Tag Archives: Kogonada

After Yang – ‘เอเชียประดิษฐ์’ ในความทรงจำสุดท้ายของหุ่นยนต์ใกล้ตาย

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสายธารความสนใจใน ‘ความเป็นเอเชีย’ ที่กำลังก่อตัวขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดส่งผลให้เกิดการสำรวจเรื่องราวของคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียในหลากหลายแง่มุม ก่อนหน้านี้หนังอย่าง The Farewell ของลูลู่ หวัง ก็ฉายชัดให้เห็นถึงการปะทะดุเดือดระหว่างวัฒธรรมตะวันออกและตะวันตกภายในครอบครัวคนอเมริกันเชื้อสายจีน Minari ของอีไอแซ็คจอง ก็ถ่ายทอดความลำบากยากเข็ญของคนเอเชียในการตั้งรกรากใหม่ได้อย่างบุบสลายและงดงาม แต่ประเด็นหนึ่งที่ใหม่และน่าสนใจมาก ๆ ใน After Yang ของโคโกนาดะ คือการสำรวจความเป็น  ‘เอเชียนโดยประดิษฐ์’ (Constructed Asianness) ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่คนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยเฉพาะเจนเนอเรชันที่สอง หรือรุ่นลูก ๆ กำลังประสบอยู่โดยตรง และน่าจะเป็นข้อแตกต่างสำคัญที่ทำให้งานของโคโกนาดะแตกต่างไปจากหนังไซไฟที่ว่าด้วยเรื่องราวของปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ที่มักจะมุ่งตั้งคำถามถึงสถานะความเป็นมนุษย์ของปัญญาประดิษฐ์  แต่ After Yang ถามไปถึงว่า นอกจากข้อควรสงสัยเรื่องความเป็นมนุษย์แล้ว ปัญญาประดิษฐ์สามารถมีเชื้อชาติ(ในที่นี้คือเอเชีย)ได้หรือเปล่า? คำถามนั้นชวนให้เราย้อนคิดกลับไปอีกว่า แล้วความเป็นเอเชียคืออะไรกันแน่?

ลูกหลานผู้อพยพชาวเอเชียจำนวนไม่น้อยกำลังประสบกับปัญหาวิกฤติตัวตน พวกเขาไม่ถูกยอมรับในฐานะอเมริกัน แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่หลงเหลือความเป็นเอเชียมากพอที่จะเรียกตัวเองว่าคนเอเชียได้อย่างเต็มภาคภูมิ การเติบโตในอเมริกาทำให้พวกเขาห่างเหินจากวัฒนธรรมเอเชีย หรืออาจกระทั่งร่อยหรอความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ หลายครอบครัวแก้ปัญหาโดยการส่งลูกไปโรงเรียนพิเศษสำหรับสอนวัฒนธรรมเอเชีย (ซึ่งก็ก่อตั้งโดยบรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ นั่นแหละ) คำถามที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เช่นนั้นแล้วการรับรู้เกี่ยวกับเอเชียผ่านชุดข้อมูล (Facts) เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาเรียกตัวเองว่าคนเอเชียได้หรือเปล่า? และโดยไม่รอคำตอบ หนังก็ถามไปอีกทอดหนึ่งว่า แล้วหากคน ๆ หนึ่ง (หรือหุ่นยนต์ที่มีหน้าตาเหมือนคนเอเชียตัวหนึ่ง) มีความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงของวัฒนธรรมเอเชียอย่างถ่องแท้ นั่นเพียงพอแล้วหรือยังที่เราจะนับรวมเขาเป็นคนเอเชีย?

ใน After Yang หุ่นเทคโนเซเปียน ไม่ได้เป็นเพียงหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลืองานบ้านงานเรือน แต่ยังถูกโปรแกรมมาเพื่อถ่ายทอด ‘วัฒนธรรม’ ให้แก่มนุษย์ หรือในกรณีของมิก้า (เมเลีย เอ็มม่า) ก็คือวัฒนธรรมจีน เธอเป็นเด็กหญิงเชื้อสายจีนที่ เจค (โคลิน ฟาร์เรล) ชายผิวขาว และ คีรา (โจดี เทอร์เนอร์-สมิธ) หญิงผิวดำ รับมาเลี้ยงในฐานะลูกสาวของครอบครัว นัยยะของการประกบคู่ผู้ชาย-ผิวขาว กับผู้หญิง-ผิวดำ ของโคโกนาดะถือว่าคมคายมาก ๆ มันไม่เพียงสะท้อนความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่รวมถึงความล้ำเหลื่อมทางอำนาจระหว่างชาย-หญิง และคนผิวขาว-คนผิวดำ ในแง่นั้น สถานการณ์ของมิก้าจึงละม้ายคล้ายกับสิ่งที่ลูกหลานชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกำลังประสบพบเจอ นั่นคือการดำรงอยู่ในฐานะ ‘สมาชิกใหม่ของครอบครัว’ ซึ่งประกอบด้วยคนขาวผู้ปกครองและคนผิวดำผู้เจ็บช้ำมาก่อน และท่ามกลางสังคมพหุเชื้อชาตินี้ ลูกหลานคนเอเชียจำนวนไม่น้อยที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นคนเอเชียทั้งที่พวกเขาอาจไม่ได้รู้จัก เอเชีย ดีไปกว่าเพื่อนคนขาวของพวกเขา หลายคนพูดภาษาพ่อแม่ของตัวเองไม่ได้ หรือได้ก็อาจโดยไม่ถนัดคล่องแคล่ว (นึกถึงกรณีของ จอย ใน Everything Everywhere All at Once) แต่กระนั้น พวกเขาก็จำต้องแบกรับตัวตนของความเป็นเอเชียที่สังคมมอบให้อย่างไม่อาจสลัดหลุด มันนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ของพวกเขาในฐานะมนุษย์โลกคืออะไร รกรากของพวกเขาอยู่ที่ไหนกันแน่?

อีกข้อหนึ่งที่น่าสำรวจมาก ๆ คือวิธีการที่โคโกนาดะออกแบบหยางให้เป็นหุ่นยนต์เอเชีย ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการท้าทายขนบการเล่าเรื่องของฮอลลีวู้ดอย่างถอนรากถอนโคน หลายครั้งหลายคราที่เราเห็นคนเอเชียรับบทตัวละครกลวงเปล่าไม่ต่างกับหุ่นกระป๋องที่มีหน้าที่เพียงช่วยเหลือคนผิวขาว (นึกถึงตัวละครของแบดูนาใน Cloud Atlas หรือตัวละครตลอดจนวัฒนธรรมเอเชียที่ถูกหยิบมาใช้อย่างฉาบฉวยใน The Matrix, Blade Runner) หยางกลับทำหน้าที่เป็นกล่องบันทึกความทรงจำมากมายที่รอให้คนผิวขาวเข้าไปค้นพบ ซึ่งไม่ได้หมายรวมเพียงชีวิตก่อนความตายของหยาง ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมนุษย์คนอื่น แต่รวมถึงวิธีการที่หยาง ในฐานะเอเชียน สัมผัสรับรู้สรรพสิ่งรอบตัวในแบบที่คนตะวันตกอาจไม่เคยเข้าใจมาก่อน ฉากหนึ่งที่งดงามมาก ๆ เกิดขึ้นในตอนที่มิก้าสารภาพกับหยางว่า ครั้งหนึ่ง เพื่อนร่วมชั้นเรียนบอกกับเธอว่าเจคและคีร่า ไม่ใช่ ‘พ่อแม่แท้ ๆ’ ของเธอ ซึ่งเธอเองก็ดูเหมือนจะเชื่อเช่นนั้น (เพราะรูปร่างหน้าตาของพวกเขาแตกต่างจากเธออย่างสิ้นเชิง) หยางไม่ผลีผลามตอบสนอง แต่พามิก้าไปเดินสำรวจต้นไม้ในสวนแห่งหนึ่งซึ่งกำลังถูกขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งจากต้นข้างเคียง ‘นี่คือวิธีการที่คนจีนใช้กันตั้งแต่โบร่ำโบราณ’ เขาร่ายชุดข้อมูลใส่มิก้า หลังจากพินิจพิเคราะห์ต้นไม้ซึ่งผ่านการตัดทาบจนกิ่งแปลกปลอมกลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นใหม่โดยสมบูรณ์ ‘เธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเช่นเดียวกับกิ่งนี้’ เขาปลอบประโลมน้องสาว

ตัวโคโกนาดะเองก็เป็นคนอเมริกันเชื้อสายเกาหลีที่ย้ายตามครอบครัวมาตั้งรกรากในอเมริกา (แม่ของเขาเป็นคนเกาหลีเหนือ) ชื่อโคโกนาดะ เป็นนามปากกา มีที่มาจากโคโงะ นาดะ มือเขียนบทคู่ใจของยาซูจิโร โอสุ คนทำหนังที่เขาโปรดปรานมาก ๆ หนังของโคโกนาดะจึงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งตะวันตก ตะวันออก ถูกคละเคล้ากันอย่างลงตัว ตั้งแต่จังหวะการดำเนินเดินเรื่องที่เนิบช้าเหมือนหนังของโอสุ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ตัวละครสวมใส่ล้วนรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น นั่นรวมถึงราเมงที่เจคและคีรารับประทานอย่างเอร็ดอร่อยระหว่างวีดิโอคอล ตลอดจนดนตรีและบทเพลงโดยริวอิจิ ซากะโมโตะ และ Mitski กระทั่งตัวละครเจคยังเป็นเจ้าของร้านชาที่หลงรักการชงชาและดื่มชาอย่างผิดวิสัย ‘พ่อชื่นชอบชาเพราะรสชาติของมันหรือ?’ หยางถามพ่อบุญธรรมของเขาด้วยความฉงนสงสัย ‘สิ่งที่ทำให้พ่อหลงใหลในชาคือธรรมชาติของมัน ธรรมชาติที่เชื่อมผืนดิน ต้นไม้ มวลอากาศ และวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน’ เจคตอบกลับ

บางทีเจคก็อาจจะเหมือนกับหยางในแง่ที่ว่าพวกเขาต่างเชื่อมติดกับวัฒนธรรมเอเชียอย่างเพียงหละหลวม เจครู้ดีว่าเขาไม่อาจถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนให้แก่มิก้า เขาจึงซื้อหยางมาเพื่อทำหน้าที่นี้ ขณะหนึ่ง หนังเปิดเผยให้เห็นว่าเจครู้จักวัฒนธรรมการชงชาผ่านสารคดีของผู้กำกับชาวเยอรมัน (จากเสียงที่เขาทำเลียนแบบ คอหนังน่าจะบอกได้ทันทีว่านั่นคือแวร์เนอร์ แฮร์ซอก หัวหอกคนสำคัญของ German New Cinema ที่เคยทำสารคดีเรื่อง All in This Tea) เจครู้ว่าการดื่มชาโอบอุ้มนัยยะเบื้องหลังมากกว่าการดื่มด่ำเพื่อรสชาติ แต่เป็นบันไดที่เชื่อมมนุษย์เข้ากับสรรพสิ่ง ไม่เพียงในระดับกายภาพแต่รวมถึงจิตวิญญาณ แต่กระนั้นก็ไม่อาจสรรหาคำพูดมาอธิบายสิ่งที่เขาเข้าใจได้ ‘ผมสามารถเล่าประวัติศาสตร์ของการชงชาให้คุณฟังตอนนี้ได้เลย’ หยางยื่นข้อเสนอต่อเจค ก่อนจะถูกปฏิเสธทันควัน หยางอาจรู้จักวัฒนธรรมการชงชาเป็นอย่างดีในฐานะชุดข้อมูลที่เขาถูกโปรแกรมมาให้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นแก่มนุษย์ แต่เขายังสงสัยใคร่รู้ในข้อความเห็นของเจคที่ว่าชามีอะไรลึกซึ้งมากไปกว่ารสชาติความเอร็ดอร่อย นั่นคือฉากที่สละสลวยที่สุดของ After Yang เทคนิคการตัดต่อของโคโกนาดะบอกเป็นนัยว่าถึงแม้หยางจะยังไม่อาจเข้าใจในสิ่งที่เจคพูดได้อย่างถ่องแท้ แต่เขาหลงใหลในความคิดเหล่านั้น หลงใหลในไอเดียที่ว่าสรรพสิ่งล้วนโอมอุ้มความหมายอะไรบางอย่างไว้เบื้องหลัง และเขาจะต้องประมวลข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่หน่วยความทรงจำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พูดอีกอย่างหนึ่ง หนังของโคโกนาดะไม่เพียงตั้งคำถามว่า ‘อะไรทำให้เราเป็นมนุษย์’ ซึ่งเป็นปริศนาที่ถูกสำรวจกันมาตั้งแต่เรื่องราวของพิน็อคคิโอ แต่ถามคำถามที่ยังไม่เคยมีหนังปัญญาประดิษฐ์เรื่องไหนเคยถามมาก่อน ว่า ‘อะไรทำให้เราเป็นคนเอเชีย’ การรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัฒนธรรมเอเชียโดยปราศจากความเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์และประสบการณ์โดยตรงเพียงพอหรือเปล่าที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งเป็นเอเชียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ หรือมันคือหน้าตา สีผิว หรือการแสดงออกทางจีโนไทป์อื่น ๆ ตลอดจนความสามารถในการรับรู้ความหมายของสิ่งหนึ่งลึกซึ้งไปกว่าสัมผัสทั้งห้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเงื่อนไข สัมผัสแผ่วเบาทว่าแม่นยำของคนทำหนังเปิดโอกาสให้คำถามมากมายพรั่งพรูออกมาไม่รู้จบ แต่จนแล้วจนรอด หนังของโคโกนาดะก็ปฏิเสธที่จะมอบคำตอบที่เป็นรูปธรรมแก่คนดู ไม่ด้วยคำถามเหล่านี้ไร้ซึ่งคำตอบสุดท้าย ก็อาจเป็นเพราะท้ายที่สุดแล้วการขวนขวายหาคำตอบทั้งหลายนี้อาจเป็นเรื่องป่วยการเสียทีเดียวก็เป็นได้ อย่างที่หยางชี้ให้เห็นในช่วงหนึ่ง มันจะสำคัญอย่างไรว่ารกรากของเรามีที่มาจากต้นไม้ต้นไหน หากเรายังคงเติบโตงอกเงยบนต้นใหม่ได้อย่างงดงาม เฉกเช่นความทรงจำเมื่อครั้งเขารับบทบาทกดชัตเตอร์ถ่ายรูปครอบครัว หยางเดินเชื่องช้าเข้าไปร่วมเฟรมตามคำร้องเรียกของเจค คีร่า และมิก้า

เขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้เช่นกัน


After Yang กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์