สรุปเรื่องราวในงานประกาศรางวัลเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 75


เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 75 ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของรูเบน ออสต์ลุนด์ กับผลงานเรื่อง Triangle of Sadness นี่ถือเป็นรางวัลปาล์มทองคำสมัยที่สองของผู้กำกับชาวสวีเดนต่อจาก The Square (2017) ส่งให้เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของสวีเดน เคียงข้าง อิงมาร์ เบิร์กแมน และ รอย แอนเดอร์สสัน ทันที หลังจากขึ้นรับรางวัล รูเบน ออสต์ลุนด์ กล่าวอย่างน่าคิดว่า ‘สำหรับเขาแล้วสิ่งพิเศษสำหรับภาพยนตร์คือประสบการณ์ของการรับชมสิ่งที่อยู่ตรงหน้าร่วมกัน และพูดคุยถกเถียงหลังจบการรับชม’ นั่นคือหนังของออสต์ลุนด์ หนังของเขาก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วน และชวนให้คนดูถกเถียงอย่างไม่รู้จบ The Square (ซึ่งส่วนตัวชอบน้อยกว่า Force Majeure ผลงานก่อนหน้าของเขา) เต็มไปด้วยภาพเรื่องราวที่ทั้งตลกและเสียดแทงอย่างแสบสัน การขึ้นไปเทียบมิคาเอล ฮาเนเก และพี่น้องดาร์เดนน์ ในฐานะแชมป์ปาล์มทองคำสองสมัยไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ และด้วยวัยเพียง 48 ปี ทำให้การมีลุ้นคว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้เป็นครั้งที่สามไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

Claire Denis


ก่อนการประกาศรางวัลไม่กี่ชั่วโมงมีข่าวลือร่อนไปทั่วเทศกาลว่า Close ของลูคัส ดอนต์ จะกลายเป็นเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ หลังจากนักวิจารณ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือหนังที่ดีที่สุดของเทศกาล เป็นหนังที่ชวนให้อิ่มเอมและแตกสลายอย่างไม่เหลือชิ้นดี แต่จนแล้วจนรอด ผลออกมาว่าหนังของผู้กำกับชาวเบลเยียมได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ ร่วมกับ Stars at Noon ของแคลร์ เดอนีส์ ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งโดนวิจารณ์อย่างหนาหูว่าเป็นหนึ่งในหนังที่แย่ที่สุดของเทศกาล ระหว่างการกล่าวสปีชมีดราม่าเกิดขึ้นเล็กน้อยเมื่อแคลร์ เดอนีส์ ถูกสื่อฝรั่งเศสส่งเสียงโห่เบา ๆ จนทำให้เธอรีบเดินออกไปจากโพเดียมพร้อมกับถ้วยรางวัล (ซึ่งมีอยู่ถ้วยเดียว) พอลูคัส ดอนต์ ขึ้นมาจึงเกิดเหตุติดขัดเล็กน้อยเมื่อไม่มีถ้วยรางวัลให้ผู้กำกับชาวเบลเยียมถ่ายรูปด้วย แต่ฆาร์เวียรื บาเดม ซึ่งเป็นคนมอบรางวัล แก้สถานการณ์ด้วยการไปขอถ้วยรางวัลจากแคลร์ เดอนีส์ได้ในที่สุด ดอนต์กล่าวสปีชได้จับใจทีเดียว เขากล่าวว่า “ช่วงเวลาสองสามปีมานี้ เราถูกบังคับให้ต้องเว้นระยะห่างจากคนที่เรารัก มันทำให้ผมเข้าใจว่าผมต้องการพวกเขามากแค่ไหน ผมเลยอยากจะทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวอันอบอุ่นของคนหนุ่มสาว เรื่องราวที่จะทำให้คุณตระหนักว่าการมีใครสักคนอยู่ใกล้ ๆ (Close) มันทรงพลังขนาดไหน”

Park Chan-wook


อีกชัยชนะที่สำคัญมาก ๆ ตกเป็นของผู้กำกับและนักแสดงเกาหลีใต้ พัคชานอุค ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และซงคังโฮ ในสาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในรายหลังที่เป็นการส่งให้เกาหลีใต้คว้ารางวัลหลักของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครบทุกรางวัลเป็นที่เรียบร้อย ไร่เรียงได้ตั้งแต่ปาล์มทองคำของ Parasite กรังด์ปรีซ์ของ Oldboy จูรีไพรซ์ของ Thirst ผู้กำกับยอดเยี่ยมของอิมควอนแท็คและพัคชานอุค บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ Poetry นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมของจอนโดยอน รายชื่อเหล่านี้ไม่เพียงเป็นตัวแทนของคนเกาหลี แต่เป็นหลักฐานยืนยันถึงการผลิดอกออกผลของ New Korean Cinema ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายผลักดันภาพยนตร์เกาหลีใต้ในฐานะ Soft power ออกสู่ตลาดโลก ในเวลานี้ไม่มีใครทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าเกาหลีใต้อีกแล้ว


อีกรางวัลที่ออกผลเสมอคือจูรีไพรซ์ ซึ่งตกเป็นของ EO หนังดัดแปลงจาก Au Hasard Baltazar โดยเจอร์ซี สโคลีมอฟสกี คนทำหนังชาวโปลิชวัย 84 ปี (มากที่สุดในสายประกวดหลักปีนี้) สโคลีมอฟสกีไม่กล่าวอะไรมาก เพียง “ขอบคุณเจ้าลาทั้งหกตัวของผม” ก่อนจะตบท้ายด้วยการทำเสียง ‘อียอออ’ เพื่อเป็นการสื่อสารไปยังเจ้าลาทั้งหลาย เรียกร้อยยิ้มให้กับแขกในงานได้ดีทีเดียว อีกเรื่องคือ The Eight Mountains ของเฟลิกซ์ ฟาน โกรนินเกน และ ชาร์ลอตต์ ฟานเดอร์เมอร์ช คู่รักสามีภรรยาชาวเบลเยียม นี่ถือเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่รางวัลกรังด์ปรีซ์และจูรีไพรซ์ออกผลเสมอทั้งคู่ ตอกย้ำว่าคานส์เองก็อะลุ่มอล่วยเพื่อที่จะกระจายรางวัลให้เยอะที่สุด เพราะหนังทุกเรื่องต่างเปี่ยมด้วยคุณภาพจริง ๆ


เนื่องด้วยปีนี้เป็นปีที่ 75 ของคานส์ ซึ่งเป็นประเพณีมาเสมอว่าทุก ๆ ห้าปีจะมีการมอบรางวัลพิเศษ โดยครั้งนี้ตกเป็นของพี่น้องดาร์เดนน์ จากผลงานเรื่อง Tori and Lokita ที่นักวิจารณ์หลายสำนักเก็งกันว่ามีโอกาสสูงมาก ๆ ว่าจะได้รางวัลใหญ่ หนังของพี่น้องดาร์เดนน์ขึ้นชื่อเรื่องการส่องสำรวจประเด็นสังคมบนความสมจริง ด้วยขนาดความยาวที่กระชับรัดกุม ทำให้หนังของพวกเขาได้รับความสนใจจากคานส์อยู่เสมอ และการมาเยือนเทศกาลแห่งนี้ทีไรสองพี่น้องก็มักจะได้รางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านแทบทุกครั้ง จนถึงตอนนี้ นอกจากสถิติรางวัลปาล์มทองคำสองสมัย สองพี่น้องชาวเบลเยี่ยมได้รางวัลหลักจากคานส์ไปครบทุกรางวัลแล้ว เหลือเพียงจูรีไพรซ์เท่านั้น


บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ Boy From Heaven หนังการเมืองระทึกขวัญโดยทาริค ซาเลห์ ผู้กำกับลูกครึ่งสวีเดช-อียิปต์ ที่ถูกแบนจากบ้านเกิดจนต้องระเห็จระเหินยกกองถ่ายไปที่ตุรกี “ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้แก่คนทำหนังรุ่นใหม่ในอียิปต์ เพื่อให้พวกเขามีกำลังใจที่จะส่งเสียงและบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาต่อไป” ส่วนรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมตกเป็นของ ซาร์ อามีร์ อีบราฮิมี นักแสดงชาวอิหร่าน เธอเคยโด่งดังมาก ๆ ในอิหร่านจนกระทั่งปี 2006 คลิปหลุดของเธอถูกนำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ แรงต้านจากสังคมผลักไสเธอจนต้องอพยพออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฝรั่งเศส สปีชของเธอขณะขึ้นรับรางวัลสะเทือนอารมณ์มาก ๆ “หนังเรื่องนี้คือเรื่องราวของผู้หญิง ร่างกายของผู้หญิง มือ เท้า หน้าอก เซ็กส์ หรืออะไรก็ตามแต่ที่พวกเราไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้ในอิหร่าน ขอบคุณอาลี อับบาซี สำหรับโอกาสที่มอบให้ฉัน ขอบคุณความใจดีของคุณ และความบ้าคุณที่กล้าทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด”

Song Kang-ho, Ruben Oestlund, Vincent Lindon, Zar Amir Ebrahimi, Eden Dambrine

แวงซ็อง แลงดง ประธานกรรมการปีนี้ กล่าวสรุปเรื่องราวตลอดสองสัปดาห์ ซึ่งหนักหนามาก ๆ การตัดสินหนังคุณภาพ 21 เรื่อง ไม่ใช่งานง่าย เขากล่าวติดตลกว่า “คานส์ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว แทนที่จะเปลี่ยนกรรมการทุก ๆ ปี พวกคุณน่าจะใช้กรรมการชุดเดิมยาว ๆ ไปเลย พวกเราอยากได้เวลาซักสี่ปีในการทำงาน” ก่อนจะเข้าโหมดจริงจัง “นี่เป็นประสบการณ์ที่ทุกข์แสนสาหัสและมีความสุขอย่างเหลือเชื่อ” แวงซ็อง แลงดง ประธานกรรมการปีนี้ กล่าวหลังการประกาศรางวัล “ผมรักทุกสิ่งทุกอย่างของที่นี่ ทั้งผู้คน ภาพยนตร์ทั้งหลายที่เราได้ดู คุณสามารถรู้สึกได้เลยว่ามวลความร้อนแทรกตัวอยู่ในอากาศไปทั่วทุกหนแห่ง คณะกรรมการของเราเต็มไปด้วยความอ่อนโยน แต่ก็พร้อมที่จะต่อสู้เรียกร้องอย่างแข็งขัน แต่ผมยืนยันได้เลยว่ามติที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ทีเดียว”


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s