Tag Archives: RobertBresson

Au Hasard Balthazar (1966)

เมื่อคนเสื่อมศรัทธาในศาสนา ลาคือผู้ประเสริฐ

หากโรแบร์ เบรสซง คือพระผู้มาโปรดวงการภาพยนตร์โลกในช่วงค.ศ. 1940-1980 Au Hasard Balthazar คงจะเป็นบทสวดที่รวดร้าวแสนสาหัสทว่าหมดจดงดงามในตัวของมันเอง นี่คือผลงานที่ได้เรียกได้ว่าทรงอิทธิพลและสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก ติดอันดับ 16 ภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลจากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Sight & Sound เป็นหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำสองสมัยอย่างมิคาเอล ฮาเนเก (The White Ribbon, Amour) แต่หากจะหานิยามอันเรียบง่ายที่อธิบายใจความสำคัญของผลงานชิ้นนี้ได้อย่างกระจ่างชัด คงจะต้องย้อนไปเมื่อครั้งที่ฌ็อง-ลุก โกดาร์ ตำนานผู้กำกับแห่ง French New Wave ให้นิยามว่าหนังเรื่องนี้คือ ‘โลกทั้งใบในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง’

เพราะหากพินิจพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน Au Hasard Balthazar คือหนังที่ว่าด้วยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เจ็บปวด และดับไปของสรรพสิ่ง บอกเล่าผ่านชีวิตแสนอาภัพของเจ้าลานามว่า บัลธาซาร์ ตั้งแต่ยังเป็นลาวัยเยาว์จนกระทั่งเติบใหญ่และถูกหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเจ้าของมากหน้าหลายตา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของมัน ส่วนที่งดงามเหลือเกิน คือวิธีการที่เบรสซงตัดสลับเรื่องราวของบัลธาซาร์กับชีวิตอันชอกช้ำของมารี (แอนน์ เวียเซมสกี) หญิงสาวที่อาศัยอยู่กับครอบครัว ณ ฟาร์มแห่งหนึ่งในเขตชนบทของฝรั่งเศส มารีและบัลธาซาร์บังเอิญมาพบกันครั้งแรกเมื่อครอบครัวเจ้าของฟาร์มที่เธออาศัยอยู่นำเจ้าลาน้อยมารับเลี้ยง ฉากหนึ่งที่ชวนให้คนดูเข้าไปถอดความ คือ ตอนที่มารีและลูก ๆ ของเจ้าของฟาร์มทำพิธีชำระบาปให้แก่เจ้าลาน้อย จนกระทั่งรู้ตัวอีกที โชคชะตาได้พัดพาให้เจ้าของฟาร์มต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ทิ้งเจ้าลาบัลธาซาร์ให้อยู่ในความครอบครองของมารี

การตีความที่ถูกอ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย (ซึ่งผู้เขียนมองว่าหละหลวมไปเสียหน่อย) ว่ากันบนพื้นฐานของความเป็นคาทอลิกเข้มข้นของเบรสซง จนนำไปสู่การเทียบเคียงบัลธาซาร์เป็นดั่งพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่มารี คือ ตัวแทนของพระแม่มารีผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เจ้าของบัลธาซาร์ทั้ง 7 คนที่กระทำอย่างโหดเหี้ยม ทั้งทุบตี กรีดแทง ล้อเลียน จุดไฟเผา และท้ายที่สุด ยิง คือภาพจำลองของบาป 7 ประการอันเป็นความผิดบาปที่มิอาจให้อภัยตามความเชื่อของคริสต์ศาสนา สองฉากที่สลักสำคัญจริง ๆ ที่ยืนยันความเป็นกวีชั้นยอดของเบรสซง คือภาพที่มารีสวมมงกุฎดอกไม้ให้แก่บัลธาซาร์ เชื้อเชิญให้หวนนึกถึงมงกุฎหนามที่ถูกวางลงบนศีรษะของพระเยซูคริสต์ขณะที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน และในวาระสุดท้ายของบัลธาซาร์ ในห้วงเวลาที่มันถูกห้อมล้อมด้วยฝูงแกะ ก็ดูจะแฝงนัยยะไปยังช่วงเวลาแห่งการชำระบาปให้แก่เจ้านายผู้โหดเหี้ยมทั้งหลายของมัน ในทำนองเดียวกับที่พระเยซูคริสต์แลกชีวิตของพระองค์เพื่อไถ่โทษให้แก่มนุษย์ผู้ผิดบาป

ทว่าคำถามที่สำคัญจริง ๆ คือ ทั้งหลายแหล่เหล่านี้นำไปสู่อะไร สิ่งที่เบรสซงต้องการจะสื่อคืออะไรกันแน่? เพราะใครที่คุ้นเคยกับงานของเบรสซงคงจะทราบดีถึงเอกลักษณ์ในการมอบบทสรุปอันอับจนหนทางให้แก่ตัวละครของเขา (ซึ่งถ้าว่ากันให้ยืดยาวอาจจะต้องย้อนไปถึงประสบการณ์ในอดีตที่บ่มเพาะให้เขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ทั้งความอัตคัดขัดสนในวัยเด็กและการถูกจองจำในฐานะเชลยศึกในช่วงสงครามโลก) แง่หนึ่ง การวิเคราะห์ถอดความว่า Au Hasard Balthazar เป็นเพียงเรื่องราวของลาผู้ประเสริฐที่ลงมาไถ่บาปให้มนุษย์ก่อนจะกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ไปจึงดูจะขาดตกบกพร่องไปเสียหน่อย เพราะสิ่งที่เบรสซงดูจะสนใจจริง ๆ คือการตั้งคำถามต่อความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า กระทั่งความศักดิ์สิทธิ์และหลักคำสอนของคริสต์ศาสนา

เพราะหากสังเกตให้ตระหนี่ถี่ถ้วน บรรยากาศชนบทไกลปืนเที่ยงใน Au Hasard Balthazar นั้นกำลังอยู่ในภาวะที่ถูกรุกคืบโดยโลกแห่งวัตถุนิยม หนังฉายให้เห็นภาพวัตถุซึ่งเป็นภาพสะท้อนของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังรุกคืบอย่างหนักหน่วง อย่างภาพของเครื่องประดับ ของเล่น วิทยุทรานซิสเตอร์ สายโทรเลข รถยนตร์ มอเตอร์ไซค์ ปืน ไปจนถึงการจับจ้องไปยังเงินทองที่เริ่มจะ ‘ซื้อได้ทุกอย่าง’ กระทั่งจิตใจของผู้คนก็ดูจะเริ่มเสื่อมทราม ไม่เว้นแม้แต่เชราด์ อันธพาลรูปหล่อที่ในภายหลังหนังจะเผยให้เห็นว่าเขาเองก็เข้าโบสถ์ร้องเพลงอย่างเคร่งครัดไม่ต่างจากชาวคริสต์คนอื่น ๆ นัยหนึ่ง มันจึงสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่ผู้แสวงบุญที่เข้าโบสถ์เป็นกิจจะลักษณะก็มีจิตใจสกปรกโสโครกได้เหมือนกัน

ฉากที่เหน็บแนมอย่างดุเดือดจริง ๆ คือฉากสั้น ๆ ที่คุณพ่อของมารีล้มป่วย บาทหลวงได้รับเชิญเข้ามายังห้องนอนเพื่อมอบบทสวดสุดท้ายให้แก่ชายชรา ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เขากลับหันหลังให้แก่บาทหลวงโดยไม่ต่อปากต่อคำอะไรให้มากความ นัยยะแห่งการหันหลังนั่นเองคือตอนที่เบรสซงกำลังตั้งคำถาม (หากมิใช่ท้าทาย) ความศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนา ก่อนที่หนังจะสลับสับเปลี่ยนจับจ้องไปยังคุณแม่ของมารี ขณะที่เธอลุกเดินออกไปนอกบ้านอธิษฐานขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า ‘อย่าพรากเขาไปจากลูกเลย ท่านรู้ว่าลูกจะเหงาเพียงใดหากไม่มีเขา’ กล่าวจบเธอจึงเดินกลับเข้าไปในห้อง และนั่นคือตอนที่สามีของเธอจากไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับ แม้กระทั่งการตายของบัลธาซาร์ที่ถูกห้อมล้อมด้วยฝูงแกะพร้อมเสียงกระดิ่งที่แซ่ซ้องก้องกังวานก็ดูจะเป็นการแข็งข้อต่อความเชื่อคำสอนของคริสต์ศาสนา สะท้อนความเชื่ออันหนักแน่นของเบรสซงในวันที่ศาสนาไม่อาจชำระจิตใจอันเสื่อมทรามของมนุษย์โลก เพราะไม่แน่เหมือนกันว่าบางทีเพียงการเห็นคุณค่าของสัตว์โลกและเพื่อนมนุษย์ก็น่าจะเพียงพอที่จะชำระล้างความผิดบาปทั้งหลายทั้งมวล

Grade: A

Directed by Robert Bresson
Produced by Mag Bodard
Written by Robert Bresson
Starring Anne Wiazemsky
Music by Jean Wiener
Cinematography by Ghislain Cloquet
Edited by Raymond Lamy

Mouchette (1967)

สำรวจชีวิตของเด็กหญิงผู้บอบช้ำในวันที่โลกผลักไสเธอจนไร้ที่ยืน

Mouchette คือผลงานที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘มาสเตอร์พีซฝาแฝด’ กับ Au Hasard Balthazar (1966) เพราะทันทีที่เบรสซงเสร็จภารกิจกับหนังชิ้นก่อนหน้า เขาได้ทำการสานต่องานชิ้นต่อไปที่จะลงไปสำรวจประเด็นความอึดอัดคับข้องของคนชายขอบในเขตชนบทของฝรั่งเศสอีกครั้ง หนังส่งเขาไปรับรางวัล OCIC Award ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ (หลังจากพ่ายแพ้ในเวทีรางวัลใหญ่ที่ตกเป็นของ Blowup ของมิเกลันเจโล อันโตนิโอนี) ว่ากันตามตรง นี่คือหนังที่หนักหน่วง ไม่ใช่เพียงในแง่เนื้อหาสาระที่มันว่าด้วยความโหดร้ายทารุณที่เด็กหญิงถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด แต่รวมไปถึงวิธีการบอกเล่าที่เบรสซงเลือกจะไม่อาศัยสัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบมาเจือจางความรุนแรงเหล่านั้น เหมือนที่เขาเคยทำใน Au Hasard Balthazar

หนังบอกเล่าเรื่องราวของมูเช็ตต์ (นาดีน นอร์เตียร์) เด็กหญิงบ้านนอกที่ต้องเลี้ยงดูคุณแม่ที่ป่วยนอนติดเตียง ขณะที่พ่อของเธอก็ดูจะไม่แยแสเธอกับแม่มากนัก แม้กระทั่งที่โรงเรียน มูเช็ตต์ต้องรับมือกับความเข้มงวดกวดขันของคุณครูและเพื่อน ๆ ลูกหลานคนมีอันจะกินที่ดูจะไม่เปิดอกเปิดใจยอมรับเธอเท่าใดนัก เหล่านี้ดูจะสะท้อนความผันแปรที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสยุคหลังสงครามโลก ทั้งความขัดสนที่กำลังแผ่ขยาย ทุนนิยมและวัตถุนิยมที่กำลังรุกคืบ ตลอดจนจิตใจของผู้คนที่กำลังบอบช้ำและเสื่อมศรัทธา อย่างช้า ๆ มันหล่อหลอมให้มูเช็ตต์เรียนรู้ที่เก็บงำความเจ็บปวดไว้กับตนเองโดยไม่ปริปากบ่นใด ๆ

เบรสซงขึ้นชื่อในด้านการบอกเล่าเรื่องราวด้วยภาษาภาพ ฉากหนึ่งที่น่าจะอธิบายวิธีที่เขาถ่ายทอดความอึดอัดคับข้องเหล่านี้ได้อย่างกระจ่างชัด คือ ตอนที่มูเช็ตต์เข้าไปเล่นรถบั๊มพ์ ณ สวนสนุก หนังเชื้อเชิญให้คนดูสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ ระหว่างที่เธอถูกรถคันแล้วคันเล่ากระแทกซ้ำ ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน ทว่าแทนที่จะตอบสนองด้วยความเดือดดาล ใบหน้าของมูเช็ตต์กลับเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มแห่งความปลื้มปิติ และมันนำพาให้เธอมาพบกับชายหนุ่มผู้น่าหลงใหล ทว่าจนแล้วจนรอดมันไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากคุณพ่อผู้เข้มงวดเข้ามาขวางเขาและเธอก่อนจะตบตีสั่งสอนเธออย่างดุเดือด

มูเช็ตต์ที่กำลังบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจเดินโซซัดโซเซจนกระทั่งหลงทางเข้าไปในป่า จนกระทั่งเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างนายพรานขี้เมาและคนเฝ้าสัตว์ป่าที่ลงไม้ลงมือจนมีฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต มูเช็ตต์ได้รับผลกระทบและถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนนำไปสู่บทสรุปที่ถูกพูดถึงและตีความกันอย่างแพร่หลายในฉาก ‘ความพยายามสามครั้ง’ ของมูเช็ตต์ ที่จะกลิ้งตัวลงจากเนินสูงลงไปยังหนองน้ำเบื้องล่าง นัยยะของการปล่อยกายและใจไถลกลิ้งลงไปตามแรงโน้มถ่วงสะท้อนชีวิตของมูเช็ตต์ได้เป็นอย่างดี เธอใช้ชีวิตอย่างเอนอ่อนไปตามแรงผลักของสังคม ทำงานหนักไม่เคยบ่น แต่จนแล้วจนรอด สิ่งที่เธอได้รับกลับมากลับมีเพียงความโหดร้ายอย่างทารุณ

บางที ความพยายามถึงสามครั้งสามคราอาจจะบ่งบอกถึงความแน่วแน่ว่าเธอหมดสิ้นความหวังในการอาศัยอยู่บนโลกอันโหดร้ายนี้เพียงใด และแง่หนึ่งก็ดูจะหยอกล้อไปกับฉากเปิดเรื่องได้อย่างคมคาย ในตอนที่นายพรานขี้เมาลักลอบเข้าไปวางลวดหนามกับดักและซุ่มรอให้ไก่เข้ามาติดบ่วง โดยมียามผู้สังเกตการณ์คอยแอบดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อมีไก่เข้ามาติดกับนายพรานไม่ออกไปโดยทันที เพียงแต่เฝ้ารอจนกระทั่งยามเปิดเผยตัวตนและเดินเข้าไปปลดลวดหนามจากคอของเหยื่อ บางทีมูเช็ตต์คงจะเหมือนกับไก่ตัวนั้นกระมัง เธอคือเหยื่อของสังคมชายเป็นใหญ่ วันใดโชคดีอาจจะรอดพ้นเรื่องราวความทุกข์ร้อนในวันนั้นไปได้ แต่คำถามที่สำคัญ คือ เธอจะรอดไปได้อีกสักกี่วัน

Grade: B+

Directed by Robert Bresson
Produced by Anatole Dauman
Screenplay by Robert Bresson
Based on Mouchette by Georges Bernanos
Starring Nadine Nortier, Jean-Claude Guilbert, Marie Cardinal, Paul HebertMusic by Jean Wiener, Claudio Monteverdi
Cinematography by Ghislain Cloquet
Edited by Raymond Lamy