Tag Archives: Cannes Film Festival

Aftersun ‘อาทิตย์อัสดง’ และรสชาติขื่นขมของความทรงจำ

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ใครเคยดู Mirror (1975) ของอังเดร ทาร์คอฟสกี หรืองานเร็ว ๆ นี้อย่าง I’m Thinking of Ending Things (2020) ของชาร์ลี คอฟแมน คงพอจะนึกออกว่า ‘ความทรงจำ’ เมื่อปรากฏบนขอภาพ ล้วนขาดวิ่น เว้าแหว่ง ไม่ปะติดปะต่อ เป็นดั่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ประกอบร่างเข้าหากันอย่างไม่เหมาะเจาะลงตัว ข้อสังเกตที่พบระหว่างรับชม Aftersun (2022) ผลงานแจ้งเกิดของชาร์ลอตต์ เวลส์ ที่บอกเล่าเวลาแสนอบอุ่นของสองพ่อลูก คาลัม (พอล เมสคัล) และ โซฟี (แฟรงกี โคริโอ) คือ ‘ความทรงจำ’ ในหนังของเวลส์นั้นกลับมีลักษณะแจ่มแจ้ง เด่นชัด อบอวลไปด้วยมวลพลังของวันเวลาและสถานที่ ราวกับเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะเรื่องราวที่หนังจะพาเราไปสำรวจต่อจากนี้ หาได้ถูกขับเค้นออกมาจากหน่วยลึกย่อยที่สุดของความทรงจำเพียงลำพัง แต่เป็นผลรวมของกลุ่มก้อนความทรงจำที่ติดสอยออกมากับเหตุการณ์ในเทปบันทึกภาพเมื่อครั้งที่สองพ่อลูกเคยใช้บันทึกวันเวลาร่วมกัน และถึงแม้มันจะไม่คมชัด แต่ก็เพียงพอที่มันจะเปิดคลุมให้เห็นกลุ่มก้อนเหตุการณ์เรื่องราวที่เกี่ยวพันกันยุ่งเหยิงอยู่ภายใต้นั่นอีกทีหนึ่ง

พูดอีกอย่างก็คือ หนังของชาร์ลอตต์ เวลส์ ไม่เพียงพาเราไปปะทะกับความทรงจำในฐานะสิ่งที่เธอจำได้ แต่เป็นความทรงจำในฐานะสิ่งที่ครั้งหนึ่งเธอไม่อาจรับรู้เข้าใจต่างหาก เพราะอย่างที่หนังฉายชัดให้เห็นตั้งแต่ในฉากแรกว่าต้องการที่จะบอกเล่าความทรงจำผ่านเครื่องบันทึกภาพ สิ่งที่คลุมเครือใน Aftersun จึงไม่ใช่ตัวเหตุการณ์เรื่องราว ข้อนั้นเธอจำได้ดี เธอจำได้ว่าสถานที่นั้นเรียกว่าอะไร จำได้ว่าเล่นเกมส์แข่งรถมอเตอร์ไซค์กับใคร สังสรรค์ปาร์ตี้ที่ไหน ฟังเพลงอะไร จำได้กระทั่งว่าเธอสั่งน้ำอะไรในคืนที่เธอปลีกวิเวกอยู่ลำพังในบาร์ของโรงแรม แต่ที่เธอจำไม่ได้ หรือไม่อาจรับรู้และเข้าใจได้อย่างครบถ้วน คือเรื่องราวของคาลัม คุณพ่อของเธอ ว่าเขากำลังเป็นอะไร เขาแอบซ่อนอะไรไว้ภายใต้ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มเหล่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับชายผู้ซึ่งคะยั้นคะยอให้เธอใช้เวลาอันจำกัดจำเขี่ยกับเขาอย่างสนุกคุ้มค่าจนถึงวันสุดท้าย อะไรหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความดึงดันที่จะสอนให้เธอรู้จักป้องกันตัวเองกันแน่?

เรื่องราวของโซฟีและคาลัมจึงเดินเรียงเคียงคู่กันไปตลอดทั้งเรื่อง ทว่าในทิศทางที่แตกต่าง ขณะที่หนังเผยให้เห็นว่านอกจากการใช้เวลากับพ่อไปกับการนอนอาบแดด ลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ ทานอาหารเย็นและรับชมการแสดงจากทางโรงแรม ช่วงเวลาสั้น ๆ อันไร้ซึ่งแรงเสียดทานบนเกาะแปลกแยก ณ ดินแดนแปลกถิ่นนี้ค่อย ๆ เปิดเผยให้โซฟีได้สัมผัสกับเรื่องลับดำมืดของการเป็นผู้ใหญ่ ทั้งกลุ่มวัยรุ่นมั่วสุรายาสูบที่เธอเข้าไปคลุกคลี จนนำไปสู่การเปิดโลกในเรื่องเพศ และเด็กชายผู้ทำให้เธอได้สัมผัสกับจูบแรก กล่าวได้ว่าเหล่านี้คือสัญญาณเตือนชั้นดีว่าโซฟีกำลังก้าวพ้นวัยไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ หรือในอีกความหมายหนึ่ง วันเวลาที่สองพ่อลูกจะได้ใช้เวลาร่วมกันเช่นนี้ บนเกาะแห่งนี้ (ซึ่งโซฟีเปิดเผยในช่วงหนึ่งว่าเธอมาเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อายุ 5 ขวบ) ใกล้จะหมดลงในทุกขณะ และคาลัมน่าจะรับรู้ข้อนี้ดีกว่าใครอื่น

ทว่าพร้อมเดียวกันนั้น ชาร์ลอตต์ เวลส์ยังตั้งประเด็นต่อความคลุมเครือของคาลัมผ่านกลวิธีในการนำเสนอตัวละคร เราคนดูมักเห็นเขาผ่านกรอบประตู หน้าต่าง กระทั่งเงาสะท้อนบนข้าวของเครื่องใช้ โต๊ะกินข้าว ไม่เว้นแม้แต่บนจอโทรทัศน์ที่ปิดมืด และหลายครั้งที่หนังใช้การหลอมละลาย (Dissolve) ภาพเข้าด้วยกันอย่างมีนัยยะแอบแฝง (นอกจากเพื่อความต่อเนื่องของการตัดต่อแล้ว Dissolve ยังสื่อความหมายถึงการเสื่อมสลาย) รวมถึงการจัดแสงให้ความดำมืดโอบคลุมตัวละคร เหล่านี้คือเทคนิคที่คนทำหนังใช้ในการบอกเป็นนัยถึงความไม่ชอบมาพากลของคาลัม ส่องสะท้อนถึงจิตใจอันบอบช้ำที่พร้อมจะแตกสลายย่อยยับ วันเวลาที่สองพ่อลูกใช้ด้วยกันดำเนินเฉื่อยเรื่อยไปจนกระทั่งคืนหนึ่ง คาลัมซึ่งอยู่ในชุดสีดำนำกล้องวีดิโอที่โซฟีถ่ายพวกเขาทั้งคู่มานั่งดูอยู่ในห้องที่มีเพียงแสงสลัวจากโคมไฟ จนกระทั่งเขาตัดสินใจปิดมันและเดินออกไปจากห้อง มุ่งหน้าสู่ชายหาดเปล่าเปลี่ยวไร้ผู้คนก่อนจะถูกกลืนหายไปในหมู่คลื่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ นั่นคือตอนที่จอภาพค่อย ๆ เคลื่อนลอยขึ้นอย่างช้า ๆ ก่อนจะตัดสลับภาพเหตุการณ์ไปยังโซฟีที่กลับเข้ามายังห้องพัก เธอพบคาลัมนอนเปลือยเปล่ารวยรินอยู่บนเตียง

หากพิจารณาบนฐานคิดแบบเหตุผลนิยม ลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมสื่อถึงความพยายามที่จะจบชีวิตตัวเองของคาลัม ทว่าล้มเหลว แต่หากลองพิจารณาจากมุมมองทางคริสต์ศาสนาแล้ว เราอาจมองได้ว่านั่นคือนัยยะของ ‘ศีลจุ่ม’ เป็นการเปรียบเปรยอย่างลุ่มลึกว่าคาลัมได้ตายไปแล้วในทางคริสต์ศาสนา และเขาได้เกิดใหม่ออกมาในร่างเปล่าเปลือยไร้มลทินเฉกเช่นเด็กทารก (เขาจะขอให้โซฟีให้อภัยเขาหลังจากนี้) แนวคิดนี้อธิบายจังหวะการเคลื่อนกล้องลงต่ำสู่ความมืดในฉากถัดมาก่อนที่หนังจะตัดภาพไปยังโซฟี ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ จากสายตาของโซฟี ในวันอาทิตย์อัสดงนั้น คาลัมได้เกิดใหม่กลายเป็นอื่นเรียบร้อยแล้ว เช้าวันถัดมาหนังจึงเผยให้เห็นในฉากที่โซฟีหยิบแว่นกันแดดของคาลัมมาถือเล่นก่อนเขาจะกล่าวเชิงติดตลกว่า ‘ระวังนะ มีคน ตาย เพราะถูกขาแว่นทิ่มหน้ามาแล้ว’ ก่อนที่ทั้งคู่จะออกเดินทางไปแช่บ่อโคลน (ชำระล้างร่างกาย หรือล้างบาป ตามแนวคิดของศีลจุ่ม) และรำไทชิชี่กงริมหน้าผา ซึ่งไร้ข้อกังขาว่าสื่อนัยยะถึงการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ความงดงามในหนังของชาร์ลอตต์ เวลส์น่าจะอยู่ตรงนี้ หนังไม่เพียงพาเราย้อนเวลาไปเชยชมเรื่องราวความหลังอันแสนอบอุ่นและรวดร้าวของสองพ่อลูก แต่แกะสำรวจให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความจริงที่ซุกซ่อนอยู่หลังความทรงจำชุดเดียวกันนั้น เชื้อเชิญให้เราคนดูช่วยกันเติมเต็มช่องว่างระหว่างความทรงจำของโซฟี เผยให้เห็นความจริงอันขื่นขมที่ล้นพ้นเกินไปกว่าสายตาของเด็กหญิงวัย 11 ขวบจะสัมผัสรับรู้ได้อย่างถ้วนถี่ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ลำดับเหตุการณ์ของหนังบ่งชี้ว่าวันเวลา ณ เกาะสวรรค์แห่งนี้คือหนสุดท้ายที่โซฟีได้ใช้กับพ่อของเธอ หนังของชาร์ลอตต์ เวลส์ย้ำเตือนว่าเราต่างไม่อาจหลีกพ้นกฎเกณฑ์ของการลาจาก โซฟีเติบโตขึ้น ขณะที่เวลาของคาลัมหยุดชะงักลง เธอไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้อีก แต่กระนั้น หนังก็ฉายส่องให้เห็นในพร้อมเดียวกันนั้นมิใช่หรือว่า วิธีการที่เราบันทึกจดจำผู้คนเหล่านั้นต่างหากที่สลักสำคัญ คาลัมบุบสลายและเกิดใหม่มิใช่ในรูปแบบของดวงวิญญาณ แต่เป็นความทรงจำ เขาจะยังสถิตอยู่ที่เกาะแห่งนั้น เธอยังสามารถกลับไปเต้นรำกับเขา ในรูปแบบของความทรงจำ เป็นหนสุดท้ายได้อีกครั้งเสมอ


Aftersun กำลังเข้าฉายที่ Doc Club & Pub, House Samyan และ SF Cinema แบบจำกัดโรงภาพยนตร

Three Colours Trilogy – กาลครั้งหนึ่งในยุโรป

บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

You are all a lost generation” เป็นคำกล่าวสั้นง่ายที่มีความหมายต่อเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ อย่างมาก ถึงขั้นที่เขานำข้อความดังกล่าวไปปะหน้านิยายเรื่อง The Sun Also Rises จนกลายเป็นที่เลื่องชื่อฮือฮาในเวลาต่อมา อย่างที่นักอ่านน่าจะทราบกันดี คำกล่าวข้างต้นเป็นประโยคที่เกอร์ทรูด สไตน์ ใช้นิยามนักเขียนและศิลปินชาวอเมริกันกลุ่มเล็ก ๆ ผู้ทรงอิทธิพลในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ตัวเธอ, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์, ที. เอส. เอเลียต, จอห์น ดอส พาสโซส์ ไปจนถึงกวีอาว็องการ์ดอย่าง เอซรา พาวน์ด พวกเขาเหล่านี้ได้นิยามว่าคือ คนรุ่นสูญหาย เพราะชีวิตที่ดี ความฝัน ความเชื่อ ตลอดจนอุดมการณ์อันสูงส่งของพวกเขาถูกพังครืนลงต่อหน้าต่อตาจากการปะทุขึ้นของสงครามที่ฆ่าล้างผู้คนไปมากมาย จิตวิญญาณที่บุบสลายอย่างฉับพลันส่งผลให้ปัญญาชนเหล่านี้ต้องพากันระเห็จระเหินออกจากอเมริกาอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ไปตั้งหลักป้กฐานกันใหม่ ณ กรุงปารีส ช่วงเวลาที่ซึ่งพวกเขาสรรค์สร้างผลงานมาสเตอร์พีซมากมาย เช่น The Sun Also Rises และ The Great Gatsby

ข้อสังเกตที่นึกขึ้นได้ระหว่างการรับชมไตรภาค Three Colours ของคริสคอฟ เคียสลอฟสกีอีกครั้งในปีค.ศ. 2022 (หนังกำลังกลับมาฉายที่ Doc Club & Pub) คือเมื่อใดก็ตามที่ผลงานขึ้นหิ้งของคนทำหนังชาวโปแลนด์หวนกลับมาอยู่ในแวดวงสนทนาของบรรดานักดูหนัง บทวิเคราะห์วิจารณ์ หรือกระทั่งบทสนทนาที่เกิดขึ้น ก็มักจะวนเวียนอยู่กับความหมายดั้งเดิมของสีทั้งสาม อันเป็นนิยามที่ติดตัวหนังทั้งสามเรื่องมาตั้งแต่แรกคลอด ไม่ว่าจะมองมุมใด โดยตื้นเขินหรือลึกซึ้ง  Blue ย่อมเล่าถึงเสรีภาพ White ย่อมหมายถึงความเสมอภาค และ Red ก็ย่อมสะท้อนเรื่องราวของภราดรภาพอย่างเป็นอื่นไม่ได้ ในแง่หนึ่ง Three Colours Trilogy จึงส่อเค้าที่จะมีสถานะหยุดนิ่ง ดำรงอยู่ราวกับถูกแช่แข็ง แต่ละเรื่องมีความหมายตายตัวและแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน ยากจะบิดพลิ้วราวกับมันเป็นบัญชาของพระเจ้า คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราคนดูจะอ่าน Three Colours Trilogy ในฐานะเรื่องเล่าที่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่ต้องปักหลักตั้งธงความหมายสุดท้ายของมันไว้ที่ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราคนดูจะกระทำการยึดคืนอำนาจในการวิเคราะห์ตีความหนังจากนายทุนชาวฝรั่งเศสผู้อนุมัติการสร้างหนังไตรภาคนี้

ว่าไปแล้ว ถึงแม้คริสตอฟ เคียสลอฟสกีจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตวิญญาณเข้าอย่างจังในลักษณะเดียวที่เฮมิงเวย์และฟิตซ์เจอรัลด์ประสบ เส้นชีวิตของเคียสลอฟสกีและบรรดานักคิดนักเขียนข้างต้นนั้นไร้ข้อกังขาว่าต่างกรรมต่างวาระ แต่ในแง่หนึ่ง เขาก็น่าจะเป็น คนสูญหาย คนหนึ่งด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนทำหนังชาวโปแลนด์หลาย ๆ คนที่ถูกค้นพบในช่วงค.ศ. 1950-60 เคียสลอฟสกีเริ่มต้นอาชีพสายภาพยนตร์ในฐานะคนทำหนังสารคดี เขาสนใจการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คน ตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาใต้พรมที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์พยายามซุกซ่อนให้พ้นจากสายตาประชาชนอย่างถอนรากถอนโคน ผลงานของเคียสลอฟสกีในยุคแรก จึงเสนอภาพความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่ปิดเม้ม จนกระทั่งถึงการล่มสลายของคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในปีค.ศ. 1989 ท่าทีของเคียสลอฟสกีต่อการเมืองโปแลนด์ได้เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เขากลายเป็นคนเฉยเมย หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นการเมืองไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ครั้งหนึ่งระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการของเทศกาลภาพยนตร์มอนทรีออลในปี 1989 เขาถูกถามถึงสถานการณ์การเมืองในโปแลนด์ที่กำลังคุกรุ่นและเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เคียสลอฟสกีตอบแต่เพียงสั้น ๆ ว่า ‘วันไหนที่ผมสามารถซื้อกระดาษชำระได้ในโปแลนด์ วันนั้นแหละผมจะพูดเรื่องการเมือง’

พร้อม ๆ กับการล่มสลายของคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ชื่อเสียงของเคียสลอฟสกีเริ่มขยับขยายออกนอกประเทศ นั่นคือตอนที่เขาได้รับเงินทุนต่างชาติสำหรับผลงานเรื่อง Double Life of Veronique (1991) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เขาจะได้ทำหนังที่มุ่งความสนใจไปยังความสับสนอลหม่านภายในจิตใจของเขาเอง โดยละประเด็นหนักอึ้งอย่างการบ้านการเมืองไว้เป็นเพียงฉากหลัง สิ่งที่ถูกห่อคลุมอยู่ใต้เรื่องราวของหญิงสาวชาวโปแลนด์และฝรั่งเศสที่ชื่อเสียงเรียงนาม รูปลักษณ์ หน้าตา ผิวพรรณ เหมือนกันหมดจดอย่างแยกไม่ออก จึงเปรียบได้กับภาพแทนของความเป็นทวิลักษณ์ของตัวเคียสลอฟสกีเอง ตัวละครของเขาติดอยู่ในสถานะกึ่งกลาง ระหว่างโปแลนด์ที่กำลังกลายเป็นเพียงอดีต และฝรั่งเศสที่กำลังจะเป็นอนาคต เรื่องแต่งบนจอภาพจึงสัมผัสคล้องจองอยู่กับความเป็นจริงหลังจอภาพ ฉากหนึ่งที่สะท้อนการเหลื่อมซ้อนระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมติใน Double Life of Veronique ได้ดี เกิดขึ้นในตอนที่เวโรนีกา (โปแลนด์) กำลังเดินขวักไขว่อยู่บนท้องถนนซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่มารวมกลุ่มประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ทว่าแทนที่จะเข้าร่วม เธอกลับเดินผ่านไปอย่างไร้ใยดี สายตามองมั่นไปที่หญิงสาวปริศนาคนหนึ่งอีกฟากฝั่งถนน ผู้ซึ่งรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเธอทุกประการ

ในทำนองเดียวกับ Double Life of Veronique กล่าวได้ว่า อีกความหมายหนึ่งของ Three Colours Trilogy ที่เดินเรียงเคียงคู่อยู่กับ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คือความพยายามของเคียสลอฟสกีที่จะเชื่อมประสานโลกสองใบในตัวเขา หนึ่งคือโลกใบเก่าในโปแลนด์และระบอบคอมมิวนิสต์ที่กำลังล่มสลายตายจาก และอีกหนึ่งคือโลกเสรีนิยมใหม่ในฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่บนแนวคิดของความเป็นนิติรัฐ (เรื่องราวในหนังทั้งสามภาคล้วนแวดล้อมอยู่กับตัวละครที่เป็นนักกฎหมาย) เมื่อพิจารณาดูแล้ว ตัวละครในไตรภาคสามสีจึงล้วนแต่มีความเป็น คนสูญหาย ไม่ต่างกับผู้สร้าง อย่างกรณีของจูลี (จูเลียต บิโนช) ที่ตื่นขึ้นมาเพื่อพบว่าสามีและลูกได้จากเธอไปอย่างไม่ย้อนกลับ ทิ้งเธออยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง หรืออย่างแครอล แครอล (ชบิกเนียฟ ซามาคอฟสก์) ที่ค้นพบว่ารอยปริร้าวระหว่างเขาและภรรยานั้นกว้างใหญ่เกินกว่าสิ่งใดจะยึดสมานได้อีก เช่นเดียวกับผู้พิพากษาวัยเกษียณ (ฌ็อง-หลุยส์ แตร็งติญ็อง) ที่สูญสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในการสืบหาความจริง และตัดสินใจใช้ชีวิตในบั้นปลายไปกับการดักฟังโทรศัพท์เพื่อนบ้าน

ในระดับของเนื้อเรื่องแล้ว อุบัติเหตุที่คร่าชีวิตสามีและลูกของจูลี่ใน Blue อาจเป็นเพียงโศกนาฏกรรมทดสอบที่จูลี่ต้องเอาชนะตามขนบหนังดราม่าน้ำดีที่ว่าด้วยการก้าวข้ามผ่านความสูญเสีย แต่ในความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด เราอาจทึกทักว่าจูลี่ได้ ตาย ในเชิงอุปมาอุปไมยไปพร้อม ๆ กับสามีและลูกของเธอจริง ๆ และความตายนั้นได้ปลดเปลื้องเธอจากสถานะ แม่ และ เมีย อันเป็นบทบาทหยั่งรากที่ผู้หญิงถูกบังคับให้แบกรับ ในตอนแรกเราจึงเห็นเธอมุ่งมั่นที่จะรื้อถอนอดีตของตัวเองเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากศูนย์ ทว่าจนแล้วจนรอด เธอก็พบว่า เสรีภาพ ที่เธอถวิลหานั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ที่เธอไม่เคยมองเห็นในอดีตต่างหากที่มีค่าแก่การสำรวจและรักษา ครั้งหนึ่ง เคียสลอฟสกีกล่าวถึงสถานการณ์ในโปแลนด์ยุคหลังโซเวียตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมเคยเกลียดคอมมิวนิสต์ และตอนนี้ก็ยังเกลียดอยู่ แต่ขณะเดียวกันผมก็คิดถึงช่วงเวลานั้น คิดถึงความสัมพันธ์ในครั้งหนึ่งที่ปัจจุบันได้สูญสลายหายไปหมดแล้ว” พูดอีกอย่าง โศกนาฏกรรมของสามีและลูกของจูลี่ อาจเปรียบได้กับโศกนาฏกรรมการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ ทั้งสองเหตุการณ์นำไปสู่การปลดแอกของจิตวิญญาณที่ถูกจองจำ นั่นคือเคียสลอฟสกีในฐานะประชาชนที่ถูกกดขี่ และจูลี่ในฐานะเพศที่ถูกกดทับ และทั้งสองก็ต่างค้นพบว่าอิสรภาพที่เขาและเธอถวิลหานั้นมีราคาที่ต้องจ่ายเพียงใด

ความรู้สึกหลงทาง ตลอดจนความโหยหาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งเป็นแก่นเรื่องที่สำคัญของ Three Colours Trilogy หาได้เป็นเรื่องปัจเจกของตัวคนทำหนัง แต่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นความรู้สึกร่วมของผู้คนในยุคสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1989 ซึ่งได้เปิดประตูให้ผู้คนจากสองฟากฝั่ง ตะวันตก-ตะวันออก เสรีนิยม-สังคมนิยม ได้กลับมาเชื่อมถึงกันอีกครั้ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างเรียบง่ายไร้อุปสรรค ถามแครอล แครอลใน White ดูก็ได้ว่าการเป็นคนตะวันออก(โปแลนด์) ในโลกตะวันตกอย่างฝรั่งเศสหนักหนาสาหัสอย่างไร ช่วงหนึ่งระหว่างการพิจารณาคดีหย่าร้างระหว่างเรากับภรรยา (จูลี เดลปี) แครอลเอ่ยถามศาลที่เคารพอย่างเหลืออดว่า ‘เหตุผลที่ศาลปฏิเสธจะรับฟังเขา เป็นเพราะเขาพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้หรือเปล่า?’ คำถามของแครอลเปิดเปลือยให้เห็นว่าสิ่งที่กวนใจเขา และน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้เขาไม่สามารถร่วมรักกับภรรยาได้อย่างสุขสม คือความรู้สึก เป็นอื่น แครอลอาจจะโชคดีที่ได้เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานของกระบวนการหลอมรวมยุโรปตะวันตกและตะวันออก แต่ขณะเดียวกันมันกลับทำให้เขาต้องแบกรับสถานะ คนนอก ไปโดยปริยาย

ชื่อ แครอล แครอล ก็เล่นล้อกับทวิลักษณ์ของตัวละครนี้อย่างชัดแจ้ง เขาเองก็เหมือนกับเคียสลอฟสกี้ เป็นคนสูญหายที่ติดอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของโลกสองใบ หนังขับเน้นให้เห็นว่าฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุดหน้า มีกระบวนการยุติธรรมเป็นขื่อแปแน่นหนา ขณะที่โปแลนด์นั้นป่าเถื่อนล้าหลัง เต็มไปด้วยมาเฟียและการทุจริตคอรัปชั่น แครอลที่โอบอุ้มสถานะคนนอกจึงถูกกฎหมายไล่ต้อนจนต้องซมซานกลับบ้านเกิดที่โปแลนด์ อาจกล่าวได้ว่า สถานะก้ำกึ่งของตัวละครยังสะท้อนผ่านความเป็นเรื่องราวกึ่งโศกนาฏกรรมกึ่งสุขนาฏกรรมของหนังด้วย ความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของหนังจึงตั้งอยู่บนความขัดแย้งกันเองของตัวละคร เขาเกลียดเธอ แต่ก็รักเธอ เหมือน ๆ กับที่เธอเกลียดเขาแต่ก็รักเขาเช่นเดียวกัน แก่นสารสำคัญของ White จึงเป็นการย้ำเตือนกับเราคนดูว่าการรวมหลอมสองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแล้วม้วนจบได้ด้วยตัวมันเอง แต่ต้องผ่านการคัดง้าง ประนีประนอม ต่อรอง ระหว่างสองขั้วอำนาจ

ถึงที่สุดแล้ว แก่นสาระของ Three Colours Trilogy จึงว่าด้วยการตั้งคำถามถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างเรามนุษย์ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย นั่นคือ มนุษย์เราจะเอาชนะกำแพงเชื้อชาติ ภาษา ประวัติศาสตร์ความเป็นมา บาดแผลครั้งเก่าก่อนที่มนุษย์กระทำต่อกัน ได้อย่างไร? คำถามนี้ชวนให้นึกถึงสิ่งที่ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เสนอไว้ในหนังสือ Imagined Communities ว่า ‘ชาติเป็นสิ่งที่ถูกจินตนาการขึ้นมา เพราะแม้แต่ประชาชนของประเทศที่เล็กที่สุด ก็ไม่อาจรู้จักเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่ในประเทศ แต่กระนั้นพวกเขากลับรับรู้ถึงความเป็นเพื่อนร่วมชาติซึ่งกันและกัน’ แอนเดอร์สันเสนอต่อว่า สิ่งที่ขับเร่งกระบวนการดังกล่าวคือการเกิดขึ้นของ สื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนในประเทศหนึ่ง ๆ สามารถเสพสื่อเดียวกัน รับรู้เรื่องราว เรื่องเล่า เดียวกัน จนเกิดเป็นสำนึกรู้ร่วมกันขึ้นในที่สุด เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ยุโรปในยุคหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินก็น่าจะมีความเป็นชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) เช่นเดียวกับ ชาติ ในข้อเสนอของแอนเดอร์สัน ทว่าคำถามถัดไปที่สำคัญยิ่งกว่า คือ สิ่งใดกันเล่าจะสามารถยึดเชื่อมผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายกันอย่างกว้างขวางเหล่านี้ได้

ฉากเปิดเรื่องของ Red จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด ภาพสัญญาณโทรศัพท์วิ่งผ่านโคร่งข่ายสายสื่อสารที่เชื่อมต่อกันยุ่งเหยิงไม่เพียงตอกย้ำถึงพลังอันไร้ขีดจำกัดของการสื่อสาร แต่ยืนกรานว่าเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ทุกคนเชื่อมถึงกันแม้ไม่รู้ตัว เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของหนังที่มักจะแวดล้อมอยู่กับโทรศัพท์ (วาล็องทีนและออกุสต์ต้องติดต่อกับคนรักของพวกเขาที่อยู่ทางไกล และโจเซฟที่มีพฤติกรรมดักฟังโทรศัพท์) โดยผิวเผิน ก็ดูราวกับเคียสลอฟสกีกำลังเสนอว่าสิ่งที่ขับเร่งกระบวนการหลอมรวมยุโรปให้สำเร็จลุล่วงได้ก็คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร (ในลักษณะเดียวกับที่เทคโนโลยีสื่อสิ่งพิมพ์เร่งให้เกิดสำนึกความเป็นชาติตามความเห็นของแอนเดอร์สัน) แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเรากลับพบว่าสิ่งที่ดึงให้ตัวละครเหล่านี้โคจรมาพบกันหาได้เป็นผลจากการมีโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์ แต่เป็นเรื่องของความบังเอิญ หรือชะตาฟ้าลิขิตที่หดกระชับวงโคจรของพวกเขาแต่ละคนจนกระทั่งคาบเกี่ยวกันในที่สุด

พูดอีกอย่างหนึ่ง Red เสนอว่าการเชื่อมถึงดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นเพียงบนระนาบของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่เพราะตัวละครเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ใต้กฏธรรมชาติข้อหนึ่งร่วมกัน นั่นคือกฏของโชคชะตาและความบังเอิญ พิจารณาสิ่งที่นำพาวาล็องลีนมาพบกับโจเซฟ ผู้พิพากษาวัยเกษียณในเหตุการณ์ที่เธอบังเอิญขับรถชนสุนัขของเขาจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นผลจากการที่สัญญาณวิทยุในรถเกิดขัดข้องอีกทีหนึ่ง ทว่าก่อนที่วิทยุจะขัดข้อง ได้ปรากฎแสงสีแสงวับวาบขึ้นในรถของวาล็องทีนอย่างไร้ต้นสายปลายเหตุ ความมหัศจรรย์เล็ก ๆ น้อย ๆ ลักษณะเดียวกันยังเรี่ยไรอยู่ตลอดเรื่องเล่าของหนัง โชคชะตาและความบังเอิญยังเล่นตลกกับการแคล้วคลาดระหว่างวาล็องทีนและออกุสต์ นักเรียนกฏหมายที่อาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ตรงข้ามกับเธอ เมื่อหนังเผยให้เห็นว่าทั้งสองต่างเดินเข้าออกจากเฟรมเดียวกันอยู่หลายครั้งหลายครา

ผ่านเรื่องเล่าที่กระโดดไปมาจนคล้ายวกวน เราคนดูค่อย ๆ ซึมซาบความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวาล็องทีน โจเซฟ และออกุสต์ เมื่อพิจารณาความหมายเชิงสัญญะ อาจตั้งข้อสังเกตได้ด้วยว่าที่บทบาทวาล็องทีนจะต้องเป็นของไอแรน แจค็อบ ก็น่าจะด้วยเพราะเธอเป็นนักแสดงจากสวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนเล็กจ้อยที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางยุโรป มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง วางตัวถอยห่างจากความขัดแย้งและการนองเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าในยุโรป เมื่อเทียบกับจูลี่ใน Blue และโดมินิคใน White วาล็องทีนจึงเป็นตัวละครที่มีความอ่อนหวาน ประนีประนอม ส่วนโจเซฟ ผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสวัยเกษียณ อาจมองได้ว่าเป็นตัวแทนของมหาอำนาจเก่าที่ปัจจุบันเสื่อมมนต์ขลัง อยู่ในสถานะหมดอาลัยตายอยาก โดดเดี่ยว กลายเป็นซากชีวิตที่ยอมรับในที่สุดว่าระบบระเบียบที่เขายึดถือมาทั้งชีวิต แท้จริงแล้วอาจเป็นเรื่องลวงหลอกทั้งเพ

ทุกตัวละครใน Red จึงจัดได้ว่าเป็นคนเว้าแหว่ง ขาดวิ่น และต่างรอคอยใครสักคนเข้ามาเติมเต็มด้วยกันทั้งสิ้น และถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างวาล็องทีนและผู้พิพากษาจะดำเนินไปบนเส้นทางของมิตรภาพมากกว่าความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นกำแพงสำคัญที่ขวางกั้นพวกเขาทั้งคู่ ฉากหนึ่งที่สะท้อนข้อเสนอนี้คือตอนที่วาล็องทีนและโจเซฟกำลังร่ำลา เมื่อวาล็องทีนขึ้นแท็กซี่ไป ทั้งสองนำมือมาวางสัมผัสกันโดยมีกระจกรถคั่นกลาง กระจกจึงทำงานในฐานะสัญญะของกำแพงที่มิอาจมองเห็นแต่รู้ว่ามีอยู่ และเป็นอีกครั้งที่ความแตกต่างส่งผลให้สองโลกไม่อาจหลอมกลืนเข้าหากัน การปรากฏของนักเรียนกฏหมายอย่างออกุสต์จึงสลักสำคัญในแง่ที่เขาเป็นทั้งร่างทรงของโจเซฟ (โจเซฟเล่าว่าเขาเคยถูกภรรยานอกใจ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับออกุสต์เช่นกัน) และเป็นภาพแทนของฝรั่งเศสในฐานะนิติรัฐใหม่ จนถึงที่สุด การปรากฏกายของตัวละครหลักทั้งหกของไตรภาค Three Colours ในฉากสุดท้ายของ Red ไม่เพียงบ่งชี้ว่าพวกเขาต่างลงเรือลำเดียวกัน แต่ตอกย้ำสถานะผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากหักพังและชีวิตนับไม่ถ้วนที่ต้องถูกสังเวยระหว่างทาง และไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ ภาพดังกล่าวได้ยืนยันประโยคสั้นห้วนที่พี่ชายของแครอล แครอล กล่าวใน White ชนิดที่เราคนดูไม่อาจคัดค้านหรือเห็นเป็นอื่น

‘This is Europe now


Red Rocket – จนกว่าอเมริกาจะยิ่งใหญ่อีกครั้ง


หนังของฌอน เบเกอร์มักจะพาเราไปสำรวจความลำบากยากแค้นของคนชายขอบในอเมริกาอยู่เสมอ หรือถ้าจะให้จำเพาะเจาะจงไปอีก เป้าสนใจของเขาก็มักจะวนเวียนอยู่กับบรรดาผู้คนที่ข้องแวะกับการค้าประเวณี ไม่ว่าจะกลุ่มที่อาศัยอยู่หลังม่านอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ ลูกเล็กเด็กแดง หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายที่วิ่งเต้นเอาตัวรอดอยู่ตามซอกหลืบมุมมืดของสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ตัวละครของฌอน เบเกอร์มักจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกความยากจนวิ่งไล่ราวกับเงาตามตัว พูดอีกอย่าง ตัวละครของเขามักจะอยู่ในสถานะสิ้นเนื้อประดาตัว หรือหากมิใช่ก็ใกล้เคียง และหนังของเขาก็มักจะชี้ชัดให้เห็นว่าสถานะ ‘คนชายขอบ’ ที่คนเหล่านี้ถือครองอยู่ก็หาได้เป็นสิ่งที่สืบทอดกันตามสายเลือด หรือได้มาเพราะความอับโชคเป็นสำคัญ แต่เพราะถูกขับไสไล่ส่งให้จำต้องกลายเป็นคนริมขอบไปอย่างไม่อาจขัดฝืน

ข้อน่าสังเกตคือ ‘ความจน’ ในหนังของฌอน เบเกอร์ ไม่ได้ครอบคลุมความหมายเพียง ‘อัตคัดขัดสน มีเงินไม่พอยังชีพ’ ตามนิยามความหมายในพจนานุกรม (ไทย) แต่กินความหมายไปถึง ‘อับจนหนทาง’ หรือ ‘จนตรอก’ ในแบบเดียวกับที่หลายคนมักใช้บรรยายสถานะของสุนัข Red Rocket ผลงานล่าสุดของคนทำหนังชาวอเมริกันที่เข้าสายประกวดของเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2021 เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้อย่างเห็นภาพ ไมกีย์ เซเบอร์ (ไซมอน เร็กซ์) เป็นอดีตนักแสดงหนังผู้ใหญ่ระดับแถวหน้าของวงการ เขาเข้าชิงและกวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องระเห็จระเหินกลับมาตายรัง วิงวอนร้องขอที่ซุกหัวนอนจากภรรยาที่ครั้งหนึ่งแยกทางกันไปแล้ว ครั้นจะเริ่มต้นใหม่อย่างขาวสะอาดก็ไม่มีนายจ้างหน้าไหนใคร่รับ ‘อดีตพระเอกหนังโป๊’ มาเข้าทำงาน “ฉันคิดว่าลูกค้าอาจจะรู้สึกไม่สบายใจถ้าคุณมาเสริ์ฟอาหารให้พวกเขา” นายจ้างคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบแต่ไร้ข้อกังขาว่าบาดลึกเกินกว่าจะทนทาน

นั่นคือภาพที่อธิบายสถานะ ‘จนตรอก’ ของไมกีย์ ได้อย่างกระจ่างชัด เขาไม่เพียงขัดสนเงินทองสำหรับเยียวยาความหิวโหยหรือสำหรับหาที่คุ้มกะลาหัว แต่ในสังคมที่มอบสถานะคนชั้นสองให้แก่ดาราหนังโป๊โดยอัตโนมัติ การได้มาซึ่งโอกาสที่สองนั้นยากเย็นแสนเข็ญไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวว่า Red Rocket เป็นหนังฝ่ายซ้ายราคาถูก ประเภทละครชีวิตที่มุ่งฉายซ้ำภาพระทมขมขื่นของคนตัวกระจ้อยร่อยราวกับเครื่องเสียงตกร่อง ก็นับว่าเป็นอะไรที่ผิดถนัด หนังของฌอน เบเกอร์หาได้เป็นเพียงละครสำรวจชีวิตคนจนหรือกระทั่งดาราหนังโป๊ เหนือสิ่งอื่นใด หนังของเขาเปรียบเสมือนสมุดบันทึกเรื่องราวของ ‘คนอเมริกัน’ ที่ส่องสว่างให้เห็นว่า การเกิดและโตบนผืนแผ่นดินอเมริกา บนความเหลื่อมล้ำ ขัดสน ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ที่ปลุกเร้าให้ทุกคนไปให้ถึง ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ โอบอุ้มนัยยะความหมายใดบ้างไว้เบื้องหลัง ในลักษณะเดียวกับที่หนังของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา หรือมาร์ติน สกอร์เซซี บันทึกเรื่องราวความหมายของการเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนในยุคสมัยหนึ่ง

ไม่บังเอิญแน่ที่เรื่องราวของ Red Rocket เกิดขึ้นในเท็กซัสช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน เท็กซัสเป็นป้อมปราการสำคัญที่รีพับลิกันมั่นอกมั่นใจว่าเดโมแครตจะไม่มีวันย่ำกรายเข้ามาประชิดได้สำเร็จ หนังเล่นล้อกับเสียงโอ้อวดของโดนัลด์ ทรัมป์ และลิ่วล้อของเขาที่เล็ดรอดออกมาจากโทรทัศน์ที่ผู้คนในชุมชนเฝ้าติดตามอย่างแข็งขัน ส่งสัญญาณว่าประวัติศาสตร์ส่อแววซ้ำรอยเมื่อเขากำลังจะกลายเป็นนอมินีของรีพับลิกันลำดับที่สิบต่อเนื่องที่สามารถชนะในเขตแดนนี้ได้สำเร็จ ว่าไปแล้ว อเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ต่างจากตัวไมกีย์ เซเบอร์ พวกเขามีอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ แต่ถึงแม้ปัจจุบันจะอยู่ในสถานะตกกระป๋อง ทว่ารูปลักษณ์ภายนอกก็ยังภูมิฐานดูน่าเชื่อถือ อย่างน้อย ๆ ก็เพียงพอให้ใช้คารมคมคายในการโน้มน้าวให้ใครต่อใครมาเชื่อลมปากได้อย่างไม่ยากเย็น ทั้งไมกีย์และอเมริกาต่างโหยหาที่จะกลับไป ‘Great again’ ไม่ว่าคำนี้โอบอุ้มความหมายใด หรือต้องอาศัยกระบวนการที่สกปรกโสโครกและน่ารังเกียจเพียงไรก็ตาม

พูดอีกอย่าง ตัวละครไมกีย์ เซเบอร์ ก็คือภาพสะท้อนของทรัมป์ และอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ก็เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้บรรดาชายโฉดเข้ามาใช้ความมาโชฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้หญิง นี่คืออุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวยให้ความเป็นชายทำงานอย่างไร้การตรวจสอบ ในทำนองเดียวกับที่สังเวียนการเมืองเปิดช่องให้คนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาครองอำนาจ ช่วงหนึ่งหนังตั้งคำถามขึ้นมาอย่างน่าสนใจว่า ‘รางวัล Best Oral Sex ไม่ควรจะเป็นของนักแสดงหญิงหรอกหรือ?’ “การทำออรัล นักแสดงชายต้องเป็นฝ่ายควบคุมนักแสดงหญิง” ไมกีย์ ยืนยันด้วยน้ำเสียงและสีหน้าแห่งความภาคภูมิใจ ในแง่นั้น Red Rocket จึงเป็นทั้งหนังที่สืบสานสิ่งที่ฌอน เบเกอร์ทำมาตลอดในฐานะคนทำหนัง แต่ขณะเดียวกันก็ขยับขยายพาเราคนดูออกไปสำรวจยังพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะการบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครที่ไม่ชวนให้ร่วมหัวจมท้ายหรือน่าเอาใจช่วยแม้แต่น้อย

แต่ไม่ว่าอย่างไร ส่วนที่แยบยลซึ่งแสดงทั้งความเป็นนักทำหนังชั้นยอด และตอกย้ำความแหกขนบนอกคอกฮอลลีวู้ดของฌอน เบเกอร์ คือท่าทีที่เขาพาคนดูไต่เส้นศีลธรรมไปได้ตลอดรอดฝั่ง หนังไม่ได้ประพฤติตัวเป็นตำรวจศีลธรรมที่เที่ยวไล่สั่งสอนคนดูว่าสิ่งที่ไมกีย์ทำเป็นเรื่องผิดบาป แต่ท้าทายหรือกระทั่งยั่วยวนให้เราคนดูเกิดความสับสนอลหม่านระหว่างที่ไมกีย์กำลังวางแผนล่อลวงเด็กสาววัย 17 เข้าสู่วงการหนังผู้ใหญ่ นั่นคือตอนที่หนังเปิดเปลือยให้เห็นกันอย่างตำตาว่าเหตุใด และด้วยกลวิธีใด ที่คนวิปริตผิดเพี้ยนอย่างไมกีย์ใช้ในการกอบโกยผลประโยชน์จากคนรอบข้าง หรืออีกนัยหนึ่ง นี่คือหนังที่อาจทำให้คนดูผู้มีศีลธรรมสูงส่งรู้สึกกระอักกระอ่วน เมื่อค้นพบว่าตนเองกำลังเอาใจช่วยอาชญากรชั้นต่ำ เมื่อพิจารณาจากภาพที่ปรากฏ เขารู้วิธีเข้าหาคน รู้จักที่จะพูดในสิ่งที่ผู้ฟังอยากได้ยิน ด้วยสเน่ห์เหลือล้นถึงแม้ร่างกายจะเริ่มโรยรา คุณอาจปฏิเสธเขาได้ในหนแรกและคนที่สอง แต่ไม่ใช่หนที่สาม และเพียงไม่นาน อาจเพียงชั่วเวลากาแฟยังอุ่นเท่านั้น Red Rocket ก็กลายเป็นกระจกสะท้อนบานใหญ่ที่เผยให้เห็นภาพชัดว่าเหตุใดคนนับล้านจึงหลงคล้อยตามการโป้ปดคำโตของคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์


Grade: A-

Directed by Sean Baker
Written by Chris Bergoch, Sean Baker
Produced by Sean Baker, Alex Coco, Samantha Quan, Alex Saks, Shih-Ching Tsou
Starring Simon Rex, Bree Elrod, Suzanna Son
Cinematography by Drew Daniels
Edited by Sean Baker

ข้างหลังภาพ The Truman Show กับเรื่องราวที่แอบซ่อนอยู่หลังใบปิดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 75

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในทุก ๆ ปีที่เทศกาลหนังเมืองคานส์จะปล่อยโปสเตอร์ประจำเทศกาลออกมาให้ยลโฉมกันก่อนที่เทศกาลจะเริ่มขึ้น ซึ่งแต่ละปีโปสเตอร์ของคานส์ก็มักจะล้อเรียงไปกับธีมหรือเหตุการณ์สำคัญที่เทศกาลต้องการจะเฉลิมฉลองหรือระลึกถึง โดยธีมหลักของโปสเตอร์ในปีนี้ซึ่งจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 75 ปี ของเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก จะเป็นการคารวะผลงานเมื่อปี 1998 ของปีเตอร์ เวียร์ The Truman Show (1998) ที่ได้จิม แคร์รีย์ มารับบทบาทชายผู้ค้นพบว่าชีวิตของเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายการเลียลลิตี้โชว์ที่เปิดให้คนนับล้านจับจ้องเขาอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ว่ากันตามข้อเท็จจริง ถึงแม้ The Truman Show จะไม่ได้มีประวัติศาสตร์อะไรกับคานส์โดยตรง หนังไม่ได้เปิดตัวหรือมาฉายที่เทศกาลแห่งนี้ แต่ตัวผู้กำกับปีเตอร์ เวียร์ นั้นไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับคานส์หรือบรรดาซีเนไฟล์เลยแม้แต่น้อย เขาเป็นหัวหอกคนสำคัญของขบวนการ Australian New Wave ร่วมกับ จอร์จ มิลเลอร์ (ที่หนังของเขาจะได้เป็นหนังเปิดเทศกาลด้วย) และ จิลเลียน อาร์มสตรอง

นอกจาก The Truman Show หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับผลงานของเขาอย่าง Dead Poets Society (1989) ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ แต่ชื่อชั้นของเวียร์เป็นที่กล่าวขานก่อนที่เขาจะหันเหไปทำหนังฮอลลีวู้ด The Year of Living Dangerously (1983) เคยเข้าฉายในสายประกวดหลักของคานส์ ถึงแม้จะไม่ได้รางวัลอะไร แต่เพราะปีนั้นเป็นปีที่สายประกวดแข็งมาก ๆ มีทั้งหนังของโชเฮย์ อิมามูระ, นางิสะ โอชิมะ, มาร์ติน สกอร์เซซี, โรแบรต์ เบรสซง รวมถึง อังเดร ทาร์คอฟสกี กระทั่งหนังอย่าง Witness (1985) ที่ได้แฮร์ริสัน ฟอร์ด ก็เคยเข้าฉายนอกสายประกวดของคานส์เช่นกัน แต่ผลงานของปีเตอร์ เวียร์ ที่นับได้ว่าเป็นมาสเตอร์พีซ และยังถูกหยิบมาสำรวจตรวจสอบใหม่เสมอ กระทั่งส่งอิทธิพลมาจนถึงผลงานของคนทำหนังรุ่นหลังอย่างโซเฟีย คอปโปลา โดยเฉพาะใน The Virgin Suicides (1999) และ Marie Antoinette (2006) คือ Picnic at Hanging Rock (1975) หนังพีเรียดย้อนยุคที่ฉายภาพให้เห็นถึงความน่าสะพรึงกลัวของธรรมชาติและความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของมนุษย์ ผ่านเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนที่ออกไปพักผ่อนปิกนิกกลางป่าเขา ก่อนที่เรื่องราวปริศนาจะเกิดขึ้นอย่างน่าตกตะลึง

แต่ในผลงานลือลั่นของเวียร์ทั้งหลายทั้งมวล เหตุใดโปสเตอร์ประจำเทศกาลของคานส์ในปีนี้จะต้องเป็น The Truman Show เท่านั้น ไม่ใช่ Dead Poets Society หรือ Picnic at Hanging Rock ขอเท้าความไปถึงว่า หลายปีมานี้ วงการภาพยนตร์อิสระทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมไปถึงหนังนอกกระแส หรือหนังศิลปะ แล้วแต่จะเรียกนั้นกำลังประสบกับความยากลำบากอย่างมาก จากการถูกแย่งชิงพื้นที่ฉายภาพยนตร์โดยหนังกระแสหลัก และการรุกคืบของสตรีมมิง ซ้ำยังถูกกระหน่ำซ้ำเดิมด้วยวิกฤติการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความกังวลแผ่ขยายไปทั่วว่า ‘ภาพยนตร์กำลังจะตาย’ นั่นทำให้คำกล่าวของเจ้ย-อภิชาติพงศ์ ในเทศกาลเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ‘Long Live Cinema’ จนเรียกเสียบปรบมือจากคนในคานส์อย่างกึกก้องนั้นจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่ามันเป็นคำพูดที่ชวนให้ซาบซึ้งน้ำตาไหล แต่เป็นเพราะมันมีความหมายอย่างมากต่อคนในคานส์ โดยเฉพาะในวันที่คานส์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว กระทั่งประนีประนอม เพื่อให้ภาพยนตร์ในฐานะศิลปะสามารถมีชีวิตต่อไปได้แม้กระทั่งในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

และถึงแม้คานส์จะเป็นเสาหลักสำคัญของแวดวงหนังศิลปะ เป็นเทศกาลที่คนทำหนังทั่วโลกต่างใฝ่ฝันที่จะนำผลงานของตนมาฉาย แต่คานส์เองก็ไม่ต่างกับเทศกาลหนังอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก สตูดิโอซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของคานส์ในปีนี้ก็คือ Paramount ซึ่งจะนำ Top Gun Marverick ที่แสดงนำโดยทอม ครูซ มาฉายเปิดตัวนอกสายประกวดนั่นเอง นอกจากนี้ Paramount ยังเป็นสตูดิโอที่ผลิตและจัดจำหน่าย The Truman Show ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีทางสตูดิโอได้วางตัวไบรอัน เดอ พัลมา เป็นผู้กำกับ ก่อนที่เขาจะถอนตัวจากโปรเจ็กต์ จนสตูดิโอไปลงเอยกับปีเตอร์ เวียร์ ในที่สุด

The Truman Show ของปีเตอร์ เวียร์ เป็นทั้งหนังที่น่ากลัวและชวนให้สลดหดหู่ในคราวเดียวกัน หนังไม่เพียงตั้งคำถามถึงเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวที่ถูกละเมิดจากการสอดส่อง(โดยทุน)ในรูปแบบของความบันเทิง แต่ชวนให้ขบคิดไปถึงความหมายของการมีชีวิตและเจตจำนงเสรี ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่จิตวิญญาณสามารถซื้อขายถ่ายทอดได้ด้วยเงิน ฉากของหนังที่ถูกนำมาใช้เป็นโปสเตอร์ เกิดขึ้นในช่วงไคลแม็กซ์ของเรื่อง หลังจากที่ทรูแมนหลบหนีออกจากกองถ่าย เขาค้นพบว่าแท้จริงแล้วท้องฟ้าสีครามที่ห้อมล้อมเขาอยู่นั้นเป็นเพียงกำแพงที่ถูกทาสีขึ้นอย่างประโลมโลก เขาเดินขึ้นไปบนบันไดอย่างเชื่องช้า ก่อนจะเอื้อมมือออกไปสัมผัสกับประตูทางออก ในโปสเตอร์ของคานส์ ประตูดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยเลข 75 ซึ่งเป็นตัวเลขกำหนดครบรอบอายุของเทศกาลนั่นเอง ในอีกความหมายหนึ่ง คานส์ในขวบปีที่ 75 จึงเปรียบได้กับประตูที่จะพาคนดูหลบหนีไปจากโลกแห่งความเป็นจริงอันลวงหลอก ออกไปสู่โลกจินตนาการหลอกลวง ที่เราต่างอยากให้มันเป็นความจริง


Memoria (2021) – เมื่อความทรงจำเปล่งเสียง

ไม่รู้คนอื่นเห็นเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัว สิ่งที่ดึงดูดผู้เขียนเข้าสู่จักรวาลหนังของอภิชาติพงศ์อยู่เสมอคือการที่มันมักจะว่าด้วยเรื่องราวของผู้คนที่กำลังป่วยไข้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเรื่องราวดังกล่าวก็มักจะนำพาตัวละครในหนังเข้าไปเกี่ยวพันหรือโคจรอยู่รอบ ๆ โรงพยาบาลอันเป็นศูนย์รวมสถานแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย และหลายครั้งหลายครา โรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวก็มักจะร้ายแรงถึงขั้นเกินเยียวยารักษา ซึ่งไม่เพียงตอกย้ำถึงความอ่อนเปลี้ยของวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ปฏิเสธสถานะอันสูงส่งของบรรดานักรบชุดขาว และเปิดโอกาสให้เราคนดูได้มองความป่วยไข้หรือกระทั่งความตายในแง่มุมที่หนังส่วนใหญ่ล้มเหลวในการชี้ชัดให้เห็นภาพ อย่างในกรณีของ รักที่ขอนแก่น ที่บรรดาทหารชั้นผู้น้อยต่างพากันล้มป่วยอย่างเป็นปริศนาด้วยโรคเหงาหลับ โดยที่การแพทย์สมัยใหม่ไม่อาจเอื้อมเข้าไปหาคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว หรือใน ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่ลุงบุญมีเองก็กำลังเจ็บป่วยจากโรคไตวายระยะสุดท้าย โดยมีข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐานะที่ผสมโรงกันบีบบังคับให้ลุงบุญมีต้องใช้การฟอกไตทางหน้าท้อง โดยมีเพียงป้าเจนและแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ช่วยเหลือ ไปจนถึงวิธีการที่ สุดเสน่หา ฉายชัดให้เห็นว่าการแพทย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่รัฐใช้ควบคุมสั่งการประชาชนอย่างไร

ในแง่นั้น ถึงแม้ Memoria จะเป็นผลงานชิ้นแรกของอภิชาติพงศ์ที่เหตุการณ์ในหนังไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ชิ้นส่วนเล็กย่อยต่าง ๆ ที่ประกอบร่างกันขึ้นมาเป็น Memoria ก็ยังเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่คอหนังของอภิชาติพงศ์คุ้นเคย หนังยังคงเน้นย้ำถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ หมอ ทหาร ประชาชน ผีสาง ความฝัน ความทรงจำ และโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความป่วยไข้และความหละหลวมของกระบวนการวินิจฉัยรักษา อย่างที่ เจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากแอร์นัน (ฆวน พาโบล เออร์เรโก) ด้วยความมุ่งหวังว่าวิศวกรหนุ่มและเครื่องมือทันสมัยของเขาอาจช่วยกำหนดรูปพรรณสัณฐานของเสียง ‘ปัง’ ที่ดังขึ้นในหัวของเธอ นั่นเป็นอีกครั้งที่หนังของอภิชาติพงศ์ฉายส่องให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และวิทยาศาสตร์ ย้ำเตือนให้เห็นถึงพลังอำนาจของมันในการแถลงไขข้อข้องใจทั้งหลายของมนุษย์ แต่จนแล้วจนรอด คำถามก็วกกลับมาอีกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ทรงพลังถึงขั้นอธิบายเรื่องเล็กกระจ้อยในจิตใจและปริศนาระดับจักรวาลนอกโลกจริงหรือ ความสำเร็จลุล่วงในการปั้นเสียงเป็นตัวนำไปสู่คำตอบสูงสุดของโรคปริศนาที่เจสสิกากำลังประสบได้จริงหรือไม่ อย่างไร?

ช่วงหนึ่ง หนังเผยให้เห็นการต่อรองทางอำนาจระหว่างเจสสิกาและแพทย์ที่เธอขอเข้ารับการรักษา แพทย์หญิงเชื่อว่าเสียงที่เธอได้ยินอาจเป็นผลสืบเนื่องจากความดันโลหิตสูง หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดจากภาวะประสาทหลอน ขณะที่เจสสิกาเชื่อว่าเธอต้องการเพียงยาคลายกังวล ทว่าเธอรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะเอ่ยปากขอ ฉากสั้น ๆ ดังกล่าวชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ใน สุดเสน่หา ที่เกิดการต่อรองระหว่างคนไข้และแพทย์เพื่อขอใบรับรองแพทย์ นั่นคือวิธีการที่อภิชาติพงศ์วิพากษ์วิจารณ์ความหละหลวมของการแพทย์สมัยใหม่ ผ่านเรื่องราวที่ทั้งสะท้อนลำดับชั้นทางอำนาจของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ตลอดจนความบกพร่องของวิทยาศาสตร์ในการมอบคำตอบแด่สรรพสิ่ง นั่นอาจเป็นเพราะ ‘ความจริง’ ในหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความจริงทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความจริงทางสังคมศาสตร์ด้วย ตามสำนึกรู้ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจสสิกา อาจกำลังประสบกับอาการประสาทหลอน (และเธออาจต้องการ Anti-psychotics มากกว่า Xanax) แต่ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่กำลังป่วยไข้อาจไม่ใช่เจสสิกา แต่เป็นผืนแผ่นดินที่เธอเหยียบย่ำอยู่ต่างหาก ผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยโครงกระดูกของร่างนิรนาม โครงกระดูกที่เต็มไปด้วยรูปริศนาบนกระโหลกศีรษะ ผืนแผ่นดินที่ตั้งอยู่บนประวัติศาสตร์และบาดแผลอันเป็นผลจากการช่วงชิงอำนาจ

จุดร่วมระหว่างเจสสิกา และอภิชาติพงศ์ ใน Memoria และมิน ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงใน สุดเสน่หา คือการที่ถึงแม้ทั้งสามจะพูดภาษาและสวมเครื่องแต่งกายไม่ต่างกับคนท้องถิ่น แต่ต่างก็ไม่สามารถสลัดสถานะของความเป็นคนต่างด้าวออกไปได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อภิชาติพงศ์มองโคลัมเบียด้วยสายตาคนนอกที่เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ซึ่งเป็นสายตาเดียวกับที่เราคนดูมองเห็นผ่านตัวของเจสสิกา ในแง่นั้นก็อาจกล่าวได้ว่าเจสสิกาก็คือภาพแทนของอภิชาติพงศ์ในวันนี้ที่ต้องระเห็จระเหินออกจากบ้านเกิดไปยังดินแดนที่เขาไม่รู้จักคุ้นเคย แต่ถึงอย่างนั้น ในความไม่คุ้นเคย เขาได้พบว่าดินแดนทั้งสอง (ไทยและโคลอมเบีย) ต่างมีจุดร่วมคืออดีต หรือที่หนังเรียกอย่างไพเราะว่า ‘ความทรงจำ’ โดยเฉพาะความบอบช้ำอันเป็นผลพวงจากความพยายามที่จะจับจ้อง กดทับ ตลอดจนควบคุมประชาชนผ่านโครงข่ายทางอำนาจรัฐ ซึ่งไม่เพียงจำเพาะเจาะจงอยู่กับอำนาจทางทหาร แต่อาจรวมถึงสถาบันทางการแพทย์ “นี่คือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยม” เจสสิกากล่าวเชิงเสียดสีถึงแผงยาที่เธอได้จากคุณหมอ ทว่าใน Memoria สิ่งที่นำพาเจสสิกาไปสู่ความจริงหาใช่เม็ดยาหรือกลวิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่คือการยอมรับและกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ผ่านกลวิธีที่เรียบง่ายอย่างการเฝ้าสังเกตและสดับรับฟัง บางทีมันอาจไม่สำคัญว่าอภิชาติพงศ์ เจสสิกา หรือแอร์นัน จะเป็นใคร มาจากไหน มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะบาดแผลและความทรงจำร่วมเหล่านี้จะคอยย้ำเตือน ว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกอันบิดเบี้ยวใบนี้


Grade: A

Directed by Apichatpong Weerasethakul
Written by Apichatpong Weerasethakul
Produced by Apichatpong Weerasethakul, Diana Bustamante, Simon Fields, Keith Griffiths, Charles de Meaux, Michael Weber, Julio Chavezmontes
Starring Tilda Swinton, Elkin Díaz, Jeanne Balibar, Juan Pablo Urrego,Daniel Giménez Cacho
Cinematography by Sayombhu Mukdeeprom
Edited by Lee Chatametikool

The Worst Person in the World (2021) – เราต่างเป็นคนเลวในโลกแห่งนี้

นอกเหนือไปจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองออสโล หากจะมีอีกสักข้อหนึ่งที่ยึดเชื่อมแต่ละภาคใน Oslo Trilogy ของยัวคิม เทรียร์เข้าด้วยกัน ก็น่าจะเป็นการที่หนังฉายชัดให้เห็นว่า ‘ออสโล’ ในฐานะสถานที่ที่ตัวละครเหล่านั้นอยู่อาศัย มีส่วนสำคัญในการก่อร่างตัวตนและกำหนดความเป็นไปของชายหนุ่มหญิงสาวที่มันโอบอุ้มเพียงใดและอย่างไร เช่นในกรณีของ ฟิลิปและอีริกใน Reprise (2006) ที่ต่างออกเดินทางตามหาแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของพวกเขา ก่อนจะพบกับอุปสรรคหลายประการที่ทำให้ต้องล้มลุกคลุกคลาน หรืออย่าง แอนเดอรส์ ใน Oslo, August 31st (2011) (ซึ่งส่วนตัวยังคงเชื่อว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของไตรภาค) ที่ว่าด้วยเรื่องราวการค้นหาโอกาสครั้งที่สองของชายติดยา เมื่อพิจารณาดูแล้ว ถึงแม้เรื่องราวของ จูลี (เรนาเต ไรน์สเว ในบทบาทที่ส่งเธอไปรับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด) ใน The Wost Person in the World จะเรียบง่ายและไม่ได้หนักอึ้งเท่ากับสิ่งที่ฟิลิป อีริก และแอนเดอรส์ ต้องพบเจอ แต่โดยรวม ๆ แล้วมันก็ยังว่าด้วยเรื่องราวของคนหนุ่มสาวตัวเล็กตัวน้อยที่ต่างค้นพบว่าออสโลนั้นอาจกว้างใหญ่เกินไปสำหรับพวกเขา

เรื่องชุลมุนวุ่นวายของจูลี ว่าไปแล้วก็อาจละม้ายคล้ายกับสิ่งที่ใครหลายคนในวัยย่าง 30 กำลังรู้สึก มันเป็นเหมือนเส้นชัยที่ไม่มีใครอยากเดินไปถึง ด้วยว่ามันเป็นช่วงวัยที่โลกไม่อาจยินยอมให้เราใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยได้อย่างเมื่อครั้งวัย 20 ได้อีกต่อไป ทั้งที่ลึก ๆ แล้วเราต่างก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร หรือกระทั่งอยากลงหลักปักฐานกับใคร อย่างที่จูลีเพิ่งค้นพบหลังจากเลือกเรียนแพทย์ไปแล้ว ว่าแท้จริงแล้วเธอสนใจในเรื่องราวของจิตใจมากกว่าร่างกาย แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบการถ่ายภาพที่สุด แต่ก็อีกนั่นแหละ เธอก็มิวายลงเอยด้วยการเป็นพนักงานประจำในร้านหนังสือ เธอเปลี่ยนคนรัก(หรือคู่นอน)มาหลายคนก่อนจะพบกับแอคเซล (แอนเดอรส์ แดเนียลเซน ลี) นักวาดการ์ตูนใต้ดินวัย 40 ก่อนที่ทั้งสองจะตกลงคบหากัน ถึงแม้เขาจะเตือนเธอแล้วก็ตามว่าด้วยวัยที่ต่างกันมากเกินไปอาจทำให้มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งก็ไม่ผิดคาดจริง ๆ เมื่อวันหนึ่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เกิดระหองระแหง จนกระทั่งมันนำพาให้เธอไปพบกับไอวินด์ (แฮร์เบิร์ต นอร์ดรัม) หนุ่มบาริสตารุ่นราวคราวเดียวกัน

วิธีการที่เทรียร์ตลบแตลงความเป็นหนังรอมคอม ว่าไปแล้วก็เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของครูหนังแห่ง French New Wave อย่างฟร็องซัวส์ ทรูว์โฟต์ ซึ่งมักจะว่าด้วยความสัมพันธ์และความสับสนอลหม่านของการเติบโตอยู่เสมอ ในแง่นั้นสถานการณ์ที่จูลีกำลังประสบพบเจอก็อาจเรียกได้ว่าเป็นผลพวงของกาลเวลาที่หล่นหาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในกรอบสถานที่และเวลาที่จำเพาะเจาะจงมาก ๆ (ออสโล ในปัจจุบัน) ในวันที่เธออายุครบ 30 ปี เสียงบรรยายเล่าย้อนพร้อมฉายภาพให้เราคนดูเห็นว่าผู้หญิงในเชื้อสายตระกูลของเธอกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้างในวันที่พวกเธออายุเท่ากับจูลี บ้างแต่งงานมีครอบครัว บ้างหย่าร้าง บ้างล้มหายตายจากไปแล้ว (เพราะสมัยหนึ่งผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี เธอกล่าวผ่านเสียงบรรยาย) “ผมเกิดในยุคสมัยที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ” แอคเซลกล่าวกับจูลีในช่วงหนึ่ง ก่อนจะเสริมต่อไปว่า “ในตอนนั้นวัฒนธรรมความทรงจำถูกถ่ายทอดผ่านสิ่งของ มันน่าสนใจเพราะเราสามารถใช้ชีวิตอยู่รอบ ๆ มันได้ สามารถหยิบมันขึ้นมาจับสำรวจได้ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว” นั่นอาจจะเป็นตอนที่จูลีสำนึกรู้ว่าโลกที่เธอเติบโตมานั้นหมุนเร็วเพียงใด และเธอได้ทำเวลาหลุดลอยไปอย่างมากมายเท่าไร

ตัวละครแอคเซล ในความหมายหนึ่งก็อาจเปรียบได้กับตัวตายตัวแทนของยุคสมัยที่เสื่อมสลาย เขาบ้างาน เฝ้าฝันอยากมีครอบครัวในอุดมคติ และลึก ๆ แล้วก็เหยียดเพศ มันเห็นเด่นชัดในวันที่การ์ตูนเหยียดเพศของเขาไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในโลกสมัยใหม่ (จนถึงจุดที่ ‘รูตูด’ ของบ็อบแคตก็ไม่อาจมีที่ยืนบนจอภาพยนตร์) ขณะที่ไอวินด์เปรียบเปรยได้กับพื้นที่ปลอดภัยของจูลี เขาบ้าบิ่น พร้อมจะฉีกกฎความสัมพันธ์ และอยากจะอยู่กับปัจจุบันมากกว่าอนาคตเหมือน ๆ กับเธอ ช่วงหนึ่งบทภาพยนตร์ของเทรียร์ และเอสกิล โวกต์ สุ่มเสี่ยงจะติดหล่มชายเป็นใหญ่ที่เชื่อว่าหญิงสาวไร้เดียงสาอย่างจูลีมีเพียงสองทางเลือกเท่านั้นคือ ผู้ชายและผู้ชาย (และหนังก็ดูจะละเลยที่จะสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างจูลีกับผู้หญิงคนอื่น ๆ) แต่การที่หนังสามารถตั้งคำถามที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งกว่านั้นนับว่าชาญฉลาดมาก ๆ คำถามว่า “ฉันเป็นใครในโลกอันกว้างใหญ่แห่งนี้?” เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่บางครั้งก็อาจใช้เวลาทั้งชีวิตในการค้นหาคำตอบ “นายโอเคที่จะเสิร์ฟกาแฟไปจนกระทั่งอายุ 50 จริงหรอ?” จูลีกลายเป็นฝ่ายตั้งคำถามกับไอวินด์ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลังจากความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดเธอก็เติบโตขึ้น บางทีจูลีอาจจะไม่ใช่ ‘คนที่เลวร้ายที่สุดบนโลก’ แต่เป็นโลกนี้ต่างหากที่ตัดสินเธอเร็วเกินไป


Grade: A-

Directed by Joachim Trier
Written by Eskil Vogt, Joachim Trier
Produced by Andrea Berentsen Ottmar, Thomas Robsahm
Starring Renate Reinsve, Anders Danielsen Lie, Herbert Nordrum
Cinematography by Kasper Tuxen
Edited by Olivier Bugge Coutté
Music by Ola Fløttum

Titane (2021) – ร่างกายไม่ใช่ของเรา และไม่เคยเป็นของใคร

ความน่าสะพรึงกลัวของ Titane อาจไม่ได้อยู่ที่ภาพน่าสะอิดสะเอียน อย่างเนื้อหนังขาดวิ่นหรือสารคัดหลั่งที่พรั่งพรูราวกับสายน้ำ แต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานอันน่ากระอักกระอ่วน ว่า ‘ร่าง’ ซึ่งห่อหุ้มจิตวิญญาณของมนุษย์เราอยู่นั้นแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถควบคุม หรือกระทั่งครอบครองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยว่ามันอาจเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปอย่างไม่มีข้อจำกัด หรือบางที ‘รูปลักษณ์’ ดังกล่าวก็อาจไร้ความเกี่ยวพันใด ๆ กับสิ่งที่มันห่อหุ้มอยู่ภายในเสียด้วยซ้ำ หนังของจูเลีย ดูกอร์เนา ซึ่งไล่เรียงมาตั้งแต่หนังสั้นอย่าง Junior (2011) และผลงานแจ้งเกิดอย่าง Raw (2016) มักชักชวนให้คนดูจดจ่ออยู่กับเรื่องน่าพิศวงดังกล่าวโดยไม่เบือนหน้าหนี ระหว่างที่หนังฉายชัดให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกับเนื้อหนังชั้นนอก สามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลหนึ่ง ๆ ในระดับจิตใจหรือกระทั่งจิตวิญญาณได้อย่างไรและเพียงใด ส่วนที่ทำให้หนังของเธอโดดเด่นและแตกต่างไปจากหนัง body horror ตามท้องตลาด จนคู่ควรที่จะได้รับการกล่าวขานเทียบเคียงกับมาสเตอร์อย่างเดวิด โครเนนเบิร์ก คือวิธีการที่เธอจ้องมองไปยังภาพน่าสะอิดสะเอียนของเนื้อหนังที่กำลังถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ ซึ่งไม่เพียงน่ากลัว หรือชวนให้ท้องไส้ปั่นป่วน แต่หลายครั้งหลายครามันเป็นการจ้องมองอย่างหลงใหล ราวกับภาพขยะแขยงตรงหน้าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สุดแสนงดงาม

ทว่าใน Titane จูเลียขยับขยายกรอบโฟกัสความสนใจของเธอไปอีก มันไม่ได้จับจ้องอยู่แต่เพียงความน่าหวาดผวาของการเติบโตและความผันแปรของสภาพร่างกาย แต่ถามคำถามที่ใหญ่ขึ้น อย่างความลื่นไหลของอัตลักษณ์ตัวตน รูปร่างหน้าตา ตลอดจนรสนิยม(ทางเพศ) โดยเฉพาะในโลกชายเป็นใหญ่ที่สิ่งเหล่านี้ดูจะถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา อย่างกรณีของอเล็กเซีย (อากัธ รูสเซลล์) แดนซ์เซอร์ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด หลังถูกแฟนคลับสะกดรอยตามหลังเธอเสร็จสิ้นการแสดงเต้นยั่วบนรถคาดิลแลค ก่อนที่เธอจะเอาตัวรอดด้วยการหยิบปิ่นปักผมทิ่มเข้าไปในรูหูของเขาอย่างเหี้ยมโหด ทว่าก่อนที่ Titane จะประพฤติตัวเป็นหนัง rape-revenge โดยสมบูรณ์ คนทำหนังกลับเลือกที่จะเปิดเผยผ่านเสียงบรรยายในโทรทัศน์ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดคดีอุกอาจเช่นนี้ – ซึ่งแน่นอนว่าเธอเป็นผู้ก่อการ – และไม่ใช่เพียงแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ถูกเธอสังหารอย่างเลือดเย็น การเปิดเผยข้อมูลเล็กน้อย ๆ นี้พลิกผันอเล็กเซียจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกลายเป็นผู้ไล่ล่าในทันที

บอกยากเหมือนกันว่ามันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต ในตอนที่อเล็กเซียวัยเด็กนั่งอยู่บนเบาะหลังรถโดยมีคุณพ่อบังคับควบคุมพวงมาลัยอยู่เบื้องหน้า ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดโลหะเข้าไปใต้หนังศีรษะหรือไม่ อย่างไร แต่จะว่าไปแล้วก็คงไม่สลักสำคัญนัก เพราะส่วนที่หนังดูสนใจจะเข้าไปตรวจสอบจริง ๆ ดูจะเป็นเรื่องราวที่เธอหลบหนีการจับกุมด้วยการลบอัตลักษณ์ดั้งเดิมก่อนจะสวมทับตัวตนใหม่เข้าไป กระบวนการดังกล่าวซึ่งหนังฉายย้ำให้เห็นอยู่หลายครั้งหลายครา เริ่มตั้งแต่การตัดผมยาวสลวยจนเหี้ยนเตียน กระแทกดั้งจมูกกับอ่างล้างหน้า ประทับกำปั้นลงบนเบ้าตา ก่อนจะตบท้ายด้วยการนำผ้ามาพันรอบหน้าอกลำตัวอย่างแน่นหนาจนถึงขั้นทิ้งร่องรอยแผลเป็น ไม่นานนักก่อนที่เธอจะได้พบกับแว็งซ็อง (แว็งซ็อง แล็งดง) ชายวัยกลางคนที่รับเธอมาเลี้ยงดูในฐานะ ‘อาเดรียน’ ลูกชายของเขาที่หายสาบสูญ นั่นคือตอนที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นชาย-หญิงถูกเลือนลาง เธอไม่หลงเหลือรูปลักษณ์ความเป็นหญิง ทว่าก็ไม่อาจกลายเป็นชายได้อย่างสมบูรณ์ สภาวะอันอีหลีกอีเหลื่อเช่นนี้มักนำไปสู่บทสรุปอันไม่น่าอภิรมณ์ ทว่าส่วนที่ชาญฉลาดคือการที่คนทำหนังสามารถใช้สภาวะอันละเอียดอ่อนนั้นมาเป็นอาวุธกระเทาะเปลือกแข็งซึ่งห่อหุ้มแว็งซ็อง นั่นคือตอนเราได้เรียนรู้ว่าเขาเองก็กำลังต่อสู้กับสิ่งที่มิอาจขัดฝืน นั่นคือความเสื่อมสภาพของร่างกาย เขากำลังแก่ชรา

ว่าไปแล้วแท็คติกอันแยบยลของคนทำหนังก็เกิดขึ้นตั้งแต่ฉากแรกของเรื่อง เมื่อหนังบังคับให้คนดูกลายเป็นสตอล์กเกอร์เดินสะกดรอยตามอเล็กเซียก่อนที่เธอจะขึ้นแสดงบนรถคาดิลแลคคันโปรด จากนั้นจึงสวมทับสายตาของคนดูด้วยการจ้องมองไปยังเรือนร่างของเธออย่างหื่นกระหาย ก่อนที่ ‘เมลเกซ’ ดังกล่าวจะถูกตลบแตลงกลายมาเป็นการจับจ้องไปยังฉากให้กำเนิดบุตรที่ทั้งเปี่ยมไปด้วยมวลพลังแห่งความหวังและชวนให้ขวัญหนีดีฝ่อไปพร้อมกัน นั่นคือตอนที่หนังซึ่งว่าด้วยความเกลียดชังในตอนต้นกลายร่างไปเป็นหนังที่ว่าด้วยความรักความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ระหว่างอเล็กเซียและรถคาดิลแลคของเธอนั่นก็แบบหนึ่ง ระหว่างแว็งซ็องและลูกชาย(หรือลูกสาว)ของเขาก็อีกรูปแบบหนึ่ง บางทีอาจจะเป็นความอึดอัดคับข้องต่อเปลือกนอกของตนเองที่เชื่อมอเล็กเซียและแว็งซ็องเข้าหากัน เปลือกนอกที่ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อสายตาหื่นกระหาย และเปลือกนอกที่ตอกย้ำเขาถึงความเสื่อมสภาพ

เรื่องน่าหลงใหลของ Titane คือถึงแม้โดยเบื้องหน้าแล้วจะเป็นหนังที่ทั้งเหนือจริงและรุนแรงอย่างอึกทึกคึกโครม แต่ผลงานของคนทำหนังชาวฝรั่งเศสก็ห่างไกลจากการเป็นหนังประเภทที่มุ่งชักชวนให้คนดูลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบอันบิดเบี้ยว และกว่าจะรู้ตัวอีกที เรื่องเหลือเชื่อเหนือมนุษย์ทั้งหลายที่หนังฉายภาพให้เห็นก็ค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์อย่างแน่นแฟ้น มันเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้ที่จะเป็นตัวเองผ่านการกลายเป็นอื่น อย่างที่แผลเป็นเหนือหูของอเล็กเซียตอกย้ำว่าเธอแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ทว่าเธอก็ไม่เคยอับอายหรือคิดที่จะปกปิดมันจากผู้อื่น และโดยไม่ช้าก็เร็ว แว็งซ็องคงจะค้นพบว่า ปริมาณสเตรียรอยด์ที่เขาฉีดอัดเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อย่อมไม่อาจทำให้เขาแข็งขืนต่อวิถีธรรมชาติ ในท้ายที่สุดแล้ว เนื้อหนังซึ่งห่อหุ้มตัวเราไว้ก็ไม่อาจบ่งชี้หรือสลักสำคัญต่อความหมายของการเป็นมนุษย์ที่ทั้งหลากหลายและลื่นไหล ด้วยว่ามันย่อมเหี่ยวย่นและแตกสลายไปตามวิถีแห่งเวลา


Grade: A

Directed by Julia Ducournau
Written by Julia Ducournau
Produced by Jean-Christophe Reymond
Starring Vincent Lindon, Agathe Rousselle, Garance Marillier, Laïs Salameh
Cinematography by Ruben Impens
Edited by Jean-Christophe Bouzy
Music by Jim Williams

‘มิซากิ วาตาริ’ ความทรงจำที่ซ่อนอยู่หลังพวงมาลัยใน Drive My Car

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

เป็นเวลากว่าสองปีหลังจากสูญเสียภรรยาไปอย่างไม่ทันระวังตั้งตัว ยูสุเกะ (ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ) ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในรถ Saab-900 Turbo สีแดงที่มีเพียงตัวเขานั่งกุมบังเหียนอยู่หลังพวงมาลัย ความเงียบภายในรถมักถูกคลอเคล้าด้วยเสียงภรรยาผู้ล่วงลับที่คอยสนทนาตอบโต้จากเทปบันทึกที่เธอทิ้งไว้ให้เขาราวกับเป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย แต่ข้อน่าสังเกตคือการที่หนังวาดภาพยูสุเกะ ไม่ใช่ในฐานะสามีผู้กำลังตรอมตรมอมทุกข์อยู่กับความทรงจำในอดีต แต่เป็นในฐานะคนที่สำเร็จลุล่วงในการชำระความขุ่นหมองในวันวาน จนสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันได้อย่างไม่ทุกข์ร้อน โดยผิวเผิน มันดูจะเป็นผลพวงจากสองกลไกสำคัญซึ่งเขาหยิบยกมาใช้เพื่อป้องกันตนเอง หนึ่งคือพื้นที่อันคับแคบของรถ Saab ที่ปิดกั้นตัวเขาจากโลกภายนอก อีกหนึ่งคือเสียงของภรรยาจากเทปบันทึกที่เปิดโอกาสให้เขาได้ละทิ้งตัวตนเดิม (และความทรงจำหรืออะไรก็ตามที่ติดอยู่กับตัวตนนั้น) เพื่อ ‘กลายเป็น’ ตัวตนอื่น ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘คุณลุงวานยา’

ในแง่นั้น การมาของ มิซากิ วาตาริ (โทโกะ มิอุระ) ในฐานะคนขับรถจึงไม่เพียงสั่นคลอนความเงียบงันในห้องโดยสารและสถานะ ‘ผู้กุมบังเหียน’ ของยูสุเกะ แต่ทำลายสถานะซึ่งเปราะบางอย่างยิ่งยวดอยู่เดิม ฉากแรก ๆ ที่ปรากฏขึ้นหลังจากหนังแนะนำให้เราคนดูได้รู้จักกับมิซากิ วาตาริ ในฐานะคนขับรถที่เทศกาลละครเวทีมอบหมายให้มาช่วยเหลือยูสุเกะ คือภาพมุมสูงจากระยะไกลที่เผยให้เห็นรถ Saab สีแดงกำลังพุ่งทะยานด้วยความเร็วคงที่อยู่บนสะพานขนาดใหญ่ยักษ์ที่ทอดยาวผ่านแม่น้ำ สะพานนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เชื่อมเกาะเล็กเกาะน้อยของเมืองฮิโรชิม่าเข้าด้วยกัน ยังแฝงความหมายของ ‘การเดินทาง’ หรืออีกนัยยะหนึ่งของการเดินทาง ก็คือ ‘การก้าวข้ามผ่าน’ และเมื่อกล่าวเช่นนั้น มิซากิ จึงเปรียบเปรยได้กับหญิงสาวที่จะมาช่วยโอบอุ้มยูสุเกะให้สามารถเติบโตผ่านพ้นความเจ็บปวดในอดีตได้เสียที

จุดร่วมในตัวมิซากิ ซึ่งสอดคล้องไปในทางเดียวกันทั้งเรื่องสั้นของฮารุกิ มุราคามิ และบทภาพยนตร์ของริวสุเกะ ฮามากุจิ คือการที่เธอถูกวาดภาพให้เป็นหญิงสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความลึกลับอันเป็นปริศนา สีหน้าไร้อารมณ์ ท่าทีนิ่งเฉย น้ำเสียงอันราบเรียบ ตลอดจนแผลเป็นขนาดใหญ่บนใบหน้าของเธอห่อหุ้มเรื่องราวความทรงจำในอดีตที่ยังไม่ถูกชำระสะสาง ไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไข ไม่สามารถลบเลือน ว่าไปแล้ว มิซากิก็เหมือนกับยูสุเกะ ในแง่ที่พวกเขาทั้งคู่ต่างโอบพันความเจ็บปวดในอดีตไว้อย่างแน่นหนาและมิดชิด ทว่าไม่ใช่ด้วยการเสแสร้งกลายเป็นอื่นอย่างที่ยูสุเกะถนัดช่ำชองในฐานะนักแสดง แต่มิซากิเรียนรู้ที่จะใช้ความเงียบงันเป็นเกราะป้องกันตัวเองจากความทุกข์ทรมานทั้งหลายทั้งมวล แต่ส่วนที่แยบยลคือการที่ฮามากุจิเลือกจะขุดคุ้ยไปยังเรื่องราวความหลังดังกล่าว และอย่างช้า ๆ สิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมอย่างมิดชิดจึงค่อย ๆ สำแดงตัวตนออกมา

ฉากหนึ่งที่งดงามคือตอนที่มิซากิพายูสุเกะไปยังโรงงานเผาขยะของเมืองฮิโรชิมา หนังกางเผยให้เห็นภาพที่ขยะปริมาณมหาศาลที่ถูกขุดคุ้นขึ้นมาเตรียมการสำหรับเผาทำลาย “สะพานนี้ทอดยาวไปจนถึงทะเล” เธอกล่าวเปรยขณะพาชายหนุ่มเดินเยี่ยมชมโรงงานขนาดใหญ่ มันเป็นฉากที่บ่งชี้ถึงร่องรอยการมีอยู่ของซากหักพังในอดีต เมื่อชายหนุ่มหญิงสาวเหม่อมองออกไปยังกองมูลขยะราวกับมันเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่พวกเขาแอบซ่อนเอาไว้หลังใบหน้านิ่งเฉยของตัวเอง บางทีมิซากิก็อาจกำลังโหยหาหนทางที่จะเผาทำลายความรวดร้าวในอดีตของเธออยู่เหมือนกัน และโดยไม่รีบร้อน ความเงียบงันจึงค่อย ๆ ทำหน้าที่ของมันในการหลอมรวมความแปลกแยกและเป็นอื่นในพื้นที่อันคับแคบของรถ Saab แปรเปลี่ยนมันเป็นบทสนทนาที่ค่อย ๆ นำพวกเขาหวนกลับไปสู่อดีตอันขมขื่น เพื่อชำระสะสางมันให้เสร็จสิ้นเสียที

อาจกล่าวได้ว่าการที่ยูสุเกะอนุญาตให้มิซากิมาเป็นสารถีส่วนตัวของเขา แง่หนึ่งก็เปรียบได้กับการยื่นใบอนุญาตให้เธอเข้ามาบังคับควบคุมพื้นที่ปลอดภัยอันเป็นที่หวงแหนของเขา ในระยะแรก ระหว่างที่ยูสุเกะออกไปทำหน้าที่ฝึกซ้อมนักแสดง ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นก็มักดึกดื่นไปแล้ว มิซากิจึงมักจะต้องนั่งคอยอยู่ลำพังท่ามกลางความเหน็บหนาว มีเพียงหนังสือเล่มเล็กและความอบอุ่นจากมวนบุหรี่ จนกระทั่งเมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจก่อตัวแทนที่ความแปลกแยกระหว่างคนแปลกหน้าทั้งสอง ยูสุเกะจึงตัดสินใจอนุญาตให้เธอเข้าไปนั่งรอในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเขา ด้วยข้อแม้เดียว คือ “ห้ามสูบบุหรี่ภายในรถ” มันจึงนำมาสู่ฉากที่เขาและเธอยื่นบุหรี่ออกไปนอกตัวรถหลังจากเปิดเปลือยความในใจกันอย่างหมดเปลือก ซึ่งเป็นภาพที่งดงามไม่เพียงเพราะมันเป็นสุนทรียที่ถูกออกแบบมาอย่างวิจิตรบรรจง แต่เพราะมันมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ในตอนที่ความสัมพันธ์ของคนแปลกหน้าทั้งสองกำลังสุกงอมได้ที่ ทำให้มันแฝงความหมายใหม่ของความโหยหาที่จะหลุดพ้นออกไปจากกรงกรรมที่กักขังพวกเขาอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ได้มุ่งทำลายหรือรื้นถอนสิ่งพันธกานต์เหล่านี้ ทว่าเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันอย่างโอนอ่อนผ่อนปรน

ในทำนองเดียวกันกับที่ยูสุเกะโอบรับเธอเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของเขา มิซากิจึงยินยอมพายูสุเกะไปเยี่ยมชมอดีตของเธอที่ฮอกไกโด อันเป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวความหลังของแม่ผู้ทิ้งบาดแผลในจิตใจจนปรากฏเด่นชัดอยู่บนใบหน้าของเธอ หนังไม่ได้อธิบายโดยชัด แต่คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าเขาคือคนแรกและคนเดียวที่เธอยินยอมมอบสิทธิอันชอบธรรมในการก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ต้องห้ามนี้ และที่นั่น มิซากินำมวนบุหรี่ที่เธอสูบปักลงไปบนซากปรักหักพังที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านและปัจจุบันกลายเป็นหลุมฝังศพของแม่เธอ ในแง่นั้น เศษซากนี้จึงเปรียบได้กับรถ Saab-900 turbo สีแดงของยูสุเกะ และบุหรี่นี้ก็คือบุหรี่มวนเดียวกับที่ปลดแอกเธอและเขาให้พ้นจากความระทมอมทุกข์ที่ตามหลอกหลอนมาเนิ่นนาน ณ วินาทีนั้น เขาและเธอต่างได้พบกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ