Tag Archives: A24

Everything Everywhere All at Once – เหตุเกิดจากปัญหาเล็กจ้อยระดับจักรวาล

ไม่ว่าเรื่องราวประเภท ‘ธรรมะย่อมชนะอธรรม’ ซึ่งพักหลังขยับขยายกลายเป็นความขัดแย้งระดับหพุจักรวาล จะควรค่าแก่การจัดเป็น ‘นิทานหลอกเด็ก’ หรือ ‘ความบันเทิงชั้นเยี่ยม’ มากกว่ากัน อย่างหนึ่งที่แน่ ๆ คือ เรื่องเล่าประเภทดังกล่าว ซึ่งมักสอนแทรกศีลธรรมคำสอนประเภท คุณธรรมจริยธรรมสูงส่ง ถึงแม้จะอ่อนด้อยมวลพลังอำนาจ หรือเพลี่ยงพล้ำในเชิงจำนวน ท้ายที่สุดแล้วย่อมเอาชนะอธรรมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก่อให้เกิดข้อคำถามอย่างอดไม่ได้เหมือนกันว่า ในยุคสมัยที่ ‘ฮีโร่แทบเดินชนกันตาย’ (ประวิทย์ แต่งอักษร, 2565) ยังมีพื้นที่ใดอีกที่เรื่องเล่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เข้าไปสำรวจตรวจสอบ(หากมิใช่ถางทำลาย)อย่างละเอียดราบคาบ การที่ฝ่ายซึ่งด้อยพละกำลังหรือกระทั่งจำนวนเอาชนะฝ่ายที่ทรงอำนาจกว่าได้อย่างสม่ำเสมอนั้นย่อมไม่ใช่ปกติวิสัย แต่เหตุใดวีรบุรุษเหล่านี้จึงลุกขึ้นสู้ทั้งที่รู้แก่ใจว่ามีโอกาสชนะเพียงน้อยนิด

ใน Everything Everywhere All at Once ของแดเนียล ไชเนิร์ต และแดเนียล ควอน ภัยอันตรายซึ่งเยื้องย่างเข้ามารบกวนความร่มเย็นของพหุจักรวาลไม่ได้มาจากปีศาจร้ายรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ แต่เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมเอเชียซึ่งเคารพเทิดทูนชายเป็นใหญ่อย่างออกนอกหน้า วัฒนธรรมดังกล่าวพร้อมจะกดทับใครก็ตามที่แตกแถวออกไปจากลัทธิชายนิยมอย่างไม่มีข้อยกเว้น พูดอีกอย่างหนึ่ง ถึงแม้ขมวดปมสำคัญที่หนังใช้ในการดำเนินเรื่องจะผูกโยงอยู่กับการเดินทางข้ามมิติจักรวาลเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่ตัวเอก เอเวอลิน (มิเชล โหยว) ซึ่งเทียบเคียงได้กับ ‘ฮีโร่’ ของเรื่อง ต้องปะทะต่อกรด้วยแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ล้นพ้นไปกว่าวงสังคมของเธอเอง ยังไม่นับอีกข้อที่ว่าเธอเองก็เป็นเพียงหญิงวัยกลางคนแสนธรรมดาสามัญที่ต้องแบกรับปัญหาครอบครัว บริหารกิจการซักรีดที่ต้องปะทะรับมือกับคนมากหน้าหลายตา ดูแลคุณพ่อผู้แก่ชราที่ครั้งหนึ่งก็ไม่ได้รู้สึกปลาบปลื้มที่ได้ลูกสาว สามีรูปหล่อที่พอแก่ตัวมาก็ไม่เอาไหน และลูกสาวจอมขบถที่เติบโตจนความต่างวัยทำให้ต่อกันแทบไม่ติด หาใช่เศรษฐีพันล้านหรือจอมขมังเวทย์ผู้ช่ำชองเรื่องมนต์คาถา

แต่การใช้คำว่า ‘ธรรมดา’ มาบรรยายสถานการณ์ของเอเวอลินก็อาจจะเข้าขั้นตกหล่น จริงอยู่ที่ชีวิตเธอไม่ได้วิเศษวิโสไปกว่าหญิงเอเชียนรุ่นราวคราวเดียวกันเท่าไหร่ แต่การรับบทบาทหัวหน้าครอบครัว ณ ดินแดนใหม่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าหนักหนาเอาการ ฉากหนึ่งที่สลักสำคัญมาก ๆ ในแง่ที่มันเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและบทสรุปของเรื่องราว เกิดในตอนที่เอเวอลินและครอบครัวเข้าไปแสดงภาษีต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร (เจมี ลี เคอร์ติส ในบทบาทที่ขโมยซีนมาก ๆ) เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงตอกย้ำสถานะหน้าที่ตามกฎหมายที่บุคคลจะต้องสยบยอมแก่รัฐ แต่สะท้อนถึงขอบข่ายอำนาจที่รัฐมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผิวขาวในฐานะเจ้าของที่ดิน (landlord) ในการรุกล้ำเข้าไปตรวจสอบ กระทั่งตัดสินชี้ขาดชีวิตของผู้คนเหล่านี้ “เวลาที่ฉันมองไปที่ใบเสร็จพวกนี้ ฉันไม่ได้เห็นเพียงตัวเลข แต่ฉันเห็นเรื่องราว” เจ้าหน้าที่เดียร์ดรีกล่าวพร้อมเบ่งขยายรังสีอำมหิต

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ส่วนที่นับได้ว่าเพิ่มมิติให้กับหนังจริง ๆ ก็หาได้เกี่ยวเนื่องกับเงื่อนไขทางมิติเวลาโดยตรง หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่ใช่ในแง่ที่ว่าพหุจักรวาลอาจนำมาซึ่งภัยอันตรายที่ไม่อาจมองเห็นหรืออะไรทำนองนั้น สำหรับเอเวอลิน การรับรู้การมีอยู่ของมัลติเวิร์ส เปิดให้เธอได้พบเห็นชีวิตของเธอในโอกาสความน่าจะเป็นอื่น ๆ คำถามที่ผุดขึ้นมารบกวนสมาธิจดจ่อของเธอเป็นระยะคือ อะไรจะเกิดขึ้นหากวันนั้นเธอเชื่อฟังคำสั่งสอนของป๊า ชีวิตจะพลิกผันไปทางไหนหากวันนั้นเธอไม่หนีตามเวย์มอนด์ เธออาจจะได้สานความฝันในการเป็นนักร้อง อาจได้เป็นนักแสดงระดับแถวหน้า เป็นเชฟที่เก่งกาจ เป็นยอดกังฟูแห่งยุทธจักร หรืออาจเป็นเพียงก้อนหินดินทราย (เหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ) แต่จนถึงที่สุด หากจะมีข้อควรคิดจากนิทานเรื่องนี้สักข้อหนึ่ง คงเป็นการที่ปัญหาเล็กกระจ้อยอย่างความขัดแย้งในครอบครัว แม่ไม่เข้าใจลูก ลูกไม่เข้าใจแม่ ซึ่งก็สืบสาวราวเรื่องมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เมื่อถึงจุดหนึ่งมันย่อมกลายเป็นปัญหาระดับจักรวาล และคนที่เจ็บปวดที่สุดก็คือคนรุ่นลูกรุ่นหลานเสมอ


Grade: A-

Directed by Dan Kwan, Daniel Scheinert
Written by Dan Kwan, Daniel Scheinert
Produced by Anthony Russo, Joe Russo, Mike Larocca, Dan Kwan, Daniel Scheinert, Jonathan Wang, Michelle Yeoh
Starring Michelle Yeoh, Stephanie Hsu, Ke Huy Quan, Jenny Slate, Harry Shum Jr., James Hong, Jamie Lee Curtis
Cinematography by Larkin Seiple
Edited by Paul Rogers
Music by Son Lux