Tag Archives: Taiki Sakpisit

พญาโศกพิโยคค่ำ – ณ ดินแดนที่ประวัติศาสตร์บาดแผลเคลื่อนที่เป็นวงกลม

เรื่องน่าฉงนอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเมื่อถูกถามว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีความเกี่ยวโยงไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 หรือไม่ ผู้ถูกถามคนหนึ่งอาจตอบอย่างไม่มีความลังเลใจว่า ‘ไม่มี’ ขณะที่ผู้ถูกถามอีกคนหนึ่งก็อาจตอบได้อย่างไม่มีละล้าละลังเช่นกันว่า ‘มี’ พญาโศกพิโยคค่ำ ของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เป็นหนังที่เข้าข่ายจะเป็นคนในข้อหลัง ซึ่งเห็นเด่นชัดได้จากการที่หนังฉายภาพให้เห็นถึงสภาวะอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการติดหล่มอยู่ในวงล้อของความผันแปรทางการเมืองซึ่งยังไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดหมุน แต่ส่วนที่ทำให้ พญาโศกพิโยคค่ำ ไม่ได้เป็นเพียงการเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาประกอบร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ คือการที่หนังเลือกจะโฟกัสจับจ้องไปยังเรื่องราวซึ่งถูกปกปิดซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึกของครอบครัวหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสลมทางการเมืองทั้งสองครั้ง ผ่านกลวิธีที่ไม่เพียงเรียกร้องสมาธิจากคนดู แต่เชื้อเชิญให้เข้าไปสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่เอ่อล้นออกมาจากทุกกรอบเฟรม

หนังเปิดเรื่องในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของการรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 เมื่อพลอยถูกเคลื่อนย้ายไปยังเซฟเฮาส์เพื่อร่วมรับประทานอาหารกับสามีของเธอ ซึ่งเป็นนักการเมืองขั้วตรงข้ามกับผู้ก่อการ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะแอบลักลอบเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลบหนีการจับกุม (หรืออาจถึงขั้นกวาดล้าง) ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจการเมือง เป็นฉากที่ถูกจัดวางให้หวนนึกถึงภาพจิตรกรรมฝาหนัง The Last Supper ของดาวินชี ทว่าความรื่นเริงถูกทดแทนด้วยความเงียบงัน แสงสว่างถูกแทนที่ด้วยความมืดมิด มีเพียงแสงไฟนีออนจากเบื้องบนที่ส่องสว่างอย่างรวยริน เมื่อเธอเผลอหลับและตื่นขึ้น ทุกคนบนโต๊ะอาหารก็หายตัวกันไปหมด เหลือทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า ก่อนที่หนังจะตัดสลับไปบอกเล่าเรื่องราวของไพลิน (โดนัท-มนัสนันท์) แม่ของพลอยซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยเด็กและเพิ่งประสบอุบัติเหตุจมน้ำจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สถานการณ์ของไพลินยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยการหายตัวไปอย่างดื้อ ๆ ของสามีผู้เป็นนายทหาร หลังจากเขาได้รับคำสั่งให้ออกตามไล่ล่าบรรดานักศึกษาที่กำลังหนีเข้าป่า

อดคิดไม่ได้ว่าสามีของไพลิน ซึ่งหนังย้ำนักย้ำหนาว่าหายตัวไปกว่า 3 ปี อาจมีความสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (หากมิใช่คนเดียวกัน) กับจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศในช่วงความวุ่นวายของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะกลับมาเข้าประเทศอีกครั้งจนก่อให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตในเดือนตุลาคม 2519 แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ สนอกสนใจจะเข้าไปตรวจสอบดูจะไม่ใช่เหตุการณ์ความขัดแย้งในภาพใหญ่ แต่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอันจำเพาะเจาะจงสำหรับบุคคล หรือครอบครัวหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มักจะถูกหลงลืมเมื่อประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองถูกยกขึ้นมาถกเถียง ในแง่นั้น พญาโศกพิโยคค่ำ จึงเป็นหนังที่มุ่งหมายจะพาคนดูเข้าไปสัมผัสถึงช่วงเวลาอันเปล่าเปลี่ยว ไปสำรวจเศษซากของการถูกทิ้งร้าง อนาคตที่มืดมน และอดีตที่ไม่น่าอภิรมณ์ ส่วนที่น่าสนใจและนับได้ว่าชาญฉลาดมาก ๆ คือการที่หนังเลือกจะบุกป่าฝ่ารกเข้าไปยังใจกลางบ้านพักของนายทหารฝ่ายขวา (แทนที่จะเป็นเหยื่อฝ่ายซ้ายผู้เคราะห์ร้าย) มันไม่เพียงเปิดเปลือยพื้นที่ต้องห้ามซึ่งอยู่นอกเหนือการรับรู้ของเราคนดูปุถุชน แต่ยังเผยให้เห็นว่าหลังบ้านของนายทหารชั้นสูงเหล่านี้บอบช้ำและผุกร่อนจนพร้อมจะล้มครึนได้ทุกเมื่อเพียงใด นอกจากนี้ ‘บ้าน’ ใน พญาโศกพิโยคค่ำ ยังคงทำงานเชิงสัญญะถึงสภาวะจิตใจอันแตกสลายของไพลิน เป็นสถานะของการถูกทิ้งร้าง ผ่านภาพตัวบ้านที่ทรุดโทรมและข้าวของที่วางอิเหละเขละขละ ซึ่งโดยปริยายได้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ ทว่าปัจจุบันผุพังจนไม่เหลือชิ้นดี

และก็คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกที่หนังเลือกจะเข้าไปสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงสองคนในบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะในฐานะเพศสภาพที่มักถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกมองว่าอ่อนแอและมักตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ที่มักถูกหลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง หรือในฐานะเจ้าของเสียงที่สังคมไม่เคยเหลียวฟัง สิ่งที่ทะเยอทะยานคือความพยายามของคนทำหนังที่จะเชื่อมติดและย้ำเตือนถึงวัฏจักรความรุนแรงซึ่งยังคงหมุนวนอยู่รอบ ๆ คนข้างหลังเหล่านี้ สิ่งที่ไพลินและพลอยประสบอาจต่างกรรมต่างวาระ แต่วิธีการที่หนังครอสคัตเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้งสองเจนเนอเรชันก็ประสบความสำเร็จในการชี้ชัดให้เห็นถึงสภาวะของการติดหล่มอยู่ในกงกรรมกงเกวียน อย่างที่ช่วงหนึ่งหนังบังคับให้คนดูจับจ้องไปยังภาพน้ำในอ่างล้างจานที่กำลังหมุนวนขณะถูกดูดกลืนผ่านรูระบายน้ำอย่างช้า ๆ เป็นภาพที่ไม่เพียงสะท้อนสภาวะของการติดกับอยู่ในกงล้อที่ไม่อาจหยุดหมุน แต่รวมไปถึงความสิ้นไร้ไม้ตอกที่จะขัดฝืนต่อชะตาฟ้าลิขิต บางที หากมีสักอย่างหนึ่งที่ พญาโศกพิโยคค่ำ อยากจะร้องขอกับคนดู คงเป็นการหยุดยั้งวงจรอุบาทว์นี้เสียที


Grade: A-

Directed by Taiki Sakpisit
Produced by Soros Sukhum, Cattleya Paosrijaroen, Subhashok Angsuvarnsiri
Edited by Harin Paesongthai
Cinematography by Chananun Chotrungroj