Tag Archives: Berlin Film Festival

Three Colours Trilogy – กาลครั้งหนึ่งในยุโรป

บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

You are all a lost generation” เป็นคำกล่าวสั้นง่ายที่มีความหมายต่อเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ อย่างมาก ถึงขั้นที่เขานำข้อความดังกล่าวไปปะหน้านิยายเรื่อง The Sun Also Rises จนกลายเป็นที่เลื่องชื่อฮือฮาในเวลาต่อมา อย่างที่นักอ่านน่าจะทราบกันดี คำกล่าวข้างต้นเป็นประโยคที่เกอร์ทรูด สไตน์ ใช้นิยามนักเขียนและศิลปินชาวอเมริกันกลุ่มเล็ก ๆ ผู้ทรงอิทธิพลในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ตัวเธอ, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์, ที. เอส. เอเลียต, จอห์น ดอส พาสโซส์ ไปจนถึงกวีอาว็องการ์ดอย่าง เอซรา พาวน์ด พวกเขาเหล่านี้ได้นิยามว่าคือ คนรุ่นสูญหาย เพราะชีวิตที่ดี ความฝัน ความเชื่อ ตลอดจนอุดมการณ์อันสูงส่งของพวกเขาถูกพังครืนลงต่อหน้าต่อตาจากการปะทุขึ้นของสงครามที่ฆ่าล้างผู้คนไปมากมาย จิตวิญญาณที่บุบสลายอย่างฉับพลันส่งผลให้ปัญญาชนเหล่านี้ต้องพากันระเห็จระเหินออกจากอเมริกาอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ไปตั้งหลักป้กฐานกันใหม่ ณ กรุงปารีส ช่วงเวลาที่ซึ่งพวกเขาสรรค์สร้างผลงานมาสเตอร์พีซมากมาย เช่น The Sun Also Rises และ The Great Gatsby

ข้อสังเกตที่นึกขึ้นได้ระหว่างการรับชมไตรภาค Three Colours ของคริสคอฟ เคียสลอฟสกีอีกครั้งในปีค.ศ. 2022 (หนังกำลังกลับมาฉายที่ Doc Club & Pub) คือเมื่อใดก็ตามที่ผลงานขึ้นหิ้งของคนทำหนังชาวโปแลนด์หวนกลับมาอยู่ในแวดวงสนทนาของบรรดานักดูหนัง บทวิเคราะห์วิจารณ์ หรือกระทั่งบทสนทนาที่เกิดขึ้น ก็มักจะวนเวียนอยู่กับความหมายดั้งเดิมของสีทั้งสาม อันเป็นนิยามที่ติดตัวหนังทั้งสามเรื่องมาตั้งแต่แรกคลอด ไม่ว่าจะมองมุมใด โดยตื้นเขินหรือลึกซึ้ง  Blue ย่อมเล่าถึงเสรีภาพ White ย่อมหมายถึงความเสมอภาค และ Red ก็ย่อมสะท้อนเรื่องราวของภราดรภาพอย่างเป็นอื่นไม่ได้ ในแง่หนึ่ง Three Colours Trilogy จึงส่อเค้าที่จะมีสถานะหยุดนิ่ง ดำรงอยู่ราวกับถูกแช่แข็ง แต่ละเรื่องมีความหมายตายตัวและแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน ยากจะบิดพลิ้วราวกับมันเป็นบัญชาของพระเจ้า คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราคนดูจะอ่าน Three Colours Trilogy ในฐานะเรื่องเล่าที่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่ต้องปักหลักตั้งธงความหมายสุดท้ายของมันไว้ที่ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราคนดูจะกระทำการยึดคืนอำนาจในการวิเคราะห์ตีความหนังจากนายทุนชาวฝรั่งเศสผู้อนุมัติการสร้างหนังไตรภาคนี้

ว่าไปแล้ว ถึงแม้คริสตอฟ เคียสลอฟสกีจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตวิญญาณเข้าอย่างจังในลักษณะเดียวที่เฮมิงเวย์และฟิตซ์เจอรัลด์ประสบ เส้นชีวิตของเคียสลอฟสกีและบรรดานักคิดนักเขียนข้างต้นนั้นไร้ข้อกังขาว่าต่างกรรมต่างวาระ แต่ในแง่หนึ่ง เขาก็น่าจะเป็น คนสูญหาย คนหนึ่งด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนทำหนังชาวโปแลนด์หลาย ๆ คนที่ถูกค้นพบในช่วงค.ศ. 1950-60 เคียสลอฟสกีเริ่มต้นอาชีพสายภาพยนตร์ในฐานะคนทำหนังสารคดี เขาสนใจการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คน ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาใต้พรมที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์พยายามซุกซ่อนให้พ้นจากสายตาประชาชนอย่างถอนรากถอนโคน ผลงานของเคียสลอฟสกีในยุคแรก จึงเสนอภาพความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่ปิดเม้ม จนกระทั่งถึงการล่มสลายของคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในปีค.ศ. 1989 ท่าทีของเคียสลอฟสกีต่อการเมืองโปแลนด์ได้เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เขากลายเป็นคนเฉยเมย หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นการเมืองไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ครั้งหนึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการของเทศกาลภาพยนตร์มอนทรีออลในปี 1989 เขาถูกถามถึงสถานการณ์การเมืองในโปแลนด์ที่กำลังคุกรุ่นและเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เคียสลอฟสกีตอบแต่เพียงสั้น ๆ ว่า ‘วันไหนที่ผมสามารถซื้อกระดาษชำระได้ในโปแลนด์ วันนั้นแหละผมจะพูดเรื่องการเมือง’

พร้อม ๆ กับการล่มสลายของคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ชื่อเสียงของเคียสลอฟสกีเริ่มขยับขยายออกนอกประเทศ นั่นคือตอนที่เขาได้รับเงินทุนต่างชาติสำหรับผลงานเรื่อง Double Life of Veronique (1991) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เขาจะได้ทำหนังที่มุ่งความสนใจไปยังความสับสนอลหม่านภายในจิตใจของเขาเอง โดยละประเด็นหนักอึ้งอย่างการบ้านการเมืองไว้เป็นเพียงฉากหลัง สิ่งที่ถูกห่อคลุมอยู่ใต้เรื่องราวของหญิงสาวชาวโปแลนด์และฝรั่งเศสที่ชื่อเสียงเรียงนาม รูปลักษณ์ หน้าตา ผิวพรรณ เหมือนกันหมดจดอย่างแยกไม่ออก จึงเปรียบได้กับภาพแทนของความเป็นทวิลักษณ์ของตัวเคียสลอฟสกีเอง ตัวละครของเขาติดอยู่ในสถานะกึ่งกลาง ระหว่างโปแลนด์ที่กำลังกลายเป็นเพียงอดีต และฝรั่งเศสที่กำลังจะเป็นอนาคต เรื่องแต่งบนจอภาพจึงสัมผัสคล้องจองอยู่กับความเป็นจริงหลังจอภาพ ฉากหนึ่งที่สะท้อนการเหลื่อมซ้อนระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมติใน Double Life of Veronique ได้ดี เกิดขึ้นในตอนที่เวโรนีกา (โปแลนด์) กำลังเดินขวักไขว่อยู่บนท้องถนนซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่มารวมกลุ่มประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทว่าแทนที่จะเข้าร่วม เธอกลับเดินผ่านไปอย่างไร้ใยดี สายตามองมั่นไปที่หญิงสาวปริศนาคนหนึ่งอีกฟากฝั่งถนน ผู้ซึ่งรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเธอทุกประการ

ในทำนองเดียวกับ Double Life of Veronique กล่าวได้ว่า อีกความหมายหนึ่งของ Three Colours Trilogy ที่เดินเรียงเคียงคู่อยู่กับ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คือความพยายามของเคียสลอฟสกีที่จะเชื่อมประสานโลกสองใบในตัวเขา หนึ่งคือโลกใบเก่าในโปแลนด์และระบอบคอมมิวนิสต์ที่กำลังล่มสลายตายจาก และอีกหนึ่งคือโลกเสรีนิยมใหม่ในฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่บนแนวคิดของความเป็นนิติรัฐ (เรื่องราวในหนังทั้งสามภาคล้วนแวดล้อมอยู่กับตัวละครที่เป็นนักกฎหมาย) เมื่อพิจารณาดูแล้ว ตัวละครในไตรภาคสามสีจึงล้วนแต่มีความเป็น คนสูญหาย ไม่ต่างกับผู้สร้าง อย่างกรณีของจูลี (จูเลียต บิโนช) ที่ตื่นขึ้นมาเพื่อพบว่าสามีและลูกได้จากเธอไปอย่างไม่ย้อนกลับ ทิ้งเธออยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง หรืออย่างแครอล แครอล (ชบิกเนียฟ ซามาคอฟสก์) ที่ค้นพบว่ารอยปริร้าวระหว่างเขาและภรรยานั้นกว้างใหญ่เกินกว่าสิ่งใดจะยึดสมานได้อีก เช่นเดียวกับผู้พิพากษาวัยเกษียณ (ฌ็อง-หลุยส์ แตร็งติญ็อง) ที่สูญสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในการสืบหาความจริง และตัดสินใจใช้ชีวิตในบั้นปลายไปกับการดักฟังโทรศัพท์เพื่อนบ้าน

ในระดับของเนื้อเรื่องแล้ว อุบัติเหตุที่คร่าชีวิตสามีและลูกของจูลี่ใน Blue อาจเป็นเพียงโศกนาฏกรรมทดสอบที่จูลี่ต้องเอาชนะตามขนบหนังดราม่าน้ำดีที่ว่าด้วยการก้าวข้ามผ่านความสูญเสีย แต่ในความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด เราอาจทึกทักว่าจูลี่ได้ ตาย ในเชิงอุปมาอุปไมยไปพร้อม ๆ กับสามีและลูกของเธอจริง ๆ และความตายนั้นได้ปลดเปลื้องเธอจากสถานะ แม่ และ เมีย อันเป็นบทบาทหยั่งรากที่ผู้หญิงถูกบังคับให้แบกรับ ในตอนแรกเราจึงเห็นเธอมุ่งมั่นที่จะรื้อถอนอดีตของตัวเองเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากศูนย์ ทว่าจนแล้วจนรอด เธอก็พบว่า เสรีภาพ ที่เธอถวิลหานั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ที่เธอไม่เคยมองเห็นในอดีตต่างหากที่มีค่าแก่การสำรวจและรักษา ครั้งหนึ่ง เคียสลอฟสกีกล่าวถึงสถานการณ์ในโปแลนด์ยุคหลังโซเวียตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมเคยเกลียดคอมมิวนิสต์ และตอนนี้ก็ยังเกลียดอยู่ แต่ขณะเดียวกันผมก็คิดถึงช่วงเวลานั้น คิดถึงความสัมพันธ์ในครั้งหนึ่งที่ปัจจุบันได้สูญสลายหายไปหมดแล้ว” พูดอีกอย่าง โศกนาฏกรรมของสามีและลูกของจูลี่ อาจเปรียบได้กับโศกนาฏกรรมการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ ทั้งสองเหตุการณ์นำไปสู่การปลดแอกของจิตวิญญาณที่ถูกจองจำ นั่นคือเคียสลอฟสกีในฐานะประชาชนที่ถูกกดขี่ และจูลี่ในฐานะเพศที่ถูกกดทับ และทั้งสองก็ต่างค้นพบว่าอิสรภาพที่เขาและเธอถวิลหานั้นมีราคาที่ต้องจ่ายเพียงใด

ความรู้สึกหลงทาง ตลอดจนความโหยหาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นแก่นเรื่องที่สำคัญของ Three Colours Trilogy หาได้เป็นเรื่องปัจเจกของตัวคนทำหนัง แต่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นความรู้สึกร่วมของผู้คนในยุคสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1989 ซึ่งได้เปิดประตูให้ผู้คนจากสองฟากฝั่ง ตะวันตก-ตะวันออก เสรีนิยม-สังคมนิยม ได้กลับมาเชื่อมถึงกันอีกครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างเรียบง่ายไร้อุปสรรค ถามแครอล แครอลใน White ดูก็ได้ว่าการเป็นคนตะวันออก(โปแลนด์) ในโลกตะวันตกอย่างฝรั่งเศสหนักหนาสาหัสอย่างไร ช่วงหนึ่งระหว่างการพิจารณาคดีหย่าร้างระหว่างเรากับภรรยา (จูลี เดลปี) แครอลเอ่ยถามศาลที่เคารพอย่างเหลืออดว่า ‘เหตุผลที่ศาลปฏิเสธจะรับฟังเขา เป็นเพราะเขาพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้หรือเปล่า?’ คำถามของแครอลเปิดเปลือยให้เห็นว่าสิ่งที่กวนใจเขา และน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้เขาไม่สามารถร่วมรักกับภรรยาได้อย่างสุขสม คือความรู้สึก เป็นอื่น แครอลอาจจะโชคดีที่ได้เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานของกระบวนการหลอมรวมยุโรปตะวันตกและตะวันออก แต่ขณะเดียวกันมันกลับทำให้เขาต้องแบกรับสถานะ คนนอก ไปโดยปริยาย

ชื่อ แครอล แครอล ก็เล่นล้อกับทวิลักษณ์ของตัวละครนี้อย่างชัดแจ้ง เขาเองก็เหมือนกับเคียสลอฟสกี้ เป็นคนสูญหายที่ติดอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของโลกสองใบ หนังขับเน้นให้เห็นว่าฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุดหน้า มีกระบวนการยุติธรรมเป็นขื่อแปแน่นหนา ขณะที่โปแลนด์นั้นป่าเถื่อนล้าหลัง เต็มไปด้วยมาเฟียและการทุจริตคอรัปชั่น แครอลที่โอบอุ้มสถานะคนนอกจึงถูกกฎหมายไล่ต้อนจนต้องซมซานกลับบ้านเกิดที่โปแลนด์ อาจกล่าวได้ว่า สถานะก้ำกึ่งของตัวละครยังสะท้อนผ่านความเป็นเรื่องราวกึ่งโศกนาฏกรรมกึ่งสุขนาฏกรรมของหนังด้วย ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของหนังจึงตั้งอยู่บนความขัดแย้งกันเองของตัวละคร เขาเกลียดเธอ แต่ก็รักเธอ เหมือน ๆ กับที่เธอเกลียดเขาแต่ก็รักเขาเช่นเดียวกัน แก่นสารสำคัญของ White จึงเป็นการย้ำเตือนกับเราคนดูว่าการรวมหลอมสองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแล้วม้วนจบได้ด้วยตัวมันเอง แต่ต้องผ่านการคัดง้าง ประนีประนอม ต่อรอง ระหว่างสองขั้วอำนาจ

ถึงที่สุดแล้ว แก่นสาระของ Three Colours Trilogy จึงว่าด้วยการตั้งคำถามถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างเรามนุษย์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย นั่นคือ มนุษย์เราจะเอาชนะกำแพงเชื้อชาติ ภาษา ประวัติศาสตร์ความเป็นมา บาดแผลครั้งเก่าก่อนที่มนุษย์กระทำต่อกัน ได้อย่างไร? คำถามนี้ชวนให้นึกถึงสิ่งที่ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เสนอไว้ในหนังสือ Imagined Communities ว่า ‘ชาติเป็นสิ่งที่ถูกจินตนาการขึ้นมา เพราะแม้แต่ประชาชนของประเทศที่เล็กที่สุด ก็ไม่อาจรู้จักเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ในประเทศ แต่กระนั้นพวกเขากลับรับรู้ถึงความเป็นเพื่อนร่วมชาติซึ่งกันและกัน’ แอนเดอร์สันเสนอต่อว่า สิ่งที่ขับเร่งกระบวนการดังกล่าวคือการเกิดขึ้นของ สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนในประเทศหนึ่ง ๆ สามารถเสพสื่อเดียวกัน รับรู้เรื่องราว เรื่องเล่า เดียวกัน จนเกิดเป็นสำนึกรู้ร่วมกันขึ้นในที่สุด เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ยุโรปในยุคหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินก็น่าจะมีความเป็นชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) เช่นเดียวกับ ชาติ ในข้อเสนอของแอนเดอร์สัน ทว่าคำถามถัดไปที่สำคัญยิ่งกว่า คือ สิ่งใดกันเล่าจะสามารถยึดเชื่อมผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายกันอย่างกว้างขวางเหล่านี้ได้

ฉากเปิดเรื่องของ Red จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด ภาพสัญญาณโทรศัพท์วิ่งผ่านโคร่งข่ายสายสื่อสารที่เชื่อมต่อกันยุ่งเหยิงไม่เพียงตอกย้ำถึงพลังอันไร้ขีดจำกัดของการสื่อสาร แต่ยืนกรานว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ทุกคนเชื่อมถึงกันแม้ไม่รู้ตัว เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของหนังที่มักจะแวดล้อมอยู่กับโทรศัพท์ (วาล็องทีนและออกุสต์ต้องติดต่อกับคนรักของพวกเขาที่อยู่ทางไกล และโจเซฟที่มีพฤติกรรมดักฟังโทรศัพท์) โดยผิวเผิน ก็ดูราวกับเคียสลอฟสกีกำลังเสนอว่าสิ่งที่ขับเร่งกระบวนการหลอมรวมยุโรปให้สำเร็จลุล่วงได้ก็คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร (ในลักษณะเดียวกับที่เทคโนโลยีสื่อสิ่งพิมพ์เร่งให้เกิดสำนึกความเป็นชาติตามความเห็นของแอนเดอร์สัน) แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเรากลับพบว่าสิ่งที่ดึงให้ตัวละครเหล่านี้โคจรมาพบกันหาได้เป็นผลจากการมีโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์ แต่เป็นเรื่องของความบังเอิญ หรือชะตาฟ้าลิขิตที่หดกระชับวงโคจรของพวกเขาแต่ละคนจนกระทั่งคาบเกี่ยวกันในที่สุด

พูดอีกอย่างหนึ่ง Red เสนอว่าการเชื่อมถึงดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นเพียงบนระนาบของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่เพราะตัวละครเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ใต้กฏธรรมชาติข้อหนึ่งร่วมกัน นั่นคือกฏของโชคชะตาและความบังเอิญ พิจารณาสิ่งที่นำพาวาล็องลีนมาพบกับโจเซฟ ผู้พิพากษาวัยเกษียณในเหตุการณ์ที่เธอบังเอิญขับรถชนสุนัขของเขาจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นผลจากการที่สัญญาณวิทยุในรถเกิดขัดข้องอีกทีหนึ่ง ทว่าก่อนที่วิทยุจะขัดข้อง ได้ปรากฎแสงสีแสงวับวาบขึ้นในรถของวาล็องทีนอย่างไร้ต้นสายปลายเหตุ ความมหัศจรรย์เล็ก ๆ น้อย ๆ ลักษณะเดียวกันยังเรี่ยไรอยู่ตลอดเรื่องเล่าของหนัง โชคชะตาและความบังเอิญยังเล่นตลกกับการแคล้วคลาดระหว่างวาล็องทีนและออกุสต์ นักเรียนกฏหมายที่อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ตรงข้ามกับเธอ เมื่อหนังเผยให้เห็นว่าทั้งสองต่างเดินเข้าออกจากเฟรมเดียวกันอยู่หลายครั้งหลายครา

ผ่านเรื่องเล่าที่กระโดดไปมาจนคล้ายวกวน เราคนดูค่อย ๆ ซึมซาบความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวาล็องทีน โจเซฟ และออกุสต์ เมื่อพิจารณาความหมายเชิงสัญญะ อาจตั้งข้อสังเกตได้ด้วยว่าที่บทบาทวาล็องทีนจะต้องเป็นของไอแรน แจค็อบ ก็น่าจะด้วยเพราะเธอเป็นนักแสดงจากสวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนเล็กจ้อยที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางยุโรป มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง วางตัวถอยห่างจากความขัดแย้งและการนองเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าในยุโรป เมื่อเทียบกับจูลี่ใน Blue และโดมินิคใน White วาล็องทีนจึงเป็นตัวละครที่มีความอ่อนหวาน ประนีประนอม ส่วนโจเซฟ ผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสวัยเกษียณ อาจมองได้ว่าเป็นตัวแทนของมหาอำนาจเก่าที่ปัจจุบันเสื่อมมนต์ขลัง อยู่ในสถานะหมดอาลัยตายอยาก โดดเดี่ยว กลายเป็นซากชีวิตที่ยอมรับในที่สุดว่าระบบระเบียบที่เขายึดถือมาทั้งชีวิต แท้จริงแล้วอาจเป็นเรื่องลวงหลอกทั้งเพ

ทุกตัวละครใน Red จึงจัดได้ว่าเป็นคนเว้าแหว่ง ขาดวิ่น และต่างรอคอยใครสักคนเข้ามาเติมเต็มด้วยกันทั้งสิ้น และถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างวาล็องทีนและผู้พิพากษาจะดำเนินไปบนเส้นทางของมิตรภาพมากกว่าความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นกำแพงสำคัญที่ขวางกั้นพวกเขาทั้งคู่ ฉากหนึ่งที่สะท้อนข้อเสนอนี้คือตอนที่วาล็องทีนและโจเซฟกำลังร่ำลา เมื่อวาล็องทีนขึ้นแท็กซี่ไป ทั้งสองนำมือมาวางสัมผัสกันโดยมีกระจกรถคั่นกลาง กระจกจึงทำงานในฐานะสัญญะของกำแพงที่มิอาจมองเห็นแต่รู้ว่ามีอยู่ และเป็นอีกครั้งที่ความแตกต่างส่งผลให้สองโลกไม่อาจหลอมกลืนเข้าหากัน การปรากฏของนักเรียนกฏหมายอย่างออกุสต์จึงสลักสำคัญในแง่ที่เขาเป็นทั้งร่างทรงของโจเซฟ (โจเซฟเล่าว่าเขาเคยถูกภรรยานอกใจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับออกุสต์เช่นกัน) และเป็นภาพแทนของฝรั่งเศสในฐานะนิติรัฐใหม่ จนถึงที่สุด การปรากฏกายของตัวละครหลักทั้งหกของไตรภาค Three Colours ในฉากสุดท้ายของ Red ไม่เพียงบ่งชี้ว่าพวกเขาต่างลงเรือลำเดียวกัน แต่ตอกย้ำสถานะผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากหักพังและชีวิตนับไม่ถ้วนที่ต้องถูกสังเวยระหว่างทาง และไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ ภาพดังกล่าวได้ยืนยันประโยคสั้นห้วนที่พี่ชายของแครอล แครอล กล่าวใน White ชนิดที่เราคนดูไม่อาจคัดค้านหรือเห็นเป็นอื่น

‘This is Europe now


Wheel of Fortune and Fantasy (2021) – เพราะเราต่างมีรูโหว่ ที่ไม่อาจเติมเต็ม

หากการรับชม Drive My Car เปรียบได้กับการนั่งอยู่บนรถที่พุ่งทะยานไปข้างหน้าโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย การรับชม Wheel of Fortune and Fantasy ผลงานรวมสามหนังสั้นของริวสุเกะ ฮามากุจิ ที่กำลังเข้าฉายใน Japanese Film Festival คงเปรียบได้กับการพิงเบาะเอนหลังบนรถที่เคลื่อนตัวอย่างไม่เร่งเร้าอยู่ในระแวกชุมชนที่เราคุ้นเคย ขณะที่หนังมุ่งพาเราคนดูออกไปสำรวจเหตุการณ์ใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านสามเรื่องราวที่เชื่อมถึงกันอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มคนผู้ถูกโชคชะตาเล่นตลก ก่อนจะเปิดเปลือยให้เห็นว่าความบังเอิญทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อมนุษย์ผู้ซึ่งเว้าแหว่งและเปรอะเปื้อนไปด้วยอดีตอันหมองหม่นเพียงใด ว่าไปแล้ว นอกจากพล็อตเรื่องราวที่โคจรอยู่รอบ ๆ ชีวิตสามัญของผู้หญิงสี่ห้าคน ด้วยจังหวะจะโคนของหนังที่ทั้งอ่อนละมุนและอ่อนไหวมาก ๆ ก็ทำให้ Wheel of Fortune and Fantasy ดูจะเป็นการหวนกลับไปยังสไตล์ดั้งเดิมที่ทำให้ชื่อของคนทำหนังชาวญี่ปุ่นแทรกซึมเข้ามาอยู่ในแวดวงสนทนาของนักดูหนัง อย่างเมื่อครั้งที่ Happy Hour (2015) ออกฉายในวงกว้าง

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้าง ตลอดจนวิธีการที่ฮามากุจิหยิบใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเข้ามาเรียกร้องให้ตัวละครของเขาต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องราวที่เรามักเห็นกันในงานของครูหนังแห่ง French New Wave อย่างอีริก โรห์แมร์ (Eric Rohmer) โดยเฉพาะ Rendezvous in Paris (1995) ที่ฉายภาพเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสผ่านสามเรื่องสั้น ซึ่งเรื่องราวในหนังของฮามากุจิก็เริ่มต้นจากความบังเอิญเล็ก ๆ น้อย ๆ ลักษณะไม่ต่างกัน ก่อนที่เรื่องเหนือจินตนาการในตอนเริ่มต้นจะค่อย ๆ ขยายใหญ่เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนและคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์อดีตอย่างพัลวัน สิ่งที่แยบยลมาก ๆ คือวิธีการที่คนทำหนังใช้บทสนทนายาวยืดในการขับเคลื่อนเรื่องราว หลายครั้ง ‘คำพูด’ ถูกใช้เป็นโล่ห์ป้องกันตัวเอง บางครั้งมันถูกใช้เป็นมีดทิ่มแทงผู้อื่น บางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือเปิดเปลือยความรู้สึกที่อัดอั้น ทั้งหมดทั้งมวลอาจนำไปสู่การถกเถียงไม่รู้จบ การค้นพบตนเอง หรือกระทั่งหนทางสู่การเยียวยารักษาบาดแผลในอดีต

เช่นในกรณีของเมโกะ (โคโตเนะ ฟุรุคาวะ) หญิงสาวที่ค้นพบเรื่องบังเอิญระหว่างแชร์แท็กซี่กับสึกุมิ (ฮยอนรี) ว่าเธอและเพื่อนสาวอาจกำลังเกี่ยวพันอยู่กับผู้ชายคนเดียวกัน ช่วงเวลาดังกล่าวว่าไปแล้วก็ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ใน Drive My Car และตอกย้ำความหลงใหลที่คนทำหนังมีต่อการสนทนายืดยาวบนรถที่กำลังไหลเอื่อยบนท้องถนน มันเป็นทั้งสถานการณ์หยุดนิ่งที่คนสองคนไม่อาจดิ้นหนีไปไหนได้ สถานการณ์ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุด อาจบีบบังคับให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องปั้นหน้ายิ้มแย้มถึงแม้ว่าเรื่องราวที่ได้รับฟังจะทิ่มแทงอย่างสาหัสเพียงใดก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวบีบบังคับให้เมโกะตัดสินใจหวนกลับไปเผชิญหน้ากับคาสุ (อายุมุ นาคาจิมะ) ชายผู้เป็นทั้งรักครั้งเก่าและบาดแผลที่ยังคงสดใหม่ จนนำมาซึ่งฉากปะทะแลกเปลี่ยนบทสนทนาอันดุเดือดที่สไตล์กำกับแบบละครเวทีของฮามากุจิทำงานได้อย่างถนัดช่ำชอง และตอกย้ำถึงอิทธิพลที่เขารับมาจากจอห์น แคสซาเวตีส (John Cassavetes) อย่างมากทีเดียว

อีกสถานการณ์หนึ่งซึ่งคนทำหนังสับเปลี่ยนมาเล่าผ่านความแออัดคับแคบของห้อง ว่าด้วยเหตุการณ์ที่ นาโอะ (โมริ คัตสุกิ) วางแผนล่อลวงเซงาวะ (ชิบุคาวะ คิโยฮิโกะ) อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ครั้งหนึ่งเคยกลั่นแกล้งซาซากิ (ไค โชอุมะ) เด็กหนุ่มที่เธอกำลังมีสัมพันธ์ลับ แผนการล่อลวงดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องทำงานสี่เหลี่ยมซึ่งเข้าออกได้ทางเดียว โจทย์ใหญ่คือการที่นาโอะต้องหาทางปิดประตูซึ่งคู่กรณีของเธอมักเปิดกว้างไว้เสมอ จนกระทั่งเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อแผนการที่ถูกวางไว้พลิกผันกลายเป็นการนั่งเปิดอกรื้อฟื้นความอึดอัดคับข้องของทั้งนาโอะและเซงาวะ นัยยะของการเปิดและปิดประตูดังกล่าว ถูกเล่าล้อเรียงไปกับความสับสนอลหม่านในห้วงความคิดของนาโอะที่จำต้องปิดบังเรื่องลับ ๆ ล่อ ๆ ระหว่างเธอและชู้รักจากครอบครัว ตลอดจนเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเธอและเซงาวะในห้องทำงานของเขาก็ด้วยอีกเช่นกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร จนถึงทึ่สุดสิ่งที่คนทำหนังดูจะอยากย้ำเตือนกับเราคนดูเหลือเกินก็คือความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของมนุษย์เราในยามที่ต้องต่อกรกับชะตาฟ้าลิขิต

เรื่องสุดท้าย ซึ่งเรียบง่ายและอ่อนไหวอย่างยิ่งยวด ว่าด้วยการพบปะกันโดยไม่คาดคิดของเพื่อนหญิงสองคน โมกะ (ฟุสะโกะ อุระเบะ) และนานะ (อาโอบะ คาวาอิ) ซึ่งเริ่มต้นจากช่วงเวลาเพียงเสี้ยววิที่หญิงวัยกลางคนทั้งสองสวนทางกันบนบันไดเลื่อนที่กำลังเคลื่อนขึ้นและลง ก่อนที่ความเป็นไปได้อีกร้อยแปดค่อย ๆ ถูกแผ่ขยายซึ่งหน้าอย่างช้า ๆ สัมผัสที่แผ่วเบาของคนทำหนังทำให้เหตุบังเอิญที่ดูเหลือเชื่อมาก ๆ กลายเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน และส่วนที่เรียกได้ว่าแพรวพราวอย่างยิ่งยวด คือการที่ฮามากุจิสามารถบิดพลิ้วเอาพล็อตแสนเรียบง่ายที่ควรจะว่าด้วยการหวนกลับมาพบปะกันของเพื่อนเก่า ไปสู่การสำรวจธีมเรื่องราวที่เรามักพบเห็นเสมอในงานของเขา นั่นคือความสลับซับซ้อนของยุติความขัดแย้งกับอดีตที่ตามหลอกหลอน ผ่านการแสร้งกลายเป็นอื่น “เธอเองก็คงจะมีช่องโหว่ที่ไม่อาจเติมเต็ม” โมกะกล่าวกับนานะในช่วงหนึ่ง บางที อาจจะไม่ใช่เพียงโมกะและนานะ แต่รวมถึงเมโกะกับแฟนเก่า และนาโอะกับอาจารย์เซงาวะ เรามนุษย์ผู้เว้าแหว่งต่างเชื่อมถึงกันผ่านบาดแผลในอดีต


Grade: A-

Directed by Ryusuke Hamaguchi
Written by Ryusuke Hamaguchi
Produced by Satoshi Takata
Starring Kotone Furukawa, Ayumu Nakajima, Hyunri, Kiyohiko Shibukawa, Katsuki Mori, Shouma Kai, Fusako Urabe, Aoba Kawai
Cinematography by Yukiko Iioka

PETITE MAMAN (2021) – เมื่ออดีตสวมทับปัจจุบัน จินตนาการเพ้อฝันจึงกลายเป็นความจริง

จากสระว่ายน้ำใน Water Lilies (2007) ถึงเกาะห่างไกลผู้คนใน Portrait of a Lady on Fire (2019) ผลงานของเซลีน เซียมมา มักฉายชัดให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครและสถานที่อันเป็นฉากหลังอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ Petite Maman ผลงานล่าสุดของเธอที่ว่าด้วยเรื่องราวของเนลลี (โจเซฟีน ซองส์) เด็กสาววัยแปดขวบที่บังเอิญค้นพบเรื่องมหัศจรรย์ระหว่างที่เธอวิ่งเล่นสำรวจป่าลึกซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสนามเด็กเล่นของแม่เธอด้วยเช่นกัน ช่วงหนึ่ง เนลลีอ้อนวอนให้คุณแม่พาเธอไปเยี่ยมชมกระท่อมไม้ที่แม่ของเธอสร้างไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอายุเท่าเธอ คุณแม่ปฏิเสธ ด้วยว่าการหวนกลับมายังบ้านเก่าของเธอครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แต่เพื่อเก็บและขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ของคุณยายผู้ล่วงลับ ออกไปจนกระทั่งบ้านคับแคบเหลือแต่เพียงความเวิ้งว้างว่างเปล่า และโดยไม่เร่งเร้า กระบวนการบรรจุความทรงจำลงใส่กล่องข้างต้น ก็ค่อย ๆ สะท้อนเรื่องเหลือเชื่อเหนือจริงที่เนลลีค้นพบในป่ากว้างใหญ่ ซึ่งทำงานไม่ต่างกับบรรจุภัณฑ์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในการโอบอุ้มเรื่องราวความหลังเอาไว้อย่างมากมาย

พูดอีกอย่าง นอกจากสถานที่ หนังยังว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเวลา แต่การเดินทางของเวลาใน Petite Maman หาได้เคลื่อนตัวอย่างเป็นเส้นตรง กลับกัน มันเดินทางเป็นวงกลมโดยมีเศษเสี้ยวความทรงจำที่หล่นหายเรี่ยรายอยู่ตามทาง หรือในอีกแง่หนึ่ง ‘เวลา’ ใน Petite Maman ก็ดูจะวางตั้งโดยไร้ขอบเขตที่แน่ชัด ยากที่จะบอกโดยจะแจ้งว่าเหตุการณ์ทั้งหลายที่หนังบอกเล่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดในหน้าปฏิทิน เรื่องราวที่เราได้พบเห็นผ่านสายตาของเนลลี อาจเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในช่วงเวลาที่โลกกำลังระส่ำระสายจากความสูญเสีย หรือเกิดขึ้นในช่วงสิบหรือยี่สิบปีก่อนหน้าเมื่อพิจารณาจากข้าวของเครื่องใช้ในบ้านคุณยาย ซึ่งในอีกความหมายหนึ่ง ความเลื่อนลอยทางกาลเวลานี้ เมื่อผนวกรวมกับเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาของเนลลี ก็ดูจะมอบสถานะความเป็นหนังไซไฟให้กับ Petite Maman ไปโดยปริยาย แต่จนแล้วจนรอด ความสามารถในการเล่าเรื่องยุ่งยากให้เรียบง่ายของคนทำหนัง ก็ได้ปลดเปลื้องความหนักอึ้งทางหลักวิทยาศาสตร์และความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จนเรื่องราวที่ดูสลับซับซ้อนกลายเป็นเรื่องเล่าที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมชาติอย่างงดงาม

และเมื่อเนลลีได้พบกับมาริยง (แกบรีเญล ซองส์ ฝาแฝดของโจเซฟีน) เด็กหญิงร่างเสมือนของเธอที่อาศัยอยู่ในบ้านที่โครงสร้างเหมือนบ้านของคุณยายเธออย่างไม่มีผิดเพี้ยน ต่างแต่เพียงข้าวของที่ยังสดใหม่ มีชีวิตชีวา และถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตรงกันข้ามกับบ้านคุณยายที่จวนเจียนจะเหลือแต่เพียงความว่างเปล่าเต็มทน นั่นคือตอนที่หนังเปิดเผยว่าแท้จริงแล้ว เรื่องราวใน Petite Maman ไม่ได้สิ้นสุดแค่เพียงการจัดเก็บความทรงจำลงในกล่อง แต่รวมถึงการมุดสำรวจเข้าไปยังกล่องนั้นผ่านสายตาอันใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ ภาพจากกล้องของแคลร์ มาธงมักจับจ้องตัวละครอย่างใกล้ชิด หลายครั้งที่เราคนดูถูกเชื้อเชิญให้นั่งจ้องมองเนลลีและมาริยงในระดับสายตา ตอกย้ำความมุ่งหมายของคนทำหนังที่ต้องการให้เราคนดูหลุดหายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของตัวละคร กลับไปเป็นเด็ก แทนที่จะเป็นนักสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ

หลายครั้งที่หนังซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของการก้าวข้ามผ่านวัยมักชี้ชัดให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ทว่าในผลงานของเซลีน เซียมมา อดีต-ปัจจุบัน โลกจริง-โลกเสมือน ถูกถักทอสอดประสานจนกลายเป็นผ้าผืนเดียวกัน นั่นคือตอนที่ระยะห่างระหว่างวัยซึ่งคั่นกลางระหว่างคนทั้งสามเจนเนอเรชัน (คุณยาย คุณแม่ และเนลลี) ถูกย่นยอจนกระทั่งบรรจบพบกันอย่างแนบชิด บางทีนั่นอาจจะเป็นตอนที่ Petite Maman ประสบความสำเร็จในการทำงานทั้งในระนาบของเรื่องเหลือเชื่อเหนือจริง และเรื่องราวขนาดย่อมเยาว์ที่ว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ผ่านการปะติดปะต่อความทรงจำ อย่างตอนที่เนลลีหยิบภาพที่คุณแม่วาดเมื่อครั้งวัยเด็กมาพินิจพิเคราะห์ หรือตอนที่คุณพ่อหยิบยื่นของเล่นชิ้นเก่าของคุณแม่ให้เธอไปเล่นฆ่าเวลา อย่างช้า ๆ ปฏิสัมพันธ์กับเศษซากความทรงจำเหล่านี้ค่อย ๆ เสริมเติมเต็มรูโหว่ระหว่างเนลลีและแม่ของเธอ ในทำนองเดียวกับที่เธอออกพายเรือเล็กไปสำรวจโลกกว้างกับมาริยงวัยเด็ก เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่พ่อแม่มักมองเห็นลูก ๆ ในฐานะภาพสะท้อนวัยเด็กของตัวเอง ทว่าหากจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ Petite Maman พยายามจะบอกกับดู คงเป็นการที่เด็ก ๆ ก็มองเห็นพ่อแม่ในฐานะเงาสะท้อนของพวกเขาเช่นกัน

Grade: A-

Directed by Céline Sciamma
Written by Céline Sciamma
Produced by Bénédicte Couvreur
Starring Joséphine Sanz, Gabrielle Sanz, Stéphane Varupenne, Nina Meurisse, Margo Abascal
Cinematography by Claire Mathon
Edited by Julien Lacheray