
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520) และ เฉิ่ม (2548)
เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่นายทองพูน จาก ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น และ 20 ปีที่นายสมบัติ ดีพร้อม จาก เฉิ่ม ยังคงเทียวรับเทียวส่งผู้โดยสารท่ามกลางความรีบเร่งของกรุงเทพยามเช้าและเปลี่ยวเหงายามค่ำคืนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีเพียงต้มเลือดหมูและเสียงเพลงจากคลื่นวิทยุคอยเยียวยารักษากายใจอันแสนอ่อนล้า กาลเวลาผันผ่าน สถานการณ์แปรเปลี่ยน กรุงเทพในวันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรุงเทพอันเป็นฉากหลังของทองพูนและสมบัติ แต่เรากล่าวได้อย่างเต็มปากหรือไม่ว่า 40 ปีผ่านไป เศรษฐานะ สถานภาพทางสังคม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเหล่านี้ดีขึ้น เราเชื่อได้หรือไม่ว่า ถึงตอนนี้ นายทองพูนและนายสมบัติ ได้หลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งความด้อยพัฒนา ที่ชนชั้นนำตั้งชื่อเรียกให้อย่างติดหูว่า “โง่ จน เจ็บ” เรามั่นใจได้หรือไม่ว่า ณ วันนี้ ภาพที่คนจนคนชนบทต้องแห่แหนจากบ้านเกิดเมืองนอน มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อให้ตนเองมีกินมีใช้นั้นเป็นภาพที่สูญหายไปจากสังคมไทยแล้ว หรือแท้จริงแล้วเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ เป็นฉากละครที่ถูกเล่นซ้ำอย่างไม่รู้จบ เพียงแต่เปลี่ยนช่วงเวลา เปลี่ยนโฉมหน้าผู้แสดงเท่านั้น
หนังเรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฏรเต็มขั้น ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล บอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มชาวจังหวัดอุดร เมื่อเขาต้องระเห็จระเหินออกจากบ้านเกิดพร้อมกับลูกชายวัยเตาะแตะ มุ่งเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อ ‘ชีวิตที่ดีกว่า’ ก่อนจะถูกความเน่าหนอนฟอนเฟะของสังคมเมืองกัดกร่อนจนไม่เหลือชิ้นดี ขณะที่ เฉิ่ม ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี พาเราคนดูไปร่วมสัมผัสความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาที่กัดกินร่างกายและจิตใจของชนชั้นแรงงาน ทั้งสองเรื่องถึงจะออกฉายห่างกันเกือบ 30 ปี (พ.ศ. 2520 และ พ.ศ. 2548) แต่ก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นถึงฉากชีวิตที่คนชนบทยังคงถูกบังคับให้ต้องเล่น ไม่เพียงเพราะทั้งสองเรื่องมีแกนกลางสำคัญร่วมกันคือ ตัวละครชายหนุ่มคนขับแท็กซี่และหมอนวดสาว แต่ยังเต็มไปด้วยมิติทับซ้อนของความเป็นคนพื้นถิ่นอีสาน ประวัติศาสตร์ของการถูกแบ่งแยกและกดขี่จากอำนาจรัฐ การตกเป็นเบี้ยล่างของสังคมทุนนิยมและชนชั้น รอยปริแตกของสังคมไทยที่ยังคงเด่นชัดขึ้นทุกวันนี้เชื้อเชิญให้เราคนดูหยิบหนังทั้งสองเรื่องมาปัดฝุ่นสำรวจอีกครั้ง ด้วยความหวังว่ามันอาจเปิดคลุมให้เห็นว่าความหลัดเหลื่อมทางสังคมที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น มีส่วนผลักไสให้ตัวละครอย่างทองพูน สมบัติ และแรงงานชนบททั้งหลายยิ่งมีสถานะกลายเป็น ‘คนอื่น’ ในสังคมไทยยิ่งขึ้นอย่างไร

อย่างที่ธงชัย วินิจจะกูล เสนอผ่านงานข้อเขียนเรื่อง ‘อีสานในการรับรู้และทัศนะของผู้ปกครองกรุงเทพ’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า กระบวนการหนึ่งที่ชนชั้นนำสยามใช้ในการนิยามตนเองว่าเป็นผู้เจริญแล้วเยี่ยงชนชาติตะวันตก คือการสร้าง ‘คนอื่น’ ขึ้นมาภายในสังคมไทย ผ่านการบันทึกเชิงข้อมูลทางมานุษยวิทยาของชาติพันธ์ุตามหัวเมืองรอบนอก ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายรูปพรรณสัณฐาน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วิถีการดำเนินชีวิต ประเพณีความเชื่อต่าง ๆ โดยข้อมูลเหล่านี้มักจะนำเสนอกลุ่มคนที่ชนชั้นนำนิยามอย่างกว้าง ๆ ว่า ‘คนบ้านนอก’ ในลักษณะเหมารวม (stereotype) บันทึกของชนชั้นนำสยามเหล่านี้ขับเน้นให้เห็นถึงความบ้านนอกไร้การศึกษา ว่านอนสอนง่าย ความหลงงมงายไปกับไสยศาสตร์ความเชื่ออันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยแฝงนัยยะส่อเสียดว่าคนกรุงมิได้มีลักษณะเหล่านี้
พูดอีกอย่างก็คือ ในการที่จะทำให้สยามมีความศิวิไลซ์เยี่ยงชาติตะวันตก ชนนั้นนำสยามได้รับเอาแนวคิดของลัทธิล่าอาณานิคมมาด้วย ดังนั้นแทนที่จะใช้ลักษณะทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา มาเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ในการจัดแบ่งคนในชาติ พวกชนชั้นนำสยามจึงใช้สิ่งที่ธงชัยเรียกว่า ‘ภูมิอารยธรรม’ (Siwilai space) หรือความศิวิไลซ์อันมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ในแง่นี้ กรุงหรือเมืองจึงกลายเป็นพื้นที่ของผู้เจริญแล้ว เป็นเมืองเทพสร้างอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นฐานที่มั่นของผู้มีการศึกษาและความเจริญรุดหน้าทางวัตถุ หัวเมืองชายขอบอย่างล้านนา และโดยเฉพาะล้านช้าง จึงถูกผลักไปเป็นพื้นภูมิของ ‘คนบ้านนอก’ อันล้าหลังและด้อยความเจริญไปโดยปริยาย ในแง่นี้ คนอีสานตามมโนคติของคนกรุงเทพจึงมีทวิลักษณ์คาบเกี่ยวกันระหว่างความเป็น ‘คนเถื่อน’ และ ‘คนเชื่อง’

ข้อเสนอของธงชัยสอดรับกับลักษณะที่ปรากฏบนจอภาพของทองพูนและสมบัติ เราจะเห็นว่าพวกเขาสุภาพ อ่อนน้อม เคารพยำเกรงต่ออำนาจรัฐ ขยันขันแข็งแต่ก็มักจะเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้ง หนังของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล แสดงให้เราเห็นถึงการเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างตัวละครสองกลุ่ม นั่นคือ ความเป็นอีสานซึ่งปรากฏในรูปของแรงงานชนชั้นล่าง และความเป็นเมืองซึ่งปรากฏในรูปของชนชั้นนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยหนังได้ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนทั้งสองนั้นตั้งอยู่บนระบบคุณค่าที่พวกเขายึดถือ ทองพูนโยกย้ายเข้ามาหากินในเมืองกรุงมิใช่เพราะเขาเห็นว่ามันคือหนทางสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย แต่เพราะเขาเชื่อว่านี่คือหนทางที่เขาจะหลุดพ้นจากวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ฉากหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้แจ่มชัดเกิดขึ้นหลังจากที่ทองพูนถูกเจ้าของบ้านเช่าขับไล่ออกจากห้องพัก ระหว่างเดินอย่างหมดอาลัยตายอยาก บักหำน้อย ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ถามทองพูนอย่างใสซื่อบริสุทธิ์ว่า “ทำไมไม่กลับบ้านเราล่ะพ่อ” ทองพูนชี้นิ้วไปที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ไกลลิบ “พ่ออยากให้บักหำน้อยได้เล่าได้เรียน ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ข้อนี้สอดรับกับสิ่งที่ทองพูนได้พูดไว้ในตอนต้นเรื่องเมื่อเกิดใจอ่อนหลังถูกบักหำน้อยออดอ้อนขอให้พาไปเที่ยวทะเล “ไปก็ไป คนเรามันก็ต้องมีฝันบ้าง จริงไหม”
สรุปได้อีกอย่างก็คือ หนังใช้ระบบคุณค่าของ ‘ความฝัน’ เป็นเครื่องมือในการยอกย้อนวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ที่รัฐใช้กดทับคนเหล่านี้ ภาพของทองพูนที่ปรากฏอยู่ในหนังจึงไม่ใช่การผลิตซ้ำอัตลักษณ์ของคนอีสานที่ชนชั้นนำฉวยโอกาสผลิตขึ้น แต่เป็นการต่อสู้ช่วงชิงอัตลักษณ์ของคนอีสาน จากความโง่งมงาย ไปสู่ความเป็นกลุ่มคนผู้มีความฝัน วลี ‘ราษฎรเต็มขั้น’ ที่ต่อท้ายชื่อหนังจึงไม่ใช่เพียงวลีสวยหรูเลื่อนลอย แต่เป็นตัวหมายที่บ่งชี้ถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชนผู้มีชีวิตจิตวิญญาณไม่ต่างจากคนเมือง นอกจากนี้ หนังยังแสดงให้เห็นตั้งแต่ฉากแรก ๆ ว่ากรุงเทพแท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘เมืองเทพสร้าง’ แต่เป็นเมืองสามานย์ เต็มไปด้วยคนแล้งน้ำใจที่พร้อมจะเอารัดเอาเปรียบและคอยจ้องฉกฉวยผลประโยชน์กันตลอดเวลา เหตุการณ์ที่สะท้อนข้อคิดนี้ได้เป็นอย่างดีคือเหตุการณ์ที่ทองพูนถูกเจ้าของห้องเช่าขับไล่ออกจากที่พัก โดยไม่สนใจฟังเหตุผลว่าเหตุใดเขาถึงไม่สามารถหาเงินมาได้ทันเวลา นั่นคือในอีกมิติหนึ่ง หนังได้ฉายส่องให้เราเห็นเด่นชัดว่า กรุงเทพที่ถูกครอบงำด้วยลัทธิทุนนิยมนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร และมันสามารถทำอะไรเราได้บ้าง
แต่ทองพูนก็หาได้เป็นเหยื่อรายแรกของทุนนิยมไม่ เพราะหากว่ากันตามข้อเท็จจริง เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 300 ปีที่แล้วที่มนุษย์เราได้รู้จักกับคำว่า ‘ทุนนิยม’ ผ่านงานเขียน The Wealth of Nations อันลือชื่อของอดัม สมิธ ในหนังสือดังกล่าว สมิธยื่นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ‘ในทางการค้า มนุษย์เราไม่เคยใช้ความจำเป็น (necessity) ในการเจรจาต่อรอง แต่ใช้ความได้เปรียบของเราแต่ละคนต่างหาก’ พูดอีกอย่างก็คือ ในความเห็นของสมิธ มนุษย์เรายึดโยงกันได้ก็เพราะ ผลประโยชน์ พ่อค้าเนื้อไม่ได้หยิบยื่นเนื้อให้เราฟรี ๆ แต่เขาจะยื่นเนื้อนั้นให้แก่เราก็ต่อเมื่อเรามีสิ่งที่เขาต้องการไปแลกเปลี่ยน หลักคิดข้างต้นยังคงอธิบายการทำงานของทุนนิยมได้เสมอมา แม้ว่าทุนนิยมในปัจจุบันจะกลายร่างไปเป็นปีศาจอัปลักษณ์เหนือจินตนาการของอดัม สมิธเพียงใดก็ตาม ในอีกความหมายหนึ่ง นิทานของสมิธปลูกฝังให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่า โลกแห่งทุนนิยมจะมีแต่ผู้ชนะเท่านั้น เพราะนี่คือโลกที่อุปสงค์ได้รับการตอบรับฉะฉานด้วยอุปทาน เราทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจึงล้วนได้รับในสิ่งที่เราต้องการ สมดุลจึงบังเกิดในที่สุด
ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ส่อแสดงให้เห็นอย่างไม่อ้อมค้อมว่าข้อเสนอข้างต้นของอดัม สมิธ มิอาจคงความเป็นสัจนิรันดร์ อย่างที่เราเห็นได้จากเรื่องราวของหนังว่า ทองพูนตัดสินใจขายที่ดินที่บ้านเกิดเพื่อสมทบเป็นเงินทุนสำหรับซื้อรถแท็กซี่จากนายทุนมาเป็นของตัวเอง ในแง่นี้ เขาจึงเป็นอิสระต่อพันธะทั้งปวง เป็นแรงงานเสรีที่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง และสามารถกระทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้โดยปราศจากอิทธิพลของนายทุน นั่นคือเขามีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง พร้อมที่จะรับส่งผู้โดยสารทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา อุปสงค์ได้รับการตอบรับฉะฉานด้วยอุปทาน แต่คำถามสำคัญของหนังก็อยู่ตรงนี้เอง ทองพูนเป็นอิสระจริงหรือ? ประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของคาร์ล มาร์กซ์ ที่เคยเสนอไว้ว่า แรงงานอิสระ (free labor) มีสองความหมายด้วยกัน หนึ่งคือแรงงานที่เป็นอิสระต่อข้อผูกมัดทางเศรษฐกิจทั้งหลาย และอีกความหมายคือ แรงงานผู้ไม่มีค่าอะไร นอกจากความเป็นแรงงาน เพราะแก่นสารอื่น ๆ ในชีวิตของเขาได้ถูกขูดรีดออกไปจนหมดสิ้น เหลือแต่เพียงการทำงาน ทำงาน และทำงาน เพียงเพื่อให้มีลมหายใจต่อไปเท่านั้น หนังของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล กำลังเสนอต่อเราคนดูว่า สังคมชนชั้นที่ผลักให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นแรงงานไร้คุณค่านี้เอง ที่ขับเสริมให้ความเป็นอื่นที่ถูกกุสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำสยามเด่นชัดยิ่งขึ้น

หาก ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น มีสถานะเป็นมรดกตกทอดทางความคิดจิตวิญญาณที่สำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นั่นคือความเป็นศิลปะแนวเพื่อชีวิตที่มุ่งเน้นการนำเสนอชีวิตของชนชั้นแรงงานและการต่อสู้ทางชนชั้น เฉิ่ม ก็พาเราคนดูไปเป็นประจักษ์พยานต่อความโดดเดี่ยวของชนชั้นแรงงานที่ยังคงถูกบังคับให้ต้องสวมบทบาท “โง่ จน เจ็บ” ลัทธิมาร์กซ์มอบคำตอบแก่เราได้ว่า ภายใต้บุคลิกเฉื่อยเนือยและหน้ากากแห่งความไม่แยแสต่อความผันแปรต่อโลกภายนอกของนายสมบัติ แท้จริงแล้วก็คือความล้าเหนื่อยอันเกิดจากการถูกบังคับให้ต้องตรากตรำทำงานหนัก แต่จิตวิเคราะห์มีคำอธิบายที่น่าสนใจเช่นกัน ดังที่ท็อดด์ แม็กโกแวน เสนอไว้ว่า ‘กาลสมัยแห่งทุนคือช่วงเวลาแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่อนุญาตให้เรามองว่าตนเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับผู้คนรอบข้างของเรา’
นั่นคือ แทนที่ทุนนิยมจะเสริมสร้างความเป็นสังคม มันกลับส่งเสริมความเป็นปัจเจกนิยม มันพร่ำบอกเราว่า เราเป็นปัจเจกชนที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ในโลกแห่งทุน เราถูกบังคับหักคอให้ฟังเพลงเหมือนคนอื่น กินแม็คโดนัลด์เหมือนคนอื่น มีห้างสรรพสินค้าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งเดียวเหมือนคนอื่น ฉากสั้น ๆ ที่โอบอุ้มความหมายไว้มากมายเกิดขึ้นในตอนที่นวลถามสมบัติว่า “แม็คฯ เป็นยังไง อร่อยมั้ย” สมบัติตอบกลับสั้นห้วน “อร่อย” ก่อนที่นวลจะสวนกลับอย่างรู้ทันว่า “โกหก” อาจเพราะลึก ๆ แล้วนวลรู้ดีว่าแม็คฯ ห่างไกลจากการเป็นอาหารอร่อย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อมันได้กลายเป็นรางวัลปลอบใจเล็กน้อย ๆ ที่ทุนนิยมพอจะอนุญาตให้เขาและเธอมีมื้อพิเศษร่วมกันได้ โดยไม่รู้ตัว สถานการณ์เหล่านี้ผลักให้เราโหยหาการมีอัตลักษณ์ตัวตนที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้อื่นผ่านการบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ และโดยไม่รีบเร่ง สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ สลายสำนึกของความเป็นชนชั้นลงในที่สุด มันจึงไม่สำคัญว่าเราเป็นคนชนชั้นใดในโลกแห่งทุน เพราะเราต่างเป็นผู้ขายสินค้า หรือไม่ก็ผู้บริโภค
ดังที่ช่วงหนึ่ง สมบัติตั้งคำถามกับคุณอาธรรมรงค์ผ่านจดหมาย ใจความโดยคร่าวว่า “เคยมีคนบอกผมว่า ถ้าขับแท็กซี่ไปนาน ๆ เราจะเริ่มรู้จักไฟแดงทุกแยกที่เราผ่าน ถนนจะกลายเป็นเพื่อนของเรา แต่ทำไมผมไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นสักที ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่ามีเพื่อนจริง ๆ… บางครั้งผมรู้สึกว่าหลังจากส่งลูกค้าเสร็จแล้ว ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะไปไหนต่อ เพราะมันไม่ใช่จุดหมายของผม” ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าความล้าเหนื่อยและเปลี่ยวเหงาของสมบัติ มิได้เป็นเพียงผลจากการทำงานหนัก แต่เป็นความเหนื่อยล้าโดดเดี่ยวจากการอยู่ในสังคมที่อนุญาตให้เราต่างเป็นได้เพียงผู้ซื้อและผู้ขาย แม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ก็ยังถูกทำให้เป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนได้ด้วยเงินตรา อย่างที่หนังเล่าผ่านเรื่องราวของนวล หมอนวดสาวที่สมบัติบังเอิญได้รู้จักผ่านการรับส่งเธอยามค่ำคืน ในแง่นี้ สถานการณ์ของทั้งสมบัติและนวลจึงเป็นความล้าเหนื่อยที่ไม่อาจทุเลาได้จากการนอนหลับพักผ่อน เพราะทุกเช้าที่พวกเขาตื่นขึ้น วงจรแห่งการตรากตรำทำงานนี้ก็จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง สมบัติจึงมีลักษณะเป็นแรงงานอิสระ (free labor) ในความหมายว่า คุณค่าด้านอื่น ๆ ในชีวิตของเขาถูกดูดกลืนไปจนหมดสิ้น เหลือเพียง ตื่นขึ้น ใช้แรงงาน แล้วตายจากไป

มาร์ค ฟิชเชอร์ นักทฤษฎีวัฒนธรรม เสนอไว้อย่างแหลมคมว่า สิ่งที่ทำให้ทุนนิยมยึดครองโลกได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือการที่มันทำให้สำนึกรู้ทางชนชั้นอ่อนแอลง ชนชั้นซึ่งเคยเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อกรกับความเหลื่อมล้ำไม่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป ทุนนิยมแบ่งแยกเราเป็นปัจเจกที่แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง และอย่างช้า ๆ มันจึงปิดกั้นโอกาสใดๆ ก็ตามที่เราสามารถมองสังคมที่แตกต่างไปจากนี้ได้ นั่นคือ ข้อแตกต่างระหว่างสถานการณ์ของทองพูนและสมบัติอยู่ตรงนี้เอง ‘สำนึกทางชนชั้น’ ซึ่งเคยเป็นเรื่องสำคัญในยุคสมัยของทองพูน เป็นมรดกตกทอดล้ำค่าของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้ถูกทุนนิยมบั้นปลายทุบทำลายไปจนหมดสิ้น ความโกรธเคืองอย่างเดือดพล่านในหมู่คนจนชนชั้นล่างดังที่เราเห็นใน ราษฎรเต็มขั้น ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาอย่างสุดขั้วใน เฉิ่ม
เสียง เป็นประเด็นสำคัญร่วมของหนังทั้งสองเรื่อง ใน ราษฎรเต็มขั้น หนังแสดงให้เราเห็นว่าเสียงของคนชนชั้นล่างถูกเพิกเฉยโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรผ่านเหตุการณ์ที่ทองพูนเข้าแจ้งความหลังจากรถแท็กซี่ของเขาถูกขโมย ขณะที่ เฉิ่ม ถ่ายทอดเสียงของคนชนลั้นล่าง ผ่านจดหมายบรรยายความเปลี่ยวเหงาของสมบัติที่ส่งไปยังสถานีวิทยุ ฉากที่เจ็บปวดมาก ๆ เกิดขึ้นเมื่อสมบัติค้นพบความจริงว่าเสียงของคุณอาธรรมรงค์ที่คุยเป็นเพื่อนคลายเหงาอยู่ทุกค่ำคืนนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงเสียงเทปบันทึกที่เปิดวนซ้ำ ๆ เท่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้ส่องสะท้อนให้เห็นว่าเสียงของคนชนชั้นล่างยังไม่ได้รับการเหลียวแล ความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาของพวกเขาถูกเมินเฉยแม้กระทั่งกับเพื่อนร่วมชาติ
กล่าวอย่างถึงที่สุด การจับหนังทั้งสองเรื่องมาวางเรียงเคียงข้างกันได้เปิดคลุมให้เราเห็นถึงวิวัฒนาการของสังคมไทย คนกลุ่มหนึ่งเคยแปลกแยกอย่างไร วันนี้พวกเขาแปลกแยกเป็นอื่นยิ่งขึ้น การลุกขึ้นขบถต่ออำนาจกดทับกลายเป็นเพียงตำนานเขรอะฝุ่นในหน้าประวัติศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นศัตรูตัวฉกาจของสังคมที่นับวันยิ่งยากจะโค่นล้ม บางทีการที่สมบัติยังคงโหยหาความเรียบง่ายของวันเก่าก่อน แทนที่จะลุกขึ้นเรียกร้องความยุติธรรมเฉกเช่นทองพูน อาจมิใช่เพราะเขาเกียจคร้านหรือขี้ขลาดเกินกว่าจะต่อสู้ แต่เพราะการจินตนาการถึงโลกที่ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น การนึกถึงวันที่เขาสามารถหลุดพ้นจากวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” มันได้กลายเป็นเรื่องไกลเกินกว่าคนตัวเล็กอย่างเขาจะจินตนาการถึงเสียแล้ว
รับชม ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520) และ เฉิ่ม (2548) ได้ทาง Netflix