
ความน่าสะพรึงกลัวของ Titane อาจไม่ได้อยู่ที่ภาพน่าสะอิดสะเอียน อย่างเนื้อหนังขาดวิ่นหรือสารคัดหลั่งที่พรั่งพรูราวกับสายน้ำ แต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานอันน่ากระอักกระอ่วน ว่า ‘ร่าง’ ซึ่งห่อหุ้มจิตวิญญาณของมนุษย์เราอยู่นั้นแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถควบคุม หรือกระทั่งครอบครองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยว่ามันอาจเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปอย่างไม่มีข้อจำกัด หรือบางที ‘รูปลักษณ์’ ดังกล่าวก็อาจไร้ความเกี่ยวพันใด ๆ กับสิ่งที่มันห่อหุ้มอยู่ภายในเสียด้วยซ้ำ หนังของจูเลีย ดูกอร์เนา ซึ่งไล่เรียงมาตั้งแต่หนังสั้นอย่าง Junior (2011) และผลงานแจ้งเกิดอย่าง Raw (2016) มักชักชวนให้คนดูจดจ่ออยู่กับเรื่องน่าพิศวงดังกล่าวโดยไม่เบือนหน้าหนี ระหว่างที่หนังฉายชัดให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกับเนื้อหนังชั้นนอก สามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลหนึ่ง ๆ ในระดับจิตใจหรือกระทั่งจิตวิญญาณได้อย่างไรและเพียงใด ส่วนที่ทำให้หนังของเธอโดดเด่นและแตกต่างไปจากหนัง body horror ตามท้องตลาด จนคู่ควรที่จะได้รับการกล่าวขานเทียบเคียงกับมาสเตอร์อย่างเดวิด โครเนนเบิร์ก คือวิธีการที่เธอจ้องมองไปยังภาพน่าสะอิดสะเอียนของเนื้อหนังที่กำลังถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ ซึ่งไม่เพียงน่ากลัว หรือชวนให้ท้องไส้ปั่นป่วน แต่หลายครั้งหลายครามันเป็นการจ้องมองอย่างหลงใหล ราวกับภาพขยะแขยงตรงหน้าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สุดแสนงดงาม
ทว่าใน Titane จูเลียขยับขยายกรอบโฟกัสความสนใจของเธอไปอีก มันไม่ได้จับจ้องอยู่แต่เพียงความน่าหวาดผวาของการเติบโตและความผันแปรของสภาพร่างกาย แต่ถามคำถามที่ใหญ่ขึ้น อย่างความลื่นไหลของอัตลักษณ์ตัวตน รูปร่างหน้าตา ตลอดจนรสนิยม(ทางเพศ) โดยเฉพาะในโลกชายเป็นใหญ่ที่สิ่งเหล่านี้ดูจะถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา อย่างกรณีของอเล็กเซีย (อากัธ รูสเซลล์) แดนซ์เซอร์ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด หลังถูกแฟนคลับสะกดรอยตามหลังเธอเสร็จสิ้นการแสดงเต้นยั่วบนรถคาดิลแลค ก่อนที่เธอจะเอาตัวรอดด้วยการหยิบปิ่นปักผมทิ่มเข้าไปในรูหูของเขาอย่างเหี้ยมโหด ทว่าก่อนที่ Titane จะประพฤติตัวเป็นหนัง rape-revenge โดยสมบูรณ์ คนทำหนังกลับเลือกที่จะเปิดเผยผ่านเสียงบรรยายในโทรทัศน์ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดคดีอุกอาจเช่นนี้ – ซึ่งแน่นอนว่าเธอเป็นผู้ก่อการ – และไม่ใช่เพียงแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ถูกเธอสังหารอย่างเลือดเย็น การเปิดเผยข้อมูลเล็กน้อย ๆ นี้พลิกผันอเล็กเซียจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกลายเป็นผู้ไล่ล่าในทันที
บอกยากเหมือนกันว่ามันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต ในตอนที่อเล็กเซียวัยเด็กนั่งอยู่บนเบาะหลังรถโดยมีคุณพ่อบังคับควบคุมพวงมาลัยอยู่เบื้องหน้า ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดโลหะเข้าไปใต้หนังศีรษะหรือไม่ อย่างไร แต่จะว่าไปแล้วก็คงไม่สลักสำคัญนัก เพราะส่วนที่หนังดูสนใจจะเข้าไปตรวจสอบจริง ๆ ดูจะเป็นเรื่องราวที่เธอหลบหนีการจับกุมด้วยการลบอัตลักษณ์ดั้งเดิมก่อนจะสวมทับตัวตนใหม่เข้าไป กระบวนการดังกล่าวซึ่งหนังฉายย้ำให้เห็นอยู่หลายครั้งหลายครา เริ่มตั้งแต่การตัดผมยาวสลวยจนเหี้ยนเตียน กระแทกดั้งจมูกกับอ่างล้างหน้า ประทับกำปั้นลงบนเบ้าตา ก่อนจะตบท้ายด้วยการนำผ้ามาพันรอบหน้าอกลำตัวอย่างแน่นหนาจนถึงขั้นทิ้งร่องรอยแผลเป็น ไม่นานนักก่อนที่เธอจะได้พบกับแว็งซ็อง (แว็งซ็อง แล็งดง) ชายวัยกลางคนที่รับเธอมาเลี้ยงดูในฐานะ ‘อาเดรียน’ ลูกชายของเขาที่หายสาบสูญ นั่นคือตอนที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นชาย-หญิงถูกเลือนลาง เธอไม่หลงเหลือรูปลักษณ์ความเป็นหญิง ทว่าก็ไม่อาจกลายเป็นชายได้อย่างสมบูรณ์ สภาวะอันอีหลีกอีเหลื่อเช่นนี้มักนำไปสู่บทสรุปอันไม่น่าอภิรมณ์ ทว่าส่วนที่ชาญฉลาดคือการที่คนทำหนังสามารถใช้สภาวะอันละเอียดอ่อนนั้นมาเป็นอาวุธกระเทาะเปลือกแข็งซึ่งห่อหุ้มแว็งซ็อง นั่นคือตอนเราได้เรียนรู้ว่าเขาเองก็กำลังต่อสู้กับสิ่งที่มิอาจขัดฝืน นั่นคือความเสื่อมสภาพของร่างกาย เขากำลังแก่ชรา
ว่าไปแล้วแท็คติกอันแยบยลของคนทำหนังก็เกิดขึ้นตั้งแต่ฉากแรกของเรื่อง เมื่อหนังบังคับให้คนดูกลายเป็นสตอล์กเกอร์เดินสะกดรอยตามอเล็กเซียก่อนที่เธอจะขึ้นแสดงบนรถคาดิลแลคคันโปรด จากนั้นจึงสวมทับสายตาของคนดูด้วยการจ้องมองไปยังเรือนร่างของเธออย่างหื่นกระหาย ก่อนที่ ‘เมลเกซ’ ดังกล่าวจะถูกตลบแตลงกลายมาเป็นการจับจ้องไปยังฉากให้กำเนิดบุตรที่ทั้งเปี่ยมไปด้วยมวลพลังแห่งความหวังและชวนให้ขวัญหนีดีฝ่อไปพร้อมกัน นั่นคือตอนที่หนังซึ่งว่าด้วยความเกลียดชังในตอนต้นกลายร่างไปเป็นหนังที่ว่าด้วยความรักความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ระหว่างอเล็กเซียและรถคาดิลแลคของเธอนั่นก็แบบหนึ่ง ระหว่างแว็งซ็องและลูกชาย(หรือลูกสาว)ของเขาก็อีกรูปแบบหนึ่ง บางทีอาจจะเป็นความอึดอัดคับข้องต่อเปลือกนอกของตนเองที่เชื่อมอเล็กเซียและแว็งซ็องเข้าหากัน เปลือกนอกที่ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อสายตาหื่นกระหาย และเปลือกนอกที่ตอกย้ำเขาถึงความเสื่อมสภาพ
เรื่องน่าหลงใหลของ Titane คือถึงแม้โดยเบื้องหน้าแล้วจะเป็นหนังที่ทั้งเหนือจริงและรุนแรงอย่างอึกทึกคึกโครม แต่ผลงานของคนทำหนังชาวฝรั่งเศสก็ห่างไกลจากการเป็นหนังประเภทที่มุ่งชักชวนให้คนดูลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบอันบิดเบี้ยว และกว่าจะรู้ตัวอีกที เรื่องเหลือเชื่อเหนือมนุษย์ทั้งหลายที่หนังฉายภาพให้เห็นก็ค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์อย่างแน่นแฟ้น มันเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้ที่จะเป็นตัวเองผ่านการกลายเป็นอื่น อย่างที่แผลเป็นเหนือหูของอเล็กเซียตอกย้ำว่าเธอแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ทว่าเธอก็ไม่เคยอับอายหรือคิดที่จะปกปิดมันจากผู้อื่น และโดยไม่ช้าก็เร็ว แว็งซ็องคงจะค้นพบว่า ปริมาณสเตรียรอยด์ที่เขาฉีดอัดเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อย่อมไม่อาจทำให้เขาแข็งขืนต่อวิถีธรรมชาติ ในท้ายที่สุดแล้ว เนื้อหนังซึ่งห่อหุ้มตัวเราไว้ก็ไม่อาจบ่งชี้หรือสลักสำคัญต่อความหมายของการเป็นมนุษย์ที่ทั้งหลากหลายและลื่นไหล ด้วยว่ามันย่อมเหี่ยวย่นและแตกสลายไปตามวิถีแห่งเวลา
Grade: A
Directed by Julia Ducournau
Written by Julia Ducournau
Produced by Jean-Christophe Reymond
Starring Vincent Lindon, Agathe Rousselle, Garance Marillier, Laïs Salameh
Cinematography by Ruben Impens
Edited by Jean-Christophe Bouzy
Music by Jim Williams