Tag Archives: Thai

‘ก้าวพ้นวัยแบบ Y2K’ ว่าด้วยการสิ้นสุดของยุคสมัยและการเติบโตใน เธอกับฉันกับฉัน

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

ภาพยนตร์ใช้ชุดคู่ภาษา ‘การก้าวพ้นวัย’ และ ‘การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย’ มาต่อเนื่องหลายทศวรรษ หรือกล่าวให้หยาบกร้านกว่านั้นก็คือ มันถูกใช้มาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ จะแตกต่างก็เพียงรูปร่าง สถานที่ และเวลา ตามแต่บริบทเรื่องราวของหนังแต่ละเรื่องจะกำหนดก็เท่านั้น ลองนึกถึงหนังอย่าง Jules and Jim (1962) ของฟร็องซัวส์ ทรูว์โฟต์ ที่เล่าถึงรักสามเส้าของคนหนุ่มสาวท่ามกลางการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือ A Summer at Grandpa’s (1984) ของโหวเชี่ยวเสียนที่เล่าถึงช่วงเวลาปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่สองพี่ชายน้องสาวได้หนีความวุ่นวายของเมืองหลวงไปใช้เวลาอยู่ ณ บ้านชนบทของคุณปู่ สถานที่ซึ่งพวกเขาจะได้สัมผัสกับความรักความสูญเสีย อันเป็นบททดสอบสำคัญของการเป็นผู้ใหญ่ หรือลองนึกถึงงานไม่นานมานี้อย่าง Ginger and Rosa (2012) ของแซลลี พอตเตอร์ ที่เล่าถึงการเติบโต การหักพังของมิตรภาพและครอบครัว ท่ามกลางการปะทุขึ้นของสงครามเย็น หรือกระทั่ง Eden (2014) ของมีอา แฮนเซน-เลิฟ ที่ปะติดปะต่อการเติบโตของตัวละครไว้กับการสิ้นสุดของวัฒนธรรมคลับใต้ดินและดนตรีแนวเทคโน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย’ ก็เป็นประเด็นสำคัญใน เธอกับฉันกับฉัน ของวรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ไม่เพียงเพราะหนังดำเนินเดินเรื่องอยู่ในปีค.ศ. 1999 อย่างจำเพาะเจาะจง หรือการที่หนังย้ำให้เห็นอยู่หลายครั้งหลายคราถึงความวิตกกังวลต่อ ‘วิกฤติ Y2K’ แต่รวมถึงการที่หนังฉายภาพให้เห็นพลวัต ความเปราะบางของสถาบันครอบครัวชนชั้นกลางไทยที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติการเงินในปีพ.ศ. 2540 เช่นนั้นแล้วเราอาจกล่าวได้หรือไม่ว่ารอยแตกหักที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของฝาแฝดยูและมี (ใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์) หาได้เป็นเรื่องของโชคชะตาหรือเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน หาได้เป็นปัญหาระดับปัจเจก แต่เป็นชะตากรรมร่วมของหลายครอบครัวชนชั้นกลางกรุงเทพ เป็นเรื่องเล่ากระแสรองขนาดกระจ้อยร่อยของหลายครัวเรือนที่สามารถถักทอต่อกันเป็นผืนใหญ่ กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของคนไทยในยุคสมัยหนึ่ง กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ เรื่องราวใน เธอกับฉันกับฉัน เป็นภาพแทนชะตาชีวิตของชนชั้นกลางกรุงเทพ นำเสนอเลือดเนื้อ อารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนความคิด ความประหวั่นพรั่นพรึงในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านให้เราสัมผัสจับต้องและร่วมรู้สึกได้ หนังของวรรณแววและแวววรรณจึงเป็นส่วนผสมที่อบอวลไปด้วยความสดใส ปั่นป่วน และตึงเครียด อันเป็นสิ่งที่ผู้คน ณ โมงยามแห่งการผันผ่านกำลังรู้สึกจริง ๆ

เราอาจติ๊ต่างได้หรือไม่ว่า คุณแม่ (กระแต-ศุภักษร) ของยูและมีก็น่าจะเป็นหนึ่งในแรงงานชนบทหลายหมื่นหลายแสนชีวิตที่แห่หนีความทุกข์ยากของชีวิตชนบทเข้ามาแสวงโชค(ตายเอาดาบหน้า)ในกรุงเทพหลังยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในสมัยของน้าชาติ ก่อนจะต้องระเห็จกลับบ้านเกิด(เก่า)หลังเหตุการณ์ฟองสบู่แตก เมื่อพิจารณาเช่นนั้นแล้วเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างยู มี และหมาก ก็แทบจะกลายเป็นอุปสรรคทำนองเดียวกันกับสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดในครอบครัวของสองฝาแฝด พูดอีกอย่างก็คือ เราสามารถมองได้ว่า หมาก (อันโทนี่ บุยเซอเรท์) คือตัวแทนของอุปสรรคที่เข้ามาสั่นคลอนความสัมพันธ์พี่น้องของยูและมี ในทำนองเดียวกับที่วิกฤติการเงินสั่นคลอนความมั่นคงของสถาบันครอบครัว หนังชี้ชัดให้เห็นว่าเส้นเรื่องทั้งสองส่วนนี้เกี่ยวกระหวัดร้อยรัดกันอยู่ตลอดทั้งเรื่อง หากพิจารณาว่าสิ่งที่นำพาให้ยูและมีได้หวนมาพบกับหมากอีกครั้ง หาได้เป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาส แต่เป็นผลพวงจากการไหลกลับของแรงงานสู่ชนบทหลังความล้มเหลวของการตั้งหลักปักฐานในเมืองกรุง ความพยายามของยูที่จะหัดเล่นเครื่องดนตรีท้องถิ่นอย่างพิณ ก็เป็นสถานการณ์เทียบเคียงได้กับความพยายามที่จะกลับไปเชื่อมต่อกับรกรากทางวัฒนธรรมของครอบครัวเธออีกครั้ง และไม่มากก็น้อย สิ่งที่ดึงดูดให้สองฝาแฝดต่างสนใจในตัวของหมาก ก็อาจจะเป็นสถานะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นคนชนบทและความเป็นอื่น (คนกรุงและคนต่างชาติ) นี้เอง อย่างที่เพื่อนโรงเรียนกรุงเทพชอบเรียกหมากว่า ‘หรั่ง’ และที่เด็ก ๆ ในชุมชนเรียกยูว่า ‘คนกรุงเทพ’

ความสับสนและการถูกบังคับให้ต้องเลือก เป็นอีกประเด็นที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่นที่หมากต้องเลือกระหว่างยูหรือมี ขณะที่ยูและมีก็ต้องเลือกว่าจะเลือกหมากหรือแฝดของตน หนังชี้ให้เห็นว่าความสับสนและการจำต้องเลือกในระดับความสัมพันธ์นี้เองที่ค่อย ๆ ผลักดันให้ยูและมีเติบโตขึ้น นั่นคือตอนที่การเลือกในระดับมิตรภาพขยับขยายกลายเป็นการเลือกเส้นทางชีวิต ในวันที่ยูค้นพบว่าพ่อและแม่ของเธอกำลังหย่าร้าง พร้อม ๆ กับความจริงที่ว่าเธอและฝาแฝดอาจจะต้องแยกกันไปอยู่กับพ่อหรือแม่ นั่นคือตอนที่ฟองสบู่ของโลกวัยเด็กซึ่งกำลังโป่งพองได้ที่ถึงวันต้องแตกสลายไปในที่สุด เพราะมันถูกโลกแห่งความเป็นจริงของวัยผู้ใหญ่กระทบเข้าอย่างจัง ภาพน้ำตาไหลอาบแก้มของยูหลังจากทราบข่าวร้าย ชวนให้โศกสลดเสียใจอย่างที่สุด ไม่เพียงเพราะมันหมายถึงการที่สองฝาแฝดต้องแยกจากกัน แต่มันหมายถึงการสิ้นสุดของช่วงเวลาแห่งความไร้เดียงสาและความเป็นเด็กด้วย

ในอีกความหมายหนึ่ง หนังอาจกำลังบอกเราว่า การก้าวข้ามผ่านวัยของยูและมี ก็เปรียบได้กับการข้ามพ้นวิกฤติ Y2K ของผู้คน ณ ห้วงเวลานั้น เพราะในที่สุดแล้วเราก็จะได้พบกับความจริงว่าปัญหาโลกแตก (ทั้งในความหมายตรงตัวและเปรียบเปรย) เป็นเพียงเรื่องโกหกทั้งเพ หรือเรื่องขี้ปะติ๋วเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน ทั้งยูและมีก็คงจะค้นพบในท้ายที่สุดว่าทั้งเรื่องของหมากและปัญหาครอบครัวที่ดูหนักอึ้งมาก ๆ ย่อมผ่านพ้นและกลายเป็นเพียงความทรงจำไว้ดูต่างหน้าเท่านั้น กล่าวอย่างถึงที่สุด เรื่องราวในพาร์ทครอบครัวของ เธอกับฉันกับฉัน ซึ่งดูราวกับจะเป็นเพียงเรื่องกระแสรองไม่ต่างกับเรื่องราวของหลายชีวิต หลายครอบครัวที่ตกหล่น แตกหัก หรือกระทั่งสูญหายท่ามกลางวิฤติการณ์การเงิน ได้กลายมาเป็นกระแสหลักของเรื่องเล่าและปมสำคัญของเรื่องที่จะเป็นบันไดขั้นสำคัญต่อการเติบโตพ้นวัยของตัวละคร สาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ในหนังของวรรณแวว-แวววรรณน่าจะอยู่ตรงนี้เอง ยูและมีเติบโตขึ้นมิใช่เพราะพวกเธอค้นพบว่าโลกไม่ได้แตกหลังปีค.ศ. 2000 แต่คือการที่พวกเธอได้เรียนรู้ว่า การที่ใครคนหนึ่งหายไปไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียพวกเขาไปอย่างถาวร เพราะนี่คือโลกที่เราต่างอ่อนกำลังเกินกว่าจะกำหนดได้ว่าจะรักษาใครไว้ในชีวิตบ้าง และบางทีการแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเองก็คือส่วนหนึ่ง หากมิใช่ส่วนสำคัญ ของการเติบโต


เธอกับฉันกับฉัน กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

ควันหลง กางจอ 29 ยังแจ๋ว

ได้มีโอกาสไปดูหนังในงานฉายผลงานธีสิสของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ กางจอ ครั้งที่ 29 ประทับใจมาก ๆ รวม ๆ แล้วหนังส่วนใหญ่พูดถึงประเด็นที่มีความเป็นส่วนตัวสูง อย่างความโหยหาที่จะมีปฏิสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว การตามหาตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง หรือความว้าวุ่นภายในจิตใจอันเป็นผลจากอนาคตที่ไม่แน่นอน รวม ๆ แล้วถึงแม้หนังแต่ละเรื่องจะเป็นเอกเทศซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน แต่เมื่อนำเรื่องราวเล็ก ๆ เหล่านี้มาเรียงร้อยต่อกัน เรากลับพบว่ามันถักทอออกมาเป็นผ้าผืนใหญ่ที่เผยชัดถึงความอึดอัดคับข้องของคนรุ่นใหม่ เรื่องราวอันเป็นส่วนตัวในแง่หนึ่งจึงมีความเป็นสากลและเป็นมนุษย์มาก ๆ ไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่เราคนดูจะสัมผัสเข้าถึง และถึงหลาย ๆ เรื่องจะพูดถึงประเด็นคล้ายกัน แต่ก็มีเรื่องที่โดดเด่นออกมา อย่างเช่น หนึ่งเสี้ยวทรงจำ (Still on Our Mind) ของ วรลักษณ์ มนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางรื้อฟื้นความทรงจำระหว่างพ่อกับลูกสาว เป็นหนังที่เรียบง่าย พล็อตเบาบาง แต่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก ท่าทีกระอักกระอ่วนของสองพ่อลูกอันเป็นผลจากความห่างเหินค่อย ๆ ถูกความทรงจำที่ฝังอยู่กับสถานที่เก่าก่อนกระเทาะจนเผยให้เห็นความรักผูกพันที่ทั้งสองมีให้กัน งดงามมาก ๆ เป็นหนังที่ดูจบแล้วอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์โทรหาคุณพ่อทันที

อีกเรื่องที่พูดถึงความว้าวุ่นของคนหนุ่มสาวได้น่าจดจำทีเดียว คือ Friday Saturday Sunday ของ พบเมฆ จุลละครินทร์ ชอบการที่หนังเลือกหยิบเอาสามวันสุดท้ายก่อนที่นางเอกจะต้องเดินทางมุ่งหน้าสู่ชีวิตมหาลัย ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่วัยรุ่นทุกคนกำลังอยู่ในช่วงที่เปราะบางที่สุด และการเลือกช่วงเวลาได้ถูกต้องก็ส่งผลให้หนังสามารถ่ายทอดมิติความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้รอบด้าน หนังพาเราเข้าไปสัมผัสความสับสนอลหม่านในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กคนหนึ่งต้องประสบ ผ่านเหตุการณ์ที่เธอต้องไปจัดการกับความสัมพันธ์ยุ่งเหยิงต่าง ๆ กับคนรอบตัว ทั้งเพื่อน แฟน คุณแม่ ต้องยกเครดิตให้กับการกำกับอันแม่นยำที่ส่งผลให้การแสดงออกมาอย่างเหมาะสมลงตัว ไม่ล้นหรือน้อยจนเกินไป

นอกจากนี้ยังมี อีกไม่นานเราจะกลับมา สารคดีของเดชบดินทร์ โพธิ์ศรี ที่ถ่ายทอดความเปราะบางของครอบครัวในวันที่คุณพ่อผู้เป็นเสาหลักเกิดล้มป่วย เรื่องเล่าของหนัง ถึงแม้จะไม่ได้มุ่งรื้อสำรวจการกดทับเชิงโครงสร้างอะไรที่ครอบครัวกำลังประสบ แต่ประทับใจท่าทีของหนังที่มีความเป็นส่วนตัวและจริงใจต่อเรื่องที่กำลังเล่ามาก ๆ จนปัญหาระดับจุลภาคที่หนังฉายภาพให้เห็นค่อย ๆ ขยับขยายกลายเป็นเรื่องระดับมหภาคที่สั่นสะเทือนอารมณ์คนดูได้ในที่สุด สารคดีอีกเรื่องที่ดีจริงๆ คือ Big Trash Small Town ของศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา ที่พาเราคนดูไปสอดส่องปัญหาการจัดการขยะ และสำรวจบทบาทของซาเล้งในฐานะหน่วยเล็กย่อยที่สุดของปัญหาการเมืองระดับมหภาค เป็นสารคดีที่เปิดโลกทัศน์จริง ๆ ข้อมูลมากมายถูกลำดับเรื่องราวออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบ สื่อสารกับคนดูอย่างชัดค่อยชัดคำ แต่ด้วยความที่หนังดูราวกับว่ายังเลือกไม่ถูกว่าสนใจประเด็นการเมืองในภาพใหญ่หรือชีวิตคนชายขอบตัวเล็ก ๆ อย่างซาเล้งมากกว่ากัน (ส่วนตัวสนใจข้อหลังมากกว่า) เลยทำให้หนังยังเหลือพื้นที่ให้ไปส่องสำรวจอีกพอสมควร

ลูกหยีอีหัวหยอย ของ อนรรฆมนต์ อังศธรรมรัตน์ เป็นอีกเรื่องที่ชอบมู้ดโทนของหนังมาก ๆ ชวนให้นึกถึง Mary Is Happy, Marry is Happy (และตัวละครเพื่อนสนิทก็ดูราวกับหลุดออกมาจากหนังนวพลจริง ๆ รวมถึงช็อตสุดท้ายของหนังด้วย) หนังมีประเด็นที่ชัดเจน รู้ว่าจะเล่าอะไร และเล่าออกมาได้อย่างกระชับรัดกุม ชอบการที่หนังหยิบประเด็นเล็กจ้อยอย่างการมีผมหยิก มากางแผ่ให้เห็นว่าเด็กคนหนึ่งต้องถูกกดทับอย่างไรและจากใคร เรื่องราวของลูกหยีอีหัวหยอย เลยไม่ได้เป็นแค่การฉายภาพปัญหาระดับปัจเจก แต่หนังชี้ให้เห็นว่ามันมีการเมืองเรื่องทรงผม หนังมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งจนเผลอคิดไปว่าถ้าคุณผู้กำกับไม่ได้เป็นคนผมหยิก ก็ต้องมีสายตาที่แหลมคมมาก ๆ ถึงได้มองเห็นเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ได้ หากจะมีอะไรให้ติเสริม ก็คงเป็นโครงสร้างของหนังที่กระชับรัดกุมและถูกคำนวณมาอย่างแม่นยำมาก ๆ แต่ละเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นดูจะมีเป้าประสงค์ชัดเจนว่าจะสะท้อนอะไร ตีแผ่อะไร มิติความมีชีวิตของตัวละครเลยยังถูกเติมเต็มได้อีก แต่ก็เข้าใจว่าด้วยระยะเวลาที่จำกัดของความเป็นหนังสั้นด้วยส่วนหนึ่ง

อีกเรื่องที่เหนือความคาดหมายคือ Shangri-la ของสหรัฐ อึ้งกิจไพบูลย์ ปมประเด็นการตามหาความฝันตัวตนในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออาจจะไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่สไตล์คือสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ติดตาตรึงใจมาก ๆ ผ่านบทสนทนายืดยาว หนังค่อย ๆ ล่อลวงคนดูเข้าสู่วังวนแห่งความว้าวุ่น กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็ตกอยู่ในสถานะกึ่งตื่นกึ่งฝันไม่ต่างกับตัวละคร เป็นหนังที่คลุกเคล้าไปด้วยเสน่ห์อันลึกลับเย้ายวนของโลกที่เต็มไปด้วยคำถาม ฉากจัดบ้านชวนให้นึกถึง Jeanne Dielman (1975) แต่ขณะที่หนังของฌ็องตาล อาเกอร์มาน พูดถึงความเหนื่อยหน่ายและสภาวะเสมือนถูกกักขังในห้องปิดตาย หนังของสหรัฐ อึ้งกิจไพบูลย์ค่อย ๆ เปลี่ยนห้องรกรุงรังให้กลายเป็นดินแดนบริสุทธิ์ ชวนให้นึกขึ้นได้ว่า Shangri-la ที่เขาและเราคนดูต่างถวิลหา บางทีก็อาจอยู่ใกล้ตัวแค่นี้เอง

ผลงานที่มีศักยภาพที่จะไปต่อ ณ เวทีอื่น ๆ อย่างไร้ข้อกังขาคือ นางอาย ของจตุพล เขียวแสง จุดหักเหในตอนต้นเรื่องของหนังเมื่อตัวละครหนึ่งเกิดหายไปดื้อ ๆ ชวนให้นึกถึง L’Avventura (1960) ในแง่ที่เรื่องราวของเด็กสาวผู้สาบสูญดูจะไม่ได้เป็นแกนหลักของหนัง เพราะคำถามในหนังของจตุพลดูจะแวดล้อมอยู่กับตัวละครที่ยังอยู่เสียมากกว่า แต่ขณะที่หนังของมิเกลันเจโล แอนโตนิโอนี พูดถึงความแปลกแยกเปลี่ยวเหงาและการถูกหลงลืมท่ามกลางความเป็นสังคมเมือง หนังของจตุพล เขียวแสง ฉายภาพให้เห็นการตกหล่นสูญหายของคนหนุ่มหญิงสาวในชนบทรอบนอก และถึงแม้ผิวเผินแล้วหนังจะมีลักษณะเป็นงานเพื่อชีวิตที่เน้นนำเสนอความทุกข์ยากของคนจนคนชายขอบ งานของจตุพลปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องตามขนบของหนังสัจนิยมสังคมนิยมที่มักฉายภาพคู่ขัดแย้งระหว่างคนจน(เหยื่อ)และรัฐ(ผู้ร้าย)อย่างตรงไปตรงมา

กลับกัน นางอาย มีความหัวขบถอย่างชัดเจน ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงที่จะมอบคำตอบอันเป็นรูปธรรม ตลอดจนการปฏิเสธที่จะดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จ การหายไปของตัวละครเปรียบได้กับการก่อกบฏต่อขนบของหนังเล่าเรื่อง เมื่อหนังพาเราคนดูไปสัมผัสความสยดสยองของการเป็นคนรุ่นใหม่ การเป็นคนชนบทที่ถูกรัฐบังคับให้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด แม้ว่ามันจะหมายถึงการเหยียบหัวเพื่อนรักคนสนิทของเขาหรือเธอก็ตาม ที่ต้องปรบมือให้ดัง ๆ คือการถ่ายทอดความรุนแรงที่ตัวเหล่าครเหล่านี้กำลังประสบ ทั้งเหตุการณ์การทำร้ายตัวเอง หรือการที่ตัวเอกถูกล่วงละเมิด โดยไม่ต้องพาคนดูไปปะทะกับความรุนแรงอย่างซึ่งหน้า แต่เล่าผ่านบรรยากาศสงบเยือกเย็นที่อบอวลไปด้วยความหวาดกลัวและโกรธเคือง กล่าวได้ว่าความเงียบใน นางอาย ไม่ได้เป็นความเงียบของผู้คนที่สยบยอมต่อชะตาชีวิตโดยไม่หืออือ แต่เป็นความสงบเงียบงันจากผู้คนตัวเล็ก ๆ ที่ทำได้เพียงแผดเสียงสุดกำลังอยู่ภายใน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าถึงแม้หนังหลายเรื่องจะพูดถึงประเด็นเดียวกัน แต่ด้วยวิธีการบอกเล่าที่มีเอกลักษณ์และเนื้อหาสาระที่มีความเป็นส่วนตัว ทำให้แต่ละเรื่องราวมีความเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน แต่กระนั้นเมื่อนำหลาย ๆ เรื่องมาถักทอต่อกันเป็นผืนใหญ่ เราคนดูสัมผัสรับรู้ได้ถึงความโกลาหลโกรธเคือง ทั้งต่อสถานการณ์บ้านเมือง สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงอนาคตที่ยังถูกหมอกคลุมและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ในฐานะคนดูก็คงกล่าวได้แต่เพียงว่าเรารอคอยที่จะได้ดูหนังเรื่องต่อไปของผู้กำกับกางจอ 29 ทุก ๆ คน และขออวยพรให้ผู้กำกับหน้าใหม่ทุกคนได้ออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก


บูชา – ในวันที่ความเชื่อมีราคา และศรัทธามีค่าแสนถูก

คาร์ล มาร์กซ เคยกล่าวไว้ว่า ‘หากปรากฏการณ์กับแก่นแท้ของความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน คงป่วยการที่จะมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์‘ ระหว่างดูสารคดีเรื่อง ‘บูชา‘ ของอุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงวาทะดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าสามารถหยิบจับมาปรับใช้กับสถานการณ์ในสารคดีได้เหมาะเจาะลงตัว เพราะหากเรา หรือใครก็ตาม หลงปักใจเชื่อว่าการบริจาคเงิน ‘เล็ก ๆ น้อย ๆ’ เพียงสิบบาทยี่สิบบาทให้แก่วัด จะคืนย้อนมาซึ่งผลบุญมหาศาลทวีคูณ เช่นนั้นแล้วเส้นแบ่งระหว่างศรัทธาและความเชื่องมงายก็คงถูกลบเลือนจนหายสิ้น ขณะเดียวกันก็อดที่จะนึกไปถึงสารคดีสั้นอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ ‘สวรรคาลัย‘ ของอภิชน รัตนาภายน ที่ฉายภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต ทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมอย่างง่ายคือการมุ่งฉายภาพเหตุการณ์ความเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงสำนึกคิดของคนดู ปราศจากบทสัมภาษณ์ ไร้ซึ่งการบรรยายเบื้องลึกความหลังเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจแก่ผู้ชม ไม่มีการมอบเหตุผลอันเป็นรูปธรรม(ถ้ามี)แก่ภาพชวนตกตะลึงที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ มันเอื้อให้เราคนดูปฏิสัมพันธ์กับภาพเหล่านั้นได้อย่างอิสระเสรี และโดยปริยายก็ชวนให้เกิดการตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะเมื่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่หนังพาเราไปส่องสังเกต ค่อย ๆ กลายร่างไปเป็นคัลท์ที่เต็มไปด้วยเรื่องเหนือจริงสุดจินตนาการ ทำไปเพื่ออะไร(วะ)? เป็นคำถามที่ผุดขึ้นซ้ำ ๆ จนแทบจะเป็นแผ่นเสียงตกร่องอยู่ในห้วงความคิด

ระหว่างที่หนังตัดสลับภาพเหตุการณ์จากแต่ละภูมิภาค จุดร่วมหนึ่งที่พอจะจับสังเกตได้ นอกจากความหลงเชื่ออย่างหัวปักหัวปำ คือผู้คนที่มาร่วมสังฆกรรมกันอย่างพร้อมเพรียงต่างล้วนตกอยู่ในสถานะอดอยากขัดสน ส่วนมากขอพรให้ตัวเองร่ำรวย หลายคนขอให้ชาติหน้าสบายกว่าที่เป็นอยู่ (ซึ่งสบายกว่าที่เป็นอยู่ ก็คาดเดาได้ว่าหมายถึงร่ำรวยกว่าทุกวันนี้อีกเช่นกัน) “ขอให้รวยโคตรๆๆๆๆ ขอให้โคตรรวย รวยจนไม่มีที่เก็บเงิน” คำให้พรจากพระรูปหนึ่งดังขึ้นพร้อมเสียงแซ่ซ้องชอบใจของญาติโยมที่มาทำบุญถวายทานกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน และไม่เพียงแต่บรรดาพุทธศาสนิกชนที่เรียกร้องขอความร่ำรวยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สารคดีเผยให้เห็นว่า วัด เองก็เรียกร้องเงินทองเป็นการตอบแทนความศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วยเช่นกัน พูดอีกอย่าง สารคดี บูชา เปิดผ้าคลุมทางโครงสร้างให้เห็นว่า เมื่อสถาบันศาสนาสอดประสานรวมตัวเป็นสมการเดียวกับทุนที่ไร้การตรวจสอบ วัฒนธรรมประเพณีที่สืบสานกันมาตั้งแต่โบราณก็สามารถกลายร่างไปเป็นธุรกรรมความเชื่อได้อย่างง่ายดายเพียงใด และในเมื่อปัญหาปากท้องก็ย่อมตกอยู่ใต้อิทธิพลของสังคม ศาสนา การเมืองการปกครอง ในตัวมันเองอยู่แล้ว ปัญหาทั้งหลายทั้งมวลจึงมะรุมมะตุ้มโยงใยกันจนแกะแยกไม่ออกอย่างที่เป็นอยู่

ถึงแม้จะต้องยอมรับว่าตัวสารคดีสำเร็จลุล่วงในปลายทางที่ปักธงไว้ (การมุ่งฉายความจริงโดยไม่บิดพลิ้ว และเปิดให้คนดูได้ตั้งคำถามด้วยตนเองอย่างเสรี) แต่ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของหนังมากนัก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘ความจริง’ ที่ปรากฏบนจอภาพก็เป็นเพียงเหรียญด้านเดียวของความจริง นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าภาพที่ปรากฏอยู่ในตัวสารคดีก็ย่อมผ่านกรรมวิธีทางภาพยนตร์ ความจริงที่เกิดขึ้นจึงถูกตัดแต่งและคัดกรองผ่านสายตาของคนทำหนัง เราในฐานะคนดูไม่มีโอกาสได้รับฟังผู้คนเหล่านั้นแก้ตัวให้กับพฤติกรรมบ้าบอและบ้าบิ่นของพวกเขาเอง และตัวสารคดีก็ดูจะไม่ได้สนใจที่จะเปิดเปลือยให้เห็นความลักลั่นของสถาบันต่าง ๆ ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สังคม การเมือง ซึ่งล้วนต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อความผุกร่อนของผู้คนและศาสนาอย่างที่เห็นอยู่นี้แน่ ๆ

อีกข้อที่น่าสนใจและน่าจะเป็นข้อที่ทำให้ภาพน่าขยะแขยงในหนังทวีความขนลุกขนพองขึ้นไปอีก คือความจริงที่ว่าสถานการณ์ในหนัง ซึ่งขยับสับเปลี่ยนไปจดจ่ออยู่กับพิธีกรรมความเชื่อในแต่ละภูมิภาค แง่หนึ่งก็ดูจะประพฤติตัวเป็นแบบจำลองขนาดย่อมย่อของสังคมไทยในภาพใหญ่ ซึ่งกำลังถูกหล่อเลี้ยงด้วย ‘ความเชื่อ’ และ ‘ทุน’ มากกว่าครั้งไหน ๆ ที่เคยเป็นมาในหน้าประวัติศาสตร์ ผลที่เกิดขึ้นคือความย้อนแย้ง พระสงฆ์ (อย่างน้อยก็ที่ปรากฏในตัวสารคดี) ไม่ได้ทำหน้าที่เผยแพร่พระธรรมคำสอน ในทำนองเดียวกับที่ตำรวจก็อาจกลายเป็นผู้ร้าย และทหารไม่ได้ทำหน้าที่รั้วของชาติ พูดได้ว่าในสังคมที่ความมั่งคั่งของประเทศขึ้นอยู่กับการจัดการเบ็ดเสร็จของอภิสิทธิ์ชน คนจนคนรากหญ้าจึงไร้หนทางที่จะลืมตาอ้าปาก และศาสนาที่ควรจะเป็นที่ยึดเหนี่ยว หรือที่พึ่งทางจิตใจในระดับสุดท้าย ก็กลับแปรสภาพกลายไปเป็นนายทุนหน้าเลือดที่จ้องรอคอยจะเข้ามาร่วมกินโต๊ะคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่ง นี่คือสภาวะอันน่าอดสูของสังคมไทย และส่วนที่น่าเศร้าที่สุดคือเรายังมองไม่หนทางที่จะหลุดพ้นไปจากวังวนเหล่านี้ได้เลย


ภาพยนตร์โดย อุรุพงศ์ รักษาสัตย์

Fast and Feel Love – เมื่อโลกเร็วโหด จนใครบางคนถูกลืมหล่นหาย

พูดถึงหนังที่สามารถส่องขยายให้เห็นถึงความสำคัญของเวลาในระดับเศษเสี้ยววินาที เรื่องแรก ๆ ที่นึกถึงคงจะเป็น Chungking Express ของหว่องกาไว ด้วยว่า เวลา เป็นสิ่งที่สลักสำคัญอย่างยิ่งยวดในหนังของหว่อง มันมีวันหมดอายุ ไร้การควบคุม มักจะเดินทางอย่างคดเคี้ยวไปมาในจังหวะจะโคนที่ไม่คงที่ เวลาในหนังของหว่องจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ จนถึงจุดที่มันสามารถฉายส่องให้เห็นว่าในสภาวการณ์หรือในสถานที่ซึ่งมีความจำเพาะมาก ๆ เวลาแสนสั้นเพียงชั่วอึดใจก็อาจจุดประกายให้เกิดความน่าจะเป็นอีกร้อยแปดพันเก้า ในแง่หนึ่งตัวละครของหว่องจึงมีสถานะเป็นผู้ประสบภัยทางเวลา ซึ่งหว่องกาไวชี้ให้เห็นว่าเวลาเพียงเสี้ยววินาทีอาจขยับขยายกลายเป็นการตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ หรือไม่ก็กลายเป็นการพลัดพรากที่ไม่นำมาซึ่งอะไรเลย Fast and Feel Love ของเต๋อ นวพล ทำให้นึกถึง เวลา ในหนังของหว่อง ไม่ใช่แค่เพราะกีฬาสปอร์ตสแต็กกิงซึ่งหนังเอามาใช้เป็นเครื่องดำเนินเรื่องนั้นตัดสินแพ้ชนะกันด้วยช่องว่างเพียง 0.001 วินาที แต่รวมถึงการที่ชีวิตของตัวละครอย่างเกา (ณัฏฐ์ กิจจริต) ในแง่หนึ่งนั้นถูกกำหนดกฎเกณฑ์อยู่บนเงื่อนไขของเวลาชนิดทุกย่างก้าว

ซึ่งว่าไปแล้วก็คล้าย ๆ กับอีกหลาย ๆ ตัวละครที่เรามักเห็นกันในหนังของเต๋อ เกาอาศัยอยู่บนโลกที่ดูราวกับว่ากำลังหมุนเร็วเกินไป จนถึงจุดที่เขาค้นพบว่าตัวเองไม่อาจวิ่งตามมันได้ทัน ตัวละครในหนังของเต๋อมักถูกห้อมล้อมด้วยสถานที่ทรุดโทรม ตึกเก่าคับแคบ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ที่ดูตกยุคตกสมัย ขัดแย้งกับฉากหน้าของหนังที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลาปัจจุบัน ราวกับว่าพวกเขากำลังติดอยู่ในช่องว่างกึ่งกลางระหว่างอดีตและปัจจุบัน (อย่างที่เห็นเด่นชัดก็ในกรณีของ ทราย, แมรี่, ยุ่น และ จีน ที่ต่างตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน) พูดอีกอย่างหนึ่ง หนังของเต๋อมักจำลองเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน อยู่เสมอ กรณีของเกา ใน Fast and Feel Love ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดยพื้นเพเขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางล่าง อาศัยอยู่ในบ้านตึกแถวที่ทั้งแออัดและคับแคบจนไม่เหลือพื้นที่ให้กับความเป็นส่วนตัว จนกระทั่งชะตาฟ้าลิขิตให้เขาขยับเคลื่อนย้ายไปอยู่ในบ้านหรูใจกลางกรุงกับเจ (อุรัสยา สเปอร์บันด์) แฟนสาวผู้หวังดีที่เขาคบหามาตั้งแต่สมัยเด็กวัยเรียน

บ้านใหม่ที่ทั้งโอ่โถงและประดับประดาไปด้วยข้าวของเครื่องใช้สวยงามทันสมัย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างของเก่าและใหม่ อดีตและปัจจุบัน ที่ซึ่งเกาดูราวกับว่ากำลังติดหล่มอยู่ บ้านเก่าของคุณแม่วุ่นวายเกินกว่าที่เขาจะกลับไปอยู่อาศัย ขณะเดียวกันชีวิตในบ้านใหม่ก็สุดแสนสลับซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะทำความเข้าใจได้อย่างรอบด้าน นั่นคือตอนที่ เจ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตของเกา เธอไม่เพียงอุ้มชูเขาโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน แต่ในฐานะตัวละคร เจ ยังทำงานเป็นแม่เหล็กขั้วตรงข้ามกับเกา เธอทันสมัย ทว่าเรียบง่าย (ขณะที่เขาล้าสมัย ทว่าทะเยอทะยาน) เธอไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงอยากจะเป็นที่หนึ่งของโลกอย่างเกา ความฝันของเธอไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เธอต้องการแต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ตัวละครเจ แง่หนึ่งก็เปรียบได้กับตัวตนอีกด้านหนึ่งของนวพล ที่ยังโหยหาความเชื่องช้าและเรียบง่าย ทว่าต้องรับมือกับโลกปัจจุบันทันด่วนที่ทุกคนคาดหวังให้ทุกอย่าง (โดยเฉพาะภาพยนตร์) ต้องหมุนเคลื่อนอย่างรวดเร็วทันใจ (แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าการเขียนตัวละครผู้หญิงให้ฝันอยากจะเป็นเพียง แม่ของลูกโดยไม่มีอะไรมากกว่านั้น ในพ.ศ.นี้เป็นอะไรที่ล้าหลังมาก ๆ รวมถึงตัวละครคนจนผิวดำที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนชนชั้นกลาง ก็เป็นอะไรที่น่าถกเถียง)

คุณลักษณะที่สำคัญมาก ๆ อีกอย่างหนึ่งของนวพลคือการที่หนังของเขามักเป็นผลผลิตของการต่อรองระหว่างความเป็นประพันธกร (auteur) และการทำหนังโดยมีตลาดเป็นตัวนำของสตูดิโอ (ในทำนองเดียวกับที่ตัวละครของเขามักอยู่กึ่งกลางระหว่างอดีตและปัจจุบัน) ไวยากรณ์ภาพยนตร์ของนวพลจึงไม่เคยหยุดนิ่ง เราคนดูเห็นการทดลองใหม่ ๆ ในหนังของเขาอยู่เสมอ ตั้งแต่การแช่กล้องและถ่ายทำด้วยลองเทคที่เขารับอิทธิพลมาจากหนังไต้หวันใน 36 การผสมปนเประหว่างเรื่องจริงและเหนือจริงใน Mary is Happy, Mary is Happy การใช้กล้องแฮนด์เฮลด์เพื่อเน้นย้ำถึงความไม่มั่นคงของยุ่นใน ฟรีแลนซ์ และล่าสุด คือการเอาเทคนิคการถ่ายทำแบบหนังตลาดฮอลลีวู้ด โดยเฉพาะหนังแอคชัน มาบอกเล่าเรื่องราวการเติบโตในโลกอันแสนสับสนอลหม่านของเกาใน Fast and Feel Love ซึ่งว่ากันตามตรง ท่าทีตลกขบขันของหนังกับจังหวะขึงขังจริงจังแบบหนังแอคชันก็ไม่สามารถทำงานกันได้อย่างเป็นเนื้อเดียว แต่กล่าวอย่างถึงที่สุด อย่างน้อย ๆ มันก็ไม่ได้ทำงานเพียงในฐานะหนังที่เอาประโยคคม ๆ หรือภาพจำจากหนังฮอลลีวู้ดและป็อปคัลเจอร์มาล้อเลียนแบบซึ่งหน้า (ถึงแม้หน้าหนังจะชวนให้คิดเช่นนั้น) แต่เป็นทั้งสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าบางครั้งการเคลื่อนที่เร็วเกินไปก็อาจทำให้เราต้องทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง และเป็นการประชดประชันตัวเอง (รวมถึงคนดู) ประหนึ่งว่า “หนังเร็ว ๆ แบบนี้ใช่ไหม ที่พวกนายอยากดู”


Grade: B

กำกับ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
อำนวยการสร้าง นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
บทภาพยนตร์ นวพล ธำรงรัตน์ฤทธิ์
แสดง ณัฏฐ์ กิจจริต, อุรัสยา เสปอร์มันด์
กำกับภาพ ณัฐดนัย นาคสุวรรณ
ตัดต่อ ปนายุ คุณวัลลี
ดนตรี เมลโลว์ จูน

พญาโศกพิโยคค่ำ – ณ ดินแดนที่ประวัติศาสตร์บาดแผลเคลื่อนที่เป็นวงกลม

เรื่องน่าฉงนอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเมื่อถูกถามว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีความเกี่ยวโยงไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 หรือไม่ ผู้ถูกถามคนหนึ่งอาจตอบอย่างไม่มีความลังเลใจว่า ‘ไม่มี’ ขณะที่ผู้ถูกถามอีกคนหนึ่งก็อาจตอบได้อย่างไม่มีละล้าละลังเช่นกันว่า ‘มี’ พญาโศกพิโยคค่ำ ของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เป็นหนังที่เข้าข่ายจะเป็นคนในข้อหลัง ซึ่งเห็นเด่นชัดได้จากการที่หนังฉายภาพให้เห็นถึงสภาวะอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของการติดหล่มอยู่ในวงล้อของความผันแปรทางการเมืองซึ่งยังไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดหมุน แต่ส่วนที่ทำให้ พญาโศกพิโยคค่ำ ไม่ได้เป็นเพียงการเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาประกอบร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ คือการที่หนังเลือกจะโฟกัสจับจ้องไปยังเรื่องราวซึ่งถูกปกปิดซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึกของครอบครัวหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสลมทางการเมืองทั้งสองครั้ง ผ่านกลวิธีที่ไม่เพียงเรียกร้องสมาธิจากคนดู แต่เชื้อเชิญให้เข้าไปสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่เอ่อล้นออกมาจากทุกกรอบเฟรม

หนังเปิดเรื่องในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของการรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 เมื่อพลอยถูกเคลื่อนย้ายไปยังเซฟเฮาส์เพื่อร่วมรับประทานอาหารกับสามีของเธอ ซึ่งเป็นนักการเมืองขั้วตรงข้ามกับผู้ก่อการ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะแอบลักลอบเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลบหนีการจับกุม (หรืออาจถึงขั้นกวาดล้าง) ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจการเมือง เป็นฉากที่ถูกจัดวางให้หวนนึกถึงภาพจิตรกรรมฝาหนัง The Last Supper ของดาวินชี ทว่าความรื่นเริงถูกทดแทนด้วยความเงียบงัน แสงสว่างถูกแทนที่ด้วยความมืดมิด มีเพียงแสงไฟนีออนจากเบื้องบนที่ส่องสว่างอย่างรวยริน เมื่อเธอเผลอหลับและตื่นขึ้น ทุกคนบนโต๊ะอาหารก็หายตัวกันไปหมด เหลือทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า ก่อนที่หนังจะตัดสลับไปบอกเล่าเรื่องราวของไพลิน (โดนัท-มนัสนันท์) แม่ของพลอยซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยเด็กและเพิ่งประสบอุบัติเหตุจมน้ำจนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สถานการณ์ของไพลินยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยการหายตัวไปอย่างดื้อ ๆ ของสามีผู้เป็นนายทหาร หลังจากเขาได้รับคำสั่งให้ออกตามไล่ล่าบรรดานักศึกษาที่กำลังหนีเข้าป่า

อดคิดไม่ได้ว่าสามีของไพลิน ซึ่งหนังย้ำนักย้ำหนาว่าหายตัวไปกว่า 3 ปี อาจมีความสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (หากมิใช่คนเดียวกัน) กับจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศในช่วงความวุ่นวายของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะกลับมาเข้าประเทศอีกครั้งจนก่อให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตในเดือนตุลาคม 2519 แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ สนอกสนใจจะเข้าไปตรวจสอบดูจะไม่ใช่เหตุการณ์ความขัดแย้งในภาพใหญ่ แต่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลอันจำเพาะเจาะจงสำหรับบุคคล หรือครอบครัวหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มักจะถูกหลงลืมเมื่อประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองถูกยกขึ้นมาถกเถียง ในแง่นั้น พญาโศกพิโยคค่ำ จึงเป็นหนังที่มุ่งหมายจะพาคนดูเข้าไปสัมผัสถึงช่วงเวลาอันเปล่าเปลี่ยว ไปสำรวจเศษซากของการถูกทิ้งร้าง อนาคตที่มืดมน และอดีตที่ไม่น่าอภิรมณ์ ส่วนที่น่าสนใจและนับได้ว่าชาญฉลาดมาก ๆ คือการที่หนังเลือกจะบุกป่าฝ่ารกเข้าไปยังใจกลางบ้านพักของนายทหารฝ่ายขวา (แทนที่จะเป็นเหยื่อฝ่ายซ้ายผู้เคราะห์ร้าย) มันไม่เพียงเปิดเปลือยพื้นที่ต้องห้ามซึ่งอยู่นอกเหนือการรับรู้ของเราคนดูปุถุชน แต่ยังเผยให้เห็นว่าหลังบ้านของนายทหารชั้นสูงเหล่านี้บอบช้ำและผุกร่อนจนพร้อมจะล้มครึนได้ทุกเมื่อเพียงใด นอกจากนี้ ‘บ้าน’ ใน พญาโศกพิโยคค่ำ ยังคงทำงานเชิงสัญญะถึงสภาวะจิตใจอันแตกสลายของไพลิน เป็นสถานะของการถูกทิ้งร้าง ผ่านภาพตัวบ้านที่ทรุดโทรมและข้าวของที่วางอิเหละเขละขละ ซึ่งโดยปริยายได้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ ทว่าปัจจุบันผุพังจนไม่เหลือชิ้นดี

และก็คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกที่หนังเลือกจะเข้าไปสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงสองคนในบ้านหลังนี้ ไม่ว่าจะในฐานะเพศสภาพที่มักถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกมองว่าอ่อนแอและมักตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ที่มักถูกหลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง หรือในฐานะเจ้าของเสียงที่สังคมไม่เคยเหลียวฟัง สิ่งที่ทะเยอทะยานคือความพยายามของคนทำหนังที่จะเชื่อมติดและย้ำเตือนถึงวัฏจักรความรุนแรงซึ่งยังคงหมุนวนอยู่รอบ ๆ คนข้างหลังเหล่านี้ สิ่งที่ไพลินและพลอยประสบอาจต่างกรรมต่างวาระ แต่วิธีการที่หนังครอสคัตเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับหญิงสาวทั้งสองเจนเนอเรชันก็ประสบความสำเร็จในการชี้ชัดให้เห็นถึงสภาวะของการติดหล่มอยู่ในกงกรรมกงเกวียน อย่างที่ช่วงหนึ่งหนังบังคับให้คนดูจับจ้องไปยังภาพน้ำในอ่างล้างจานที่กำลังหมุนวนขณะถูกดูดกลืนผ่านรูระบายน้ำอย่างช้า ๆ เป็นภาพที่ไม่เพียงสะท้อนสภาวะของการติดกับอยู่ในกงล้อที่ไม่อาจหยุดหมุน แต่รวมไปถึงความสิ้นไร้ไม้ตอกที่จะขัดฝืนต่อชะตาฟ้าลิขิต บางที หากมีสักอย่างหนึ่งที่ พญาโศกพิโยคค่ำ อยากจะร้องขอกับคนดู คงเป็นการหยุดยั้งวงจรอุบาทว์นี้เสียที


Grade: A-

Directed by Taiki Sakpisit
Produced by Soros Sukhum, Cattleya Paosrijaroen, Subhashok Angsuvarnsiri
Edited by Harin Paesongthai
Cinematography by Chananun Chotrungroj

ร่างทรง (2021) ในวันที่ ‘อีมิ้ง’ ไม่อาจระลึกชาติ และกรุงเทพยังเกลียดกลัวอีสาน

ระหว่างรับชม ‘ร่างทรง’ ผลงานล่าสุดของโต้ง-บรรจง ก็เผลอนึกไปถึงเหตุการณ์สั้น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ตอนที่ลุงบุญมีกำลังเศร้าโศกเสียใจว่าความตายที่คืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะจะพลัดพรากเขาและห้วย วิญญาณภรรยาที่เสียไปเมื่อ 19 ปีก่อน ให้ต้องแยกจากกันอีกครั้ง ร่างวิญญาณจึงกล่าวปลอบประโลมลุงบุญมีด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาว่า “วิญญาณไม่ได้ยึดติดอยู่กับสถานที่ แต่ยึดอยู่กับผู้คนต่างหาก” ในโลกของลุงบุญมีฯ อภิชาติพงศ์ไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของ ‘ผี’ ในสรรพสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ตั้งคำถามว่ามันเป็นเพียงความเชื่อเลื่อนลอยหรือไม่ แต่แสดงให้เห็นว่าทั้งเรามนุษย์และวิญญาณทั้งหลายต่างอยู่ร่วมปะปนและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน(ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือจินตภาพ)อย่างไร มันเป็นความเชื่อพื้นฐานที่ฝังรากไม่แต่เพียงในอีสาน แต่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในหมู่คนนับถือพุทธ ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ ‘ร่างทรง’ ยืนยันผ่านเสียงบรรยายของป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) ที่เกริ่นนำไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง ว่า “มีผียู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะในบ้าน ในป่าเขา ต้นไม้ ไร่นา” ทว่าส่วนที่แตกต่าง คือขณะที่เรื่องหนึ่งถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ด้วยความเป็นธรรมชาติโดยไม่ตัดสินชี้ขาด อีกเรื่องหนึ่งจ้องมองไปด้วยความเคลือบแคลง และหวาดกลัว

มันเด่นชัดตั้งแต่ภาพแรกที่หนังเผยให้เห็นมุมมองระยะไกลของหมู่บ้านปริศนาซึ่งถูกโอบล้อมด้วยป่าเขา ตอกย้ำถึงการตัดขาดจากความศิวิไลศ์ ก่อนที่จอภาพจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าใกล้อย่างช้า ๆ ด้วยจังหวะการย่างก้าวที่เน้นย้ำถึงความลี้ลับและภัยซ่อนเร้นที่หลบแอบอยู่ตามซอกหลืบของหมู่บ้านในป่าลึกแห่งนี้ โต้ง-บรรจงพาคนดูไปรู้จักกับครอบครัวซึ่งสืบทอดร่างทรงของ ‘ย่าบาหยัน’ ผ่านกระบวนวิธีแบบสารคดีปลอม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการสานต่อความลุ่มหลงที่เขามีต่อเทคโนโลยีการบันทึกภาพตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาสร้าง ‘Shutter กดติดวิญญาณ’ โดยเฉพาะในแง่มุมที่มันอาจเป็นเครื่องมือช่วยบันทึก (หากมิใช่พิสูจน์) การมีอยู่ของชีวิตหลังความตาย หากแต่เพียงว่าความพยายามครั้งใหม่นี้มาพร้อมกับความทะเยอทะยานที่สูงยิ่งขึ้น ว่ากันตามแทคติคบนหน้ากระดาษ ความพยายามของโต้ง-บรรจงที่จะผสมกลมกลืนเรื่องจริงและฟิกชันผ่านกลวิธีการถ่ายทำแบบสารคดีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในแวดวงหนังสยองขวัญ แต่ส่วนที่นับได้ว่ากล้าหาญ และควรจะได้รับคำสรรเสิญมากกว่าที่เป็น คือความพยายามของคนทำหนังที่จะแหกขนบธรรมเนียมของสารคดีล้อเลียนด้วยการผนวกรวบรวมเอากลอุบายทางฟิล์มเทคนิคมาทำลายฟอร์มที่มันควรจะเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วการมีอยู่ของเสียงสกอร์ที่พยายามจะโหมกระพือบังคับควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของคนดูครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดจนการลำดับภาพที่จัดวางอย่างจงใจจะตอกย้ำด้วยตัวมันเองว่าเอาเข้าจริง คนทำหนังก็ไม่ได้มีความมั่นอกมั่นใจว่าลำพังเพียงพลังของภาพและความสมจริงของมันจะตรึงขึงคนดูได้อย่างอยู่หมัดก็ตาม

เพราะไม่ว่า ‘ร่างทรง’ จะงัดลูกไม้ใดมาขุดคุ้ยความจริงที่ซุกซ่อนอยู่หลังตัวละครเหล่านี้ ภาพอันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำด้วยกล้องแฮนด์เฮลด์ การตัดแทรกด้วยบทสัมภาษณ์รายบุคคล การใช้ฟุตเตจจากกล้องวงจรปิด ทั้งหมดต่างล้มเหลวที่จะสร้างภาพที่ใกล้เคียงกับความจริง กล่าวโดยสั้น ส่วนที่วกมาทำร้ายหนังอยู่ตลอดหาใช่ความบกพร่องทางเทคนิค แต่เป็นวิธีการที่ร่างทรงของโต้ง-บรรจงจ้องมองไปยังตัวละครซึ่งแบกรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันจำเพาะเจาะจงเหล่านี้ต่างหาก พิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นที่หนังพยายามจะไปแตะสำรวจนั้นผิวเผินเกินกว่าที่จะเรียกได้โดยไม่เขินอายว่าเป็นภาพแทนของความเป็นอีสาน ให้เห็นภาพ นอกจากหลักใหญ่อย่างเงื่อนไขเบื้องต้นของการเข้าทรง การสืบทอดตำแหน่ง และบทบาทหน้าที่ของร่างทรงที่หนังอธิบายสั้น ๆ เพียงว่าพวกเขา “รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติ” หนังไม่ได้สำรวจอย่างถี่ถ้วนว่าท้ายที่สุดแล้วความเชื่อเรื่องการทรงผีเข้าไปผูกโยงหรือส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนท้องถิ่นอย่างไร ตลอดจนการตั้งคำถามต่อความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมือง ความเชื่อที่ว่ามีผีอยู่ในป่าเขา ต้นไม้ ไร่นา ก็ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาตรวจสอบต่อไปอีกว่ามันมีที่มาที่ไปหรือส่งผลต่อชุมชนแห่งนี้อย่างไร ซ้ำร้าย มันกลับกลายเป็นปมที่ยกขึ้นมาลอย ๆ ก่อนจะถูกทิ้งขว้างเมื่อหนังแปลงโฉมตัวเองไปเป็นหนังผีคริสเตียนอย่างเต็มรูปแบบในตอนท้าย หรือแม้แต่ข้อเท็จจริงเรื่องของการบริโภคเนื้อสุนัข ซึ่งถูกเรี่ยไรไว้ตามทางก่อนจะขยับขยายกลายเป็นปมใหญ่ในตอนหลัง เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ถูกสำรวจอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแต่คำพูดเลื่อนลอยของป้าน้อย (ศิราณี ญาณกิตติกานต์) ที่กล่าวทีเล่นทีจริงไว้ว่า “ทีคนเลี้ยงปลา ยังกินเนื้อปลาได้เลย”

ยิ่งตั้งคำถามต่อ ‘ร่างทรง’ เพียงใด ก็ยิ่งอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงหนังของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘บ่มีวันจาก’ ที่ไม่ได้เพียงนำความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดมาสำรวจหาที่ทางใหม่และยืนยันว่ามันสามารถสอดรับเข้ากับแว่นตาของโลกสมัยใหม่ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ว่ากันแบบตรงไปตรงมา สายตาที่ ‘ร่างทรง’ จ้องมองไปยังตัวละครคนอีสานในเรื่อง หาใช่สายตาที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ (หรือแม้แต่เห็นอกเห็นใจ) กลับกัน มันคือสายตาอันเย็นชาที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง การปรากฏอยู่ของตากล้อง ซึ่งเป็นที่ค่อนแคะว่าทำลายความน่ากลัวของหนัง เอาเข้าจริงตัวละครเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการสวมบทเป็นตัวตายตัวแทนของสายตากรุงเทพที่จ้องมองไปยังอีสานอย่างไม่กะพริบตา ตากล้องในร่างทรงยืนยันว่ามันมีเส้นแบ่งที่ไม่อาจลบระหว่างกรุงเทพและอีสาน ในทำนองเดียวกับที่มันแบ่งแยกความจริงและฟิกชันออกจากกัน กล่าวอย่างถึงที่สุด ในสายตาของร่างทรง อีสานคือสัญลักษณ์ของความแปลกประหลาด ล้าหลัง และอันตรายอย่างยิ่งยวด ‘ร่างทรง’ อาจประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้คนดูตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วมีอะไรที่ ‘จริง’ บ้างในความเชื่อเหล่านี้ แต่ล้มเหลวในการเรียกร้องให้คนดูมองและยอมรับในความแตกต่างอย่างเข้าอกเข้าใจ น่าเศร้าที่สุด เมื่อนี่คือหนังที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในเวทีออสการ์

Grade: C+
กำกับ บรรจง ปิสัญธนะกูล
เขียนบท นา ฮง-จิน, ฉันทวิชช์ ธนะเสวี
อำนวยการสร้าง นา ฮง-จิน, บรรจง ปิสัญธนะกูล
แสดง นริลญา กุลมงพลเพชร, สวนีย์ อุทุมมา, ศิราณี ญาณกิตติกานต์, ยะสะกะ ไชยสร, บุญส่ง นาคภู่, ภัคพล ศรีรองเมือง