
ช่วงหนึ่งใน Spencer สามแม่ลูก ไดอาน่า (คริสเตน สจ๊วต) เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่ นั่งคุดคู้พูดคุยกันอย่างอบอุ่นในห้องนอนของเจ้าชายทั้งสอง เมื่อเจ้าชายวิลเลียมตั้งคำถามด้วยความฉงนสงสัยว่า “ทำไมเราถึงแกะกล่องของขวัญในคืนก่อนวันคริสต์มาส แทนที่จะเป็นวันคริสต์มาสเหมือนคนอื่น ๆ?” เจ้าชายแฮร์รี่เชื่อว่าเป็นเพราะพวกเขา (ชนชั้นปกครอง) จะได้ของขวัญที่วิเศษที่สุดก่อนบรรดาสามัญชน “ลูกได้เรียนเรื่องเทนส์หรือยัง” ไดอาน่าถามลูก ๆ ของเธออย่างมีเลศนัย ก่อนจะอธิบายต่อไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและแผ่วเบา ว่าเพราะสถานที่ที่เธอและลูก ๆ อาศัยอยู่นั้นแท้จริงแล้วปราศจากซึ่งอนาคต มีแต่เพียงอดีตและปัจจุบันที่ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน บางที นั่นอาจจะเป็นประโยคที่ไม่เพียงย่นย่อสถานการณ์ที่เธอกำลังประสบพบเจอได้อย่างกระชับรัดกุม ทว่ายังคงแฝงซ่อนไว้ซึ่งความน่าสะพรึงของสภาวการณ์ดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ในอีกทางหนึ่ง มันยังบ่งชี้ถึงสถานะการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งวางตั้งอยู่บนขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่ทั้งแข็งทื่อและล้าหลัง เป็นสัญลักษณ์ของขั้วอำนาจเก่าที่ยังคงตั้งตระหง่านท้าทายกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
“พวกเขาไม่เปลี่ยนหรอก คุณต่างหากที่ต้องเปลี่ยน” แม็กกี้ (แซลลี ฮอวกินส์) กล่าวกับไดอาน่าในช่วงหนึ่ง ซึ่งว่าไปแล้ว สิ่งที่พาโบล ลาร์เรนดูจะสนอกสนใจเป็นพิเศษในเรื่องราวของไดอาน่าก็คงจะเป็น ‘การเปลี่ยนแปลง’ ดังกล่าว ทว่าไม่ใช่ในฐานะการเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จลุล่วง แต่เป็นความล้มเหลวอย่างไม่มีชิ้นดี หนังเลือกอย่างจำเพาะเจาะจงที่จะจับจ้องไปยังชีวิตของไดอาน่าในช่วงเวลาวันหยุดคริสต์มาส ปีค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรื่องคาวฉาวโฉ่ระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ กำลังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วสหราชอาณาจักร ถึงจุดที่ข่าวคราวดังกล่าวส่งผลให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ต้องใช้ชีวิตกันอย่างแอบซ่อนอยู่ในพระราชวังแซนดริงแฮมตลอดช่วงวันหยุด เมื่อพิจารณาดูแล้ว ช่วงเวลาอันอ่อนไหวดังกล่าวก็ทำหน้าที่เป็นเชื้อไฟชั้นดีในการเร่งเผาทำลายไดอาน่า ซึ่งขณะนั้นกำลังเปราะบางทางจิตใจอย่างยิ่งยวด ทั้งจากชีวิตคู่ที่จ่อล้มครืน ตัวตนที่กำลังถูกระบอบเก่ากลืนกินจนสูญสิ้น กระหน่ำซ้ำเติมด้วยกลุ่มอาการผิดปกติทางการกิน (Eating disorder) ที่หนักข้อขึ้นทุกขณะ

คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ Spencer จะถูกนำไปเทียบเคียงกับ Jackie (2016) ในฐานะหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของสตรีผู้ทรงอิทธิพลต่อหน้าประวัติศาสตร์โลก แต่กระนั้น การจะกล่าวว่า Spencer เป็นหนังชีวประวัติ (หรืออย่างน้อย ๆ ก็ชีวประวัติตามขนบ) ก็ดูจะตกหล่นไปจากฐานความจริงที่ว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่หนังฉายภาพให้เห็นนั้นล้วนเกิดจากจินตนาการเสริมแต่งของผู้สร้าง (บทภาพยนตร์โดยสตีเวน ไนต์) ที่ต้องการจะเข้าไปสำรวจจิตใจอันบอบช้ำของเจ้าหญิงไดอาน่าในช่วงเวลาที่เธอกำลังโดดเดี่ยวอย่างที่สุด ทว่าเอาเข้าจริง ก็เป็นตัวบทเองนั่นแหละที่ล้มเหลวในการฉายภาพไดอาน่าในฐานะตัวละครที่มีความสลับซับซ้อน (ไม่ว่าคริสเตน สจ๊วตจะยอดเยี่ยมเพียงใดก็ตาม) เราต่างรู้ว่าไดอาน่าไม่ใช่หญิงสาวที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ ทว่าบกพร่องไม่ต่างกับปุถุชนคนทั่วไป แต่การตัดสินใจโฟกัสไปยังช่วงเวลาวันหยุดคริสต์มาสอย่างจำเพาะเจาะจง กลับทำให้หนังฉายภาพไดอาน่าเพียงในฐานะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่กำลังหลงทางท่ามกลางระบอบอันบิดเบี้ยว (ซ้ำร้าย วิธีการที่ไดอาน่ากล่าวซ้ำ ๆ ว่าเธอกำลัง ‘หลงทาง’ ถูกกำชับจัดวางอย่างประดักประเดิดจนเกินกว่าจะทำงานเชิงสัญญะ) เรา ในฐานะคนดู รู้ตั้งแต่ก่อนหนังจะเริ่มว่าเธอกำลังเศร้าสร้อยและไร้ซึ่งเรี่ยวแรงจะต่อกรกับระบบระเบียบที่ขีดกำหนดชีวิตเธอไว้ทุกกระเบียดนิ้ว ทว่ากลวิธีที่ดีที่สุดที่หนังทำได้ก็มีเพียงการโยนสถานการณ์ย้ำแย่ครั้งแล้วครั้งเล่าเข้าใส่ตัวละคร
สถานการณ์ของไดอาน่า ว่าไปแล้วก็ละม้ายคล้ายกับที่แจ็ค ทอร์แรนซ์ ถูกความโดดเดี่ยวอ้างว้างของโรงแรมโอเวอร์ลุก และมวลอากาศอันหนาวเหน็บใน The Shining (1985) กัดกร่อนจนเขาค่อย ๆ สูญเสียความเป็นตัวเองในที่สุด ทว่าในกรณีของไดอาน่าใน Spencer ช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกลับถูกละเลย เราไม่เห็นไดอาน่าค่อย ๆ ถูกแปรเปลี่ยน แต่เห็นเธอเพียงในฐานะเศษซากของจิตวิญญาณที่แตกสลายครั้งแล้วครั้งเล่า มันชวนให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาเธอร์ เฟล็ก ใน Joker (2019) ที่มุ่งชำแหละแกะเปลือกให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากมนุษย์คนหนึ่งซึ่งทั้งเว้าแหว่งและอ่อนกำลัง ถูกถาโถมด้วยสถานการณ์เลวร้ายซ้ำ ๆ และไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ ทั้ง Spencer และ Joker ต่างทำงานในฐานะหนังวิพากษ์สังคมตื้น ๆ ที่ดันถูกห่อหุ้มด้วยแพ็คเกจหรู ทั้งการแสดงระดับมาสเตอร์คลาส งานภาพอันวิจิตรงดงาม และสกอร์ที่ขับเร้าเรื่องราวอย่างเป็นผล (ข้อน่าสังเกตคือทั้งไดอาน่าและอาเธอร์ ต่างกำลังประสบภาวะเจ็บป่วยทางจิต และทั้งสองเรื่องยังใช้การเต้นรำในฐานะสัญลักษณ์ของการปลดเปลื้องตนเอง) ทว่าน่าผิดหวังในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและสถาบันกษัตริย์ด้วยแง่มุ่มใหม่ ๆ ที่ลึกซึ้ง
และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหญิงของประชาชนกลายร่างเป็นวายร้ายสติฟั่นอย่างอาเธอร์ เฟล็ก Spencer ดูจะเชื่อเหลือเกินว่าสิ่งที่ไดอาน่าถวิลหาคือใครสักคนที่เธอรักและไว้ใจ สร้อยไข่มุกที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มอบให้เธอเป็นของขวัญ ถูกนำมาตีความใหม่ในฐานะปลอกคอที่เหนี่ยวรั้งเธอจากอิสรภาพ โดยเฉพาะเมื่อไดอาน่าพยายามที่จะหวนกลับไปยังบ้านวัยเด็กที่เธอจากมา และเมื่อหนังต้องการที่จะปลดเปลื้องเธอจากบ่วงพันธการดังกล่าว นั่นก็คือตอนที่ตัวละครของแซลลี ฮอวกินส์เข้ามามีบทบาทในการเยียวยารักษาเธอ ในฐานะคนดูแลเครื่องแต่งกายและเพื่อนคนเดียวที่เธอสนิทไว้ใจ แต่จนแล้วจนรอด พาโบล ลาร์เรน และมือเขียนบทสตีเวน ไนต์ ก็ล้มเหลวที่จะมองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคนได้ไกลเกินกว่าเรื่องรักโรแมนติก ความพยายามของคนทำหนังที่จะยอกย้อนขนบของหนังชีวประวัติแง่หนึ่งก็นับว่าน่านับถือ ทว่าจนถึงที่สุด คำว่า ‘เรื่องแต่ง’ ซึ่งหนังยกขึ้นมาใช้เป็นเกราะกำบังตัวเองตั้งแต่ก่อนเปิดเรื่อง ยิ่งตอกย้ำสถานะของ Spencer ในฐานะแฟนฟิกชันที่มุ่งใช้ความระทมขมขื่นของผู้หญิง ซึ่งครั้งหนึ่งมีตัวตนอยู่จริง มาเป็นเครื่องมือทางสุนทรียศาสตร์ มากกว่าที่จะเป็นการสำรวจทำความเข้าใจตัวละครและระบอบที่เธออาศัยอยู่อย่างรอบด้านและถี่ถ้วน
Grade: B
Directed by Pablo Larraín
Written by Steven Knight
Produced by Juan de Dios Larraín, Jonas Dornbach, Paul Webster, Pablo Larraín, Janine Jackowski, Maren Ade
Starring Kristen Stewart, Timothy Spall, Jack Farthing, Sean Harris, Sally Hawkins
Cinematography by Claire Mathon
Edited by Sebastián Sepúlveda
Music by Jonny Greenwood