
สู่อิสรภาพแห่งการเริ่มต้นใหม่ อีกครั้ง
Blue คือผลงานเปิดไตรภาค Three Colors ของคริซตอฟ เคียสลอฟสกี คนทำหนังชั้นครูชาวโปแลนด์ ส่วนที่คอหนังน่าจะทราบกันดี หลักใหญ่ใจความของแต่ละเรื่องจะล้อเรียงไปกับความหมายของสีธงไตรรงค์ฝรั่งเศส ‘เสรีภาพ’ ‘เสมอภาค’ และ ‘ภราดรภาพ’ ทว่าที่ชวนให้เข้าใจผิดคิดไปไกล คือ ความขุ่นมัวทั้งหลายแหล่ที่เคียสลอฟสกีลงไปคุดคุ้ยนั้นหาใช่เรื่องราวการเมืองในระดับมหภาค หากแต่เป็นการลงไปสำรวจตัวตนของหญิงสาวผู้เศร้าโศกจากการสูญเสียลูกและสามีในอุบัติเหตุที่เธอไม่คาดคิด ผ่านการตั้งคำถามหนัก ๆ ถึงความหมายของการมีตัวตน คุณค่าของชีวิต และการรู้จักให้อภัย
จูลี (จูเลียต บิโนช ในบทบาทการแสดงอันทรงพลังที่ส่งให้เธอขึ้นแท่นเป็นไอคอนของวงการหนังอาร์ตเฮาส์) คือภรรยานักประพันธ์ดนตรีชื่อดังแห่งยุค และเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำที่คร่าชีวิตสามีและลูกสาวของเธอ ความเศร้าโศกขับเร้าให้จูลีพยายามจะปลิดชีวิตตนเอง ทว่าจนแล้วจนรอดเธอกลับทำไม่สำเร็จ นั่นคือตอนที่เธอเริ่มกระบวนการ ‘ฆ่าตัวตายทางจิตใจ’ ด้วยการโละข้าวของ ขายบ้านหลังเดียวของเธอทิ้ง พร้อมที่จะหอบผ้าบหอบผ่อนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนที่เธอไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จักเธอ หรือว่าอีกอย่าง Blue คือเรื่องราวของหญิงสาวที่พยายามจะลบชีวิตใต้ร่มเงาสามีของเธอทิ้ง เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในฐานะตัวตนของเธอเอง
หลังความเศร้าโศกจากการสูญเสียครั้งใหญ่เริ่มเจือจางลง ภารกิจแรกสู่การกลายร่างเป็นคนใหม่ที่เธอเลือกทำ คือการโทรหาชายหนุ่มที่เคยหลงใหลคลั่งไคล้เธอมาเนิ่นนานเพื่อชวนเขามายังบ้านพักของเธอ “นายชอบฉันมาตลอด ตอนนี้ฉันว่างแล้ว” เธอกล่าว ส่วนที่น่าแปลกประหลาดคือนี่ไม่ใช่การกระทำเพื่อท้าทายหรือล่วงเกินสามีผู้ล่วงลับ แต่ดูจะเป็นการทดสอบว่าตัวเธอเองยังสามารถ ‘รู้สึก’ อะไรบางอย่างได้อยู่หรือเปล่า ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายอะไรที่เธอจะไม่หลงเหลือความรู้สึกให้ใครหรืออะไรอีกต่อไป ไม่มีแม้กระทั่งความเห็นใจหรือกระทั่งโหยหาที่จะเชื่อมถึงมนุษย์ผู้อื่น
แง่หนึ่ง การตัดสินใจของจูลีที่ต้องการจะออกแสวงหาชีวิตใหม่นอกร่มเงาของสามีเธอ โยนทิ้งชีวิตนกน้อยในกรงทองที่เธอเป็นได้เพียงภรรยาของนักประพันธ์ดนตรีชื่อดังที่ชุบเลี้ยงเธอไว้อย่างดีในคฤหาสถ์หรูเหล่านี้อาจชำแหละแกะความได้ว่า คือ ภาพสะท้อนของแนวคิดลัทธิสตรีนิยม และไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ ตัวตนภาพลักษณ์ใหม่ของจูลีที่พุ่งพล่านไปด้วยความเดือดดาล หนักแน่น และแข็งกร้าว คือการตอกย้ำว่าเธอไม่ใช่หญิงสาวผู้อ่อนแอที่ต้องการการปกป้องจากใคร ทว่าคำถามสำคัญจริง ๆ เกิดขึ้นในตอนที่จูลีบังเอิญไปพบกับนักข่าวที่เข้ามาซักไซร้เธอว่าแท้จริงแล้ว ผลงานดนตรีประพันธ์เหล่านั้นเป็นของสามี หรือของเธอกันแน่? พร้อม ๆ กับเสียงดนตรีที่ดังสนั่นขึ้นมาในห้วงความคิดของเธออย่างปริศนา (และจะสอดแทรกเข้ามาเรื่อย ๆ ตลอดทั้งเรื่อง) นั่นคือตอนที่หนังชักชวนให้คนดูตั้งคำถามถึงอดีตและความสัมพันธ์ระหว่างเธอและสามี อะไรคือสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้เธอต้องการทิ้งตัวตนเดิมและเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดกันแน่?

ทว่าจนแล้วจนแล้ว สิ่งหนึ่งที่จูลีไม่อาจหลีกหนีได้โดยง่าย คือเสียงดนตรีออร์เคสตราที่โถมกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน อย่างช้า ๆ เธอจึงเรียนรู้ว่าตนเองไม่อาจเริ่มต้นใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จจนกว่าเธอจะเข้าไปเผชิญหน้ากับเสียงปริศนา(หรือแง่หนึ่ง-อดีต)ที่ยังคงตามหลอกหลอนเหล่านั้น หนึ่งหรือสองจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หญิงสาวผู้แห้งแล้งอับเฉากลับมาเห็นความสำคัญของการมีชีวิตและความรู้สึกอีกครั้ง คือ ช่วงเหตุการณ์ที่เธอกลับไปเยี่ยมคุณแม่ (ที่ดูเหมือนกำลังประสบภาวะความจำเสื่อม) แม่จำเธอไม่ได้และดูเหมือนจะสับสนระหว่างเธอกับน้องสาวของตัวเอง นั่นคือตอนที่จูลีได้สัมผัสถึงความเจ็บปวดจากการเป็นฝ่ายถูกลืม นั่นคือตอนที่เธอ(และเราคนดู)รับรู้ว่าเธอยังคงรู้สึก อีกฉากหนึ่ง คือ ตอนที่ลูซิลล์ เพื่อนสาวที่ทำงาน ณ คลับเปลื้องผ้าโทรขอความช่วยเหลือให้เธอออกมารับฟังความทุกข์ร้อนยามดึก เธออิดออดเล็กน้อยก่อนจะออกไปตามคำร้องขอ นั่นคือวิธีการที่เคียสลอฟสกีบอกใบ้กับคนดูว่า จูลีไม่อาจปิดกั้นโลกภายนอกจากเธอได้อีกต่อไปแล้ว

อย่างช้า ๆ จูลีเปิดใจที่จะเดินทางกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้เองที่การเปิดรับอดีตอันเจ็บปวดที่ยังตามหลอกหลอนค่อย ๆ เปิดเผยเรื่องราวความลับของสามีที่เธอไม่เคยล่วงรู้ นำพาให้เธอไปเผชิญหน้ากับความกลัวที่เธอเองก็คาดไม่ถึง ทว่าหลังจากก้าวข้ามความกลัวและความเกลียดชัง เธอตัดสินใจสานต่อบทประพันธ์สุดท้ายที่สามีผู้ล่วงลับของเธอไม่อาจได้ทำจนสำเร็จลุล่วง หนึ่งในช็อตที่คมคายมาก ๆ คือช็อตที่กล้องเผยให้เห็นภาพจอมอนิเตอร์ที่ภายในปรากฏเป็นภาพของทารกในครรภ์ ก่อนจะเคลื่อนกล้องไปยังความมืดมิดตัดสลับจับจ้องไปยังนัยตาของจูลี เผยให้เห็นภาพเธอกำลังนั่งคดคู้เปลือยกายราวกับทารกอยู่ภายในดวงตาสีดำนั้น โดยปริยาย หลังจากเปิดรับอดีตอันขมขื่น ให้อภัยและยอมรับความผิดพลาดในอดีต จูลีได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง
Grade: A
Directed by Krzysztof Kieślowski
Produced by Marin Karmitz
Written by Krzysztof Piesiewicz, Krzysztof Kieślowski
Starring Juliette Binoche, Benoît Régent, Hélène Vincent. Florence Pernel. Charlotte Véry. Emmanuelle Riva
Music by Zbigniew Preisner
Cinematography by Sławomir Idziak
Edited by Jacques Witta