Tag Archives: Palmed'Or

Titane (2021) – ร่างกายไม่ใช่ของเรา และไม่เคยเป็นของใคร

ความน่าสะพรึงกลัวของ Titane อาจไม่ได้อยู่ที่ภาพน่าสะอิดสะเอียน อย่างเนื้อหนังขาดวิ่นหรือสารคัดหลั่งที่พรั่งพรูราวกับสายน้ำ แต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานอันน่ากระอักกระอ่วน ว่า ‘ร่าง’ ซึ่งห่อหุ้มจิตวิญญาณของมนุษย์เราอยู่นั้นแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถควบคุม หรือกระทั่งครอบครองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยว่ามันอาจเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปอย่างไม่มีข้อจำกัด หรือบางที ‘รูปลักษณ์’ ดังกล่าวก็อาจไร้ความเกี่ยวพันใด ๆ กับสิ่งที่มันห่อหุ้มอยู่ภายในเสียด้วยซ้ำ หนังของจูเลีย ดูกอร์เนา ซึ่งไล่เรียงมาตั้งแต่หนังสั้นอย่าง Junior (2011) และผลงานแจ้งเกิดอย่าง Raw (2016) มักชักชวนให้คนดูจดจ่ออยู่กับเรื่องน่าพิศวงดังกล่าวโดยไม่เบือนหน้าหนี ระหว่างที่หนังฉายชัดให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นกับเนื้อหนังชั้นนอก สามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลหนึ่ง ๆ ในระดับจิตใจหรือกระทั่งจิตวิญญาณได้อย่างไรและเพียงใด ส่วนที่ทำให้หนังของเธอโดดเด่นและแตกต่างไปจากหนัง body horror ตามท้องตลาด จนคู่ควรที่จะได้รับการกล่าวขานเทียบเคียงกับมาสเตอร์อย่างเดวิด โครเนนเบิร์ก คือวิธีการที่เธอจ้องมองไปยังภาพน่าสะอิดสะเอียนของเนื้อหนังที่กำลังถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ ซึ่งไม่เพียงน่ากลัว หรือชวนให้ท้องไส้ปั่นป่วน แต่หลายครั้งหลายครามันเป็นการจ้องมองอย่างหลงใหล ราวกับภาพขยะแขยงตรงหน้าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สุดแสนงดงาม

ทว่าใน Titane จูเลียขยับขยายกรอบโฟกัสความสนใจของเธอไปอีก มันไม่ได้จับจ้องอยู่แต่เพียงความน่าหวาดผวาของการเติบโตและความผันแปรของสภาพร่างกาย แต่ถามคำถามที่ใหญ่ขึ้น อย่างความลื่นไหลของอัตลักษณ์ตัวตน รูปร่างหน้าตา ตลอดจนรสนิยม(ทางเพศ) โดยเฉพาะในโลกชายเป็นใหญ่ที่สิ่งเหล่านี้ดูจะถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา อย่างกรณีของอเล็กเซีย (อากัธ รูสเซลล์) แดนซ์เซอร์ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด หลังถูกแฟนคลับสะกดรอยตามหลังเธอเสร็จสิ้นการแสดงเต้นยั่วบนรถคาดิลแลค ก่อนที่เธอจะเอาตัวรอดด้วยการหยิบปิ่นปักผมทิ่มเข้าไปในรูหูของเขาอย่างเหี้ยมโหด ทว่าก่อนที่ Titane จะประพฤติตัวเป็นหนัง rape-revenge โดยสมบูรณ์ คนทำหนังกลับเลือกที่จะเปิดเผยผ่านเสียงบรรยายในโทรทัศน์ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดคดีอุกอาจเช่นนี้ – ซึ่งแน่นอนว่าเธอเป็นผู้ก่อการ – และไม่ใช่เพียงแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ถูกเธอสังหารอย่างเลือดเย็น การเปิดเผยข้อมูลเล็กน้อย ๆ นี้พลิกผันอเล็กเซียจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายกลายเป็นผู้ไล่ล่าในทันที

บอกยากเหมือนกันว่ามันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต ในตอนที่อเล็กเซียวัยเด็กนั่งอยู่บนเบาะหลังรถโดยมีคุณพ่อบังคับควบคุมพวงมาลัยอยู่เบื้องหน้า ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดโลหะเข้าไปใต้หนังศีรษะหรือไม่ อย่างไร แต่จะว่าไปแล้วก็คงไม่สลักสำคัญนัก เพราะส่วนที่หนังดูสนใจจะเข้าไปตรวจสอบจริง ๆ ดูจะเป็นเรื่องราวที่เธอหลบหนีการจับกุมด้วยการลบอัตลักษณ์ดั้งเดิมก่อนจะสวมทับตัวตนใหม่เข้าไป กระบวนการดังกล่าวซึ่งหนังฉายย้ำให้เห็นอยู่หลายครั้งหลายครา เริ่มตั้งแต่การตัดผมยาวสลวยจนเหี้ยนเตียน กระแทกดั้งจมูกกับอ่างล้างหน้า ประทับกำปั้นลงบนเบ้าตา ก่อนจะตบท้ายด้วยการนำผ้ามาพันรอบหน้าอกลำตัวอย่างแน่นหนาจนถึงขั้นทิ้งร่องรอยแผลเป็น ไม่นานนักก่อนที่เธอจะได้พบกับแว็งซ็อง (แว็งซ็อง แล็งดง) ชายวัยกลางคนที่รับเธอมาเลี้ยงดูในฐานะ ‘อาเดรียน’ ลูกชายของเขาที่หายสาบสูญ นั่นคือตอนที่เส้นแบ่งระหว่างความเป็นชาย-หญิงถูกเลือนลาง เธอไม่หลงเหลือรูปลักษณ์ความเป็นหญิง ทว่าก็ไม่อาจกลายเป็นชายได้อย่างสมบูรณ์ สภาวะอันอีหลีกอีเหลื่อเช่นนี้มักนำไปสู่บทสรุปอันไม่น่าอภิรมณ์ ทว่าส่วนที่ชาญฉลาดคือการที่คนทำหนังสามารถใช้สภาวะอันละเอียดอ่อนนั้นมาเป็นอาวุธกระเทาะเปลือกแข็งซึ่งห่อหุ้มแว็งซ็อง นั่นคือตอนเราได้เรียนรู้ว่าเขาเองก็กำลังต่อสู้กับสิ่งที่มิอาจขัดฝืน นั่นคือความเสื่อมสภาพของร่างกาย เขากำลังแก่ชรา

ว่าไปแล้วแท็คติกอันแยบยลของคนทำหนังก็เกิดขึ้นตั้งแต่ฉากแรกของเรื่อง เมื่อหนังบังคับให้คนดูกลายเป็นสตอล์กเกอร์เดินสะกดรอยตามอเล็กเซียก่อนที่เธอจะขึ้นแสดงบนรถคาดิลแลคคันโปรด จากนั้นจึงสวมทับสายตาของคนดูด้วยการจ้องมองไปยังเรือนร่างของเธออย่างหื่นกระหาย ก่อนที่ ‘เมลเกซ’ ดังกล่าวจะถูกตลบแตลงกลายมาเป็นการจับจ้องไปยังฉากให้กำเนิดบุตรที่ทั้งเปี่ยมไปด้วยมวลพลังแห่งความหวังและชวนให้ขวัญหนีดีฝ่อไปพร้อมกัน นั่นคือตอนที่หนังซึ่งว่าด้วยความเกลียดชังในตอนต้นกลายร่างไปเป็นหนังที่ว่าด้วยความรักความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ระหว่างอเล็กเซียและรถคาดิลแลคของเธอนั่นก็แบบหนึ่ง ระหว่างแว็งซ็องและลูกชาย(หรือลูกสาว)ของเขาก็อีกรูปแบบหนึ่ง บางทีอาจจะเป็นความอึดอัดคับข้องต่อเปลือกนอกของตนเองที่เชื่อมอเล็กเซียและแว็งซ็องเข้าหากัน เปลือกนอกที่ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อสายตาหื่นกระหาย และเปลือกนอกที่ตอกย้ำเขาถึงความเสื่อมสภาพ

เรื่องน่าหลงใหลของ Titane คือถึงแม้โดยเบื้องหน้าแล้วจะเป็นหนังที่ทั้งเหนือจริงและรุนแรงอย่างอึกทึกคึกโครม แต่ผลงานของคนทำหนังชาวฝรั่งเศสก็ห่างไกลจากการเป็นหนังประเภทที่มุ่งชักชวนให้คนดูลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบอันบิดเบี้ยว และกว่าจะรู้ตัวอีกที เรื่องเหลือเชื่อเหนือมนุษย์ทั้งหลายที่หนังฉายภาพให้เห็นก็ค่อย ๆ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์อย่างแน่นแฟ้น มันเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้ที่จะเป็นตัวเองผ่านการกลายเป็นอื่น อย่างที่แผลเป็นเหนือหูของอเล็กเซียตอกย้ำว่าเธอแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ทว่าเธอก็ไม่เคยอับอายหรือคิดที่จะปกปิดมันจากผู้อื่น และโดยไม่ช้าก็เร็ว แว็งซ็องคงจะค้นพบว่า ปริมาณสเตรียรอยด์ที่เขาฉีดอัดเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อย่อมไม่อาจทำให้เขาแข็งขืนต่อวิถีธรรมชาติ ในท้ายที่สุดแล้ว เนื้อหนังซึ่งห่อหุ้มตัวเราไว้ก็ไม่อาจบ่งชี้หรือสลักสำคัญต่อความหมายของการเป็นมนุษย์ที่ทั้งหลากหลายและลื่นไหล ด้วยว่ามันย่อมเหี่ยวย่นและแตกสลายไปตามวิถีแห่งเวลา


Grade: A

Directed by Julia Ducournau
Written by Julia Ducournau
Produced by Jean-Christophe Reymond
Starring Vincent Lindon, Agathe Rousselle, Garance Marillier, Laïs Salameh
Cinematography by Ruben Impens
Edited by Jean-Christophe Bouzy
Music by Jim Williams

Wild at Heart (1990)

ในวันที่ ‘American Dream’ เป็นเพียงเรื่องจอมปลอม

ในวันที่ ‘American Dream’ เป็นเพียงเรื่องจอมปลอม

Wild at Heart คือหนังโร้ดมูฟวี่สุดระห่ำที่ครั้งหนึ่งได้สร้างความร้าวฉานอย่างหนักหน่วงในหมู่คนดูและนักวิจารณ์ของเทศกาลหนังเมืองคานส์ และอย่างที่คอหนังคานส์พอจะทราบกันดีนั่นแหละ นี่คือเทศกาลหนังที่ชื่นชอบความแตกแยกเหลือเกิน แง่หนึ่งจึงไม่แปลกนักที่มันได้ส่งเดวิด ลินช์ไปรับรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) อันเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาล ส่วนที่ทำให้ผลงานของเดวิด ลินช์เรื่องนี้ถูก ‘ยี้’ อย่างหนักจริง ๆ คือการฉายภาพความรุนแรงชนิดเปลือยเปล่าให้คนดูเห็นกันตำตา (ซึ่งในขณะนั้นยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่และน่าฮือฮา) ไม่ใช่เพียงเลือดสีแดงสดที่สาดกระเด็นไปทั่วทุกสารทิศ แต่ยังมีภาพเซ็กส์และฉากโป๊เปลือยโจ๋งครึ่ม ไปจนถึงการล่วงละเมิดทั้งทางกายและวาจา แต่นั่นเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มตัวหนังเอาไว้เท่านั้น ส่วนที่อยู่ข้างใน เนื้อหาสาระที่ว่าด้วยการออกเดินทางของหนุ่มสาว (หรืออีกนัยหนึ่ง-การวิ่งหนี) เพื่อหลุดพ้นจากโลกที่ฉุดรั้งไม่ให้พวกเขาได้เติบโต คือการวิพากษ์วิจารณ์ ‘American Dream’ โดยตรง

หนังบอกเล่าการผจญภัยของเซลเลอร์ (นิโคลัส เคจ) หนุ่มหัวขบถที่กำลังคบหาดูใจกับลูล่า (ลอร่า เดิร์น) ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของแมริเอตตา (ไดแอนน์ แลดด์) เรื่องราวฉาวโฉ่เกิดขึ้นเมื่อเซลเลอร์เกิดบันดาลโทษะ ‘พลั้งมือ’ ฆ่าชายที่แม่ของลูล่าจ้างมาปลิดชีพเขา หลังสิ้นสุดการรับโทษในเรือนจำเซลเลอร์และลูล่าตัดสินใจขับรถออกเดินทางไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังแคลิฟอร์เนีย ดินแดนที่พวกเขาไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จักพวกเขา ทว่าจนแล้วจนรอด แมริเอตตายังไม่ลดละความพยายามที่จะฉุดรั้งลูกสาวของเธอจากเซลเลอร์ จึงขอความช่วยเหลือไปยังจอห์นนี (แฮร์รี ดีน สแตนตัน) พร้อมกับว่าจ้างซานโตส (เจ.อี. ฟรีแมน) มือปืนรับจ้างให้ออกตามล่าเซลเลอร์และนำลูล่ากลับมาหาเธอ

ฉากที่ดูจะเป็นรางบอกเหตุร้ายเกิดขึ้นระหว่างที่เซลเลอร์และลูล่ากำลังเดินทาง พวกเขาพบกับซากรถพลิกค่ำอยู่ข้างทาง ทั้งสองจึงลงไปสำรวจก่อนจะพบว่ามีหญิงสาวผู้รอดชีวิตทว่าเจียนตายเจียนอยู่ พวกเขาพยายามจะช่วยชีวิตเธอแต่ก็สายเกินไป จึงไม่ใช่เรื่องผิดคาดอะไรนักที่ต่อมาการเดินทางของทั้งสองจะเต็มไปด้วยเรื่องอุปสรรคนับไม่ถ้วน ช่วงหนึ่งที่น่าจะสร้างความบอบช้ำในหมู่คนดูได้อย่างหนักหน่วงคือตอนที่ทั้งสองไปพบกับบ๊อบบี้ เปรู (วิลเลม เดโฟ) หัวหน้าแก๊งอันธพาลในเท็กซัสที่ฉกฉวยโอกาสที่เงินในกระเป๋าของเซลเลอร์กำลังร่อยหรอ เข้าล่วงละเมิดลูล่าอย่างน่าสะอิดสะเอียน (แต่ต้องปรบมือให้กับการแสดงอันน่าขยะแขยงของเดโฟ) รวมถึงชักจูงให้เซลเลอร์ที่กำลังเข้าตาจนจำต้องร่วมก่อเหตุปล้นชิงทรัพย์กับเขา ซึ่งท้ายที่สุดมันทำให้เขาต้องวกกลับสู่วังวนเดิม ๆ ของสังคมแห่งความเสื่อมทราม เซลเลอร์ถูกจับกุมและต้องชดใช้กรรม(ที่เขาเองก็ไม่อยากก่อ)อีกครั้ง ขณะที่ลูล่าก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือแม่ของเธออีกเช่นกัน

แง่หนึ่ง ทั้งหมดทั้งมวลคือวิธีการที่ลินช์ฉายให้เห็นชีวิตเปราะบางของอเมริกันชนรุ่นใหม่ เซลเลอร์ คือตัวแทนของเด็กหนุ่มนอกคอกที่ฝันอยากจะเป็นศิลปินอย่างเอลวิส เพลสลีย์ แต่สังคมมอบโอกาสให้เขาเป็นได้เพียงกุ๊ยข้างถนน ขณะที่ลูล่า คือภาพแทนของลูกหลานอเมริกันชนชั้นกลางมีอันจะกิน ชีวิตที่ถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนาทำให้เธอโหยหาอิสรภาพมากกว่าสิ่งอื่นใด นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอหลงใหลชีวิตที่ไร้กำหนดกฎเกณฑ์ของเซลเลอร์เหลือเกิน เอาเข้าจริง เหล่านี้สะท้อนออกมาตั้งแต่ชื่อตัวละคร เซลเลอร์ (Sailor) หรือกะลาสี สื่อถึงนัยยะของการโลดแล่นออกไปยังท้องทะเลที่กว้างใหญ่ ขณะที่ลูล่า (Lula หรือ Rule) แน่นอนว่าสะท้อนความมีกำหนดกฎเกณฑ์

บางทีนัยยะของ ‘การออกเดินทาง’ ของหนัง อาจไม่ได้รวมถึงการมุ่งสู่ปลายทางที่ใฝ่ฝัน หากแต่เพียงเป็นการ ‘วิ่งหนี’ ชีวิตอันบอบช้ำจำเจ ชีวิตที่พวกเขาเป็นได้เพียงสิ่งที่สังคมตีกรอบไว้ให้ เซลเลอร์วิ่งหนีชีวิตที่เขาเป็นได้เพียงจุดด่างพร้อยของสังคม แต่ก็มิวายลงเอยด้วยการกลับไปที่จุดเดิม เช่นเดียวกับลูล่าที่พยายามวิ่งหนีสังคมจอมปลอมที่ครั้งหนึ่งเคยล่วงเกินเธอ แต่จนแล้วจนรอดก็หนีไม่พ้นคนอย่างบ๊อบบี้ เปรู ที่แอบแฝงอยู่ในทุกสังคม บางทีสำหรับบางคน หากไร้ซึ่งเวทมนตร์คาถาของแม่มด ‘American Dream’ คงเป็นเพียงเรื่องจอมปลอมที่ไม่มีอยู่จริง.

Grade: B+

Directed by David Lynch
Produced by Steve Golin, Monty Montgomery, Sigurjón Sighvatsson
Screenplay by David Lynch
Starring Nicolas Cage, Laura Dern, Willem Dafoe, Crispin Glover, Diane Ladd, Isabella Rossellini, Harry Dean Stanton
Music by Angelo Badalamenti
Cinematography by Frederick Elmes
Edited by Duwayne Dunham