Tag Archives: Sundance Film Festival

One For the Road (2021) – แด่อดีต ความทรงจำ และค็อกเทล

ว่าไปแล้ว การหวนกลับไปสู่อดีตก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่นักในโลกภาพยนตร์ คนทำหนังมากมายคิดค้นกลวิธีที่จะพาตัวละครของพวกเขาไปปะทะซึ่งหน้ากับเรื่องราวความหลัง บ้างพึ่งพาเทคโนโลยีล้ำสมัย บ้างอาศัยเพียงรถเก่า ๆ หนึ่งคัน แต่ไม่ว่ากรณีใด โดยปริยายมันก็มักจะนำไปสู่การชำระสะสางความขุ่นมัวทั้งหลายในอดีต อย่างที่ครูหนังชาวเยอรมันอย่าง วิม เวนเดอรส์ เคยทำให้เห็นเป็นประจักษ์มาแล้วใน Paris, Texas (1984) ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวการเดินทางออกตามหาคนรักเก่าด้วยความมุ่งหวังว่าจะซ่อมแซมบาดแผลในอดีต หรือในกรณีเร็ว ๆ นี้ Drive My Car (2021) ของริวสุเกะ ฮามากุจิ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่จะก้าวพ้นความชอกช้ำซึ่งเกิดจากน้ำมือของคนรักที่ล่วงลับไปแล้ว

ใน One for the Road ผลงานล่าสุดของบาส นัฐวุฒิ นอกจากรถคันเก่า เครื่องมือชิ้นสำคัญที่หนังหยิบมาใช้ในการถ่ายโอนตัวละครและคนดูกลับเข้าสู่วังวนของอดีตยังผนวกรวมไปถึงบทเพลงเก่า ๆ เสียงของคนคุ้นเคย และค็อกเทลหลากรส และเป็นข้อหลังนี่เองที่ดูจะสลักสำคัญจริง ๆ อย่างที่ช่วงหนึ่ง บอส (ต่อ ธนภพ) ถามพริม (วี วิโอเลต) เพื่อนสาวของเขา ถึงความหมายของวลีซึ่งกลายมาเป็นชื่อหนัง “แก้วสุดท้ายก่อนกลับบ้าน” เธอตอบกลับ หนังเองก็ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าคิดเช่นกันว่ามวลพลังอันน่าพิศวงของค็อกเทลดูจะผูกโยงอยู่กับความสามารถในการถ่ายโอนผู้ดื่มไปยังฐานถิ่นดินแดนที่พวกเขาไม่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งถ้าจะให้ขยายความไปอีก ส่วนที่หนังไม่ได้กล่าวก็น่าจะเป็นการที่ดินแดนข้างต้นนั้นหมายรวมไปถึง ‘อดีต’ ด้วย ในแง่นั้น บาร์ค็อกเทลใน One for the Road จึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ที่ผู้คนแวะเวียนเข้ามาสังสรรค์เพียงชั่วคราวก่อนจะแยกจาก มันทั้งต่อเชื่อมคนเหล่านั้น ย่นย่อระยะห่างซึ่งเกิดจากความแตกต่างทางเพศสภาพ ชนชั้นฐานะ กระทั่งเชื้อชาติ เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนซึ่งเส้นวงโคจรไม่อาจคาบเกี่ยวกันได้ในโลกภายนอก เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร้ข้อยึดเหนี่ยวในโลกเมามายแห่งนี้

มันเป็นสถานที่ซึ่งเด็กหนุ่มมีอันจะกินอย่างบอส ได้โคจรมาพบเด็กหนุ่มหญิงสาวที่ต้องดิ้นรนอย่างพริมและอู๊ด ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งสามจะเกี่ยวพันรันตูกันยุ่งเหยิง จนกลายเป็นปมที่ไม่อาจคลี่คลายอยู่ในจิตใจของอู๊ด และเมื่อเวลาเคลื่อนผ่าน จนกระทั่งถึงวันที่อู๊ดได้รับข่าวร้ายว่าเขาอาจเหลือเวลาชีวิตอีกไม่นาน มันจึงนำมาซึ่งการตัดสินใจที่จะหวนกลับไปปะทะกับบาดแผลดังกล่าว อดไม่ได้ที่จะนึกถึงสิ่งที่ตัวละครของ วิม เวนเดอรส์ เคยกล่าวไว้อย่างคมคายใน Wings of Desire (1987) ว่าแท้จริงแล้วเวลาไม่อาจเยียวยาทุกสิ่ง เพราะบางครั้ง ก็เวลาเองนั่นแหละที่ประพฤติตัวเป็นโรคร้ายเสียเอง ข้อเสนอดังกล่าวดูจะตอกย้ำสถานการณ์ใน One for the Road ได้เป็นอย่างดี เงื่อนไขทางเวลาของหนังถึงแม้จะไม่สลับซับซ้อน แต่ก็ไร้ข้อกังขาว่าจะก่อให้เกิดการถกเถียงมากมายหลังหนังจบ มันว่าด้วยเรื่องราวของชายคนหนึ่งซึ่งความตายกำลังคืบคลานเข้าใกล้ ขณะที่เวลาซึ่งร่อยหรอลงทุกขณะเร่งฏิกิริยาให้เขาตัดสินใจออกตระเวนเดินทางไปหาบรรดาคนรักเก่า ด้วยความมุ่งหวังว่าจะนำสิ่งของต่าง ๆ ไปคืนเพื่อยุติความขัดแย้งที่ยังคงก่อกวนจิตใจของตนเอง (มิใช่ของคู่กรณี)

การตัดสินใจดังกล่าว แง่หนึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าวู่วามและขาดการติตรองอย่างรอบด้าน อย่างที่บอสตั้งคำถามกับเพื่อนผู้ป่วยไข้ของเขาว่า การกระทำเช่นนี้จะต่างอะไรกับการไปเปิดแผลเก่าซึ่งปัจจุบันแห้งสนิทไปหมดแล้ว? ซึ่งอู๊ดดูจะไม่มีคำตอบ หรือไม่ก็ไม่สะทกสะท้านเสียด้วยซ้ำว่าแผนการของเขาจะส่งผลร้ายแรงต่อคนอื่นเพียงใด ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่สะท้อนความเย็นชาอย่างอำมหิตของอู๊ดคือตอนที่เขาเหลือบไปเห็นว่าหนึ่งในแฟนเก่าของเขากำลังเจ็บปวดทรมานจากการปรากฎกายของเขา ทว่าใบหน้าของอู๊ดแทนที่จะเอ่อล้นไปด้วยความรู้สึกสำนึกผิด กลับว่างเปล่าไร้ปฏิกิริยาตอบสนอง ราวกับเขาคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่านี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้น แล้วก็คงเป็นความเย็นชาอย่างไร้มนุษย์นี่กระมังที่ทำให้อู๊ดแตกต่างไปจากเทรวิส หรือ คาฟุกุ ซึ่งถึงแม้จะด่างพร้อยไม่ต่างกันแต่ความอ่อนไหวของตัวละครก็ช่วยให้เรื่องราวการเดินทางและการซ่อมแซมบาดแผลของพวกเขามีความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด

ขณะที่อู๊ดยังคงดึงดันที่จะเดินตามแผนการของเขาต่อไปถึงแม้จะเห็นตำตาว่าการเที่ยวไล่เปิดแผลเก่าส่งผลให้ผู้คนต้องเจ็บปวดเพราะเขามากน้อยเพียงใด การปฏิเสธที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดดังกล่าวคือข้อสำคัญที่ทำให้เราคนดูไม่อาจเชื่อมต่อกับอู๊ดในฐานะตัวละครได้ติด และความไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันของครึ่งแรกและครึ่งหลังของหนังก็ทำให้ตัวละครไม่อาจเติบโต จนถึงจุดที่อาจกล่าวได้ว่าเวอร์ชันภาพยนตร์สั้นของ One for the Road ที่มีแต่เรื่องราวในครึ่งหลังก็ยังคงโอบอุ้มสาระสำคัญที่คนทำหนังต้องการไว้อย่างครบถ้วน (จะเว้นก็แต่คงใช้คำว่า “เธอส์” ไม่ได้) แต่ก็นั่นแหละ อู๊ดในตอนต้นก็คงไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าคำขอโทษของเขาจะได้รับการยอมรับหรือไม่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขา และเขาก็คงจะไม่แยแส สิ่งสำคัญคือการได้ออกเดินทางไปเผชิญหน้ากับอดีต ก็คงจะในทำนองเดียวกับที่นักเดินทางมักกล่าวกันอยู่เสมอ บางครั้งจุดหมายปลายทางอาจไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ได้ค้นพบระหว่างทาง บางที One for the Road ก็คงจะเหมือนกับอู๊ด ไม่สำคัญว่าเราคนดูจะเห็นพ้องกับกลวิธีหรือบทสรุปของหนังหรือไม่ สิ่งที่น่าจดจำคือประสบการณ์อันจำเพาะเจาะจงที่เราคนดูแต่ละคนได้ค้นพบระหว่างการเดินทางครั้งนี้ต่างหาก


Grade: B

Directed by Nattawut Poonpiriya
Written by Puangsoi Aksornsawang, Nottapon Boonprakob, Nattawut Poonpiriya
Produced by Wong Kar-wai
Starring Thanapob Leeratanakajorn, Nattarat Nopparatayapon, Violette Wautier
Cinematography by Phaklao Jiraungkoonkun
Edited by Chonlasit Upanigkit

CODA – แด่ทุกเสียงที่แผ่วเบาเกินกว่าจะมีใครได้ยิน

อย่างหนึ่งที่ทำให้ผลงานก่อนหน้าของชาน เฮเดอร์ อย่าง Tallulah (2016) ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามเมื่อครั้งที่หนังเปิดตัว ณ เทศกาลหนังซันแดนซ์ คือการที่เธอ ในฐานะมือเขียนบทและผู้กำกับ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่ถูกบอกเล่ามานับครั้งไม่ถ้วนได้อย่างสดใหม่ ผ่านเหตุการณ์และกลวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเบือนหน้าหนีความเป็นจริงอันโหดร้าย พูดได้อย่างไม่เคอะเขินว่าวิธีการที่เธอปล่อยให้ตัวละครของเธอค่อย ๆ เติบโตท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่ประดังประเดทำให้เราในฐานะคนดูพร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปกับตัวละครอย่างไม่มีข้อติแย้ง

ในแง่นั้น CODA ผลงานล่าสุดของเธอซึ่งได้เปิดตัวที่เทศกาลหนังซันแดนซ์อีกเช่นกัน ก็นับได้ว่าเป็นหนังที่อาจหาญและทะเยอทะยานยิ่งขึ้นไปอีก ไม่เพียงในแง่ที่มันมุ่งทำตัวเป็นเครื่องขยายเสียงสำหรับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ติดริมชายขอบของดินแดนแห่งความฝัน อย่างกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและครอบครัวที่กำลังประสบความยากลำบากในการรวมหลอมเข้ากับสังคมที่ไม่แยแสพวกเขา หรือกระทั่งกลุ่มชาวประมงที่กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง แต่ยังรวมไปถึงการที่หนังสำเร็จเด็ดขาดในการมองหาจุดประกายความหวังเล็ก ๆ ท่ามกลางซากหักพังเหล่านั้น ผ่านการแหวกคุ้ยสำรวจเส้นทางชีวิตที่เกี่ยวพันกันอย่างยุ่งเหยิงของเด็กสาวแสนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งชะตาฟ้าลิขิตให้เธอมาเกิดและโตในครอบครัวผู้พิการทางการได้ยิน อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง CODA (Child of Deaf Adults)

พูดแบบกำปั้นทุบดิน หากคนทำหนังเลือกที่จะมุ่งให้ CODA เป็นหนังสำรวจ สะท้อน วิพากษ์วิจารณ์ความด่างพร้อยของสังคมอย่างถึงลูกถึงคนมันก็คงเป็นอะไรที่น่าเบื่อ แต่ส่วนที่ชาญฉลาดและทำงานอย่างเป็นผลดีจริง ๆ คือการที่หนังเลือกจะส่องสำรวจประเด็นหนักอึ้งเหล่านั้นผ่านเรื่องราวการเติบโตของรูบี (เอมีเลีย โจนส์) ด้วยกลยุทธิ์ที่เผยให้เห็นทั้งแง่มุมที่แข็งแกร่ง เปราะบาง และบอบช้ำของเธอ ก่อนที่จะปล่อยให้คนดูได้ก้าวข้ามพ้นสถานการณ์เลวร้ายไปพร้อม ๆ กับตัวละคร วิธีการหนังฉายภาพครอบครัวของรูบียามออกเดินเรือไปพร้อมกับครอบครัว เผยให้เห็นพวกเขาถูกห้อมล้อมด้วยทะเลกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ด้านหนึ่งก็ชวนให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าชีวิตของพวกเขา ถึงแม้จะขัดสน แต่ก็สุขสมบูรณ์เพียงใดยามออกเดินทางสู่ความเวิ้งว้างของท้องทะเล จนเมื่อเดินทางกลับเข้าฝั่งสู่โลกแห่งความเป็นจริงนั่นแหละ ที่กระแสคลื่นอันเชี่ยวกรากถาโถมอย่างไร้ความปรานี

ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ช่วงแรกหนังแนะนำให้คนดูรู้จักรูบีในฐานะเด็กหญิงผู้แข็งแกร่ง อย่างภาพระหว่างเธอออกหาปลายามเช้าตรู่กับครอบครัว เธอช่วยเหลืองานอย่างแข็งขันไม่แพ้พี่ชายระหว่างที่ร้องเพลงไปพลางอย่างอารมณ์ดี รวมถึงยังแบกรับภาระหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัวในการติดต่อสื่อสารกับผู้คน ก่อนที่หนังจะค่อย ๆ เผยให้เห็นด้านที่เธอเองก็ยังเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นแสนธรรมดาคนหนึ่ง ที่ทั้งอ่อนไหว บกพร่อง ยังอยู่ในช่วงวัยของการค้นหาตัวตน และพร้อมที่จะเป็นฝ่ายรับการช่วยเหลือเกื้อกูลจากคนรอบข้าง นั่นคือช่วงเวลาที่หนังสะท้อนให้เห็นว่าโลกอันโหดร้ายแห่งนี้เร่งรัดให้เด็กไร้เดียงสาคนหนึ่งต้องรีบเติบโตเพียงใด ในแง่นั้น ถึงแม้สถานการณ์ที่รูบีกำลังประสบจะมีความจำเพราะจาะจงสูง มันจึงไม่ใช่เรื่องยากหรือใหม่อะไรที่เราคนดู ในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่ล้วนเจ็บปวด ก้าวพ้น และเติบโต จะรู้สึกร่วมหัวจมท้ายไปกับการเติบใหญ่ของเธอ และโดยที่ไม่ต้องใช้เวลาและความพยายาม หนังก็สามารถจู่โจมเข้าไปยังจุดอ่อนไหวของคนดูแต่ละคน จนรู้ตัวอีกที น้ำตาที่ถูกกักเก็บอย่างแน่นหนาก็เอ่อล้นอย่างไร้การขัดขืน

CODA ยังว่าด้วยผลกระทบจากความอยุติธรรมที่ครอบครัวหนึ่งได้รับจากสังคมที่กีดกันพวกเขาอย่างเป็นระบบ “เราไม่เห็นต้องหาทางสื่อสารกับพวกเขา พวกเขาต่างหากที่ต้องหาทางสื่อสารกับเรา” พี่ชายของรูบีกล่าวอย่างน่าคิดในช่วงหนึ่ง CODA อาจหละหลวมในการมอบคำตอบอันเป็นรูปธรรมให้กับปัญหาที่ครอบครัวของรูบีประสบ แต่ฉากหนึ่งที่งดงามมาก ๆ และดูจะยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดขึ้นในตอนที่รูบีขับร้องเพลงพร้อม ๆ กับแปลความหมายเนื้อร้องผ่านภาษามือให้ครอบครัวของเธอไปด้วย เป็นฉากที่ไม่เพียงตอกย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างการตามล่าหาความฝันและรักษาไว้ซึ่งสายสัมพันธ์ครอบครัว แต่ยังบ่งชี้เป็นนัยถึงความเป็นไปได้ในการสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันของสองสำนวนภาษา หนึ่งใช้เสียง และอีกนึกเงียบงัน


Grade: B+

Directed by Sian Heder
Screenplay by Sian Heder
Produced by Fabrice Gianfermi, Philippe Rousselet, Jerôme Seydoux, Patrick Wachsberger
Starring Emilia Jones, Eugenio Derbez, Troy Kotsur, Ferdia Walsh-Peelo, Daniel Durant, Marlee Matlin
Cinematography by Paula Huidobro
Edited by Geraud Brisson
Music by Marius de Vries