Tag Archives: Hou Hsiao Hsien

Flowers of Shanghai – แด่เธอ เหล่าบุปผาแรกแย้มที่มิอาจผลิบาน

หนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลหนังสารคดีไต้หวันที่เพิ่งผ่านพ้นไปคงหนีไม่พ้น Flowers of Shanghai ของโหวเสี่ยวเฉียนที่เพิ่งได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาไม่นาน เป็นหนังที่ถือได้ว่าสลักสำคัญในแฟ้มผลงานของหัวหอกคนสำคัญแห่งคลื่นลูกใหม่ของไต้หวัน เพราะนอกจากจะเป็นหนังที่โหวเสี่ยวเฉียนแหกคอกออกจากสไตล์ที่ทำให้เขาเป็นที่สนใจของนักดูหนังตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการมุ่งรำลึกเรื่องราวความหลัง (nostalgia) ไปสู่การทำหนังพีเรียดย้อนยุคซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์ในอดีตโดยตรง นอกจากนี้มันยังเป็นการทดลองภาษาภาพใหม่ ๆ ซึ่งผิดแผกไปจากสำบัดสำนวนที่เขาคุ้นเคย ตั้งแต่วิธีการเคลื่อนกล้อง และการบันทึกภาพจากภายในห้องปิดทั้งหมด แต่กระนั้นก็ยังคงเอกลักษณ์ที่เด่นชัดในการหลีกเลี่ยงการบังคับป้อนข้อมูลให้แก่คนดู แต่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เสาะแสวงหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในกรอบเฟรมนั้น ๆ อย่างเสรี ว่าไปแล้ว ถึงแม้โหวเสี่ยวเฉียนจะถูกรู้จักในฐานะปรมาจารณ์คนทำหนังไต้หวัน แต่โดยพื้นเพแล้วโหวนิยามตัวเองโดยชัดว่า ‘มีรากเหง้าวัฒนธรรมมาจากจีนแผ่นดินใหญ่’ อย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับโอลิวิเยร์ อัซซายาส ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส นั่นอาจเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้หนังของโหวมักว่าด้วยเรื่องราวของความแปลกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่เสมอ

หนังอย่าง The Boys from Fengkuei (1983), Dust in the Wind (1986) หรือ Daughters of the Nile (1987) ต่างก็ฉายภาพให้เห็นถึงความแปลกแยกที่เกิดขึ้นท่ามกลางความว้าวุ่นของสังคมเมืองใหญ่ เช่นเดียวกับหนังในยุคหลังอย่าง Millennium Mambo (2001) หรือ Cafe Lumiere (2003) ที่เขาจะขยับเขยื้อนสายตาไปสอดส่องประเด็นดังกล่าว ณ ต่างแดนอย่างประเทศญี่ปุ่น ในแง่นั้น Flowers of Shanghai ก็ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานของโหวที่มุ่งสำรวจหาคำตอบของคำถามเดิม แต่ส่วนที่ทำให้หนังเรื่องนี้โดดเด่น ไม่เพียงเพราะมันเป็นการพาคนดูย้อนเวลาไปสำรวจเรื่องเหม็นคาวในบ้านบุปผาซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางเขตปกครองของอังกฤษในช่วงสมัยของราชวงศ์ฉิง แต่สำเร็จเด็ดขาดในการแสดงให้เห็นถึงลำดับชั้นทางความสัมพันธ์ระหว่างนางโลม สาวรับใช้ แม่เล้า และบรรดาขุนนางชั้นสูงที่แวะเวียนกันเข้ามาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย ถึงจุดหนึ่ง ร่างแหทางความสัมพันธ์ที่โยงใยกันอย่างสลับซับซ้อนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นอาวุธสำคัญที่คนทำหนังใช้ในการส่องสะท้อนพลวัตรทางอำนาจที่ค่อย ๆ ก่อตัวเป็นแบบจำลองการเมืองขนาดย่อมภายในบ้านบุปผาเหล่านี้

แต่กระนั้น เรื่องไม่ชอบมาพากลของ Flowers of Shanghai ก็คือแทนที่คนทำหนังจะเลือกเพ่งไปยังกามกิจระหว่างขุนนางกับนางบุปผาอย่างที่หนังว่าด้วยชีวิตของหญิงค้าบริการส่วนใหญ่มักเลือกมอง โหวเสี่ยวเฉียนกลับบังคับให้คนดูจดจ่ออยู่กับกิจวัตรอันแสนสามัญ (หรือเรียกได้ว่าไร้แก่นสาร) ตั้งแต่ภาพที่เหล่าชายหนุ่มนั่งล้อมวงรับประทานอาหารโดยมีนางบุปผาของพวกเขานั่งอิงแอบอยู่เบื้องหลัง ระหว่างที่เกมการพนันดำเนินไปและเครื่องดื่มของมึนเมาถูกเสิร์ฟอย่างไม่ขาดสาย มันเป็นการย้ำเตือนกลาย ๆ ว่าสิ่งที่ชายยศสูงศักดิ์เหล่านี้ถวิลหา หาใช่เพียงความสุขจากการร่วมหลับนอน แต่เป็นชีวิตที่พวกเขาไม่อาจมีได้ในโลกภายนอกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่การงานหรือบริบทสังคมที่บีบบังคับก็ตามแต่ เป็นที่รู้กันว่าขุนนางมักถูกจับคลุมถุงชนกับผู้หญิงที่พวกเขาไม่ได้รัก หรือกระทั่งไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อน (ส่วนใหญ่เพื่อผลประโยชน์ทางอำนาจและธุรกิจ) ในการณ์นั้น พวกเขาจึงมักอาศัยช่วงเวลาส่วนตัวปลีกวิเวกจากชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมาใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาถวิลหา

บ้านบุปผาในแง่หนึ่งจึงอาจเปรียบได้กับโลกแห่งความฝัน เป็นโลกจอมปลอมแห่งเดียวที่เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มเหล่านี้ได้มีชีวิต ‘จริง ๆ’ ซึ่งก็ดูจะถูกเน้นย้ำออกมาผ่านสำนวนภาษาภาพยนตร์ของหนัง โดยเฉพาะวิธีการที่กล้องเคลื่อนเลื่อนลอยไปมาอย่างเชื่องช้าทว่าไม่หยุดนิ่ง (ถือเป็นจุดหักเหสำคัญในสไตล์ของโหวเสี่ยวเฉียนที่โปรดปรานการแช่กล้องนิ่ง ๆ) สะท้อนชีวิตของชายหนุ่มเหล่านี้ที่เลื่อนลอยอย่างไร้หลักแหล่ง ตลอดจนวิธีการที่หนังค่อย ๆ เฟดจอภาพจนดำมืดก่อนจะตัดสลับไปยังเหตุการณ์ในช่วงเวลาถัดไป ภาพดำมืดดังกล่าว อาจเปรียบเปรยได้กับชีวิตของบรรดาขุนนางยามที่พวกเขากลับออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกแห่งความเป็นจริง ที่ซึ่งเต็มไปด้วยความมืดมิด จนถึงจุดที่พวกเขาไร้ชีวิตตัวตน ช่องโหว่ของเวลาเหล่านี้ยิ่งขับเร้าให้กาลเวลาใน Flowers of Shanghai กลายเป็นสภาวะสูญญากาศ จนยากจะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใด ราวกับทั้งหมดคือความฝันที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบชัดเจน และพร้อม ๆ กับที่หนังฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับนางบุปผาคนโปรดของพวกเขา Flowers of Shanghai ก็เปิดเปลือยโครงสร้างทางอำนาจที่ห่อหุ้มหญิงสาวเหล่านี้เอาไว้ราวกับไข่ในหิน อย่างเรื่องราวของแม่นางเพลิงพรรณ (มิจิโกะ ฮาดะ) ที่ได้รับการเลี้ยงดูเป็นพิเศษโดยอาหวัง (เหลียงเฉาเหว่ย) มานานหลายปี จนกระทั่งเขาได้พบกับ แม่นางมะลิ (วิกกี้ เหว่ย) ซึ่งเด็กกว่า สาวและสวยกว่า ฐานะและศักดิ์ศรีอันมั่งคั่งยั่งยืนของเพลิงพรรณจึงถูกสั่นคลอนโดยทันที

อย่างไม่รีบร้อน เรื่องราวที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีแบบละครหลังข่าวก็ค่อย ๆ เผยให้เห็นสถานะอันบอบบางของหญิงสาวเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นว่าชีวิตของพวกเธอผูกโยงอยู่กับการมีชื่อเสียงและทรัพย์สินเงินทองอย่างแยกไม่ออกเพียงใด ซึ่งว่าไปแล้วหนังก็ชี้ช่องให้เห็นความน่าเวทนาสงสารผ่านเรื่องราวของ แม่นางมรกต (หลี่เจียซิน) ที่พยายามต่อสู้ดิ้นรนนำรายได้ที่เธอเก็บหอมรอมริบมาไถ่ตัวเองให้เป็นอิสระ นั่นคือตอนที่หนังเปิดเผยให้เห็นว่านอกจากพวกเธอจะถูกซื้อขายถ่ายทอดให้กับขุนนางชายราวกับเป็นสิ่งของ คนที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร คนที่เก็บหญิงสาวผู้โชคร้ายเหล่านี้มาเลี้ยงดูฟูมฟักจนกลายเป็นนางบุปผารูปงาม ก็เป็นหญิงแก่ที่พร้อมจะฉกฉวยผลประโยชน์จากหญิงสาวคราวลูกอย่างไม่ยินดียินร้าย มันนำมาสู่บทสรุปอันน่าเศร้า เพราะจนแล้วจนรอด แม้กระทั่งโลกแห่งความฝันซึ่งหอมหวานและสวยงามสำหรับใครคนหนึ่ง ก็กลับกลายเป็นโลกแห่งบ่วงพันธนาการที่โอบรัดคนอีกกลุ่มหนึ่งไว้เยี่ยงทาสในเรือนเบี้ย ถึงจุดหนึ่ง ชุดผ้าไหมที่พริ้วไหวอย่างสละสลวย เครื่องประดับที่ส่องสะท้อนแสงจากตะเกียงไฟระยิบระยับ ตลอดจนชื่อของพวกเธอที่ถูกตั้งตามอัญมณีเลอค่า ก็กลับทำงานเป็นเครื่องสะท้อนความจริงอันโหดร้าย ว่าทั้งหลายทั้งมวลที่เกิดขึ้นในเมืองลับแลแห่งนี้ ไม่ว่าจะลำดับความนิยม ฐานะเงินทอง ความรัก หรือกระทั่งคำมั่นสัญญา ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง


Grade: A

Directed by Hou Hsiao-hsien
Screenplay by Chu Tʽien-wen
Produced by Shozo Ichiyama, Yang Teng-kuei
Starring Tony Leung Chiu-Wai, Annie Shizuka Inoh, Michiko Hada, Shuan Fang, Jack Kao
Cinematography by Mark Lee Pin-Bing
Edited by Ching-Song Liao