
ภาพยนตร์รวมถึงวรรณกรรม แตกต่างจากเทพนิยายตรงที่มันไม่ยึดถือขนบการเปิดเรื่องด้วย กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อาจด้วยว่าในภาพยนตร์และวรรณกรรม เรื่องราวเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดำเนินอย่างเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยหนึ่งเสมอ พูดอีกอย่างก็คือ ปรากฏการณ์ทางสังคม โครงสร้างทางอำนาจ ความหลัดเหลื่อมทางชนชั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนอันแตกต่างหลากหลาย ล้วนปรากฏอยู่บนจอภาพฉากใดฉากหนึ่ง และในรูปโฉมใดรูปโฉมหนึ่ง White Noise ของโนอาห์ บอมบาค ซึ่งดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกันของดอน เดอลิลโล เป็นตัวอย่างชั้นดีของเรื่องเล่าที่ยึดเกี่ยวอยู่กับยุคสมัยของมันอย่างแน่นแฟ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ค.ศ. 1984 เป็นช่วงเวลาที่มีความสลักสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องของความกลัว ซึ่งเป็นแก่นสารสำคัญของเรื่อง ไม่เพียงเพราะมันเป็นปีที่วินสตัน สมิธ ค้นพบว่าทุกย่างก้าวของเขากำลังถูกจับจ้องโดย พี่เบิ้ม ในนิยายคลาสสิกของจอร์จ ออร์เวล แต่หนังเน้นย้ำให้เห็นว่ามันเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติ ‘ข้อมูลข่าวสาร’ ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย อันเป็นผลิตผลของระบอบทุนนิยมและลัทธิวัตถุนิยมที่กำลังสุกงอมได้ที่
หลายครั้งที่หนังจงใจเผยให้เห็นภาพตัวละครถูกกลืนหายไปในกองพะเนินของผลิตภัณฑ์นานาชนิด อย่างฉากต้นเรื่องในบ้านของเจค แกลดนีย์ (อดัม ไดรฟ์เวอร์) และบาเบ็ตต์ (เกรตา เกอร์วิก) ภรรยาคนที่สี่ของเขา ที่หนังฉายให้เห็นว่าในบ้านเต็มไปด้วยอาหารเช้าและขนมของกินนานายี่ห้อ พร้อมเสียงก่นเคืองจากลูก ๆ ว่าแม่ของเธอ “ขยันซื้อเข้ามากักตุนไว้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่กิน” หรืออีกตอนหนึ่งที่เจค บาเบ็ตต์ และเด็ก ๆ ไปเดินช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า(ให้ทายว่าพวกเขาไปซื้ออะไร) ซึ่งรายล้อมไปด้วยผลิตภัณฑ์จำนวนมหาศาลที่หน้าตาเหมือนกันจนยากจะแยกออก จริงอยู่ที่การซื้อสินค้าที่ผู้ซื้อไม่คิดจะใช้เป็นพฤติกรรมแสนสามัญในสังคมบริโภคนิยม แต่หนังก็ดูจะชี้ชวนให้สังเกตได้ว่ามันอาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการหลงลืมของบาเบ็ตต์ ซึ่งเธอยืนยันเสียงแข็งว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอะไร ทว่าแจ็คและเดนีส ลูกสาวของเขา ดูจะไม่คล้อยด้วยเท่าใดนัก เป็นไปได้หรือไม่ว่าสภาวะที่ถูกห้อมล้อมด้วย ‘ภาพสิ่งของที่หน้าตาเหมือนกันไปหมด’ เช่นนี้ส่งผลต่ออาการหลงลืมของบาเบ็ตต์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างที่ฌ็อง โบดริยาร์ด นักคิดนักเขียนคนสำคัญในยุคหลังสมัยใหม่ เสนอใน Simulation งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาว่า มนุษย์หลังสมัยใหม่กำลังอยู่ในยุคของความจริงจำลอง เพราะความจริงได้ถูกผลิตซ้ำ หรือกระทั่งปลอมแปลงเลียนแบบโดยอาศัยกระบวนการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าซับซ้อน จนถึงจุดที่มันไม่มีความจริงอีกต่อไป มีแต่เพียงความจริงที่เหนือจริง (hyperreal) เท่านั้น

อธิบายอีกอย่างก็คือ สังคมบริโภคได้บีบบังคับให้บาเบ็ตต์ตกอยู่ในสภาวะสูญเสียความจริงอย่างสมบูรณ์ เมื่อเธอแยกไม่ออกอีกต่อไปว่าเธอต้องการซื้ออาหารเช้า หรือซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเช้า แยกไม่ได้แม้กระทั่งว่าอาหารเช้ายี่ห้อ A B หรือ C แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร เธอซื้อ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หิวโหย แต่เพราะเธอเป็น ‘ผู้บริโภค’ ที่อาศัยอยู่ในสังคมบริโภคนิยม และความสับสนอลหม่านนี้ยิ่งทวีความรุนเเรงหนักข้อเมื่อเธอค้นพบว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ C ก็มีกล่องที่หน้าตาเหมือนเดียวกันทุกประการอยู่อีกหลายสิบกล่อง โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ห้างสรรพสินค้าที่ครอบครัวแกลดนีย์เข้าไปจับจ่ายใช้สอยกันเป็นกิจวัตรก็กลายเป็นเขาวงกตขนาดย่อม ภาพที่หนังเผยให้เห็นตัวละครจมหายไปในกองสรรพสินค้าหาได้ปรากฏขึ้นลอย ๆ อย่างไร้ความหมาย แต่มันขีดเน้นให้เห็นว่าตัวละครเหล่านี้ โดยเฉพาะบาเบ็ตต์ กำลังตกอยู่ในโลกแห่งความจริงเสมือน ซึ่งเอื้อนำไปสู่การสูญเสียความเป็นปัจเจกในที่สุด “ฉันกดโทรศัพท์แล้วลืมว่าจะโทรหาใคร” เธอกล่าวติดตลกในช่วงหนึ่ง ภาพฉายที่ปรากฏขึ้นในหนังจึงหยอกล้อไปกับข้อเสนอของฌ็อง โบดริยาร์ดที่ชี้ให้เห็นบทบาทและความสำคัญของวัฒนธรรมการตลาดที่ได้เข้ามามีอิทธิพล บงการ ครอบงำชีวิตประจำวันของครอบครัวแกลดนีย์อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอของโบดริยาร์ด เราจึงสามารถอธิบายอาการหลงลืมของบาเบ็ตต์ได้ว่าเป็นผลพวงหนึ่งของการสูญเสียความเป็นปัจเจกของตัวเธอเอง หาใช่อาการหลงลืมธรรมดาทั่วไป

และนอกจากบาเบ็ตต์ เราอาจกล่าวได้ว่าแจ็คเองก็กำลังประสบกับวิกฤติความจริงนี้ไม่ต่างกัน หนังเผยให้เห็นว่าเขากำลังรู้สึก กลัวตาย และความรู้สึกนี้ถูกเร่งปฏิกิริยาโดยข่าวโศกนาฏกรรมที่เผยแพร่อยู่ในโทรทัศน์ ในฉากที่แจ็ครับรู้เหตุการณ์เครื่องบินตกพร้อม ๆ กับลูก ๆ ของเขา หนังเน้นย้ำให้เห็นว่าแจ็คเป็นคนเดียวอยู่ในสภาวะตกตะลึง เราอาจอธิบายความรู้สึกตะลึงงันของแจ็คได้ว่าเกิดจากความสับสนอลหม่านในลักษณะเดียวกับกรณีของบาเบ็ตต์ เขาไม่รู้แน่ชัดว่าภาพที่ปรากฏบนจอนั้นคือของจริงหรือไม่ แต่เขารู้สึกว่ามันจริงเสียยิ่งกว่าจริง (เพราะในความเป็นจริง เขาไม่มีทางได้เห็นเหตุการณ์นี้ ในระยะประชิดเช่นนี้ แต่เพราะโทรทัศน์เขาจึงสามารถรับรู้สิ่งนี้ได้) และมันสั่นคลอนความมั่นคงทางจิตใจของเขาอย่างมหาศาล ความยุ่งเหยิงระหว่างเรื่องจริงและภาพลวงตานี้เด่นชัดในตอนที่เกิดกลุ่มควันพิษลอยขึ้นในอากาศ เมื่อทุกคนต่างตื่นตระหนก ทว่าแจ็คกลับเฉยเมยและไม่เชื่ออย่างหัวเด็ดตีนขาดว่าเหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นจริง เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีของโบดริยาร์ดที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมหลังสมัยใหม่เป็นสังคมที่ถูกครอบงำโดยคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ วัฒนธรรมสื่อเข้ามามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการรับรู้ความจริงของผู้คน

อย่างที่หนังได้เน้นย้ำให้เห็นอย่างจะแจ้งในฉากเปิดเรื่องที่เมอร์รีย์กล่าวกับนักเรียนของเขาอย่างมีเลศนัยว่า “อย่ามองว่าฉากรถชนกันในภาพยนตร์เป็นความรุนแรง มันคือการเฉลิมฉลองต่างหาก” ฉากสั้น ๆ นี้สะท้อนแนวคิดของโบดริยาร์ดที่เสนอว่าโทรทัศน์ สื่อ ภาพยนตร์ โฆษณา ได้ยักย้ายถ่ายเทเราจากความจริงดั้งเดิม (รถชนคือโศกนาฏกรรม) ไปสู่ความจริงจำลองชุดใหม่ (รถชนคือการเฉลิมฉลอง) และมันนำไปสู่การสูญเสียสำนึกรู้ความจริงในที่สุด White Noise จึงเต็มไปด้วยฉากที่แฝงนัยยะให้เห็นถึงอิทธิพลที่โทรทัศน์ (รวมถึงคอมพิวเตอร์) มีต่อคนในยุคสมัยหนึ่ง ฉากที่โจ้งแจ้งที่สุดฉากหนึ่งเกิดขึ้นในศูนย์อพยพเมื่อแจ็คค้นพบความจริงจากเจ้าหน้าที่นายหนึ่งว่า ศูนย์อพยพแห่งนี้เป็นเพียงการจำลองเหตุการณ์จริงในระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น (สรุปแล้วมันเป็นการจำลอง หรือเรื่องจริง กันแน่?) “พวกเขา(รัฐบาล)ไม่รู้หรือไงว่าเหตุการณ์นี้มันกำลังเกิดขึ้นจริง” ชายแปลกหน้าคนหนึ่งในศูนย์อพยพตะโกนอย่างเดือดดาลหลังจากค้นพบว่าเรื่องราวของพวกเขาไม่ปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์แม้แต่เพียงเสี้ยววินาที
ประเด็นปัญหาของ White Noise ที่เบียดแทรกอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ยุ่งเหยิงมากมายแท้จริงแล้วน่าจะอยู่ตรงนี้ หนังสือของดอน เดอลิลโล และหนังของโนอาห์ บอมบาคไม่ใช่เรื่องราวของการเอาตัวรอดจากฝุ่นควันพิษ ไม่ใช่การสืบสาวราวเรื่องว่ายาเม็ดสีขาวที่บาเบ็ตต์แอบทานอยู่ลับ ๆ คือยาอะไร และห่างไกลจากหนังครอบครัวร้าวฉานที่โนอาห์ บอมบาคสำรวจตรวจสอบผ่านหนังของเขาเสมอ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมแบบอเมริกัน พร้อมตั้งคำถามอภิปรัชญาว่าเรามนุษย์จะเอาตัวรอดในโลกหลังสมัยใหม่ที่แก่นแท้ความจริงแท้แตกกระเจิงออกไปอย่างไร้ทิศไร้ทางได้อย่างไร หากจะมีสักข้อหนึ่งที่งานเขียนของดอน เดอลิลโลซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1985 ทำนายทายทักได้แม่นยำ ก็คงเป็นการที่เราไม่มีทางออกไปจากเขาวงกตนี้ได้เลย ตราบใดที่โลกยังขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ความจริงเสมือนจะยิ่งตีตนออกห่างจากความเป็นจริง ลัทธิบริโภคนิยมจะยังคงได้รับการหล่อเลี้ยง วงจรอุบาดจาดตานี้จะยังคงหมุนวนไปอย่างไม่รู้จบ จริงอยู่ที่ฉากสุดท้ายของหนังบ่งชี้เป็นนัยว่าการหันหน้าเข้าหาพระคริสต์ (ซึ่งครั้งหนึ่งในยุคกลางได้รับการสร้างภาพว่าเป็นความจริงแท้) อาจมอบทางสว่างให้กับเรามนุษย์ผู้บาปหนา แต่หนังก็สำแดงให้เห็นตำตาแล้วมิใช่หรือว่า พระเจ้าก็ทำได้เพียงเย็บซ่อมบาดแผลเล็กน้อย ๆ ก่อนจะส่งเรากลับออกไปสู่โลกแห่งความจริงเหนือจริงแห่งนี้อีกครั้ง เท่านั้นเอง
รับชม White Noise ได้ทาง Netflix