
ได้มีโอกาสไปดูหนังในงานฉายผลงานธีสิสของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ กางจอ ครั้งที่ 29 ประทับใจมาก ๆ รวม ๆ แล้วหนังส่วนใหญ่พูดถึงประเด็นที่มีความเป็นส่วนตัวสูง อย่างความโหยหาที่จะมีปฏิสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว การตามหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง หรือความว้าวุ่นภายในจิตใจอันเป็นผลจากอนาคตที่ไม่แน่นอน รวม ๆ แล้วถึงแม้หนังแต่ละเรื่องจะเป็นเอกเทศซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน แต่เมื่อนำเรื่องราวเล็ก ๆ เหล่านี้มาเรียงร้อยต่อกัน เรากลับพบว่ามันถักทอออกมาเป็นผ้าผืนใหญ่ที่เผยชัดถึงความอึดอัดคับข้องของคนรุ่นใหม่ เรื่องราวอันเป็นส่วนตัวในแง่หนึ่งจึงมีความเป็นสากลและเป็นมนุษย์มาก ๆ ไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่เราคนดูจะสัมผัสเข้าถึง และถึงหลาย ๆ เรื่องจะพูดถึงประเด็นคล้ายกัน แต่ก็มีเรื่องที่โดดเด่นออกมา อย่างเช่น หนึ่งเสี้ยวทรงจำ (Still on Our Mind) ของ วรลักษณ์ มนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางรื้อฟื้นความทรงจำระหว่างพ่อกับลูกสาว เป็นหนังที่เรียบง่าย พล็อตเบาบาง แต่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก ท่าทีกระอักกระอ่วนของสองพ่อลูกอันเป็นผลจากความห่างเหินค่อย ๆ ถูกความทรงจำที่ฝังอยู่กับสถานที่เก่าก่อนกระเทาะจนเผยให้เห็นความรักผูกพันที่ทั้งสองมีให้กัน งดงามมาก ๆ เป็นหนังที่ดูจบแล้วอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์โทรหาคุณพ่อทันที
อีกเรื่องที่พูดถึงความว้าวุ่นของคนหนุ่มสาวได้น่าจดจำทีเดียว คือ Friday Saturday Sunday ของ พบเมฆ จุลละครินทร์ ชอบการที่หนังเลือกหยิบเอาสามวันสุดท้ายก่อนที่นางเอกจะต้องเดินทางมุ่งหน้าสู่ชีวิตมหาลัย ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่วัยรุ่นทุกคนกำลังอยู่ในช่วงที่เปราะบางที่สุด และการเลือกช่วงเวลาได้ถูกต้องก็ส่งผลให้หนังสามารถ่ายทอดมิติความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้รอบด้าน หนังพาเราเข้าไปสัมผัสความสับสนอลหม่านในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กคนหนึ่งต้องประสบ ผ่านเหตุการณ์ที่เธอต้องไปจัดการกับความสัมพันธ์ยุ่งเหยิงต่าง ๆ กับคนรอบตัว ทั้งเพื่อน แฟน คุณแม่ ต้องยกเครดิตให้กับการกำกับอันแม่นยำที่ส่งผลให้การแสดงออกมาอย่างเหมาะสมลงตัว ไม่ล้นหรือน้อยจนเกินไป

นอกจากนี้ยังมี อีกไม่นานเราจะกลับมา สารคดีของเดชบดินทร์ โพธิ์ศรี ที่ถ่ายทอดความเปราะบางของครอบครัวในวันที่คุณพ่อผู้เป็นเสาหลักเกิดล้มป่วย เรื่องเล่าของหนัง ถึงแม้จะไม่ได้มุ่งรื้อสำรวจการกดทับเชิงโครงสร้างอะไรที่ครอบครัวกำลังประสบ แต่ประทับใจท่าทีของหนังที่มีความเป็นส่วนตัวและจริงใจต่อเรื่องที่กำลังเล่ามาก ๆ จนปัญหาระดับจุลภาคที่หนังฉายภาพให้เห็นค่อย ๆ ขยับขยายกลายเป็นเรื่องระดับมหภาคที่สั่นสะเทือนอารมณ์คนดูได้ในที่สุด สารคดีอีกเรื่องที่ดีจริงๆ คือ Big Trash Small Town ของศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา ที่พาเราคนดูไปสอดส่องปัญหาการจัดการขยะ และสำรวจบทบาทของซาเล้งในฐานะหน่วยเล็กย่อยที่สุดของปัญหาการเมืองระดับมหภาค เป็นสารคดีที่เปิดโลกทัศน์จริง ๆ ข้อมูลมากมายถูกลำดับเรื่องราวออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบ สื่อสารกับคนดูอย่างชัดค่อยชัดคำ แต่ด้วยความที่หนังดูราวกับว่ายังเลือกไม่ถูกว่าสนใจประเด็นการเมืองในภาพใหญ่หรือชีวิตคนชายขอบตัวเล็ก ๆ อย่างซาเล้งมากกว่ากัน (ส่วนตัวสนใจข้อหลังมากกว่า) เลยทำให้หนังยังเหลือพื้นที่ให้ไปส่องสำรวจอีกพอสมควร

ลูกหยีอีหัวหยอย ของ อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ เป็นอีกเรื่องที่ชอบมู้ดโทนของหนังมาก ๆ ชวนให้นึกถึง Mary Is Happy, Marry is Happy (และตัวละครเพื่อนสนิทก็ดูราวกับหลุดออกมาจากหนังนวพลจริง ๆ รวมถึงช็อตสุดท้ายของหนังด้วย) หนังมีประเด็นที่ชัดเจน รู้ว่าจะเล่าอะไร และเล่าออกมาได้อย่างกระชับรัดกุม ชอบการที่หนังหยิบประเด็นเล็กจ้อยอย่างการมีผมหยิก มากางแผ่ให้เห็นว่าเด็กคนหนึ่งต้องถูกกดทับอย่างไรและจากใคร เรื่องราวของลูกหยีอีหัวหยอย เลยไม่ได้เป็นแค่การฉายภาพปัญหาระดับปัจเจก แต่หนังชี้ให้เห็นว่ามันมีการเมืองเรื่องทรงผม หนังมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งจนเผลอคิดไปว่าถ้าคุณผู้กำกับไม่ได้เป็นคนผมหยิก ก็ต้องมีสายตาที่แหลมคมมาก ๆ ถึงได้มองเห็นเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ได้ หากจะมีอะไรให้ติเสริม ก็คงเป็นโครงสร้างของหนังที่กระชับรัดกุมและถูกคำนวณมาอย่างแม่นยำมาก ๆ แต่ละเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นดูจะมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่าจะสะท้อนอะไร ตีแผ่อะไร มิติความมีชีวิตของตัวละครเลยยังถูกเติมเต็มได้อีก แต่ก็เข้าใจว่าด้วยระยะเวลาที่จำกัดของความเป็นหนังสั้นด้วยส่วนหนึ่ง

อีกเรื่องที่เหนือความคาดหมายคือ Shangri-la ของสหรัฐ อึ้งกิจไพบูลย์ ปมประเด็นการตามหาความฝันตัวตนในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออาจจะไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่สไตล์คือสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ติดตาตรึงใจมาก ๆ ผ่านบทสนทนายืดยาว หนังค่อย ๆ ล่อลวงคนดูเข้าสู่วังวนแห่งความว้าวุ่น กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็ตกอยู่ในสถานะกึ่งตื่นกึ่งฝันไม่ต่างกับตัวละคร เป็นหนังที่คลุกเคล้าไปด้วยเสน่ห์อันลึกลับเย้ายวนของโลกที่เต็มไปด้วยคำถาม ฉากจัดบ้านชวนให้นึกถึง Jeanne Dielman (1975) แต่ขณะที่หนังของฌ็องตาล อาเกอร์มาน พูดถึงความเหนื่อยหน่ายและสภาวะเสมือนถูกกักขังในห้องปิดตาย หนังของสหรัฐ อึ้งกิจไพบูลย์ค่อย ๆ เปลี่ยนห้องรกรุงรังให้กลายเป็นดินแดนบริสุทธิ์ ชวนให้นึกขึ้นได้ว่า Shangri-la ที่เขาและเราคนดูต่างถวิลหา บางทีก็อาจอยู่ใกล้ตัวแค่นี้เอง
ผลงานที่มีศักยภาพที่จะไปต่อ ณ เวทีอื่น ๆ อย่างไร้ข้อกังขาคือ นางอาย ของจตุพล เขียวแสง จุดหักเหในตอนต้นเรื่องของหนังเมื่อตัวละครหนึ่งเกิดหายไปดื้อ ๆ ชวนให้นึกถึง L’Avventura (1960) ในแง่ที่เรื่องราวของเด็กสาวผู้สาบสูญดูจะไม่ได้เป็นแกนหลักของหนัง เพราะคำถามในหนังของจตุพลดูจะแวดล้อมอยู่กับตัวละครที่ยังอยู่เสียมากกว่า แต่ขณะที่หนังของมิเกลันเจโล แอนโตนิโอนี พูดถึงความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาและการถูกหลงลืมท่ามกลางความเป็นสังคมเมือง หนังของจตุพล เขียวแสง ฉายภาพให้เห็นการตกหล่นสูญหายของคนหนุ่มหญิงสาวในชนบทรอบนอก และถึงแม้ผิวเผินแล้วหนังจะมีลักษณะเป็นงานเพื่อชีวิตที่เน้นนำเสนอความทุกข์ยากของคนจนคนชายขอบ งานของจตุพลปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องตามขนบของหนังสัจนิยมสังคมนิยมที่มักฉายภาพคู่ขัดแย้งระหว่างคนจน(เหยื่อ)และรัฐ(ผู้ร้าย)อย่างตรงไปตรงมา

กลับกัน นางอาย มีความหัวขบถอย่างชัดเจน ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงที่จะมอบคำตอบอันเป็นรูปธรรม ตลอดจนการปฏิเสธที่จะดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จ การหายไปของตัวละครเปรียบได้กับการก่อกบฏต่อขนบของหนังเล่าเรื่อง เมื่อหนังพาเราคนดูไปสัมผัสความสยดสยองของการเป็นคนรุ่นใหม่ การเป็นคนชนบทที่ถูกรัฐบังคับให้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด แม้ว่ามันจะหมายถึงการเหยียบหัวเพื่อนรักคนสนิทของเขาหรือเธอก็ตาม ที่ต้องปรบมือให้ดัง ๆ คือการถ่ายทอดความรุนแรงที่ตัวเหล่าครเหล่านี้กำลังประสบ ทั้งเหตุการณ์การทำร้ายตัวเอง หรือการที่ตัวเอกถูกล่วงละเมิด โดยไม่ต้องพาคนดูไปปะทะกับความรุนแรงอย่างซึ่งหน้า แต่เล่าผ่านบรรยากาศสงบเยือกเย็นที่อบอวลไปด้วยความหวาดกลัวและโกรธเคือง กล่าวได้ว่าความเงียบใน นางอาย ไม่ได้เป็นความเงียบของผู้คนที่สยบยอมต่อชะตาชีวิตโดยไม่หืออือ แต่เป็นความสงบเงียบงันจากผู้คนตัวเล็ก ๆ ที่ทำได้เพียงแผดเสียงสุดกำลังอยู่ภายใน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าถึงแม้หนังหลายเรื่องจะพูดถึงประเด็นเดียวกัน แต่ด้วยวิธีการบอกเล่าที่มีเอกลักษณ์และเนื้อหาสาระที่มีความเป็นส่วนตัว ทำให้แต่ละเรื่องราวมีความเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน แต่กระนั้นเมื่อนำหลาย ๆ เรื่องมาถักทอต่อกันเป็นผืนใหญ่ เราคนดูสัมผัสรับรู้ได้ถึงความโกลาหลโกรธเคือง ทั้งต่อสถานการณ์บ้านเมือง สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงอนาคตที่ยังถูกหมอกคลุมและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ในฐานะคนดูก็คงกล่าวได้แต่เพียงว่าเรารอคอยที่จะได้ดูหนังเรื่องต่อไปของผู้กำกับกางจอ 29 ทุก ๆ คน และขออวยพรให้ผู้กำกับหน้าใหม่ทุกคนได้ออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก