
จากสระว่ายน้ำใน Water Lilies (2007) ถึงเกาะห่างไกลผู้คนใน Portrait of a Lady on Fire (2019) ผลงานของเซลีน เซียมมา มักฉายชัดให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครและสถานที่อันเป็นฉากหลังอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ Petite Maman ผลงานล่าสุดของเธอที่ว่าด้วยเรื่องราวของเนลลี (โจเซฟีน ซองส์) เด็กสาววัยแปดขวบที่บังเอิญค้นพบเรื่องมหัศจรรย์ระหว่างที่เธอวิ่งเล่นสำรวจป่าลึกซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสนามเด็กเล่นของแม่เธอด้วยเช่นกัน ช่วงหนึ่ง เนลลีอ้อนวอนให้คุณแม่พาเธอไปเยี่ยมชมกระท่อมไม้ที่แม่ของเธอสร้างไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอายุเท่าเธอ คุณแม่ปฏิเสธ ด้วยว่าการหวนกลับมายังบ้านเก่าของเธอครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แต่เพื่อเก็บและขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ของคุณยายผู้ล่วงลับ ออกไปจนกระทั่งบ้านคับแคบเหลือแต่เพียงความเวิ้งว้างว่างเปล่า และโดยไม่เร่งเร้า กระบวนการบรรจุความทรงจำลงใส่กล่องข้างต้น ก็ค่อย ๆ สะท้อนเรื่องเหลือเชื่อเหนือจริงที่เนลลีค้นพบในป่ากว้างใหญ่ ซึ่งทำงานไม่ต่างกับบรรจุภัณฑ์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในการโอบอุ้มเรื่องราวความหลังเอาไว้อย่างมากมาย
พูดอีกอย่าง นอกจากสถานที่ หนังยังว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเวลา แต่การเดินทางของเวลาใน Petite Maman หาได้เคลื่อนตัวอย่างเป็นเส้นตรง กลับกัน มันเดินทางเป็นวงกลมโดยมีเศษเสี้ยวความทรงจำที่หล่นหายเรี่ยรายอยู่ตามทาง หรือในอีกแง่หนึ่ง ‘เวลา’ ใน Petite Maman ก็ดูจะวางตั้งโดยไร้ขอบเขตที่แน่ชัด ยากที่จะบอกโดยจะแจ้งว่าเหตุการณ์ทั้งหลายที่หนังบอกเล่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดในหน้าปฏิทิน เรื่องราวที่เราได้พบเห็นผ่านสายตาของเนลลี อาจเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในช่วงเวลาที่โลกกำลังระส่ำระสายจากความสูญเสีย หรือเกิดขึ้นในช่วงสิบหรือยี่สิบปีก่อนหน้าเมื่อพิจารณาจากข้าวของเครื่องใช้ในบ้านคุณยาย ซึ่งในอีกความหมายหนึ่ง ความเลื่อนลอยทางกาลเวลานี้ เมื่อผนวกรวมกับเรื่องราวการเดินทางข้ามเวลาของเนลลี ก็ดูจะมอบสถานะความเป็นหนังไซไฟให้กับ Petite Maman ไปโดยปริยาย แต่จนแล้วจนรอด ความสามารถในการเล่าเรื่องยุ่งยากให้เรียบง่ายของคนทำหนัง ก็ได้ปลดเปลื้องความหนักอึ้งทางหลักวิทยาศาสตร์และความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จนเรื่องราวที่ดูสลับซับซ้อนกลายเป็นเรื่องเล่าที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมชาติอย่างงดงาม
และเมื่อเนลลีได้พบกับมาริยง (แกบรีเญล ซองส์ ฝาแฝดของโจเซฟีน) เด็กหญิงร่างเสมือนของเธอที่อาศัยอยู่ในบ้านที่โครงสร้างเหมือนบ้านของคุณยายเธออย่างไม่มีผิดเพี้ยน ต่างแต่เพียงข้าวของที่ยังสดใหม่ มีชีวิตชีวา และถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตรงกันข้ามกับบ้านคุณยายที่จวนเจียนจะเหลือแต่เพียงความว่างเปล่าเต็มทน นั่นคือตอนที่หนังเปิดเผยว่าแท้จริงแล้ว เรื่องราวใน Petite Maman ไม่ได้สิ้นสุดแค่เพียงการจัดเก็บความทรงจำลงในกล่อง แต่รวมถึงการมุดสำรวจเข้าไปยังกล่องนั้นผ่านสายตาอันใสซื่อบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ ภาพจากกล้องของแคลร์ มาธงมักจับจ้องตัวละครอย่างใกล้ชิด หลายครั้งที่เราคนดูถูกเชื้อเชิญให้นั่งจ้องมองเนลลีและมาริยงในระดับสายตา ตอกย้ำความมุ่งหมายของคนทำหนังที่ต้องการให้เราคนดูหลุดหายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของตัวละคร กลับไปเป็นเด็ก แทนที่จะเป็นนักสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ
หลายครั้งที่หนังซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของการก้าวข้ามผ่านวัยมักชี้ชัดให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ทว่าในผลงานของเซลีน เซียมมา อดีต-ปัจจุบัน โลกจริง-โลกเสมือน ถูกถักทอสอดประสานจนกลายเป็นผ้าผืนเดียวกัน นั่นคือตอนที่ระยะห่างระหว่างวัยซึ่งคั่นกลางระหว่างคนทั้งสามเจนเนอเรชัน (คุณยาย คุณแม่ และเนลลี) ถูกย่นยอจนกระทั่งบรรจบพบกันอย่างแนบชิด บางทีนั่นอาจจะเป็นตอนที่ Petite Maman ประสบความสำเร็จในการทำงานทั้งในระนาบของเรื่องเหลือเชื่อเหนือจริง และเรื่องราวขนาดย่อมเยาว์ที่ว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ผ่านการปะติดปะต่อความทรงจำ อย่างตอนที่เนลลีหยิบภาพที่คุณแม่วาดเมื่อครั้งวัยเด็กมาพินิจพิเคราะห์ หรือตอนที่คุณพ่อหยิบยื่นของเล่นชิ้นเก่าของคุณแม่ให้เธอไปเล่นฆ่าเวลา อย่างช้า ๆ ปฏิสัมพันธ์กับเศษซากความทรงจำเหล่านี้ค่อย ๆ เสริมเติมเต็มรูโหว่ระหว่างเนลลีและแม่ของเธอ ในทำนองเดียวกับที่เธอออกพายเรือเล็กไปสำรวจโลกกว้างกับมาริยงวัยเด็ก เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่พ่อแม่มักมองเห็นลูก ๆ ในฐานะภาพสะท้อนวัยเด็กของตัวเอง ทว่าหากจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ Petite Maman พยายามจะบอกกับดู คงเป็นการที่เด็ก ๆ ก็มองเห็นพ่อแม่ในฐานะเงาสะท้อนของพวกเขาเช่นกัน
Grade: A-
Directed by Céline Sciamma
Written by Céline Sciamma
Produced by Bénédicte Couvreur
Starring Joséphine Sanz, Gabrielle Sanz, Stéphane Varupenne, Nina Meurisse, Margo Abascal
Cinematography by Claire Mathon
Edited by Julien Lacheray