Tag Archives: Valentyn Vasyanovich

Atlantis (2019) รัสเซีย ยูเครน และซากหักพังที่ไม่อาจซ่อมแซม

ว่าไปแล้วประเด็นความขัดแย้งกับรัสเซียก็มักจะเป็นหัวข้อที่คนทำหนังยูเครนหยิบยกมาสำรวจอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ดอนบาสเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่ส่งผลให้ความบาดหมางระหว่างสองประเทศเดินทางมาจนถึงจุดแตกหักโดยสมบูรณ์ ยกตัวอย่างแบบคร่าวมาก ๆ เช่น Maidan (2014) และ Donbass (2018) ของเซอร์กีย์ ลอซนิตซา Winter on Fire (2015) สารคดีใน Netflix ของยูจีนี อะฟินเยฟสกี ไปจนถึงผลงานที่ยูเครนส่งชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศเมื่อปีที่ผ่านมาอย่าง Bad Roads (2020) ของนาตาลยา โวรอซบิต ที่มุ่งพาคนดูกลับไปสำรวจเหตการณ์นองเลือดในดอนบาส แต่หากจะให้เลือกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นและคู่ควรจะหยิบยกมาสำรวจอย่างเร่งด่วน ก็เห็นจะเป็น Atlantis (2019) ผลงานโซโล่กำกับ โปรดิวซ์ เขียนบท ถ่ายภาพ และตัดต่อโดยวาเลนติน วาสยาโนวิช เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสาย Horizons ในเทศกาลหนังเวนิส ที่ไม่เพียงมุ่งสำรวจผลกระทบจากสงครามในเชิงกายภาพ แต่รวมถึงจิตใจ จิตวิญญาณ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะข้อหลังนี้ที่หนังดูจะเน้นย้ำอย่างมีนัยสำคัญ

อีกข้อที่ทำให้งานของวาสยาโนวิชแตกต่างไปจากหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ว่าด้วยประเด็นความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย คือการที่วาสยาโนวิชเลือกมองเหตุการณ์ปัจจุบันผ่านมุมมองจากอนาคต เหตุการณ์ใน Atlantis เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งหนังคาดการณ์ว่าจะเป็นหนึ่งปีหลังจากที่สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียยุติลง ทว่า ‘อนาคต’ ใน Atlantis กลับกลายเป็นอนาคตที่ถูกปกคลุมด้วยอิทธิพลจากอดีต แทนที่หลังจากเสร็จสิ้นสงครามสถานการณ์จะหวนกลับมาสู่ภาวะปกติ หนังเสนอให้เห็นว่ากลุ่มคนผู้รอดชีวิตอาจมีสถานะเป็นเพียงมนุษย์ตายซากที่ล้มเหลวในการปรับตัวเข้ากับชีวิตหลังสงคราม อย่างในรายของเซอร์กีย์ (อังเดรย์ รีมารัค) อดีตทหารผ่านศึกที่ปัจจุบันกลายมาเป็นแรงงานในโรงงานผลิตเหล็ก ทว่ายามว่าง เขาและเพื่อนยังคงฝึกซ้อมยิงปืน แต่งตัวในชุดเครื่องแบบทหาร ใช้ชีวิตปลีกวิเวกท่ามกลางความหนาวเหน็บอย่างลำพัง จนกระทั่งเรื่องราวพลิกผันเมื่อวันหนึ่งนายทุนเจ้าของโรงงานชาวอเมริกันประกาศให้เขาและบรรดาแรงงานรับทราบโดยพร้อมกันว่าโรงงานกำลังจะปิดตัว ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง (ฉากดังกล่าวถูกถ่ายทอดในลักษณะที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ใน 1984 ของจอร์จ ออร์เวล)

แต่ส่วนที่สำคัญนอกเหนือไปจากเรื่องราวของตัวละครที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนจากภาวะ PTSD (Posttraumatic Stress Disorder) ซึ่งหนังเผยชัด(ถึงจะดูประเจิดประเจ้อ)ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเอาชนะความป่วยไข้นี้ได้ และกำลังระหกระเหินอย่างเลื่อนลอย คือวิธีการที่คนทำหนังจับวางตัวละครของเขาไว้บนฉากหลังของยูเครน ตัวละครของอังเดรย์ รีมารัค อาจแสดงออกทางอารมณ์อย่างจำกัดจำเขี่ย แต่เป็นฉากหลังของยูเครนต่างหากที่ทำงานในการสื่อสารความรู้สึก ฉากหลังของยูเครนที่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงซากหักพัง ตึกรามบ้านช่องถูกสงครามแปรสภาพเป็นเพียงซากรกร้าง ผืนดินและน้ำกลายเป็นที่ซุกหัวนอนของลูกระเบิด จนถึงขั้นที่สิ่งมีชีวิต ผืนพันธุ์ สัตว์น้อยใหญ่ต่าง ๆ ไม่อาจอยู่อาศํยได้อีกต่อไป ซึ่งไม่เพียงตอกย้ำถึงผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แต่เด็ดขาดในการจำลองภาพยูเครนในอนาคตที่ไร้ซึ่งอนาคต จนถึงจุดที่มนุษย์ผู้อยู่อาศัยในดินแดนแห่งนี้จำต้องตกอยู่ในสถานะของการเป็น ‘คนหลงทาง’ ไปโดยปริยาย

แง่หนึ่งก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึง Stalker (1979) ของอังเดรย์ ทาร์คอฟสกี โดยเฉพาะวิธีการที่คนทำหนังชาวรัสเซียใช้ฉากหลังของหนังในการสื่อสารถึงความล่มสลาย บรรยากาศอึมครึมอบอวลจนก่อตัวเป็นความต้องการที่จะหลบหนีออกไปจากเมืองไร้ชีวิตแห่งนี้ แต่ขณะที่เวลาใน Stalker ดำเนินอย่างเชื่องช้า ราวกับว่าเวลาในสถานที่เลวทรามซึ่งตัวละครอาศัยอยู่นั้นยืดยาวอย่างไม่มีที่สิ้นุสด วาสยาโนวิชตัดเฉือนแต่ละฉากแต่ละตอนอย่างหนักแน่นและปุบปับ จนถึงจุดที่ยากจะบอกว่าแต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้น ณ วันเวลาใดกันแน่ ในความหมายหนึ่งก็ตอกย้ำว่า ‘เวลา’ สำหรับกลุ่มคนผู้ป่วยไข้เหล่านี้เดินทางอย่างไร้แบบแผนเพียงใด และขณะที่ตัวละครใน Stalker ใช้ไกด์นำทางเป็นเครื่องมือสำหรับหลบหนี Atlantis เสนอว่าการอพยพอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายดายสำหรับทุกคน “ทำไมนายไม่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น?” แคตยา (ลียุดมีลา บิเลกา) อาสาสมัครกอบกู้ซากศพของเหล่าทหารที่เสียชีวิตในสงคราม ยิงคำถามใส่เซอร์กีย์ในช่วงหนึ่ง ซึ่งชายหนุ่มดูจะไม่มีคำตอบ

หนึ่งในฉากที่น่าอึดอัดอย่างยิ่งยวดเกิดขึ้นหลังจากที่เซอร์กีย์ได้พบกับแคตยา เขาได้เข้าไปเป็นประจักรพยานในขั้นตอนการชำแหละซากศพอดีตผู้เสียชีวิต เพื่อสืบค้นหาเงื่อนงำหลักฐานสำหรับการระบุตัวตน ซึ่งถ้าโชคดีก็อาจนำไปสู่การส่งมอบเศษร่างและข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับคืนสู่ญาติของเหล่าผู้เสียชีวิต แต่ถึงอย่างนั้น วาสยาโนวิชก็ไม่เพียงเรียกร้องให้คนดูปะทะซึ่งหน้ากับภาพอันน่าหดหู่เพียงเพราะมันเป็นความจริงที่สะท้อนความเป็นสัจนิยมของหนัง หรือเพื่อหวังผลในการสร้างความหวาดกลัวเชิงอรรถรส แต่เสนอให้เห็นถึงความสำคัญของการเผชิญหน้ากับอดีตที่ยังตามหลอกหลอน อดีตที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสาง เพราะไม่แน่เหมือนกันว่ามันอาจนำไปสู่หนทางในการเยียวยารักษาบาดแผลอันเป็นผลจากสงคราม บางทีทางออกของปัญหาทั้งหลายแหล่อาจจะไม่ใช่การหลบลี้ไปจากความจริงอันน่าอดดู แต่เป็นการกลับไปเผชิญซึ่งหน้ากับอดีตต่างหาก ที่อาจนำไปสู่การปลูกสร้างอนาคตครั้งใหม่ขึ้นมาบนซากหักพังเหล่านั้น

Grade: B+

Directed by Valentyn Vasyanovich
Produced by Valentyn Vasyanovich, Vladimir Yatsenko, Iya Myslytska
Written by Valentyn Vasyanovich
Edited by Valentyn Vasyanovich
Cinematography by Valentyn Vasyanovich