Tag Archives: Cannes Film Festital

Triangle of Sadness – สามเหลี่ยมฐานเศร้า และเรื่องเล่าของความเหลื่อมล้ำ

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ตามความเห็นของมาร์กซ์ ความหมายของ ‘ชนชั้น’ ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ของการถือครองทรัพย์สิน การที่ชนชั้นหนึ่งเข้าครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคมได้ก่อให้เกิดชนชั้นปกครองทางเศรษฐกิจขึ้นมา อย่างกรณีสังคมเกษตรกรรม ชนชั้นที่เป็นหลักทางเศรษฐกิจก็คือเจ้าของที่ดิน ขณะที่สังคมอุตสาหกรรม ก็คือชนชั้นที่เป็นเจ้าของโรงงาน แต่ไม่ว่าเราจะพูดถึงสังคมไหน ชนชั้นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินใดก็จำต้องแขวนชีวิตของตนขึ้นต่อชนชั้นที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่วันยังค่ำ ความสัมพันธ์ระหว่างสองชนชั้นจึงตั้งอยู่บนความมีอภิสิทธิ์และไร้อภิสิทธิ์ เองเกลส์ นักคิดนักเขียนสายมาร์กซิสต์ ได้อธิบายในงานเขียนของเขาเพิ่มเติมว่า การแบ่งแยกทางชนชั้นนี้เริ่มเกิดขึ้นในสังคมเมื่อความเจริญเติบโตของพลังการผลิตก้าวหน้ามาถึงจุดที่ผลผลิตมีมากเกินกว่าจะกินจะใช้เพื่อสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิต ในแง่นั้น สังคมบุพกาลจึงไม่มีที่ว่างสำหรับชนชั้นอภิสิทธิ์ชน เนื่องจากสังคมไม่มีผลผลิตส่วนเกินมากพอจะหล่อเลี้ยงชนชั้นปรสิตนี้ได้ ในทางกลับกัน เราอาจกล่าวอย่างรวบรัดตัดตอนได้ว่า ความยากไร้นั่นเองที่เป็นเงื่อนไขบังคับให้เกิดความเสมอภาคขึ้น

เมื่อพิจารณาข้อเสนอทั้งหลายข้างต้น คงไม่ผิดหากจะมองว่า Triangle of Sadness หนังรางวัลปาล์มทองคำลำดับที่สองของรูเบน ออสต์ลุนด์ ก็น่าจะเป็นความพยายามที่จะจำลองความหลัดเหลื่อมในสังคมปัจจุบันออกมาในรูปของเรื่องตลกร้าย เรือยอร์ชอันเป็นสถานที่เกิดเหตุของเรื่องไม่คาดฝันนานัปการก็เปรียบได้กับการย่อส่วนโลกแห่งชนชั้นที่ขับเคลื่อนโดยผู้นำที่ไม่เอาไหน คนรวยเป็นผู้ถือครองอภิสิทธิ์ ชนชั้นกลางต้องถวายกายใจแลกกับเศษเงิน และชนชั้นล่างที่ไม่เคยได้รับการมองเห็น ชื่อเรื่อง ‘Triangle of Sadness’ ก็ไม่ได้ห่อหุ้มความหมายแต่เพียงรอยหยักย่นบนใบหน้า แต่น่าจะหมายรวมถึงแบบจำลองพีรามิดทางชนชั้น ที่มีคนรวยปักหลักตั้งมั่นอยู่บนยอด ท่ามกลางการกระเสือกกระสนดิ้นรนของชนชั้นกลางและล่าง เพื่อพิจารณาดูแล้ว แม้กระทั่งเค้าโครงเรื่องของหนังก็ยังถูกลำดับจัดวางออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกบอกเล่าเรื่องราวที่แยกขาดจากสองส่วนหลังอย่างชัดเจน และอาจกล่าวได้ว่ามีศักยภาพและความกระชับรัดกุมเพียงพอที่จะเป็นหนังสั้นในตัวของมันเอง

หนังเปิดฉากด้วยภาพการออดิชั่นสำหรับงานแฟชั่นโชว์ ชายกลุ่มหนึ่งยืนเปลือยท่อนบนเรียงรายรอรับการสำรวจคัดเลือกโดยบรรดานายทุน ฉากสั้น ๆ นี้สะท้อนแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ที่เสนอไว้ว่า ระบบการทำงานของทุนนิยมนั้นเอื้อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกเป็นอื่น เนื่องจากปัจเจกไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและงานที่ทำ เพราะงานเป็นของนายทุน และเขาเป็นเพียงฟันเฟืองขนาดเล็กจ้อยที่มีหน้าที่หมุนวนไปอย่างไม่รู้จบ และพร้อมจะถูกแทนที่ด้วยฟันเฟืองตัวใหม่ ๆ ที่ทำงานได้เช่นเดียวกับเขาทุกประการ ความแหลมคมของฉากเปิดเรื่องนี้คือวิธีการที่รูเบน ออสต์ลุนด์ชี้ให้เห็นว่า ทุน มีอิทธิพลต่อร่างกายของมนุษย์เราเพียงใด สำหรับนายแบบหนุ่มเหล่านี้ เขาไม่ได้เป็นนายของร่างกายตัวเอง แต่เป็นนายทุนต่างหากที่สามารถยึดครอง ควบคุม สั่งการ ร่างกายของพวกเขาได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะถูกสั่งให้ถอดเสื้อ เดิน หมุนตัว ยิ้มปากฉีกหรือทำหน้าบึ้งตึง พวกเขาต้องปฏิบัติโดยไร้การขัดขืน และไม่ว่าใครก็สามารถถูกแทนที่ได้ทุกเมื่อ เนื่องจากมีนายแบบหนุ่มรูปงามอีกหลายสิบหลายร้อยคนที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่เขา สภาวะที่บีบบังคับให้มนุษย์รู้สึกแปลกแยกเป็นอื่นกับร่างกายของตนเอง ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้ตัวเอกของเรื่องอย่าง คาร์ล (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ที่หนังซึ่งอ้างอิงความเห็นของมาร์กซ์ตลอดทั้งเรื่องจงใจให้ตัวเอกชื่อนี้) ตัดสินใจยอมพลีกายถวายร่างของตนเองในตอนท้าย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ในพาร์ทแรกของเรื่อง หนังฉายภาพให้เห็นว่า ‘เงิน’ ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ของคาร์ล (แฮร์ริส ดิกคินสัน) และ ญาญ่า (ชาร์ลบี ดีน ในบทบาทสุดท้ายก่อนที่เธอจะจากไปก่อนวัยอันควร) อย่างไร ผ่านสถานการณ์กระอักกระอ่วนที่ทั้งสองเกี่ยงเถียงกันจ่ายเงินค่าดินเนอร์มื้อหรู ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายกลายเป็นการปะทะคารมกันอย่างเดือดดาล ซึ่งฝ่ายชายได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเล็กน้อยอย่างการจ่ายค่าอาหารถูกนำมาผูกติดกับบทบาททางเพศอย่างไร แต่นอกจากประเด็นเรื่องเพศที่หนังนำมาวางแผ่ให้เห็นกันอย่างโจ่งแจ้ง น่าสังเกตว่าสิ่งที่สลักสำคัญจริง ๆ อาจไม่ใช่ว่าใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก แต่ฉากนี้อาจกำลังบอกกับเราคนดูว่าทั้งคาร์ลและญาญ่าต่างโหยหาการเลื่อนชนชั้นทางสังคม ถึงขนาดที่พวกเขายินยอมพร้อมจ่ายแม้ว่ามันอาจทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาขาดสะบั้น หรือถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวก็ตาม อย่างที่ ปิแอร์ บูดิเออร์ เสนอว่า ไม่ได้มีเพียง ‘เงินทุน’ เท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดชนชั้นทางสังคม แต่รวมถึงทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วย ดังนั้นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าเราเป็นคนชนชั้นใดจึงไม่ใช่เพียงเงินในกระเป๋า แต่รวมถึง ‘จริต’ (habitus) ที่แสดงออกมา อย่างการสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพงไปนั่งทานดินเนอร์หรูก็เป็นกิจสามัญของชนชั้นสูง แต่สำหรับชนชั้นกลางอย่างคาร์ลและญาญ่า พวกเขามองว่ามันเป็นบันไดที่ต้องไต่เต้าขึ้นไปเพื่อแสดงถึงการเลื่อนชนชั้น (ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องราวในส่วนที่สอง เมื่อคาร์ลและญาญ่าขึ้นเรือยอร์ชที่เต็มไปด้วยแขกชนชั้นสูง)

เราอาจกล่าวได้ว่าทั้งคาร์ลและญาญ่าต่างเป็นตัวแทนของกระฎุมพีใหม่ในยุคทุนนิยมตอนปลายปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากการโต้เถียงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ยืดยาว และ ‘เงินอนาคต’ ในบัตรเครดิตของญาญ่าที่ถูกใช้ไปจนหมดเกลี้ยง อนุมานได้ว่าโดยพื้นเพแล้วพวกเขาเป็นคนชนชั้นกลาง แต่อาศัยบันไดที่ชื่อว่า ‘มาตรฐานความงาม’ ไต่เต้าจนเลื่อนชนชั้นได้สำเร็จ อย่างที่เศรษฐีชาวรัสเซียทักญาญ่าในช่วงหนึ่งว่า ‘คุณใช้หน้าตาซื้อตั๋วขึ้นมาบนเรือนี้สินะ‘ คาร์ลและญาญ่าอาจไม่ได้ครอบครองปัจจัยการผลิตอย่างธุรกิจขายมูลสัตว์หรืออาวุธสงคราม แต่พวกเขาครอบครองสิ่งที่โลกทุนนิยมวัตถุนิยมต้องการมากที่สุด นั่นคือความงามตามมาตรฐาน ภาพที่ทั้งคาร์ลและญาญ่าแทบจะเป็นเพียงแขกหนุ่มสาวสองคนบนเรือที่เต็มไปด้วยเศรษฐีไม้ใกล้ฝั่งน่าจะยืนยันสถานะชนชั้นกระฎุมพีใหม่ของทั้งสองได้เป็นอย่างดี

หากเรื่องราวของคาร์ลและญาญ่าเป็นภาพสะท้อนการกระเสือกกระสนดิ้นรนของชนชั้นกลาง เรื่องราวในพาร์ทที่สองก็น่าจะเป็นการสำแดงให้เห็นพฤติกรรมน่าขันของคนชนชั้นนำ ฉากหนึ่งที่ทั้งจิกกัดได้เจ็บแสบและตลกร้ายอย่างชวนหัวจริง ๆ คือตอนที่กัปตันเรือชาวอเมริกัน (วู้ดดี แฮร์เรลสัน) ผู้สถาปนาตนเองเป็นนักสังคมนิยม หยิบยกวาทกรรมการเมืองของมาร์กซ์และเลนิน มาฟาดฟันกับเศรษฐีบูชาทุนนิยมชาวรัสเซียที่โต้กลับด้วยวิวาทะของมากาเร็ต แธ็ตเชอร์ และโรนัลด์ เรแกน ท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายบนเรือที่ส่อแววจะอัปปางอยู่รอมร่อ ไม่ต้องสงสัยว่ารูเบน ออสต์ลุนด์ จงใจใช้สถานการณ์ข้างต้นกระแทกแดกดันสถานการณ์การเมืองโลกปัจจุบัน ที่บรรดานักการเมืองต่างหยิบยกคำพูดสวยหรูมาฟาดฟันกัน ขณะที่ประชาชนกำลังอดอยากปากแห้งและต่างรอคอยความช่วยเหลือ และเมื่อเหตุการณ์เรื่องราวดำเนินไปถึงตอนที่เรือยอร์ชอัปปางลงจริง ๆ เหล่าลูกเรือและผู้โดยสารตกอยู่ในสภาวะติดเกาะ ทั้งหมดถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องกลับไปใช้ชีวิตรวมฝูงแบบมนุษย์บรรพกาลที่ต้องประทังชีวิตด้วยการล่าสัตว์

เมื่อหยิบข้อเสนอของเองเกลส์มาพิจารณาอีกครั้ง เราอาจกล่าวได้ว่าตอนนั้นเองที่ความเป็นสังคมชนชั้นได้อัปปางลงไปพร้อม ๆ กับเรือยอร์ช และเมื่อความหลัดเหลื่อมของชนชั้นฐานะถูกทำลายลงราบคาบ ความเสมอภาคจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในหมู่ผู้โดยสารและลูกเรือ ในสังคมบุพกาลเช่นนี้ ผู้นำของสังคมจึงไม่ใช่ทั้งนักสังคมนิยมหรือทุนนิยม แต่เป็น อบิเกล (ดอลลี เดอลีออน) หัวหน้าพนักงานทำความสะอาดชาวฟิลิปปินส์ที่มีความชำนิชำนาญในการล่าเหยื่อหาอาหารที่สุด อบิเกลไม่เพียงทำหน้าที่ผู้นำในการหาอาหาร แต่ประพฤติตัวเป็นดั่งหัวหน้าฝูง ได้สิทธิ์ขาดในการเลือกที่พักอาศัยและคู่นอนของตน ในระดับที่ผิวเผินที่สุด เราอาจพิจารณาการกลับหัวกลับหางของลำดับชั้นทางพีรามิดนี้ว่าเป็นการโต้กลับของชนชั้นล่าง แต่การปรากฏกายของอบิเกลนั้นเต็มไปด้วยมิติซับซ้อนที่เรียกร้องการพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน

อย่างที่โรล็อง บาร์ตส์ ได้เขียนในหนังสือเรื่อง Mythologies ของเขาว่าทุนนิยมสมัยใหม่นั้นมีลักษณะของการกดขี่ทางเพศผ่านสิ่งที่เรียกว่ามายาคติ เป็นต้นว่า ผู้หญิงต้องแต่งหน้า แต่งตัว ทำผม เพื่อให้ตัวเองดูสวยตลอดเวลา ในโลกทุนนิยม ร่างกายของผู้หญิงจึงถูกทำให้เป็นสินค้า บาร์ตส์ยังชี้ให้เห็นว่ามายาคตินี้ตั้งอยู่บนแนวคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าผู้หญิงต้องทำตัวให้สวยเพื่อเป็นที่เชยชมของผู้ชาย ในแง่นั้น เราอาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติยึดอำนาจจากผู้นำเพศชายผิวขาวโดยผู้หญิงเอเชียที่พูด broken English ไม่แต่งหน้าทำผมตามแฟชั่นนิยมในตอนท้าย ไม่เพียงสะท้อนการรุกกลับทางชนชั้น แต่รวมถึงเพศสภาพและเชื้อชาติด้วย แต่จนถึงที่สุดแล้ว เราพูดได้อย่างเต็มปากหรือเปล่าว่าภาพของอบิเกลในฐานะตัวแทนของความเป็นผู้หญิงเอเชียชนชั้นล่างที่หนังวาดออกมานั้นได้รับการนำเสนออย่างรอบด้านและเหมาะสม

เมื่อพิจารณาวิธีการที่อบิเกลบริหารอำนาจที่เธอยึดมาจากผู้นำชาย ตั้งแต่การจัดสรรปันส่วนอาหารที่เธอต้องได้มากกว่าผู้อื่น การอาศัยใช้อำนาจบังคับให้คาร์ลมาร่วมหลับนอน เราอาจสรุปรวบรัดได้ว่าอบิเกลยังคงเล่นตามเกมของผู้ชาย ถึงแม้การขึ้นสู่อำนาจของเธอจะหมายถึงการโยกย้ายถ่ายอำนาจไปสู่คนจนคนขายขอบ แต่มายาคติของสังคมทุนนิยมชายเป็นใหญ่ยังคงอยู่และได้รับการยึดถืออย่างเหนียวแน่น นี่คือตลกที่ร้ายที่สุดของรูเบน ออสต์ลุนด์ เพราะท้ายที่สุดแล้วหนังก็ชวนเรากลับมาตั้งคำถามจนได้ว่าทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการคืนอำนาจให้แก่คนชนชั้นล่างโดยไม่จำเป็นต้องรื้อถอนมายาคติฝังรากทั้งหลายอย่างนั้นหรือเปล่า? บทสรุปส่งท้ายของหนังจึงเจือไปด้วยความหวานอมขมกลืนอย่างถึงที่สุด สำหรับญาญ่า ‘รีสอร์ท’ คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือประตูสู่สรวงสวรรค์ที่เธอถวิลหา แต่สำหรับอบิเกล มันคือประตูที่จะพาเธอกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้าย คืออเวจีขุมลึกที่เธอไม่มีวันหลุดพ้นออกมาได้เลย


Triangle of Sadness กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์