Tag Archives: Hirokazu Koreeda

Broker – การเดินทางรวดร้าว ของครอบครัวอื้อฉาว

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ราชบัณฑิตยสถานให้นิยามความหมายของ ‘ครอบครัว’ เป็นคำกลาง ๆ ไร้ความรู้สึก ไม่ได้เอียงแอ่นไปในทางบวกหรือลบเสียทีเดียว แต่กระนั้น ‘ครอบครัว’ คำสั้น ๆ นี้กลับโอบอุ้มนิยามความหมายไว้อย่างหลากหลาย พลิกพลิ้วไปตามประสบการณ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ‘ครอบครัว’ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครหลายคน พอ ๆ กับที่เป็นของแสลงสำหรับคนอีกกึ่งหนึ่ง หรือในกรณีเลวร้ายที่สุด สำหรับบางคนมันอาจเป็นเพียงคำว่างเปล่าไร้ความหมาย หากจะมีใครสักคนหนึ่งที่ท้าทาย ตั้งคำถาม สำรวจนิยามความหมายของความเป็น ‘ครอบครัว’ ผ่านผลงานภาพยนตร์ของเขาอย่างสม่ำเสมอ (หากไม่นับรวมโดมินิค โทเร็ตโต) ก็ต้องเป็น ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่เพียงเพราะเหตุการณ์เรื่องราวในหนังของเขามักโคจรอยู่รอบหน่วยสังคมเล็กย่อยอย่างครอบครัว แต่มันมักเปิดเปลือย เผยให้เห็นมิติซับซ้อน ตลอดจนภาระหน้าที่ซึ่งผูกพ่วงมากับคำแสนสั้นคำนี้

แต่ใครกันเล่าที่มีอำนาจในการตัดสินชี้ขาดว่า ‘ครอบครัว’ คืออะไร หรือกรณีใดบ้างที่เราสามารถนับผู้คนกลุ่มหนึ่งเป็นครอบครัว คงไม่ใช่ราชบัณฑิตฯแน่ แต่เป็นศาสนาความเชื่อหรือเปล่าที่มีอำนาจหนดว่าใครสามารถ/ไม่สามารถเป็นครอบครัว ? หรือจะเป็นชีววิทยาการแพทย์ที่พิสูจน์ได้ถึงความผูกพันทางเลือดเนื้อเชื้อไข? หรือจะเป็นนิติกฎหมายที่ถือสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเช่นทุกครั้ง? หนังของโคเรเอดะพาเราคนดูไปสำรวจประเด็นเหล่านี้ ตลอดจนเผยให้เห็นปัจจัยทับซ้อนที่ขยายพรมแดนความหมายของ ‘ครอบครัว’ ไปอย่างไม่รู้จบ อย่างที่หนังเรื่อง Like Father, Like Son เผยให้เห็นความเปราะบางของสถานบันครอบครัวชนชั้นกลางผ่านความเป็นสายเลือด หรือที่ Shoplifters ผลงานที่ส่งเขาไปรับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ แกะสำรวจให้เห็นว่าความจนไม่ได้ส่งผลแต่เพียงปัญหาปากท้อง แต่กัดเซาะสั่นคลอนไปถึงฐานรากของความเป็นครอบครัว

แต่เมื่อกล่าวเช่นนั้น ก็ใช่ว่าหนังของโคเรเอดะจะรุ่มรวยแต่เพียงข้อเท็จจริงที่จับต้องได้จนหลงลืมมิติด้านอารมณ์ ตรงกันข้าม ทักษะการเล่าเรื่องอันละมุนละม่อมของโคเรเอดะมักหลอกล่อให้คนดูเผลอลดการ์ดป้องกัน ก่อนจะจู่โจมเข้ายังจุดสำคัญอย่างไม่ทันระวังตั้งตัว ลองนึกถึงเหตุการณ์บีบคั้นในช่วงท้ายของ Nobody Knows ที่ถ้าใครทนดูได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาก็ต้องบอกว่า there’s something wrong with you แน่ ๆ ทั้งหลายทั้งมวลนี้ทำให้ Broker ผลงานล่าสุดของเขาที่โยกย้ายไปทำหนังภาษาเกาหลี (และขึ้นแท่นเป็นผลงานที่ใช้ทุนสูงที่สุดของโคเรเอดะไปโดยปริยาย) เป็นหนังที่นักดูหนังทั่วโลกเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ และถึงแม้โดยเบื้องหน้าแล้ว Broker จะเป็นหนังว่าด้วยเหตุการณ์จำเพาะเจาะจงมาก ๆ ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ แต่โดยเนื้อแท้แก่นในแล้ว นี่ยังคงเป็นหนังของโคเรเอดะที่สำรวจประเด็นปัญหาซึ่งมีความเป็นสากลมาก ๆ หนังว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มคนผู้ซึ่งมีเบื้องหลังขุ่นมัวที่จับพลัดจับผลูมาร่วมหัวจมท้ายในรถแวนคันเก่าคันเดียวกัน หนึ่งคือโซยอง (ไอยู) หญิงสาวที่หนังเปิดเผยในตอนเริ่มเรื่องว่านำลูกอ่อนของตัวเองไปทิ้งไว้หน้ากล่อง ‘Baby Box’ ณ โบถส์แห่งหนึ่ง อีกหนึ่งคือซางฮยอน (ซงคังโฮ) นายหน้าค้าเด็กทารก และดงซู (คังดงวอน) ผู้ช่วยของเขา

เทียบเคียงกับผลงานก่อนหน้าของโคเรเอดะ อย่าง Shoplifters ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการลักเล็กขโมยน้อย หรือ I Wish ที่พูดถึงเรื่องเล็กจ้อยอย่างความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของเด็กน้อยหน้าซื่อตาใส การหยิบยกเรื่องราวของการค้ามนุษย์มาส่องสำรวจก็นับได้ว่าท้าทาย และใหญ่โตมโหฬารมาก ๆ นั่นคือตอนที่สัมผัสแผ่วเบาของโคเรเอดะที่มุ่งถ่ายทอดเรื่องราวอย่างประณีต พิถีพิถัน เย้ายวนให้คนดูสั่นเทิ้มไปกับความงดงามของการมีชีวิต ทำให้ประเด็นหนักอึ้งใน Broker ทั้งการทำแท้งและการค้ามนุษย์ ถูกลดทอนความครัดเครียดจนกลายเป็นเพียง plot device เปล่าเปลือยไร้ความสำคัญ โคเรเอดะรู้ดีว่าการจะพาเราคนดูไปถึงจุดหมายปลายทางที่เขาปักหลักตั้งธงไว้ เขาจำเป็นต้องทำให้คนดูรู้จัก เข้าใจ หรือกระทั่งเห็นใจกับปูมหลังของตัวละคร นั่นคือตอนที่หนังเผยให้เห็นว่าพ่อค้ามนุษย์ต่ำช้าเหล่านี้ต่างมีเรื่องราวความหลังซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยเว้าแหว่ง และไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ข้อจำกัดตลอดจนเงื่อนไขเหล่านั้นก็ส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจผันตัวมาเป็นนายหน้าค้ามนุษย์

‘มีลูกทำไม ถ้าไม่คิดจะเลี้ยง?’ ตำรวจหญิงซูจิน (แบดูนา) ทวงถามโซยองด้วยความฉงนปนโกรธเคือง ‘การปล่อยให้เด็กตายอยู่ข้างถนน มันบาปกว่า(การทำให้ตายในครรภ์)อย่างนั้นหรือ?’ โซยองสวนกลับ ก่อนที่บรรยากาศตึงเคร่งจะถูกทิ้งร้างด้วยความว่างเปล่า แล้ว Broker ก็ไม่ได้ขยายพรมแดนการถกเถียงไปเกินกว่าการยกบทสนทนาตื้นเขินข้างต้น หนังของโคเรเอดะมักถูกค่อนแคะว่า ‘โลกสวย’ ซึ่งพิจารณาอย่างยุติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหนักหนาอะไร ทว่าการมองโลก โดยเฉพาะปัญหาหนักอึ้งข้างต้น ด้วยการปิดตาข้างเดียว เลือกรับเฉพาะด้านที่สะอาดหมดจดและสดใส มันไม่มักง่ายไปหน่อยหรือ? อดคิดไม่ได้ว่า Broker ได้รับผลกระทบโดยอ้อมเข้าอย่างจังจากกระแสข่าวที่ศาลสูงอเมริกาลงมติยับยั้งสิทธิการทำแท้งเสรี จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงไปอย่างกว้างขวาง เมื่อพิจารณาถึงผลสัมพัทธ์ดังกล่าว หนังของโคเรเอดะไม่เพียง ‘pro-life’ แต่เชิดชูการ ‘เกิดมา’ อย่างเป็นจริงเป็นจัง ช่วงหนึ่ง เขาให้ตัวละครกล่าววาทะ ‘ขอบคุณที่เกิดมา’ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้ง ราวกับว่ามันจะช่วยให้เราคนดูเชื่อได้สนิทใจว่าตัวละครรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ

เพราะอย่างน้อย ๆ ก็สามหรือสี่ครั้งที่ตัวละครโซยอง ตัดสินใจกลับหัวกลับหางไปมาอย่างไร้สันหลัง โดยที่เราไม่อาจเข้าใจได้ว่าอุดมการณ์หรือเจตจำนงแท้จริงของเธอคืออะไรกันแน่ ครั้งแรก เธอตัดสินใจนำลูกอ่อนไปวางทิ้งไว้นอกกล่อง baby box ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายจนถึงขีดสุด โดยที่รู้แก่ใจเป็นอย่างดีว่าทารกตัวน้อยไม่มีโอกาสรอดพ้นค่ำคืนอันโหดร้ายนี้ไปได้เลย ครั้งที่สอง เธอตัดสินใจกลับมาหาลูกอ่อน (ไม่ด้วยความรู้สึกผิดก็ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่ผุดขึ้นมาอย่างฉบับพลัน) ทว่ามันกลับสายไปเสียเมื่อลูกของเธอถูกขบวนการค้ามนุษย์จับตัวไปก่อนแล้ว ครั้งที่สาม เธอตัดสินใจร่วมมือกับพ่อค้ามนุษย์ในการขายลูกที่เธอตัดสินใจกลับมาช่วยชีวิตเพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ และครั้งที่สี่ เธอตัดสินใจไม่ขายลูกของเธอ พูดง่าย ๆ ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องจากการเขียนตัวละครอย่างหละหลวมและผิวเผิน (ไม่ใช่การแสดง) การตัดสินใจของโซยองแต่ละครั้งเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนพล็อตไปสู่ปลายทางที่คนทำหนังตั้งหลักปักธงไว้ มากกว่าที่จะมาจาก ‘คาแร็คเตอร์’ ของตัวละคร

หนังของโคเรเอดะมักถ่ายทอดเรื่องราวในลักษณะของบันทึกประจำวัน แต่ละแผ่นหน้ากระดาษเผยแผ่ให้เห็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยที่แต่ละเหตุการณ์ก็อาจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อพล็อตเรื่องราว แต่อย่างช้า ๆ มันเปิดเปลือยให้เห็นชีวิตอันแสนสามัญของบรรดาตัวละครซึ่งเต็มไปด้วยมิติหลากหลาย อย่างใน Still Walking ที่เชื้อเชิญให้คนดูเข้าไปจับจ้องชีวิตความเป็นไปของแต่ละสมาชิก แต่ละเจนเนอเรชันของครอบครัวโยโกยามะ โดยไม่มุ่งตัดสินชี้ขาด ขณะที่หนังค่อย ๆ กระเทาะเปลือกให้เห็นถึงพันธะซึ่งยึดเกี่ยวแต่ละตัวละครภายใต้กรอบความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’ และถึงแม้ตัวละครใน Shoplifters จะมีลักษณะเป็น ‘โจรกระจอก’ มาก ๆ แต่โคเรเอดะก็ไม่ขัดเขินที่จะนำพวกเขามากางแผ่ให้เห็นด้านชำรุดผุพัง เผยให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อิงแอบอยู่ใต้ความหมายของครอบครัวเหล่านี้ถูก ‘ระบบ’ ไล่ต้อนอย่างไร

ทว่าใน Broker เรื่องราวสกปรกแสนโสมมกลับถูกพาสเจอร์ไรซ์จนสะอาดหมดจด ตัวละครตำรวจ ซึ่งไร้ข้อกังขาว่าเป็นตัวแทนของระบบ เป็นภาพแทนของนิติรัฐที่มีหน้าที่กวาดต้อนให้คนหัวขบถเหล่านี้อยู่ในกรอบระเบียบ จำเป็นที่จะต้องรับบทโดยนักแสดงหญิง (แบดูนาและอีจูยอง) เพื่อคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันอ่อนโยน เป็นมิตร และที่สำคัญที่สุด ลดทอนความรุนแรงและแข็งกระด้างในฐานะตัวแทนของระบบซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อครอบครัวใน Shoplifters พูดอีกอย่าง นี่คือหนังที่สะท้อนให้เห็นว่าในโลกทุนนิยมกดขี่ที่บีบบังคับให้ผู้คนขายได้แม้กระทั่งเด็กทารกหรือลูกในไส้ ยังมีระบบระเบียบที่พร้อมจะโอบอุ้มใครก็ตามที่สยบสมยอมแก่อำนาจรัฐ นั่นทำให้การทำแท้ง (หรือกระทั่งความคิดที่จะถกเถียงเรื่องการทำแท้ง)ไม่เคยอยู่ในสมการของโคเรเอดะ เพราะในโลกของเขา เด็กทุกคนย่อมค้นเจอครอบครัวของพวกเขา ไม่วันนี้ก็วันหน้า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เสมอ

Grade: B

Directed by Hirokazu Kore-eda
Written by Hirokazu Kore-eda
Produced by Eugene Lee
Starring Song Kang-ho, Lee Ji-eun, Gang Dong-won, Bae Doona, Lee Joo-young
Cinematography by Hong Kyung-pyo
Edited by Hirokazu Kore-eda
Music by Jung Jae-il

จับเข่าคุยกับ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ในวันที่อุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่น เดินตามหลังเกาหลีใต้

ซ้าย: ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ, ขวา: จางเจิ้น

เป็นที่รู้กันว่าญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และอิทธิพลต่อโลกภาพยนตร์ของเอเชียมาอย่างยาวนาน แต่หลังจากความสำเร็จในการแผ่ขยายอิทธิพลของภาพยนตร์และสื่อบรรเทิงจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นดูจะถูกลดทอนความสำคัญลงในไปฐานะมหาอำนาจทางภาพยนตร์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งล่าสุด จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผู้กำกับดีกรีรางวัลปาล์มทองคำ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลในฐานะที่ปรึกษา ด้วยความมุ่งหวังว่าศิลปินคนทำหนังแถวหน้าของญี่ปุ่นจะสามารถนำวิสัยทัศน์ของเขามาปรับใช้และพัฒนาเทศกาล รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นในภาพรวมได้ในที่สุด

ระยะหลังมานี้คุณวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวอยู่เสมอ ดูเหมือนว่าเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว คุณมีความเห็นอย่างไรบ้าง และมีจุดไหนอีกที่คิดว่าต้องพัฒนา?

โคเรเอดะ: เป็นเรื่องจริงที่ผมวิจารณ์การทำงานของเทศกาลอยู่บ่อย ๆ ผมมักจะเสนอความคิดถึงจุดที่น่าจะมีการปรับปรุงเพื่อพัฒนาเทศกาลให้ดียิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตุผลนั้นเองที่พวกเขาตัดสินใจเชิญผมมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ผมเลยตอบตกลง ผมไม่ได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกภาพยนตร์ แต่ในเมื่อตอนนี้ผมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานแล้ว มันคงไม่เหมาะสมที่จะวิพากวิจารณ์พวกเขาออกสื่อสาธารณะอีก เพราะตอนนี้ผมอยู่ในตำแหน่งที่จะต้องรับเสียงวิจารณ์แทน แต่ผมรู้สึกว่าหลาย ๆ อย่างกำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งในแง่หนึ่งก็จะก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ตามมาแน่นอน แต่นั่นคือสิ่งที่ดี เรายังต้องทำอะไรอีกมาก อย่างโปรแกรมเอเชียเลาจน์ที่ผมริเริ่มก็ยังอยู่ในระยะทดสอบ หากปีหน้าเราสามารถฟื้นตัวจากโควิด 19 ได้สำเร็จ เราอาจจะได้เห็นหลาย ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

หลังจากความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ตั้งแต่บงจุนโฮในเวทีออสการ์ และความนิยมของซีรีส์ Squid Game และอีกหลาย ๆ เรื่อง ผมรู้ว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะพูดถึงผลงานภาษาเกาหลีเรื่องใหม่ของคุณ แต่ในฐานะหัวหอกคนสำคัญของอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่น คุณคิดว่าแง่มุมไหนบ้าง ที่สามารถเรียนรู้ได้จากเกาหลีใต้?

โคเรเอดะ: แน่นอนว่ามันมีหลายแง่มุมที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้ อย่างหนึ่งคือความสำเร็จของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ซึ่งผมเชื่อว่ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของอุตสาหกรรมในภาพรวม วิธีการที่พวกเขาสนับสนุนคนทำหนังรุ่นใหม่ ส่งผลให้เกิดความสนใจในหมู่คนดูมากขึ้น จริง ๆ แล้วเทศกาลหนังปูซานอายุน้อยกว่าเทศกาลหนังโตเกียวมาก แต่พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองจนก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก นั่นคืออีกเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากเข้ามาพัฒนาเทศกาลหนังโตเกียว

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อพูดถึงความสำเร็จของวงการหนังเกาหลีใต้ทุกวันนี้ คุณควรมองไปถึงว่าพวกเขาใช้เวลากี่สิบปีกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ รวมไปถึงสิ่งที่คนทำหนัง ค่ายหนัง องค์กรที่ร่วมกันสนับสนุน ร่วมกันฟูมฟักเพื่อให้อุตสาหกรรมของพวกเขาเติบโต ผมคิดว่าเราไม่สามารถมองความสำเร็จ ณ ปัจจุบันของเกาหลีใต้แล้วจับมันมาดัดแปลงกับตัวเราได้เลย บริบทของเราต่างกัน แต่เราสามารถเรียนรู้จากกระบวนการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาของพวกเขาได้

เมื่อมองไปยังอุตสาหกรรมหนังของเรา อายุของคนที่ทำงานอยู่นั้นแตกต่างจากของเกาหลีใต้อย่างมาก ในเกาหลี คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำหนัง หรือมีส่วนกับการทำหนังกันมากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มคลื่นลูกใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ในญี่ปุ่น ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของคนรุ่นใหม่ได้แล้ว เราต้องช่วยกันสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดกลุ่มคนทำหนังใหม่ ๆ ซึ่งก็เป็นสถานการณ์เดียวกับการเมือง อุตสาหกรรม ธุรกิจ และวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน เราต้องทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ในทุกภาคส่วน ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้ จนกว่าสิ่งนี้จะสำเร็จ เราต้องเริ่มจากการหาผู้นำที่เป็นคนรุ่นใหม่ ถึงจะมีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในได้

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในแง่มุมไหนบ้างที่คุณคาดหวังจะเห็น นอกเหนือไปจากในแวดวงเทศกาลหนัง อะไรจะช่วยให้เกิดการผลักดันสนับสนุนให้เกิดคนรุ่นใหม่ สหภาพแรงงาน คณะกรรมการภาพยนตร์จากส่วนกลาง หรือการช่วยเหลือจากภาครัฐ? ผมรู้ว่าคุณไม่ใช่เทคโนแครต แต่คุณมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของเทศกาลนี้

โคเรเอดะ: (ถอนหายใจ ก่อนจะระเบิดเสียงหัวเราะ) มีหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องปรับปรุง เรื่องนี้เราสามารถคุยกันได้ทั้งวัน ในฐานะคนทำหนัง ผมบอกได้เลยว่าไม่มีอะไรในญี่ปุ่นที่สามารถสนับสนุนเราได้เลย เปรียบเทียบกับประเทศอื่น เราไม่มีคนคอยสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงาน ประเด็นหนึ่งก็คือผู้กำกับของเราไม่แม้แต่จะร่วมมือกันศึกษาปัญหาของอุตสาหกรรมนี้ ผมไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะมีใครพร้อมร่วมมือกันเสนอทางแก้ไขปัญหานี้กับรัฐบาล อุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นเก่าแก่มาก แต่มันเป็นระบบการทำงานแบบบนลงล่าง ซึ่งผมไม่เชื่อว่ามันเอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม ทุกวันนี้เรากำลังมองไปยัง 10 หรือ 20 ปีหลังโควิดหรือเปล่า เราได้คิดถึงการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสตรีมมิงในการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือยัง มีใครบางไหมที่คิดอย่างจริงจังว่าเราจะส่งผ่านมรดกทางภาพยนตร์อันเก่าแก่ของเราสู่คนรุ่นถัดไปอย่างไร เหล่านี้คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผมอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเทศกาลหนังโตเกียว

ผมไม่กล้าพูดหรอกว่าผมกำลังทำอะไรให้กับอุตสาหกรรมอย่างมากมาย ผมเองก็กำลังทำหุนังของตัวเองเหมือนกัน แต่ผมจะทำอะไรบางอย่างกับปัญหาเหล่านี้แน่นอน ผมรู้ว่ามันจะเป็นเรื่องยาก เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นเป็นอะไรที่โบราณคร่ำครึ ค่ายหนังอย่าง Nikkatsu, Toho, หรือ Shochiku พวกเขาทำหนังมากว่าร้อยปี แต่ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาได้เตรียมการส่งต่อมรดกเหล่านี้ให้กับคนรุ่นหลังหรือไม่ อย่างไร ค่ายยักษ์ใหญ่เหล่านี้สามารถผลิต โปรโมต และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ได้ด้วยตัวเอง พวกเขาเป็นเจ้าของโรงหนังส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ มันสำเร็จเสร็จสิ้นในตัวมันเอง จากส่วนบนสั่งการลงมายังส่วนล่าง หากคุณเป็นคนทำหนังอิสระ ผมไม่คิดว่าคุณจะสามารถแข่งขันกับพวกเขาได้เลย นี่คือประเด็นหนึ่งที่เราต้องมาคุยกัน แต่มันไม่ง่ายสำหรับคนทำหนังที่จะพูดเรื่องพวกนี้ เพราะเรายังต้องพึ่งพาพวกเขา ในฐานะคนทำหนัง ผมอยากและจำเป็นต้องเป็นมิตรกับค่ายยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็อยากจะวิจารณ์พวกเขาด้วย มันเป็นสถานะที่ไม่มีใครอยากจะประสบ แต่ใครสักคนต้องกล้าพอที่จะพูดความจริงเหล่านี้ และผมจะพูดมันเอง มันคงง่ายกว่าถ้าผมจะเงียบ ๆ ไว้แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำหนังของตัวเองไป แต่ผมคิดว่ามันถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลงแล้ว และผมจะพูดมันเอง

คุณพูดถึงการมาของบริษัทสตรีมมิง ซึ่งญี่ปุ่นได้กลายเป็นพื้นที่ทางการตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Netflix ในเอเชีย และพวกเขากำลังผลิตคอนเทนต์ภาษาญี่ปุ่นปริมาณมากเพื่อดึงดูดสมาชิกหน้าใหม่ ขณะที่ Disney+, Warner Media และ HBO Max ก็กำลังเดินตามกลยุทธิ์นั้น ดูเหมือนว่ากระแสทุนและโปรดิวเซอร์จากนอกประเทศกำลังสนใจที่จะมาลงทุนในญี่ปุ่นมากขึ้น คุณมองประเด็นนี้อย่างไร คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อสายผลิตของญี่ปุ่นหรือไม่ หรือมีความกังวลต่อเรื่องนี้อย่างไร

โคเรเอดะ: แน่นอนว่ามันเป็นโอกาสครั้งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภัยคุกคามเช่นกัน ผมไม่มองมันเป็นขาวหรือดำ ผมคิดว่าเราต้องประเมินมันไปตามบริบทที่มันเป็น เราไม่ควรจะหวงแหนทรัพยากรของตัวเองมากเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรโอนอ่อนอย่างไม่มีข้อแม้ ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นผลงานใหม่ ๆ ซึ่งอาจไม่มีวันได้เกิดขึ้นเลยหากไม่ใช่เพราะสตรีมมิงเหล่านี้ อย่างที่ศิลปินหลาย ๆ คนได้รับโอกาสมาแล้ว

ในฐานะที่ผมเองก็เป็นศิลปินคนหนึ่ง ผมคิดว่าเวลาคุณสร้างสรรค์ผลงานให้แก่บริษัทสตรีมมิงเหล่านี้ คุณต้องคิดไว้เสมอว่ามันจะได้รับการตอบรับอย่างไรในอีก 100 ประเทศ แค่ประเด็นนี้ก็อาจจะกระทบกับงานของคุณอย่างใหญ่หลวงแล้ว มันอาจจะเป็นอิทธิพลในแง่ลบหรือบวกก็ได้ ขึ้นกับว่าคุณมองมันอย่างไร

ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมคิดว่าการผลิตผลงานให้แก่สตรีมมิง ตัวผมเองก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ผมคงไม่ทำหนังประเภทที่ปล่อยให้คนดูได้เข้าไปจมอยู่กับความเงียบงันในโรงหนังมืด ๆ เป็นเวลาสองชั่วโมง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมเองจะเลือกทำหนังแบบไหน แต่คิดว่าคงเป็นในสไตล์ที่ต่างออกไป อาจจะต้องลองดูแล้วค่อยมาพิจารณาว่าผมชอบแบบไหนมากกว่ากัน ทำงานกับบริษัทสตรีมมิงที่มีทุนมากขึ้น ด้วยสไตล์ใหม่ ๆ หรือทำหนังทุนต่ำสำหรับโรงภาพยนตร์อย่างที่ผมเคยทำมาตลอด

แต่อย่างหนึ่งที่ผมเกลียดเกี่ยวกับสตรีมมิงก็คือการที่พวกเขาไม่ปล่อยให้คนดูได้ดูเครดิต พวกเขามักจะรีบตัดไปยังตอนถัดไป สำหรับมุมมองจากคนทำหนังผมไม่ชอบอะไรแบบนั้นเลย คุณควรจะให้เกียรติทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เกิดผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาได้

คำถามสุดท้าย ผมควรจะถามเกี่ยวกับหนังหรือศิลปินคนทำหนัง มันน่าสนใจทีเดียวเวลาได้ยินผู้กำกับพูดถึงเพื่อนร่วมอาชีพของเขา ในบรรดาเพื่อนร่วมอาชีพของคุณในญี่ปุ่น เร็ว ๆ นี้มีผลงานของใครบ้างที่คุณชื่นชอบเป็นพิเศษ

โคเรเอดะ: สำหรับในเกาหลี ส่วนใหญ่ผมจะชอบผลงานหนังอินดี้มากกว่าหนังฟอร์มยักษ์ของพวกเขา อย่าง House of Hummingbird ของคิม โบรา กับ Moving On ของยูน ดานบี เป็นหนังที่ผมประทับใจมาก ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่ดีจริง ๆ

สำหรับในญี่ปุ่น วันก่อนผมเพิ่งได้ดู Wheel of Fortune and Fantasy ของริวสุเกะ ฮามากุจิ ในฐานะผู้กำกับ นี่เป็นหนังที่ทำให้ผมรู้สึกอิจฉาตาร้อนขึ้นมาทีเดียว ตอนผมตื่นขึ้นมาในเช้าวันถัดไป ผมยังคิดถึงหนังเรื่องนี้อยู่เลย หลายครั้งที่คุณดูหนังจบแล้วก็ลืมมันไปในทันที แล้วก็มีหลายเรื่องที่ทำให้คุณรู้สึกอยากลืมมันไปในทันที (หัวเราะ) แต่หนังเรื่องนี้ยังติดอยู่ในความคิดของผม ผมยังคิดถึงฉากสุดท้ายของหนังที่หน้าสถานีเซนไดอยู่เลย มันเป็นประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ที่วิเศษจริง ๆ


อ้างอิง
https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/tokyo-5-questions-with-japans-top-auteur-hirokazu-kore-eda-1235043040/