Broker – การเดินทางรวดร้าว ของครอบครัวอื้อฉาว

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ราชบัณฑิตยสถานให้นิยามความหมายของ ‘ครอบครัว’ เป็นคำกลาง ๆ ไร้ความรู้สึก ไม่ได้เอียงแอ่นไปในทางบวกหรือลบเสียทีเดียว แต่กระนั้น ‘ครอบครัว’ คำสั้น ๆ นี้กลับโอบอุ้มนิยามความหมายไว้อย่างหลากหลาย พลิกพลิ้วไปตามประสบการณ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ‘ครอบครัว’ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครหลายคน พอ ๆ กับที่เป็นของแสลงสำหรับคนอีกกึ่งหนึ่ง หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด สำหรับบางคนมันอาจเป็นเพียงคำว่างเปล่าไร้ความหมาย หากจะมีใครสักคนหนึ่งที่ท้าทาย ตั้งคำถาม สำรวจนิยามความหมายของความเป็น ‘ครอบครัว’ ผ่านผลงานภาพยนตร์ของเขาอย่างสม่ำเสมอ (หากไม่นับรวมโดมินิค โทเร็ตโต) ก็ต้องเป็น ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่เพียงเพราะเหตุการณ์เรื่องราวในหนังของเขามักโคจรอยู่รอบหน่วยสังคมเล็กย่อยอย่างครอบครัว แต่มันมักเปิดเปลือย เผยให้เห็นมิติซับซ้อน ตลอดจนภาระหน้าที่ซึ่งผูกพ่วงมากับคำแสนสั้นคำนี้

แต่ใครกันเล่าที่มีอำนาจในการตัดสินชี้ขาดว่า ‘ครอบครัว’ คืออะไร หรือกรณีใดบ้างที่เราสามารถนับผู้คนกลุ่มหนึ่งเป็นครอบครัว คงไม่ใช่ราชบัณฑิตฯแน่ แต่เป็นศาสนาความเชื่อหรือเปล่าที่มีอำนาจหนดว่าใครสามารถ/ไม่สามารถเป็นครอบครัว ? หรือจะเป็นชีววิทยาการแพทย์ที่พิสูจน์ได้ถึงความผูกพันทางเลือดเนื้อเชื้อไข? หรือจะเป็นนิติกฎหมายที่ถือสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเช่นทุกครั้ง? หนังของโคเรเอดะพาเราคนดูไปสำรวจประเด็นเหล่านี้ ตลอดจนเผยให้เห็นปัจจัยทับซ้อนที่ขยายพรมแดนความหมายของ ‘ครอบครัว’ ไปอย่างไม่รู้จบ อย่างที่หนังเรื่อง Like Father, Like Son เผยให้เห็นความเปราะบางของสถานบันครอบครัวชนชั้นกลางผ่านความเป็นสายเลือด หรือที่ Shoplifters ผลงานที่ส่งเขาไปรับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ แกะสำรวจให้เห็นว่าความจนไม่ได้ส่งผลแต่เพียงปัญหาปากท้อง แต่กัดเซาะสั่นคลอนไปถึงฐานรากของความเป็นครอบครัว

แต่เมื่อกล่าวเช่นนั้น ก็ใช่ว่าหนังของโคเรเอดะจะรุ่มรวยแต่เพียงข้อเท็จจริงที่จับต้องได้จนหลงลืมมิติด้านอารมณ์ ตรงกันข้าม ทักษะการเล่าเรื่องอันละมุนละม่อมของโคเรเอดะมักหลอกล่อให้คนดูเผลอลดการ์ดป้องกัน ก่อนจะจู่โจมเข้ายังจุดสำคัญอย่างไม่ทันระวังตั้งตัว ลองนึกถึงเหตุการณ์บีบคั้นในช่วงท้ายของ Nobody Knows ที่ถ้าใครทนดูได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาก็ต้องบอกว่า there’s something wrong with you แน่ ๆ ทั้งหลายทั้งมวลนี้ทำให้ Broker ผลงานล่าสุดของเขาที่โยกย้ายไปทำหนังภาษาเกาหลี (และขึ้นแท่นเป็นผลงานที่ใช้ทุนสูงที่สุดของโคเรเอดะไปโดยปริยาย) เป็นหนังที่นักดูหนังทั่วโลกเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ และถึงแม้โดยเบื้องหน้าแล้ว Broker จะเป็นหนังว่าด้วยเหตุการณ์จำเพาะเจาะจงมาก ๆ ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ แต่โดยเนื้อแท้แก่นในแล้ว นี่ยังคงเป็นหนังของโคเรเอดะที่สำรวจประเด็นปัญหาซึ่งมีความเป็นสากลมาก ๆ หนังว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มคนผู้ซึ่งมีเบื้องหลังขุ่นมัวที่จับพลัดจับผลูมาร่วมหัวจมท้ายในรถแวนคันเก่าคันเดียวกัน หนึ่งคือโซยอง (ไอยู) หญิงสาวที่หนังเปิดเผยในตอนเริ่มเรื่องว่านำลูกอ่อนของตัวเองไปทิ้งไว้หน้ากล่อง ‘Baby Box’ ณ โบถส์แห่งหนึ่ง อีกหนึ่งคือซางฮยอน (ซงคังโฮ) นายหน้าค้าเด็กทารก และดงซู (คังดงวอน) ผู้ช่วยของเขา

เทียบเคียงกับผลงานก่อนหน้าของโคเรเอดะ อย่าง Shoplifters ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการลักเล็กขโมยน้อย หรือ I Wish ที่พูดถึงเรื่องเล็กจ้อยอย่างความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของเด็กน้อยหน้าซื่อตาใส การหยิบยกเรื่องราวของการค้ามนุษย์มาส่องสำรวจก็นับได้ว่าท้าทาย และใหญ่โตมโหฬารมาก ๆ นั่นคือตอนที่สัมผัสแผ่วเบาของโคเรเอดะที่มุ่งถ่ายทอดเรื่องราวอย่างประณีต พิถีพิถัน เย้ายวนให้คนดูสั่นเทิ้มไปกับความงดงามของการมีชีวิต ทำให้ประเด็นหนักอึ้งใน Broker ทั้งการทำแท้งและการค้ามนุษย์ ถูกลดทอนความครัดเครียดจนกลายเป็นเพียง plot device เปล่าเปลือยไร้ความสำคัญ โคเรเอดะรู้ดีว่าการจะพาเราคนดูไปถึงจุดหมายปลายทางที่เขาปักหลักตั้งธงไว้ เขาจำเป็นต้องทำให้คนดูรู้จัก เข้าใจ หรือกระทั่งเห็นใจกับปูมหลังของตัวละคร นั่นคือตอนที่หนังเผยให้เห็นว่าพ่อค้ามนุษย์ต่ำช้าเหล่านี้ต่างมีเรื่องราวความหลังซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยเว้าแหว่ง และไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ข้อจำกัดตลอดจนเงื่อนไขเหล่านั้นก็ส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจผันตัวมาเป็นนายหน้าค้ามนุษย์

‘มีลูกทำไม ถ้าไม่คิดจะเลี้ยง?’ ตำรวจหญิงซูจิน (แบดูนา) ทวงถามโซยองด้วยความฉงนปนโกรธเคือง ‘การปล่อยให้เด็กตายอยู่ข้างถนน มันบาปกว่า(การทำให้ตายในครรภ์)อย่างนั้นหรือ?’ โซยองสวนกลับ ก่อนที่บรรยากาศตึงเคร่งจะถูกทิ้งร้างด้วยความว่างเปล่า แล้ว Broker ก็ไม่ได้ขยายพรมแดนการถกเถียงไปเกินกว่าการยกบทสนทนาตื้นเขินข้างต้น หนังของโคเรเอดะมักถูกค่อนแคะว่า ‘โลกสวย’ ซึ่งพิจารณาอย่างยุติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหนักหนาอะไร ทว่าการมองโลก โดยเฉพาะปัญหาหนักอึ้งข้างต้น ด้วยการปิดตาข้างเดียว เลือกรับเฉพาะด้านที่สะอาดหมดจดและสดใส มันไม่มักง่ายไปหน่อยหรือ? อดคิดไม่ได้ว่า Broker ได้รับผลกระทบโดยอ้อมเข้าอย่างจังจากกระแสข่าวที่ศาลสูงอเมริกาลงมติยับยั้งสิทธิการทำแท้งเสรี จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงไปอย่างกว้างขวาง เมื่อพิจารณาถึงผลสัมพัทธ์ดังกล่าว หนังของโคเรเอดะไม่เพียง ‘pro-life’ แต่เชิดชูการ ‘เกิดมา’ อย่างเป็นจริงเป็นจัง ช่วงหนึ่ง เขาให้ตัวละครกล่าววาทะ ‘ขอบคุณที่เกิดมา’ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง ราวกับว่ามันจะช่วยให้เราคนดูเชื่อได้สนิทใจว่าตัวละครรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ

เพราะอย่างน้อย ๆ ก็สามหรือสี่ครั้งที่ตัวละครโซยอง ตัดสินใจกลับหัวกลับหางไปมาอย่างไร้สันหลัง โดยที่เราไม่อาจเข้าใจได้ว่าอุดมการณ์หรือเจตจำนงแท้จริงของเธอคืออะไรกันแน่ ครั้งแรก เธอตัดสินใจนำลูกอ่อนไปวางทิ้งไว้นอกกล่อง baby box ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายจนถึงขีดสุด โดยที่รู้แก่ใจเป็นอย่างดีว่าทารกตัวน้อยไม่มีโอกาสรอดพ้นค่ำคืนอันโหดร้ายนี้ไปได้เลย ครั้งที่สอง เธอตัดสินใจกลับมาหาลูกอ่อน (ไม่ด้วยความรู้สึกผิดก็ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่ผุดขึ้นมาอย่างฉบับพลัน) ทว่ามันกลับสายไปเสียเมื่อลูกของเธอถูกขบวนการค้ามนุษย์จับตัวไปก่อนแล้ว ครั้งที่สาม เธอตัดสินใจร่วมมือกับพ่อค้ามนุษย์ในการขายลูกที่เธอตัดสินใจกลับมาช่วยชีวิตเพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ และครั้งที่สี่ เธอตัดสินใจไม่ขายลูกของเธอ พูดง่าย ๆ ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องจากการเขียนตัวละครอย่างหละหลวมและผิวเผิน (ไม่ใช่การแสดง) การตัดสินใจของโซยองแต่ละครั้งเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนพล็อตไปสู่ปลายทางที่คนทำหนังตั้งหลักปักธงไว้ มากกว่าที่จะมาจาก ‘คาแร็คเตอร์’ ของตัวละคร

หนังของโคเรเอดะมักถ่ายทอดเรื่องราวในลักษณะของบันทึกประจำวัน แต่ละแผ่นหน้ากระดาษเผยแผ่ให้เห็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยที่แต่ละเหตุการณ์ก็อาจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อพล็อตเรื่องราว แต่อย่างช้า ๆ มันเปิดเปลือยให้เห็นชีวิตอันแสนสามัญของบรรดาตัวละครซึ่งเต็มไปด้วยมิติหลากหลาย อย่างใน Still Walking ที่เชื้อเชิญให้คนดูเข้าไปจับจ้องชีวิตความเป็นไปของแต่ละสมาชิก แต่ละเจนเนอเรชันของครอบครัวโยโกยามะ โดยไม่มุ่งตัดสินชี้ขาด ขณะที่หนังค่อย ๆ กระเทาะเปลือกให้เห็นถึงพันธะซึ่งยึดเกี่ยวแต่ละตัวละครภายใต้กรอบความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’ และถึงแม้ตัวละครใน Shoplifters จะมีลักษณะเป็น ‘โจรกระจอก’ มาก ๆ แต่โคเรเอดะก็ไม่ขัดเขินที่จะนำพวกเขามากางแผ่ให้เห็นด้านชำรุดผุพัง เผยให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อิงแอบอยู่ใต้ความหมายของครอบครัวเหล่านี้ถูก ‘ระบบ’ ไล่ต้อนอย่างไร

ทว่าใน Broker เรื่องราวสกปรกแสนโสมมกลับถูกพาสเจอร์ไรซ์จนสะอาดหมดจด ตัวละครตำรวจ ซึ่งไร้ข้อกังขาว่าเป็นตัวแทนของระบบ เป็นภาพแทนของนิติรัฐที่มีหน้าที่กวาดต้อนให้คนหัวขบถเหล่านี้อยู่ในกรอบระเบียบ จำเป็นที่จะต้องรับบทโดยนักแสดงหญิง (แบดูนาและอีจูยอง) เพื่อคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันอ่อนโยน เป็นมิตร และที่สำคัญที่สุด ลดทอนความรุนแรงและแข็งกระด้างในฐานะตัวแทนของระบบซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อครอบครัวใน Shoplifters พูดอีกอย่าง นี่คือหนังที่สะท้อนให้เห็นว่าในโลกทุนนิยมกดขี่ที่บีบบังคับให้ผู้คนขายได้แม้กระทั่งเด็กทารกหรือลูกในไส้ ยังมีระบบระเบียบที่พร้อมจะโอบอุ้มใครก็ตามที่สยบสมยอมแก่อำนาจรัฐ นั่นทำให้การทำแท้ง (หรือกระทั่งความคิดที่จะถกเถียงเรื่องการทำแท้ง)ไม่เคยอยู่ในสมการของโคเรเอดะ เพราะในโลกของเขา เด็กทุกคนย่อมค้นเจอครอบครัวของพวกเขา ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เสมอ

Grade: B

Directed by Hirokazu Kore-eda
Written by Hirokazu Kore-eda
Produced by Eugene Lee
Starring Song Kang-ho, Lee Ji-eun, Gang Dong-won, Bae Doona, Lee Joo-young
Cinematography by Hong Kyung-pyo
Edited by Hirokazu Kore-eda
Music by Jung Jae-il

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s