Tag Archives: Jane Campion

The Power of the Dog แด่อัตลักษณ์ตัวตนที่หลบซ่อนอยู่ใต้หน้ากากของความเป็นชาย

ในจักรวาลหนังของเจน แคมเปียน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรที่ตัวละครของเธอมักถูกปลุกปั้นขึ้นมาในฐานะชายหนุ่มหญิงสาวผู้เก็บซ่อนความลับหลากหลายรูปแบบไว้เบื้องหลัง ตั้งแต่แรงจูงใจที่คอยขับเคลื่อนพฤติกรรมสุดห่าม อย่างกรณีของดอว์นใน Sweetie แรงขับเคลื่อนทางกามราคะของเอดาใน The Piano หรือกระทั่งความลุ่มหลงอย่างหัวปักหัวปำของแฟนนีใน Bright Star ในแง่นั้น The Power of the Dog ผลงานล่าสุดของผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ ดูจะไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด หรือจะกล่าวให้จำเพาะเจาะจงยิ่งขึ้นไปอีก ความคลุมเครือนั้นกลับยิ่งกลายมาเป็นอาวุธสำคัญที่แคมเปียนหยิบนำมาใช้กระเทาะเปลือกความเป็นชายอันแข็งกร้าว แล้วก็เหมือน ๆ กับอีกหลากหลายผลงานก่อนหน้าของคนทำหนังชาวนิวซีแลนด์ นี่เป็นอีกครั้งที่เธอเข้าไปสำรวจพื้นที่ซึ่งถูกยึดครองโดยผู้กำกับชายมาเนิ่นนาน ส่วนที่น่าทึ่งคือวิธีการที่เธอยอกย้อนกำหนดกฎเกณฑ์ซึ่งถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา หลายครั้งหลายคราถึงขั้นหยิบฉวยเลนส์สายตาของผู้กำกับชายเหล่านั้นมาตีตราหาความหมายใหม่ ด้วยความมุ่งหวังว่ามันอาจจะเปิดเผยอะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในนิยายต้นฉบับชื่อเดียวกันของโทมัส ซาเวจ

ตัวละครอย่าง ฟิล เบอร์แบงค์ (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) นอกจากจะเป็นจ่าฝูงของบรรดาคาวบอยชายโฉดแห่งมอนแทนา เขายังเป็นพวกเป็นพวกไฮเปอร์มัสคิวลีนที่ยึดถือคำสอนของบรองโก เฮนรี วีรชนผู้เสี้ยมสอนวิถีแห่งชายแท้ให้แก่เขา ราวกับมันเป็นหลักคำสอนทางศาสนา “บุรุษเข้มแข็งเพราะอดทนต่อขวากหนาม” เขาทบทวนความจำขึ้นมาในช่วงหนึ่ง เขาไม่อาบน้ำในห้องน้ำ ไม่ด้วยว่ามันเป็นสถานที่สำหรับผู้หญิงและคนอ่อนแอ(ในความคิดของเขา) ก็ด้วยว่ามันอาจจะทำให้เขาดูสะอาดสำอางเกินไป ท่วงทำนองการเคลื่อนกายของเขาขึงขังพอ ๆ กับสีหน้าที่เข้มขรึมตลอดเวลา ขณะที่อีกด้านหนึ่งน้องชายของเขา จอร์จ (เจสซี พลีมอนส์) เรียกได้ว่าสวมบทบาทเป็นขั้วตรงข้าม เขาสุขุม อ่อนโยน สะอาดสะอ้าน และด้วยรูปร่างอ้วนท้วมยิ่งทำให้เขาผิดแผกไปจากฝูงคาวบอยดิบเถื่อนที่ทุกคนล้วนรูปร่างกำยำ ข้อแตกต่างอีกอย่างระหว่างจอร์จและพี่ชายของเขา คือ เขาไม่ได้ห่อหุ้มตัวเองด้วยเกราะหนาเตอะ ไม่แน่เหมือนกันว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเขาไม่มีอะไรให้ปิดบัง

ซึ่งว่าไปแล้วการเข้าคู่ทางสมการลักษณะนี้ก็ชวนให้หวนนึกไปถึงผลงานของแคทเธอรีน เบรล์ยาต์ (Catherine Breillat) อย่าง Fat Girl ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของสองสาวพี่น้อง ที่ผู้พี่สวมใส่รูปลักษณ์ความงามภายนอกตามขนบนิยมของสังคมชายเป็นใหญ่ ขณะที่ผู้น้องถูกผลักไสให้หลุดออกไปจากกรอบมายาดังกล่าวโดยปริยายเพียงเพราะรูปร่างของเธอ ทว่าแทนที่จะขุดรากถอนโคนความเป็นชายผ่านตัวละครซึ่งอยู่นอกรัศมีวงโคจรของมัน เจน แคมเปียน เลือกที่จะสำรวจมันออกมาจากจุดศูนย์กลาง ผ่านเรื่องราวของฟิลและวิธีการที่เขาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การฉายภาพเปลือกแข็งของความเป็นชายทั้งหลายแหล่ในตอนต้น นอกจากจะเป็นการเกริ่นนำที่ดีถึงความน่าจะเป็นอีกร้อยแปดซึ่งถูกกลบฝังไว้เบื้องลึกและเบื้องหลัง ยังทำงานเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเรื่องราว โดยเฉพาะในตอนที่จอร์จตัดสินใจตกล่องปล่องชิ้นกับแม่หม้ายลูกติดนามว่า โรส (เคิร์สเต็น ดันสต์) การเข้าร่วมเรือนหอของทั้งคู่นำพาให้ฟิลได้กับกับปีเตอร์ (โคดี สมิต-แม็คฟี) เด็กหนุ่มรูปร่างผอมกะหร่องทว่าสูงโย่ง นั่นคือตอนที่เรื่องราวของ The Power of the Dog หันเหจากความสัมพันธ์พี่น้องไปสู่ความสลับซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นอกจากจะเป็นที่หวงแหน ยังคลุมเครือ และเปราะบางอย่างยิ่งยวด

อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบกับ Beau Travail ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์อันอีหลักอีเหลื่อของครูฝึกกับทหารเกณฑ์หน้าหวานนายหนึ่ง เซ็ตติงกองพันทหารที่ถูกโอบล้อมโดยทะเลกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ย้ำเตือนถึงสภาวะของการถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ในทำนองเดียวกับที่ภูเขาลูกใหญ่ตัดขาดคาวบอยเหล่านี้จากโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ กล่าวในทำนองเปรียบเปรย สายตาที่เจน แคมเปียนใช้จ้องมองไปยังคาวบอยหนุ่มเหล่านี้ ก็คือสายตาเดียวกับที่แคลร์ เดอนีส์ใช้สำรวจตรวจสอบพื้นที่ในหลืบลับของกองพันทหารซึ่งยังไม่เคยถูกเปิดเปลือยมาก่อน มันคือสายตาที่คนทำหนังผู้ชายไม่อาจหยิบมาสวมใช้ได้อย่างถนัดถนี่ นั่นคือตอนที่ท่วงทำนอง “ตุ้งติ้ง” ของปีเตอร์คุกคามความเป็นชายของฟิลอย่างฉับพลัน หากมิใช่ด้วยความหลงใหลใคร่ครอบครอง ก็คงด้วยความหวาดผวาอย่างสุดขีด ว่าสายตาเย็นชาของเด็กหนุ่มหน้าหวานอาจมองทะลุผ่านเกราะหนาเข้าไปสำรวจสิ่งที่เขาซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิดภายใน ผลลัพธ์ของมันก็อาจจะไม่ได้สดใหม่ แต่ส่วนที่แยบยลคือความสละสลวยทางสำนวนภาษาของคนทำหนัง ความที่มันไม่ผลีผลามเปิดเผยความรู้สึกอะไรก็ตามที่กำลังก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำ แต่เก็บมันไว้อย่างแอบซ่อนตามความปรารถนาในส่วนลึกของตัวละคร

บางทีฟิลก็อาจจะเหมือนกับปีเตอร์ ในแง่ที่พวกเขาต่างสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับสรีระร่างกาย ไม่ใช่เพียงเพื่อศึกษาว่ามันทำงานอย่างไร แต่เพื่อหาหนทางควบคุม บิดเบือน และเก็บงำสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการเปิดเผยให้ใครรับรู้ มันหวนกลับมาสู่ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรองโก เฮนรี ผู้ซึ่งถูกยกยอปอปั้นว่าเป็นนักขี่ม้ามือฉมัง เป็นผู้นำชั้นยอด เป็นต้นแบบของความเป็นชาย เรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาถูกสืบสาน ถ่ายทอด แพร่ขยาย จนมันกลายเป็นข้อปฏิบัติที่มิอาจขัดฝืนสำหรับใครก็ตามที่มีรูปพรรณสัณฐานเข้าได้กับความเป็นชาย ซึ่งโดยปริยาย ได้กีดกันใครก็ตามที่ไม่อาจหลอมรวมเข้ากับปทัฏฐานดังกล่าวได้อย่างสนิทแนบชิด นั่นคือเหตุผลที่ปีเตอร์ต้องถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่จอร์จต้องถูกเรียกว่า ‘ไอ้อ้วน’ ในทำนองเดียวกับที่โรสที่ไม่อาจเล่นเปียโนได้อย่างที่เธอใฝ่ฝัน แต่ฟิลไม่ได้รู้จักบรองโกในฐานะตำนานเรื่องเล่า บรองโกคือคนที่สอนวิชาเหล่านี้ให้แก่เขา และเขารู้จักบรองโกในแบบที่คนอื่นไม่มีวันได้รู้จัก บางที ฟิลก็อาจจะเหมือนกับบรองโก เขาอาจไม่ได้โอบรับปีเตอร์เข้ามาฝึกสอนวิชาความเป็นชายเพียงเพราะความเอ็นดูหรือสงสารชายหนุ่มผู้กำลังประสบกับความแปลกแยก แต่เพราะเขารู้อยู่แก่ใจเป็นอย่างดีว่าการสมยอมต่อระบบ ซึ่งก็คือความเป็นชาย คือหนทางเดียวที่โลกอันโหดร้ายแห่งนี้จะยอมรับความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสอง


Grade: A-

Directed by Jane Campion
Screenplay by Jane Campion
Produced by Emile Sherman, Iain Canning, Roger Frappier, Jane Campion, Tanya Seghatchian
Starring Benedict Cumberbatch, Kirsten Dunst, Jesse Plemons, Kodi Smit-McPhee, Thomasin McKenzie, Genevieve Lemon, Keith Carradine ,Frances Conroy
Cinematography by Ari Wegner
Edited by Peter Sciberras
Music by Jonny Greenwood