Tag Archives: Jakrawal Nilthamrong

Anatomy of Time (2021) – จนกว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา

ครั้งหนึ่ง อังเดร ทาร์คอฟสกี ตำนานผู้กำกับชาวรัสเซีย เคยกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์และศิลปะแขนงอื่น ๆ ไว้อย่างน่าคิดว่า “ขณะที่ศิลปะแขนงอื่น ๆ ตั้งอยู่บนข้อจำกัดของเวลา สิ่งที่ภาพยนตร์ทำคือการสงวนรักษาไว้ซึ่งเวลา” และเมื่อพินิจพิเคราะห์ดูแล้ว Anatomy of Time หรือ เวลา ของจักรวาล นิลธำรงค์ ก็ดูจะเป็นภาพยนตร์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานะดังกล่าวของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะได้อย่างกระจ่างชัด ไม่เพียงเพราะมันว่าด้วยเรื่องราวของชายหญิงผู้ซึ่งพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกาลเวลา แต่อาจหาญถึงขั้นมุ่งหมายที่จะฉายชัดให้เห็นถึงรูปพรรณสัณฐานของ “เวลา” ผ่านเรื่องราวของความสุขสมและระทมทุกข์  และโดยไม่สลักสำคัญว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะสำเร็จลุล่วงหรือแม่นยำเพียงใด ภาพของเวลาที่หนังฉายให้เห็นก็นับได้ว่าหมดจดงดงาม ด้วยว่ามันทั้งบิดเบี้ยว เว้าแหว่ง บางครั้งเต่งตึง บางครั้งเหี่ยวชรา ดูผิวเผินแล้วน่ายำเกรง ทว่าหลายครั้งก็อ่อนโยนอย่างเป็นมิตร

ยิ่งไปกว่านั้นเวลาใน Anatomy of Time หาได้เดินทางเป็นเส้นตรง มันคดเคี้ยว และกระโดดข้ามไปมาอยู่บนกระแสความทรงจำของ ป้าแหม่ม (เทวีรัตน์ ลีลานุช) หญิงชราที่ต้องดูแลสามีอดีตนายทหารยศใหญ่ (โสระบดี ช้างศิริ) ที่ครั้งหนึ่งเคยเรืองอำนาจ ทว่าปัจจุบันนอนแน่นิ่งกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในบ้านคับแคบ ขณะที่อดีตของป้าแหม่มถูกฉายสลับขึ้นมาเป็นครั้งคราว เผยให้เห็นภาพชีวิตเมื่อครั้งยังสาวของป้าแหม่ม (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์) ที่เข้าไปพัวพันกับรักสามเส้าระหว่างเสธ.รูปหล่อ (วัลลภ รุ่งกำจัด) และหนุ่มชาวบ้านผู้ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่าแทนที่จะยึดเกี่ยวอยู่กับเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวทั้งสาม หนังมุ่งฉายภาพให้เห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตทั้งสองช่วงเวลาของแหม่มและเสธ. ชี้ชัดให้เห็นถึงร่องรอยความเสื่อมสลายอันเป็นผลพวงจากเวลา เมื่อไปป์ยาเส้นถูกแทนที่ด้วยหน้ากากออกซิเจน พื้นที่กว้างใหญ่ของป่าเขียวขจีที่ครั้งหนึ่งเคยห้อมล้อมคู่รักหนุ่มสาว กลายเป็นเพียงห้องอับคับแคบ เพื่อนฝูงและผู้ใต้บังคับบัญชาที่เคยเคารพนับถือ แปรเปลี่ยนกลายเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามทางการเมือง อย่างตอนที่เสธ.วัยชราถูกชาวบ้านตะโกนให้ร้ายในช่วงหนึ่งว่า “ไอ้ขี้ข้าเผด็จการ!”

ว่าไปแล้ว สองสภาวะเหตุการณ์ที่หนังฉายให้เห็น ถึงแม้จะเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ทั้งสองเหตุการณ์ในสองช่วงเวลานั้นสามารถดำรงอยู่ได้โดยอิสระซึ่งกันและกัน และช่องว่างตรงกลางที่หนังปล่อยให้คนดูได้เติมความน่าจะเป็นกันเอาเอง ว่าเพราะเหตุผลกลใดกันแน่ที่ทำให้ชีวิตซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์ของเสธ.และแหม่ม กลับพลิกผันไปอย่างไม่คาดคิด ก็ดูจะเสนอเป็นนัยว่ามันอาจไม่ใช่ความยุติธรรมที่ไล่ตามพวกเขาจะทัน (หากในประเทศนี้ยังมีความยุติธรรมอยู่จริง) แต่เป็นเงื้อมมือของเวลาต่างหากที่ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็ไม่อาจหนีพ้น อาจเพราะเวลาใน Anatomy of Time นั้นถูกซ้อนทับด้วยแนวคิดความเชื่อทางศาสนา อย่างการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่หนังฉายผ่านภาพวัฏจักรชีวิตของเจ้ากำไล สุนัขของป้าแหม่ม (รวมถึงเรื่องราวของแหม่มในตอนท้ายก็อาจตีความได้ถึงสภาวะของการปลดเปลื้องหรือเกิดใหม่) หรืออย่างช่วงหนึ่งคุณพ่อของแหม่มกล่าวขึ้นมาว่า “การกระทำของเรา เป็นผู้ลิขิตชีวิต”

พูดอีกอย่าง ชีวิตในปั้นปลายของเสธ.ก็ไม่ต่างจากการถูกจองจำ ทั้งในเนื้อหนังที่เหี่ยวเฉาและทรุดโทรม หรือแม้แต่ห้องนอนสี่เหลี่ยมที่เขาอาศัยอยู่ก็ประพฤติตัวไม่ต่างกับห้องขัง และไม่ใช่เพียงในระนาบของสถานที่เท่านั้น เสธ.ยังติดหล่มอยู่ในวังวนของเวลา ช่วงหนึ่ง หนังฉายภาพที่เขา(ในช่วงที่ยังมีเรี่ยวแรง)ลุกเดินออกไปนอกบ้าน ทว่าโลกปัจจุบันที่เขาอาศัยอยู่กลับไม่ใช่โลกใบเดิมที่เขาเคยรู้จักอีกแล้ว นี่คือโลกที่ไม่ยอมรับการมีตัวตนของเขาอีกต่อไป ต่างกับแหม่ม ที่ถึงแม้สังคมจะรับรู้ว่าเธอเป็นใครแต่ก็โอบรับเธออย่างมีเยื่อใย อาจเพราะเธอเองก็ไม่ต่างกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ติดหล่มอยู่ในความสัมพันธ์ที่บอกไม่ได้เหมือนกันว่าเธอเองมีสิทธิ์ที่จะแข็งข้อขัดขืนเพียงใด ด้วยหนังเองก็ดูจะมองเธอในฐานะตัวละครที่น้อมรับชะตาชีวิตอย่างโอนอ่อนผ่อนตาม “ไอ้ที่ว่าใครทำอะไรไว้ ก็ควรจะได้สิ่งนั้น มันจริงใช่ไหมคะ” แหม่มเอ่ยถามคุณพ่อของเธอ ทว่าคงมีแต่เพียงเวลาเท่านั้น ที่รู้คำตอบ

Grade: B+

Directed by Jakrawal Nilthamrong
Written by Jakrawal Nilthamrong
Produced by Anouk Sluizer, Mai Meksawan, Yohann Cornu, Chatchai Chaiyon, Panuksmi Hardjowirogo
Cinematography by Phuttiphong Aroonpheng
Edited by Katharina Wartena, Lee Chatametikool