Tag Archives: Apichatpong Weerasethakul

Memoria (2021) – เมื่อความทรงจำเปล่งเสียง

ไม่รู้คนอื่นเห็นเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัว สิ่งที่ดึงดูดผู้เขียนเข้าสู่จักรวาลหนังของอภิชาติพงศ์อยู่เสมอคือการที่มันมักจะว่าด้วยเรื่องราวของผู้คนที่กำลังป่วยไข้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเรื่องราวดังกล่าวก็มักจะนำพาตัวละครในหนังเข้าไปเกี่ยวพันหรือโคจรอยู่รอบ ๆ โรงพยาบาลอันเป็นศูนย์รวมสถานแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย และหลายครั้งหลายครา โรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวก็มักจะร้ายแรงถึงขั้นเกินเยียวยารักษา ซึ่งไม่เพียงตอกย้ำถึงความอ่อนเปลี้ยของวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ปฏิเสธสถานะอันสูงส่งของบรรดานักรบชุดขาว และเปิดโอกาสให้เราคนดูได้มองความป่วยไข้หรือกระทั่งความตายในแง่มุมที่หนังส่วนใหญ่ล้มเหลวในการชี้ชัดให้เห็นภาพ อย่างในกรณีของ รักที่ขอนแก่น ที่บรรดาทหารชั้นผู้น้อยต่างพากันล้มป่วยอย่างเป็นปริศนาด้วยโรคเหงาหลับ โดยที่การแพทย์สมัยใหม่ไม่อาจเอื้อมเข้าไปหาคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว หรือใน ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่ลุงบุญมีเองก็กำลังเจ็บป่วยจากโรคไตวายระยะสุดท้าย โดยมีข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐานะที่ผสมโรงกันบีบบังคับให้ลุงบุญมีต้องใช้การฟอกไตทางหน้าท้อง โดยมีเพียงป้าเจนและแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ช่วยเหลือ ไปจนถึงวิธีการที่ สุดเสน่หา ฉายชัดให้เห็นว่าการแพทย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่รัฐใช้ควบคุมสั่งการประชาชนอย่างไร

ในแง่นั้น ถึงแม้ Memoria จะเป็นผลงานชิ้นแรกของอภิชาติพงศ์ที่เหตุการณ์ในหนังไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ชิ้นส่วนเล็กย่อยต่าง ๆ ที่ประกอบร่างกันขึ้นมาเป็น Memoria ก็ยังเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่คอหนังของอภิชาติพงศ์คุ้นเคย หนังยังคงเน้นย้ำถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ หมอ ทหาร ประชาชน ผีสาง ความฝัน ความทรงจำ และโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความป่วยไข้และความหละหลวมของกระบวนการวินิจฉัยรักษา อย่างที่ เจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากแอร์นัน (ฆวน พาโบล เออร์เรโก) ด้วยความมุ่งหวังว่าวิศวกรหนุ่มและเครื่องมือทันสมัยของเขาอาจช่วยกำหนดรูปพรรณสัณฐานของเสียง ‘ปัง’ ที่ดังขึ้นในหัวของเธอ นั่นเป็นอีกครั้งที่หนังของอภิชาติพงศ์ฉายส่องให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และวิทยาศาสตร์ ย้ำเตือนให้เห็นถึงพลังอำนาจของมันในการแถลงไขข้อข้องใจทั้งหลายของมนุษย์ แต่จนแล้วจนรอด คำถามก็วกกลับมาอีกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ทรงพลังถึงขั้นอธิบายเรื่องเล็กกระจ้อยในจิตใจและปริศนาระดับจักรวาลนอกโลกจริงหรือ ความสำเร็จลุล่วงในการปั้นเสียงเป็นตัวนำไปสู่คำตอบสูงสุดของโรคปริศนาที่เจสสิกากำลังประสบได้จริงหรือไม่ อย่างไร?

ช่วงหนึ่ง หนังเผยให้เห็นการต่อรองทางอำนาจระหว่างเจสสิกาและแพทย์ที่เธอขอเข้ารับการรักษา แพทย์หญิงเชื่อว่าเสียงที่เธอได้ยินอาจเป็นผลสืบเนื่องจากความดันโลหิตสูง หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดจากภาวะประสาทหลอน ขณะที่เจสสิกาเชื่อว่าเธอต้องการเพียงยาคลายกังวล ทว่าเธอรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะเอ่ยปากขอ ฉากสั้น ๆ ดังกล่าวชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ใน สุดเสน่หา ที่เกิดการต่อรองระหว่างคนไข้และแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์ นั่นคือวิธีการที่อภิชาติพงศ์วิพากษ์วิจารณ์ความหละหลวมของการแพทย์สมัยใหม่ ผ่านเรื่องราวที่ทั้งสะท้อนลำดับชั้นทางอำนาจของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ตลอดจนความบกพร่องของวิทยาศาสตร์ในการมอบคำตอบแด่สรรพสิ่ง นั่นอาจเป็นเพราะ ‘ความจริง’ ในหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความจริงทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความจริงทางสังคมศาสตร์ด้วย ตามสำนึกรู้ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจสสิกา อาจกำลังประสบกับอาการประสาทหลอน (และเธออาจต้องการ Anti-psychotics มากกว่า Xanax) แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่กำลังป่วยไข้อาจไม่ใช่เจสสิกา แต่เป็นผืนแผ่นดินที่เธอเหยียบย่ำอยู่ต่างหาก ผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยโครงกระดูกของร่างนิรนาม โครงกระดูกที่เต็มไปด้วยรูปริศนาบนกระโหลกศีรษะ ผืนแผ่นดินที่ตั้งอยู่บนประวัติศาสตร์และบาดแผลอันเป็นผลจากการช่วงชิงอำนาจ

จุดร่วมระหว่างเจสสิกา และอภิชาติพงศ์ ใน Memoria และมิน ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงใน สุดเสน่หา คือการที่ถึงแม้ทั้งสามจะพูดภาษาและสวมเครื่องแต่งกายไม่ต่างกับคนท้องถิ่น แต่ต่างก็ไม่สามารถสลัดสถานะของความเป็นคนต่างด้าวออกไปได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อภิชาติพงศ์มองโคลัมเบียด้วยสายตาคนนอกที่เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ซึ่งเป็นสายตาเดียวกับที่เราคนดูมองเห็นผ่านตัวของเจสสิกา ในแง่นั้นก็อาจกล่าวได้ว่าเจสสิกาก็คือภาพแทนของอภิชาติพงศ์ในวันนี้ที่ต้องระเห็จระเหินออกจากบ้านเกิดไปยังดินแดนที่เขาไม่รู้จักคุ้นเคย แต่ถึงอย่างนั้น ในความไม่คุ้นเคย เขาได้พบว่าดินแดนทั้งสอง (ไทยและโคลอมเบีย) ต่างมีจุดร่วมคืออดีต หรือที่หนังเรียกอย่างไพเราะว่า ‘ความทรงจำ’ โดยเฉพาะความบอบช้ำอันเป็นผลพวงจากความพยายามที่จะจับจ้อง กดทับ ตลอดจนควบคุมประชาชนผ่านโครงข่ายทางอำนาจรัฐ ซึ่งไม่เพียงจำเพาะเจาะจงอยู่กับอำนาจทางทหาร แต่อาจรวมถึงสถาบันทางการแพทย์ “นี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยม” เจสสิกากล่าวเชิงเสียดสีถึงแผงยาที่เธอได้จากคุณหมอ ทว่าใน Memoria สิ่งที่นำพาเจสสิกาไปสู่ความจริงหาใช่เม็ดยาหรือกลวิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่คือการยอมรับและกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ผ่านกลวิธีที่เรียบง่ายอย่างการเฝ้าสังเกตและสดับรับฟัง บางทีมันอาจไม่สำคัญว่าอภิชาติพงศ์ เจสสิกา หรือแอร์นัน จะเป็นใคร มาจากไหน มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะบาดแผลและความทรงจำร่วมเหล่านี้จะคอยย้ำเตือน ว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกอันบิดเบี้ยวใบนี้


Grade: A

Directed by Apichatpong Weerasethakul
Written by Apichatpong Weerasethakul
Produced by Apichatpong Weerasethakul, Diana Bustamante, Simon Fields, Keith Griffiths, Charles de Meaux, Michael Weber, Julio Chavezmontes
Starring Tilda Swinton, Elkin Díaz, Jeanne Balibar, Juan Pablo Urrego,Daniel Giménez Cacho
Cinematography by Sayombhu Mukdeeprom
Edited by Lee Chatametikool