาไว ด้วยว่า เวลา เป็นสิ่งที่สลักสำคัญอย่างยิ่งยวดในหนังของหว่อง มันมีวันหมดอายุ ไร้การควบคุม มักจะเดินทางอย่างคดเคี้ยวไปมาในจังหวะจะโคนที่ไม่คงที่ เวลาในหนังของหว่องจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ จนถึงจุดที่มันสามารถฉายส่องให้เห็นว่าในสภาวการณ์หรือในสถานที่ซึ่งมีความจำเพาะมาก ๆ เวลาแสนสั้นเพียงชั่วอึดใจก็อาจจุดประกายให้เกิดความน่าจะเป็นอีกร้อยแปดพันเก้า ในแง่หนึ่งตัวละครของหว่องจึงมีสถานะเป็นผู้ประสบภัยทางเวลา ซึ่งหว่องกาไวชี้ให้เห็นว่าเวลาเพียงเสี้ยววินาทีอาจขยับขยายกลายเป็นการตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ หรือไม่ก็กลายเป็นการพลัดพรากที่ไม่นำมาซึ่งอะไรเลย Fast and Feel Love ของเต๋อ นวพล ทำให้นึกถึง เวลา ในหนังของหว่อง ไม่ใช่แค่เพราะกีฬาสปอร์ตสแต็กกิงซึ่งหนังเอามาใช้เป็นเครื่องดำเนินเรื่องนั้นตัดสินแพ้ชนะกันด้วยช่องว่างเพียง 0.001 วินาที แต่รวมถึงการที่ชีวิตของตัวละครอย่างเกา (ณัฏฐ์ กิจจริต) ในแง่หนึ่งนั้นถูกกำหนดกฎเกณฑ์อยู่บนเงื่อนไขของเวลาชนิดทุกย่างก้าว

ซึ่งว่าไปแล้วก็คล้าย ๆ กับอีกหลาย ๆ ตัวละครที่เรามักเห็นกันในหนังของเต๋อ เกาอาศัยอยู่บนโลกที่ดูราวกับว่ากำลังหมุนเร็วเกินไป จนถึงจุดที่เขาค้นพบว่าตัวเองไม่อาจวิ่งตามมันได้ทัน ตัวละครในหนังของเต๋อมักถูกห้อมล้อมด้วยสถานที่ทรุดโทรม ตึกเก่าคับแคบ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่ดูตกยุคตกสมัย ขัดแย้งกับฉากหน้าของหนังที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาปัจจุบัน ราวกับว่าพวกเขากำลังติดอยู่ในช่องว่างกึ่งกลางระหว่างอดีตและปัจจุบัน (อย่างที่เห็นเด่นชัดก็ในกรณีของ ทราย, แมรี่, ยุ่น และ จีน ที่ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน) พูดอีกอย่างหนึ่ง หนังของเต๋อมักจำลองเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน อยู่เสมอ กรณีของเกา ใน Fast and Feel Love ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยพื้นเพเขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางล่าง อาศัยอยู่ในบ้านตึกแถวที่ทั้งแออัดและคับแคบจนไม่เหลือพื้นที่ให้กับความเป็นส่วนตัว จนกระทั่งชะตาฟ้าลิขิตให้เขาขยับเคลื่อนย้ายไปอยู่ในบ้านหรูใจกลางกรุงกับเจ (อุรัสยา สเปอร์บันด์) แฟนสาวผู้หวังดีที่เขาคบหามาตั้งแต่สมัยเด็กวัยเรียน

บ้านใหม่ที่ทั้งโอ่โถงและประดับประดาไปด้วยข้าวของเครื่องใช้สวยงามทันสมัย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างของเก่าและใหม่ อดีตและปัจจุบัน ที่ซึ่งเกาดูราวกับว่ากำลังติดหล่มอยู่ บ้านเก่าของคุณแม่วุ่นวายเกินกว่าที่เขาจะกลับไปอยู่อาศัย ขณะเดียวกันชีวิตในบ้านใหม่ก็สุดแสนสลับซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะทำความเข้าใจได้อย่างรอบด้าน นั่นคือตอนที่ เจ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตของเกา เธอไม่เพียงอุ้มชูเขาโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน แต่ในฐานะตัวละคร เจ ยังทำงานเป็นแม่เหล็กขั้วตรงข้ามกับเกา เธอทันสมัย ทว่าเรียบง่าย (ขณะที่เขาล้าสมัย ทว่าทะเยอทะยาน) เธอไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงอยากจะเป็นที่หนึ่งของโลกอย่างเกา ความฝันของเธอไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เธอต้องการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ตัวละครเจ แง่หนึ่งก็เปรียบได้กับตัวตนอีกด้านหนึ่งของนวพล ที่ยังโหยหาความเชื่องช้าและเรียบง่าย ทว่าต้องรับมือกับโลกปัจจุบันทันด่วนที่ทุกคนคาดหวังให้ทุกอย่าง (โดยเฉพาะภาพยนตร์) ต้องหมุนเคลื่อนอย่างรวดเร็วทันใจ (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าการเขียนตัวละครผู้หญิงให้ฝันอยากจะเป็นเพียง แม่ของลูกโดยไม่มีอะไรมากกว่านั้น ในพ.ศ.นี้เป็นอะไรที่ล้าหลังมาก ๆ รวมถึงตัวละครคนจนผิวดำที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนชนชั้นกลาง ก็เป็นอะไรที่น่าถกเถียง)

คุณลักษณะที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งของนวพลคือการที่หนังของเขามักเป็นผลผลิตของการต่อรองระหว่างความเป็นประพันธกร (auteur) และการทำหนังโดยมีตลาดเป็นตัวนำของสตูดิโอ (ในทำนองเดียวกับที่ตัวละครของเขามักอยู่กึ่งกลางระหว่างอดีตและปัจจุบัน) ไวยากรณ์ภาพยนตร์ของนวพลจึงไม่เคยหยุดนิ่ง เราคนดูเห็นการทดลองใหม่ ๆ ในหนังของเขาอยู่เสมอ ตั้งแต่การแช่กล้องและถ่ายทำด้วยลองเทคที่เขารับอิทธิพลมาจากหนังไต้หวันใน 36 การผสมปนเประหว่างเรื่องจริงและเหนือจริงใน Mary is Happy, Mary is Happy การใช้กล้องแฮนด์เฮลด์เพื่อเน้นย้ำถึงความไม่มั่นคงของยุ่นใน ฟรีแลนซ์ และล่าสุด คือการเอาเทคนิคการถ่ายทำแบบหนังตลาดฮอลลีวู้ด โดยเฉพาะหนังแอคชัน มาบอกเล่าเรื่องราวการเติบโตในโลกอันแสนสับสนอลหม่านของเกาใน Fast and Feel Love ซึ่งว่ากันตามตรง ท่าทีตลกขบขันของหนังกับจังหวะขึงขังจริงจังแบบหนังแอคชันก็ไม่สามารถทำงานกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียว แต่กล่าวอย่างถึงที่สุด อย่างน้อย ๆ มันก็ไม่ได้ทำงานเพียงในฐานะหนังที่เอาประโยคคม ๆ หรือภาพจำจากหนังฮอลลีวู้ดและป็อปคัลเจอร์มาล้อเลียนแบบซึ่งหน้า (ถึงแม้หน้าหนังจะชวนให้คิดเช่นนั้น) แต่เป็นทั้งสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าบางครั้งการเคลื่อนที่เร็วเกินไปก็อาจทำให้เราต้องทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง และเป็นการประชดประชันตัวเอง (รวมถึงคนดู) ประหนึ่งว่า “หนังเร็ว ๆ แบบนี้ใช่ไหม ที่พวกนายอยากดู”


Grade: B

กำกับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
อำนวยการสร้าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
บทภาพยนตร์ นวพล ธำรงรัตน์ฤทธิ์
แสดง ณัฏฐ์ กิจจริต, อุรัสยา เสปอร์มันด์
กำกับภาพ ณัฐดนัย นาคสุวรรณ
ตัดต่อ ปนายุ คุณวัลลี
ดนตรี เมลโลว์ จูน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s