Ali: Fear Eats the Soul รักคงยังไม่พอ สำรวจความความสัมพันธ์ในวันที่ความเกลียดชังเสียงดังกว่าความรัก

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ถามรอนหรือแครี่ ใน All that Heaven Allows (1955) ของดักลาส เซิร์ก ดูก็ได้ว่าการตกหลุมรักคน ๆ หนึ่งท่ามกลางความแตกต่างทั้งทางชนชั้นฐานะ วิถีชีวิตและอายุอานาม นำมาซึ่งอุปสรรคขัดสนอย่างไรบ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ประเด็นเรื่องการเอาชนะขื่อแปทางสังคมที่ขวางกั้นคนสองคนก็เป็นปัญหาสากลที่ผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใดก็ยากจะเอาชนะ ผลงานขึ้นหิ้งชิ้นนี้ของเซิร์กจึงยังคงแผ่อิทธิพลแรงกล้าแม้เวลาจะล่วงเลย Ali: Fear Eats the Soul (1974) ของไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสส์บินเดอร์ เป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่โอบรับอิทธิพลของเซิร์กมาอย่างไม่มีมิดเม้ม ทั้งสไตล์การเล่าเรื่องแบบเมโลดราม่าและการนำหัวข้อความแตกต่างทางสังคมมาขยับขยายให้เห็นเด่นชัด พร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทสถานการณ์บ้านเมืองในสังคมเยอรมันตะวันตกช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สอง

หากเรามองความสัมพันธ์บนความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างรอนและแครี่ว่าผลิดอกออกผลมาจากการเติบโตของทุนนิยมในอเมริกา สถานการณ์ของอาลีและเอมมี่ในเยอรมันตะวันตกก็น่าจะนับได้ว่าเป็นหางเลขเดียวกัน หลังการล่มสลายของลัทธินาซี การเติบโตของระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมแบบอเมริกันในเยอรมันตะวันตกช่วงทศวรรษที่ 60 – 70 ส่งผลให้เกิดการไหล่บ่าของแรงงานต่างด้าวราคาถูกจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชายชาวตุรกีและโมร็อคโคที่เข้ามาหยิบจับงานหาเช้ากินค่ำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ หลายชีวิตต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความแออัดอย่างยวดยิ่ง อย่างที่อาลีได้ตัดพ้อให้เห็นในช่วงหนึ่งว่า เขากับเพื่อนหกคนต้องพักอาศัยในห้องแคบ ๆ ไร้ซึ่งสวัสดิการและการเหลียวแลจากภาครัฐหรือกระทั่งนายจ้าง และที่สำคัญคือคนเยอรมัน ไม่ได้มองพวกเขาเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างคือ สถานการณ์ของอาลีเลวร้ายกว่ารอนใน All that Heaven Allows อยู่มากโข เขาไม่เพียงถูกกีดกันเพราะความต่ำต้อยทางชนชั้นฐานะ แต่ยังมีความเกลียดชังทางเชื้อชาติ สีผิว ที่ฝังรากลึกในสังคมเยอรมันตั้งแต่เมื่อครั้งนาซีเรืองอำนาจ

ตัวละครเอมมี่ ถึงแม้จะเป็นแรงงานชนชั้นล่าง เป็นหญิงสูงวัยใจดี อ่อนน้อม เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต แต่หนังก็ได้ชี้ให้เห็นว่าเธอเกี่ยวข้องกับระบอบนาซีอย่างแยกไม่ออก ในฉากหนึ่ง เธอเผยกับอาลีว่าคุณพ่อของเธอเป็นอดีตสมาชิกพรรคของฮิตเลอร์ (เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงแสนเรียบง่าย ราวกับเป็นเรื่องตลกขำขัน) ในเดตแรกระหว่างเธอกับอาลี เธอพาเขาไปร้านอาหารที่เธออ้างว่าครั้งหนึ่ง เคยเป็นร้านประจำของฮิตเลอร์ สองข้อนี้บ่งชี้เป็นนัยว่าเธอเป็นภาพแทนของระบอบเก่า ที่ปัจจุบันถูกถอดเขี้ยวเล็บและลดสถานะเป็นเพียงชนชั้นล่าง เป็นไม้ใกล้ฝั่งรอวันหมดอายุขัย ขณะที่อาลี ชัดเจนว่าเป็นตัวแทนของคนต่างชาติที่กำลังหลั่งไหลเข้าตั้งรกรากในเยอรมันตะวันตก เราอาจกล่าวได้ว่า Ali: Fear Eats the Soul ไม่เพียงเล่าเรื่องรักต้องห้ามระหว่างคนสองคน แต่ส่องสำรวจให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์ระหว่างสองวัฒนธรรม สองยุคสมัย สองเชื้อชาติชนชั้น ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างดุเดือดในช่วงเวลาก่อนการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ท้าทายให้เห็นว่าโลกสองใบที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้จะสามารถหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้หรือไม่ อย่างไร

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเอมมี่เป็นปฏิปักษ์กับอาลีหรืออย่างไร หนังชี้ให้เห็นว่าภายหลังการเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ทั้งเขาและเธอต่างถูกแบ่งแยก กีดกันจากสังคม ทั้งจากบรรดาลูก ๆ ของเอมมี่ที่พร้อมจะสะบั้นสายสัมพันธ์กับแม่ของพวกเขา เจ้าของร้านขายของชำระแวกที่พักปฏิเสธขายของให้อาลี พนักงานร้านอาหารต่างมองพวกเขาด้วยสายตาเหยียดหยาม กระทั่งเพื่อนร่วมงานของเอมมี่ก็พลอยผลักไสไล่ส่งเธอออกจากวงสนทนาไปด้วย นั่นคือตอนที่หนังขับเน้นให้เห็นว่าท่ามกลางการผลิบานของระบอบประชาธิปไตยและการเติบโตของทุนนิยม ความเกลียดชังยังคงฝักรากลึกอยู่ในสังคมเยอรมัน และอย่างช้า ๆ หนังเผยให้เห็นว่าเอมมี่ปรับตัวต่อการถูกแบ่งแยกกีดกันนี้อย่างไร หลังจากที่ทั้งคู่กลับจากพักร้อน เธอโน้มเอียงไปหาผู้คนที่กีดกันเธอด้วยการส่งอาลีไปช่วยเหลือพวกเขา พร้อมยินยอมให้เพื่อน ๆ ของเธอจับต้องมัดกล้ามของอาลี เชยชมร่างกายอันแข็งแกร่งกำยำของเขา ราวกับเขาเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง หาใช่มนุษย์ปุถุชน เธอกล่าวกับอาลีว่าเขาควรเริ่มเรียนรู้วิถีชีวิตของคนเยอรมัน และทานอาหารเยี่ยงคนเยอรมัน สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ขับไล่อาลีออกจากความสัมพันธ์ จนกระทั่งเขาตัดสินใจแอบไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหญิงสาวชาวเยอรมันเจ้าของบาร์ที่เขาและเพื่อน ๆ ชาวอาหรับพบปะสังสรรค์อยู่เป็นประจำ

ความลุ่มลึกในหนังของฟาสส์บินเดอร์อยู่ตรงนี้ เขาไม่เพียงโน้มนำให้เราโศกสลดเสียน้ำตาไปกับความอาภัพคับแค้นของเอมมี่และอาลี แต่ชี้ชวนให้เห็นว่าการยืนอยู่ระหว่างโลกแบบแผนเก่าที่ล่มสลายไปแล้ว และโลกแบบใหม่ซึ่งความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติสามัญ เป็นอย่างไร เราอาจกล่าวได้ว่าในความเห็นของฟาสส์บินเดอร์ เอมมี่ไม่ใช่คนเลวร้าย แต่เธอไม่มีวันสัมผัสรับรู้การถูกเกลียดชังในแบบที่อาลีต้องประสบ เพราะถึงอย่างไรเธอก็เป็นคนเยอรมันผิวขาวอยู่วันยันค่ำ นั่นคือตอนที่หนังเสนอกับเราคนดูว่าในท้ายที่สุดแล้ว เอมมี่ก็จะถูกหลอมกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอันบิดเบี้ยวนี้ (เธอได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ ในกลุ่มอีกครั้ง ก่อนจะร่วมกันขับไล่ลูกจ้างหญิงคนใหม่ออกจากกลุ่ม) ขณะที่อาลีได้รับสถานะใหม่ในสังคม ในฐานะวัตถุ อันเป็นสัญลักษณ์ของความแปลกแยก แตกต่าง ล้าหลัง และป่าเถื่อน ในตอนท้ายของหนัง อาลีสารภาพกับเอมมี่ว่าเขาแอบไปหลับนอนกับผู้หญิงอื่น ก่อนที่เอมมี่จะปลอบประโลมอย่างให้อภัยว่าสิ่งสำคัญคือการที่พวกเขา ทำดีต่อกันเมื่ออยู่ด้วยกัน ต่างหาก จริงอยู่ที่ความแตกต่างทางอายุทำให้พวกเขาไม่อาจร่วมรักกันได้เยี่ยงคู่รักหนุ่มสาว นั่นคือตอนที่หนังส่งสัญญาณว่าวงล้อความสัมพันธ์ระหว่างเขาและเธอยังไม่อาจซ้อนทับกันได้สนิทแนบชิด ความแตกต่างทั้วสองขั้วไม่อาจหลอมรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียว ทว่าฉากเต้นรำในตอนท้ายท่ามกลางแสงสีแดงสลัว พร้อมเพลงคลอเคล้าเป็นฉากหลัง ก็เป็นกิจกรรมเข้าจังหวะระหว่างชายหญิงที่มิใช่เซ็กส์ ทว่าใกล้เคียงที่สุดแล้วมิใช่หรือ


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s