Tag Archives: charlotte wells

Aftersun ‘อาทิตย์อัสดง’ และรสชาติขื่นขมของความทรงจำ

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ใครเคยดู Mirror (1975) ของอังเดร ทาร์คอฟสกี หรืองานเร็ว ๆ นี้อย่าง I’m Thinking of Ending Things (2020) ของชาร์ลี คอฟแมน คงพอจะนึกออกว่า ‘ความทรงจำ’ เมื่อปรากฏบนขอภาพ ล้วนขาดวิ่น เว้าแหว่ง ไม่ปะติดปะต่อ เป็นดั่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ประกอบร่างเข้าหากันอย่างไม่เหมาะเจาะลงตัว ข้อสังเกตที่พบระหว่างรับชม Aftersun (2022) ผลงานแจ้งเกิดของชาร์ลอตต์ เวลส์ ที่บอกเล่าเวลาแสนอบอุ่นของสองพ่อลูก คาลัม (พอล เมสคัล) และ โซฟี (แฟรงกี โคริโอ) คือ ‘ความทรงจำ’ ในหนังของเวลส์นั้นกลับมีลักษณะแจ่มแจ้ง เด่นชัด อบอวลไปด้วยมวลพลังของวันเวลาและสถานที่ ราวกับเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะเรื่องราวที่หนังจะพาเราไปสำรวจต่อจากนี้ หาได้ถูกขับเค้นออกมาจากหน่วยลึกย่อยที่สุดของความทรงจำเพียงลำพัง แต่เป็นผลรวมของกลุ่มก้อนความทรงจำที่ติดสอยออกมากับเหตุการณ์ในเทปบันทึกภาพเมื่อครั้งที่สองพ่อลูกเคยใช้บันทึกวันเวลาร่วมกัน และถึงแม้มันจะไม่คมชัด แต่ก็เพียงพอที่มันจะเปิดคลุมให้เห็นกลุ่มก้อนเหตุการณ์เรื่องราวที่เกี่ยวพันกันยุ่งเหยิงอยู่ภายใต้นั่นอีกทีหนึ่ง

พูดอีกอย่างก็คือ หนังของชาร์ลอตต์ เวลส์ ไม่เพียงพาเราไปปะทะกับความทรงจำในฐานะสิ่งที่เธอจำได้ แต่เป็นความทรงจำในฐานะสิ่งที่ครั้งหนึ่งเธอไม่อาจรับรู้เข้าใจต่างหาก เพราะอย่างที่หนังฉายชัดให้เห็นตั้งแต่ในฉากแรกว่าต้องการที่จะบอกเล่าความทรงจำผ่านเครื่องบันทึกภาพ สิ่งที่คลุมเครือใน Aftersun จึงไม่ใช่ตัวเหตุการณ์เรื่องราว ข้อนั้นเธอจำได้ดี เธอจำได้ว่าสถานที่นั้นเรียกว่าอะไร จำได้ว่าเล่นเกมส์แข่งรถมอเตอร์ไซค์กับใคร สังสรรค์ปาร์ตี้ที่ไหน ฟังเพลงอะไร จำได้กระทั่งว่าเธอสั่งน้ำอะไรในคืนที่เธอปลีกวิเวกอยู่ลำพังในบาร์ของโรงแรม แต่ที่เธอจำไม่ได้ หรือไม่อาจรับรู้และเข้าใจได้อย่างครบถ้วน คือเรื่องราวของคาลัม คุณพ่อของเธอ ว่าเขากำลังเป็นอะไร เขาแอบซ่อนอะไรไว้ภายใต้ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มเหล่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับชายผู้ซึ่งคะยั้นคะยอให้เธอใช้เวลาอันจำกัดจำเขี่ยกับเขาอย่างสนุกคุ้มค่าจนถึงวันสุดท้าย อะไรหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความดึงดันที่จะสอนให้เธอรู้จักป้องกันตัวเองกันแน่?

เรื่องราวของโซฟีและคาลัมจึงเดินเรียงเคียงคู่กันไปตลอดทั้งเรื่อง ทว่าในทิศทางที่แตกต่าง ขณะที่หนังเผยให้เห็นว่านอกจากการใช้เวลากับพ่อไปกับการนอนอาบแดด ลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ ทานอาหารเย็นและรับชมการแสดงจากทางโรงแรม ช่วงเวลาสั้น ๆ อันไร้ซึ่งแรงเสียดทานบนเกาะแปลกแยก ณ ดินแดนแปลกถิ่นนี้ค่อย ๆ เปิดเผยให้โซฟีได้สัมผัสกับเรื่องลับดำมืดของการเป็นผู้ใหญ่ ทั้งกลุ่มวัยรุ่นมั่วสุรายาสูบที่เธอเข้าไปคลุกคลี จนนำไปสู่การเปิดโลกในเรื่องเพศ และเด็กชายผู้ทำให้เธอได้สัมผัสกับจูบแรก กล่าวได้ว่าเหล่านี้คือสัญญาณเตือนชั้นดีว่าโซฟีกำลังก้าวพ้นวัยไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ หรือในอีกความหมายหนึ่ง วันเวลาที่สองพ่อลูกจะได้ใช้เวลาร่วมกันเช่นนี้ บนเกาะแห่งนี้ (ซึ่งโซฟีเปิดเผยในช่วงหนึ่งว่าเธอมาเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อายุ 5 ขวบ) ใกล้จะหมดลงในทุกขณะ และคาลัมน่าจะรับรู้ข้อนี้ดีกว่าใครอื่น

ทว่าพร้อมเดียวกันนั้น ชาร์ลอตต์ เวลส์ยังตั้งประเด็นต่อความคลุมเครือของคาลัมผ่านกลวิธีในการนำเสนอตัวละคร เราคนดูมักเห็นเขาผ่านกรอบประตู หน้าต่าง กระทั่งเงาสะท้อนบนข้าวของเครื่องใช้ โต๊ะกินข้าว ไม่เว้นแม้แต่บนจอโทรทัศน์ที่ปิดมืด และหลายครั้งที่หนังใช้การหลอมละลาย (Dissolve) ภาพเข้าด้วยกันอย่างมีนัยยะแอบแฝง (นอกจากเพื่อความต่อเนื่องของการตัดต่อแล้ว Dissolve ยังสื่อความหมายถึงการเสื่อมสลาย) รวมถึงการจัดแสงให้ความดำมืดโอบคลุมตัวละคร เหล่านี้คือเทคนิคที่คนทำหนังใช้ในการบอกเป็นนัยถึงความไม่ชอบมาพากลของคาลัม ส่องสะท้อนถึงจิตใจอันบอบช้ำที่พร้อมจะแตกสลายย่อยยับ วันเวลาที่สองพ่อลูกใช้ด้วยกันดำเนินเฉื่อยเรื่อยไปจนกระทั่งคืนหนึ่ง คาลัมซึ่งอยู่ในชุดสีดำนำกล้องวีดิโอที่โซฟีถ่ายพวกเขาทั้งคู่มานั่งดูอยู่ในห้องที่มีเพียงแสงสลัวจากโคมไฟ จนกระทั่งเขาตัดสินใจปิดมันและเดินออกไปจากห้อง มุ่งหน้าสู่ชายหาดเปล่าเปลี่ยวไร้ผู้คนก่อนจะถูกกลืนหายไปในหมู่คลื่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ นั่นคือตอนที่จอภาพค่อย ๆ เคลื่อนลอยขึ้นอย่างช้า ๆ ก่อนจะตัดสลับภาพเหตุการณ์ไปยังโซฟีที่กลับเข้ามายังห้องพัก เธอพบคาลัมนอนเปลือยเปล่ารวยรินอยู่บนเตียง

หากพิจารณาบนฐานคิดแบบเหตุผลนิยม ลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมสื่อถึงความพยายามที่จะจบชีวิตตัวเองของคาลัม ทว่าล้มเหลว แต่หากลองพิจารณาจากมุมมองทางคริสต์ศาสนาแล้ว เราอาจมองได้ว่านั่นคือนัยยะของ ‘ศีลจุ่ม’ เป็นการเปรียบเปรยอย่างลุ่มลึกว่าคาลัมได้ตายไปแล้วในทางคริสต์ศาสนา และเขาได้เกิดใหม่ออกมาในร่างเปล่าเปลือยไร้มลทินเฉกเช่นเด็กทารก (เขาจะขอให้โซฟีให้อภัยเขาหลังจากนี้) แนวคิดนี้อธิบายจังหวะการเคลื่อนกล้องลงต่ำสู่ความมืดในฉากถัดมาก่อนที่หนังจะตัดภาพไปยังโซฟี ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ จากสายตาของโซฟี ในวันอาทิตย์อัสดงนั้น คาลัมได้เกิดใหม่กลายเป็นอื่นเรียบร้อยแล้ว เช้าวันถัดมาหนังจึงเผยให้เห็นในฉากที่โซฟีหยิบแว่นกันแดดของคาลัมมาถือเล่นก่อนเขาจะกล่าวเชิงติดตลกว่า ‘ระวังนะ มีคน ตาย เพราะถูกขาแว่นทิ่มหน้ามาแล้ว’ ก่อนที่ทั้งคู่จะออกเดินทางไปแช่บ่อโคลน (ชำระล้างร่างกาย หรือล้างบาป ตามแนวคิดของศีลจุ่ม) และรำไทชิชี่กงริมหน้าผา ซึ่งไร้ข้อกังขาว่าสื่อนัยยะถึงการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ความงดงามในหนังของชาร์ลอตต์ เวลส์น่าจะอยู่ตรงนี้ หนังไม่เพียงพาเราย้อนเวลาไปเชยชมเรื่องราวความหลังอันแสนอบอุ่นและรวดร้าวของสองพ่อลูก แต่แกะสำรวจให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความจริงที่ซุกซ่อนอยู่หลังความทรงจำชุดเดียวกันนั้น เชื้อเชิญให้เราคนดูช่วยกันเติมเต็มช่องว่างระหว่างความทรงจำของโซฟี เผยให้เห็นความจริงอันขื่นขมที่ล้นพ้นเกินไปกว่าสายตาของเด็กหญิงวัย 11 ขวบจะสัมผัสรับรู้ได้อย่างถ้วนถี่ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ลำดับเหตุการณ์ของหนังบ่งชี้ว่าวันเวลา ณ เกาะสวรรค์แห่งนี้คือหนสุดท้ายที่โซฟีได้ใช้กับพ่อของเธอ หนังของชาร์ลอตต์ เวลส์ย้ำเตือนว่าเราต่างไม่อาจหลีกพ้นกฎเกณฑ์ของการลาจาก โซฟีเติบโตขึ้น ขณะที่เวลาของคาลัมหยุดชะงักลง เธอไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้อีก แต่กระนั้น หนังก็ฉายส่องให้เห็นในพร้อมเดียวกันนั้นมิใช่หรือว่า วิธีการที่เราบันทึกจดจำผู้คนเหล่านั้นต่างหากที่สลักสำคัญ คาลัมบุบสลายและเกิดใหม่มิใช่ในรูปแบบของดวงวิญญาณ แต่เป็นความทรงจำ เขาจะยังสถิตอยู่ที่เกาะแห่งนั้น เธอยังสามารถกลับไปเต้นรำกับเขา ในรูปแบบของความทรงจำ เป็นหนสุดท้ายได้อีกครั้งเสมอ


Aftersun กำลังเข้าฉายที่ Doc Club & Pub, House Samyan และ SF Cinema แบบจำกัดโรงภาพยนตร