Tag Archives: Venice Flm Festival

Anatomy of Time (2021) – จนกว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา

ครั้งหนึ่ง อังเดร ทาร์คอฟสกี ตำนานผู้กำกับชาวรัสเซีย เคยกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างภาพยนตร์และศิลปะแขนงอื่น ๆ ไว้อย่างน่าคิดว่า “ขณะที่ศิลปะแขนงอื่น ๆ ตั้งอยู่บนข้อจำกัดของเวลา สิ่งที่ภาพยนตร์ทำคือการสงวนรักษาไว้ซึ่งเวลา” และเมื่อพินิจพิเคราะห์ดูแล้ว Anatomy of Time หรือ เวลา ของจักรวาล นิลธำรงค์ ก็ดูจะเป็นภาพยนตร์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานะดังกล่าวของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะได้อย่างกระจ่างชัด ไม่เพียงเพราะมันว่าด้วยเรื่องราวของชายหญิงผู้ซึ่งพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกาลเวลา แต่อาจหาญถึงขั้นมุ่งหมายที่จะฉายชัดให้เห็นถึงรูปพรรณสัณฐานของ “เวลา” ผ่านเรื่องราวของความสุขสมและระทมทุกข์  และโดยไม่สลักสำคัญว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะสำเร็จลุล่วงหรือแม่นยำเพียงใด ภาพของเวลาที่หนังฉายให้เห็นก็นับได้ว่าหมดจดงดงาม ด้วยว่ามันทั้งบิดเบี้ยว เว้าแหว่ง บางครั้งเต่งตึง บางครั้งเหี่ยวชรา ดูผิวเผินแล้วน่ายำเกรง ทว่าหลายครั้งก็อ่อนโยนอย่างเป็นมิตร

ยิ่งไปกว่านั้นเวลาใน Anatomy of Time หาได้เดินทางเป็นเส้นตรง มันคดเคี้ยว และกระโดดข้ามไปมาอยู่บนกระแสความทรงจำของ ป้าแหม่ม (เทวีรัตน์ ลีลานุช) หญิงชราที่ต้องดูแลสามีอดีตนายทหารยศใหญ่ (โสระบดี ช้างศิริ) ที่ครั้งหนึ่งเคยเรืองอำนาจ ทว่าปัจจุบันนอนแน่นิ่งกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในบ้านคับแคบ ขณะที่อดีตของป้าแหม่มถูกฉายสลับขึ้นมาเป็นครั้งคราว เผยให้เห็นภาพชีวิตเมื่อครั้งยังสาวของป้าแหม่ม (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์) ที่เข้าไปพัวพันกับรักสามเส้าระหว่างเสธ.รูปหล่อ (วัลลภ รุ่งกำจัด) และหนุ่มชาวบ้านผู้ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่าแทนที่จะยึดเกี่ยวอยู่กับเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวทั้งสาม หนังมุ่งฉายภาพให้เห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตทั้งสองช่วงเวลาของแหม่มและเสธ. ชี้ชัดให้เห็นถึงร่องรอยความเสื่อมสลายอันเป็นผลพวงจากเวลา เมื่อไปป์ยาเส้นถูกแทนที่ด้วยหน้ากากออกซิเจน พื้นที่กว้างใหญ่ของป่าเขียวขจีที่ครั้งหนึ่งเคยห้อมล้อมคู่รักหนุ่มสาว กลายเป็นเพียงห้องอับคับแคบ เพื่อนฝูงและผู้ใต้บังคับบัญชาที่เคยเคารพนับถือ แปรเปลี่ยนกลายเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามทางการเมือง อย่างตอนที่เสธ.วัยชราถูกชาวบ้านตะโกนให้ร้ายในช่วงหนึ่งว่า “ไอ้ขี้ข้าเผด็จการ!”

ว่าไปแล้ว สองสภาวะเหตุการณ์ที่หนังฉายให้เห็น ถึงแม้จะเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ทั้งสองเหตุการณ์ในสองช่วงเวลานั้นสามารถดำรงอยู่ได้โดยอิสระซึ่งกันและกัน และช่องว่างตรงกลางที่หนังปล่อยให้คนดูได้เติมความน่าจะเป็นกันเอาเอง ว่าเพราะเหตุผลกลใดกันแน่ที่ทำให้ชีวิตซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์ของเสธ.และแหม่ม กลับพลิกผันไปอย่างไม่คาดคิด ก็ดูจะเสนอเป็นนัยว่ามันอาจไม่ใช่ความยุติธรรมที่ไล่ตามพวกเขาจะทัน (หากในประเทศนี้ยังมีความยุติธรรมอยู่จริง) แต่เป็นเงื้อมมือของเวลาต่างหากที่ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็ไม่อาจหนีพ้น อาจเพราะเวลาใน Anatomy of Time นั้นถูกซ้อนทับด้วยแนวคิดความเชื่อทางศาสนา อย่างการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่หนังฉายผ่านภาพวัฏจักรชีวิตของเจ้ากำไล สุนัขของป้าแหม่ม (รวมถึงเรื่องราวของแหม่มในตอนท้ายก็อาจตีความได้ถึงสภาวะของการปลดเปลื้องหรือเกิดใหม่) หรืออย่างช่วงหนึ่งคุณพ่อของแหม่มกล่าวขึ้นมาว่า “การกระทำของเรา เป็นผู้ลิขิตชีวิต”

พูดอีกอย่าง ชีวิตในปั้นปลายของเสธ.ก็ไม่ต่างจากการถูกจองจำ ทั้งในเนื้อหนังที่เหี่ยวเฉาและทรุดโทรม หรือแม้แต่ห้องนอนสี่เหลี่ยมที่เขาอาศัยอยู่ก็ประพฤติตัวไม่ต่างกับห้องขัง และไม่ใช่เพียงในระนาบของสถานที่เท่านั้น เสธ.ยังติดหล่มอยู่ในวังวนของเวลา ช่วงหนึ่ง หนังฉายภาพที่เขา(ในช่วงที่ยังมีเรี่ยวแรง)ลุกเดินออกไปนอกบ้าน ทว่าโลกปัจจุบันที่เขาอาศัยอยู่กลับไม่ใช่โลกใบเดิมที่เขาเคยรู้จักอีกแล้ว นี่คือโลกที่ไม่ยอมรับการมีตัวตนของเขาอีกต่อไป ต่างกับแหม่ม ที่ถึงแม้สังคมจะรับรู้ว่าเธอเป็นใครแต่ก็โอบรับเธออย่างมีเยื่อใย อาจเพราะเธอเองก็ไม่ต่างกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ติดหล่มอยู่ในความสัมพันธ์ที่บอกไม่ได้เหมือนกันว่าเธอเองมีสิทธิ์ที่จะแข็งข้อขัดขืนเพียงใด ด้วยหนังเองก็ดูจะมองเธอในฐานะตัวละครที่น้อมรับชะตาชีวิตอย่างโอนอ่อนผ่อนตาม “ไอ้ที่ว่าใครทำอะไรไว้ ก็ควรจะได้สิ่งนั้น มันจริงใช่ไหมคะ” แหม่มเอ่ยถามคุณพ่อของเธอ ทว่าคงมีแต่เพียงเวลาเท่านั้น ที่รู้คำตอบ

Grade: B+

Directed by Jakrawal Nilthamrong
Written by Jakrawal Nilthamrong
Produced by Anouk Sluizer, Mai Meksawan, Yohann Cornu, Chatchai Chaiyon, Panuksmi Hardjowirogo
Cinematography by Phuttiphong Aroonpheng
Edited by Katharina Wartena, Lee Chatametikool

SPENCER (2021) – ไม่มีเจ้าหญิงอย่างในนิยาย

ช่วงหนึ่งใน Spencer สามแม่ลูก ไดอาน่า (คริสเตน สจ๊วต) เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่ นั่งคุดคู้พูดคุยกันอย่างอบอุ่นในห้องนอนของเจ้าชายทั้งสอง เมื่อเจ้าชายวิลเลียมตั้งคำถามด้วยความฉงนสงสัยว่า “ทำไมเราถึงแกะกล่องของขวัญในคืนก่อนวันคริสต์มาส แทนที่จะเป็นวันคริสต์มาสเหมือนคนอื่น ๆ?” เจ้าชายแฮร์รี่เชื่อว่าเป็นเพราะพวกเขา (ชนชั้นปกครอง) จะได้ของขวัญที่วิเศษที่สุดก่อนบรรดาสามัญชน “ลูกได้เรียนเรื่องเทนส์หรือยัง” ไดอาน่าถามลูก ๆ ของเธออย่างมีเลศนัย ก่อนจะอธิบายต่อไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและแผ่วเบา ว่าเพราะสถานที่ที่เธอและลูก ๆ อาศัยอยู่นั้นแท้จริงแล้วปราศจากซึ่งอนาคต มีแต่เพียงอดีตและปัจจุบันที่ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน บางที นั่นอาจจะเป็นประโยคที่ไม่เพียงย่นย่อสถานการณ์ที่เธอกำลังประสบพบเจอได้อย่างกระชับรัดกุม ทว่ายังคงแฝงซ่อนไว้ซึ่งความน่าสะพรึงของสภาวการณ์ดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ในอีกทางหนึ่ง มันยังบ่งชี้ถึงสถานะการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งวางตั้งอยู่บนขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่ทั้งแข็งทื่อและล้าหลัง เป็นสัญลักษณ์ของขั้วอำนาจเก่าที่ยังคงตั้งตระหง่านท้าทายกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

“พวกเขาไม่เปลี่ยนหรอก คุณต่างหากที่ต้องเปลี่ยน” แม็กกี้ (แซลลี ฮอวกินส์) กล่าวกับไดอาน่าในช่วงหนึ่ง ซึ่งว่าไปแล้ว สิ่งที่พาโบล ลาร์เรนดูจะสนอกสนใจเป็นพิเศษในเรื่องราวของไดอาน่าก็คงจะเป็น ‘การเปลี่ยนแปลง’ ดังกล่าว ทว่าไม่ใช่ในฐานะการเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จลุล่วง แต่เป็นความล้มเหลวอย่างไม่มีชิ้นดี หนังเลือกอย่างจำเพาะเจาะจงที่จะจับจ้องไปยังชีวิตของไดอาน่าในช่วงเวลาวันหยุดคริสต์มาส ปีค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรื่องคาวฉาวโฉ่ระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ กำลังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วสหราชอาณาจักร ถึงจุดที่ข่าวคราวดังกล่าวส่งผลให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ต้องใช้ชีวิตกันอย่างแอบซ่อนอยู่ในพระราชวังแซนดริงแฮมตลอดช่วงวันหยุด เมื่อพิจารณาดูแล้ว ช่วงเวลาอันอ่อนไหวดังกล่าวก็ทำหน้าที่เป็นเชื้อไฟชั้นดีในการเร่งเผาทำลายไดอาน่า ซึ่งขณะนั้นกำลังเปราะบางทางจิตใจอย่างยิ่งยวด ทั้งจากชีวิตคู่ที่จ่อล้มครืน ตัวตนที่กำลังถูกระบอบเก่ากลืนกินจนสูญสิ้น กระหน่ำซ้ำเติมด้วยกลุ่มอาการผิดปกติทางการกิน (Eating disorder) ที่หนักข้อขึ้นทุกขณะ

คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ Spencer จะถูกนำไปเทียบเคียงกับ Jackie (2016) ในฐานะหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของสตรีผู้ทรงอิทธิพลต่อหน้าประวัติศาสตร์โลก แต่กระนั้น การจะกล่าวว่า Spencer เป็นหนังชีวประวัติ (หรืออย่างน้อย ๆ ก็ชีวประวัติตามขนบ) ก็ดูจะตกหล่นไปจากฐานความจริงที่ว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่หนังฉายภาพให้เห็นนั้นล้วนเกิดจากจินตนาการเสริมแต่งของผู้สร้าง (บทภาพยนตร์โดยสตีเวน ไนต์) ที่ต้องการจะเข้าไปสำรวจจิตใจอันบอบช้ำของเจ้าหญิงไดอาน่าในช่วงเวลาที่เธอกำลังโดดเดี่ยวอย่างที่สุด ทว่าเอาเข้าจริง ก็เป็นตัวบทเองนั่นแหละที่ล้มเหลวในการฉายภาพไดอาน่าในฐานะตัวละครที่มีความสลับซับซ้อน (ไม่ว่าคริสเตน สจ๊วตจะยอดเยี่ยมเพียงใดก็ตาม) เราต่างรู้ว่าไดอาน่าไม่ใช่หญิงสาวที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ ทว่าบกพร่องไม่ต่างกับปุถุชนคนทั่วไป แต่การตัดสินใจโฟกัสไปยังช่วงเวลาวันหยุดคริสต์มาสอย่างจำเพาะเจาะจง กลับทำให้หนังฉายภาพไดอาน่าเพียงในฐานะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่กำลังหลงทางท่ามกลางระบอบอันบิดเบี้ยว (ซ้ำร้าย วิธีการที่ไดอาน่ากล่าวซ้ำ ๆ ว่าเธอกำลัง ‘หลงทาง’ ถูกกำชับจัดวางอย่างประดักประเดิดจนเกินกว่าจะทำงานเชิงสัญญะ) เรา ในฐานะคนดู รู้ตั้งแต่ก่อนหนังจะเริ่มว่าเธอกำลังเศร้าสร้อยและไร้ซึ่งเรี่ยวแรงจะต่อกรกับระบบระเบียบที่ขีดกำหนดชีวิตเธอไว้ทุกกระเบียดนิ้ว ทว่ากลวิธีที่ดีที่สุดที่หนังทำได้ก็มีเพียงการโยนสถานการณ์ย้ำแย่ครั้งแล้วครั้งเล่าเข้าใส่ตัวละคร

สถานการณ์ของไดอาน่า ว่าไปแล้วก็ละม้ายคล้ายกับที่แจ็ค ทอร์แรนซ์ ถูกความโดดเดี่ยวอ้างว้างของโรงแรมโอเวอร์ลุก และมวลอากาศอันหนาวเหน็บใน The Shining (1985) กัดกร่อนจนเขาค่อย ๆ สูญเสียความเป็นตัวเองในที่สุด ทว่าในกรณีของไดอาน่าใน Spencer ช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกลับถูกละเลย เราไม่เห็นไดอาน่าค่อย ๆ ถูกแปรเปลี่ยน แต่เห็นเธอเพียงในฐานะเศษซากของจิตวิญญาณที่แตกสลายครั้งแล้วครั้งเล่า มันชวนให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาเธอร์ เฟล็ก ใน Joker (2019) ที่มุ่งชำแหละแกะเปลือกให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากมนุษย์คนหนึ่งซึ่งทั้งเว้าแหว่งและอ่อนกำลัง ถูกถาโถมด้วยสถานการณ์เลวร้ายซ้ำ ๆ และไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ ทั้ง Spencer และ Joker ต่างทำงานในฐานะหนังวิพากษ์สังคมตื้น ๆ ที่ดันถูกห่อหุ้มด้วยแพ็คเกจหรู ทั้งการแสดงระดับมาสเตอร์คลาส งานภาพอันวิจิตรงดงาม และสกอร์ที่ขับเร้าเรื่องราวอย่างเป็นผล (ข้อน่าสังเกตคือทั้งไดอาน่าและอาเธอร์ ต่างกำลังประสบภาวะเจ็บป่วยทางจิต และทั้งสองเรื่องยังใช้การเต้นรำในฐานะสัญลักษณ์ของการปลดเปลื้องตนเอง) ทว่าน่าผิดหวังในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและสถาบันกษัตริย์ด้วยแง่มุ่มใหม่ ๆ ที่ลึกซึ้ง

และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหญิงของประชาชนกลายร่างเป็นวายร้ายสติฟั่นอย่างอาเธอร์ เฟล็ก Spencer ดูจะเชื่อเหลือเกินว่าสิ่งที่ไดอาน่าถวิลหาคือใครสักคนที่เธอรักและไว้ใจ สร้อยไข่มุกที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์มอบให้เธอเป็นของขวัญ ถูกนำมาตีความใหม่ในฐานะปลอกคอที่เหนี่ยวรั้งเธอจากอิสรภาพ โดยเฉพาะเมื่อไดอาน่าพยายามที่จะหวนกลับไปยังบ้านวัยเด็กที่เธอจากมา และเมื่อหนังต้องการที่จะปลดเปลื้องเธอจากบ่วงพันธการดังกล่าว นั่นก็คือตอนที่ตัวละครของแซลลี ฮอวกินส์เข้ามามีบทบาทในการเยียวยารักษาเธอ ในฐานะคนดูแลเครื่องแต่งกายและเพื่อนคนเดียวที่เธอสนิทไว้ใจ แต่จนแล้วจนรอด พาโบล ลาร์เรน และมือเขียนบทสตีเวน ไนต์ ก็ล้มเหลวที่จะมองความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงสองคนได้ไกลเกินกว่าเรื่องรักโรแมนติก ความพยายามของคนทำหนังที่จะยอกย้อนขนบของหนังชีวประวัติแง่หนึ่งก็นับว่าน่านับถือ ทว่าจนถึงที่สุด คำว่า ‘เรื่องแต่ง’ ซึ่งหนังยกขึ้นมาใช้เป็นเกราะกำบังตัวเองตั้งแต่ก่อนเปิดเรื่อง ยิ่งตอกย้ำสถานะของ Spencer ในฐานะแฟนฟิกชันที่มุ่งใช้ความระทมขมขื่นของผู้หญิง ซึ่งครั้งหนึ่งมีตัวตนอยู่จริง มาเป็นเครื่องมือทางสุนทรียศาสตร์ มากกว่าที่จะเป็นการสำรวจทำความเข้าใจตัวละครและระบอบที่เธออาศัยอยู่อย่างรอบด้านและถี่ถ้วน


Grade: B

Directed by Pablo Larraín
Written by Steven Knight
Produced by Juan de Dios Larraín, Jonas Dornbach, Paul Webster, Pablo Larraín, Janine Jackowski, Maren Ade
Starring Kristen Stewart, Timothy Spall, Jack Farthing, Sean Harris, Sally Hawkins
Cinematography by Claire Mathon
Edited by Sebastián Sepúlveda
Music by Jonny Greenwood

The Power of the Dog แด่อัตลักษณ์ตัวตนที่หลบซ่อนอยู่ใต้หน้ากากของความเป็นชาย

ในจักรวาลหนังของเจน แคมเปียน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรที่ตัวละครของเธอมักถูกปลุกปั้นขึ้นมาในฐานะชายหนุ่มหญิงสาวผู้เก็บซ่อนความลับหลากหลายรูปแบบไว้เบื้องหลัง ตั้งแต่แรงจูงใจที่คอยขับเคลื่อนพฤติกรรมสุดห่าม อย่างกรณีของดอว์นใน Sweetie แรงขับเคลื่อนทางกามราคะของเอดาใน The Piano หรือกระทั่งความลุ่มหลงอย่างหัวปักหัวปำของแฟนนีใน Bright Star ในแง่นั้น The Power of the Dog ผลงานล่าสุดของผู้กำกับเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ ดูจะไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่อย่างใด หรือจะกล่าวให้จำเพาะเจาะจงยิ่งขึ้นไปอีก ความคลุมเครือนั้นกลับยิ่งกลายมาเป็นอาวุธสำคัญที่แคมเปียนหยิบนำมาใช้กระเทาะเปลือกความเป็นชายอันแข็งกร้าว แล้วก็เหมือน ๆ กับอีกหลากหลายผลงานก่อนหน้าของคนทำหนังชาวนิวซีแลนด์ นี่เป็นอีกครั้งที่เธอเข้าไปสำรวจพื้นที่ซึ่งถูกยึดครองโดยผู้กำกับชายมาเนิ่นนาน ส่วนที่น่าทึ่งคือวิธีการที่เธอยอกย้อนกำหนดกฎเกณฑ์ซึ่งถูกตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา หลายครั้งหลายคราถึงขั้นหยิบฉวยเลนส์สายตาของผู้กำกับชายเหล่านั้นมาตีตราหาความหมายใหม่ ด้วยความมุ่งหวังว่ามันอาจจะเปิดเผยอะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในนิยายต้นฉบับชื่อเดียวกันของโทมัส ซาเวจ

ตัวละครอย่าง ฟิล เบอร์แบงค์ (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) นอกจากจะเป็นจ่าฝูงของบรรดาคาวบอยชายโฉดแห่งมอนแทนา เขายังเป็นพวกเป็นพวกไฮเปอร์มัสคิวลีนที่ยึดถือคำสอนของบรองโก เฮนรี วีรชนผู้เสี้ยมสอนวิถีแห่งชายแท้ให้แก่เขา ราวกับมันเป็นหลักคำสอนทางศาสนา “บุรุษเข้มแข็งเพราะอดทนต่อขวากหนาม” เขาทบทวนความจำขึ้นมาในช่วงหนึ่ง เขาไม่อาบน้ำในห้องน้ำ ไม่ด้วยว่ามันเป็นสถานที่สำหรับผู้หญิงและคนอ่อนแอ(ในความคิดของเขา) ก็ด้วยว่ามันอาจจะทำให้เขาดูสะอาดสำอางเกินไป ท่วงทำนองการเคลื่อนกายของเขาขึงขังพอ ๆ กับสีหน้าที่เข้มขรึมตลอดเวลา ขณะที่อีกด้านหนึ่งน้องชายของเขา จอร์จ (เจสซี พลีมอนส์) เรียกได้ว่าสวมบทบาทเป็นขั้วตรงข้าม เขาสุขุม อ่อนโยน สะอาดสะอ้าน และด้วยรูปร่างอ้วนท้วมยิ่งทำให้เขาผิดแผกไปจากฝูงคาวบอยดิบเถื่อนที่ทุกคนล้วนรูปร่างกำยำ ข้อแตกต่างอีกอย่างระหว่างจอร์จและพี่ชายของเขา คือ เขาไม่ได้ห่อหุ้มตัวเองด้วยเกราะหนาเตอะ ไม่แน่เหมือนกันว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเขาไม่มีอะไรให้ปิดบัง

ซึ่งว่าไปแล้วการเข้าคู่ทางสมการลักษณะนี้ก็ชวนให้หวนนึกไปถึงผลงานของแคทเธอรีน เบรล์ยาต์ (Catherine Breillat) อย่าง Fat Girl ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของสองสาวพี่น้อง ที่ผู้พี่สวมใส่รูปลักษณ์ความงามภายนอกตามขนบนิยมของสังคมชายเป็นใหญ่ ขณะที่ผู้น้องถูกผลักไสให้หลุดออกไปจากกรอบมายาดังกล่าวโดยปริยายเพียงเพราะรูปร่างของเธอ ทว่าแทนที่จะขุดรากถอนโคนความเป็นชายผ่านตัวละครซึ่งอยู่นอกรัศมีวงโคจรของมัน เจน แคมเปียน เลือกที่จะสำรวจมันออกมาจากจุดศูนย์กลาง ผ่านเรื่องราวของฟิลและวิธีการที่เขาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การฉายภาพเปลือกแข็งของความเป็นชายทั้งหลายแหล่ในตอนต้น นอกจากจะเป็นการเกริ่นนำที่ดีถึงความน่าจะเป็นอีกร้อยแปดซึ่งถูกกลบฝังไว้เบื้องลึกและเบื้องหลัง ยังทำงานเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเรื่องราว โดยเฉพาะในตอนที่จอร์จตัดสินใจตกล่องปล่องชิ้นกับแม่หม้ายลูกติดนามว่า โรส (เคิร์สเต็น ดันสต์) การเข้าร่วมเรือนหอของทั้งคู่นำพาให้ฟิลได้กับกับปีเตอร์ (โคดี สมิต-แม็คฟี) เด็กหนุ่มรูปร่างผอมกะหร่องทว่าสูงโย่ง นั่นคือตอนที่เรื่องราวของ The Power of the Dog หันเหจากความสัมพันธ์พี่น้องไปสู่ความสลับซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นอกจากจะเป็นที่หวงแหน ยังคลุมเครือ และเปราะบางอย่างยิ่งยวด

อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบกับ Beau Travail ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์อันอีหลักอีเหลื่อของครูฝึกกับทหารเกณฑ์หน้าหวานนายหนึ่ง เซ็ตติงกองพันทหารที่ถูกโอบล้อมโดยทะเลกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ย้ำเตือนถึงสภาวะของการถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ในทำนองเดียวกับที่ภูเขาลูกใหญ่ตัดขาดคาวบอยเหล่านี้จากโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ กล่าวในทำนองเปรียบเปรย สายตาที่เจน แคมเปียนใช้จ้องมองไปยังคาวบอยหนุ่มเหล่านี้ ก็คือสายตาเดียวกับที่แคลร์ เดอนีส์ใช้สำรวจตรวจสอบพื้นที่ในหลืบลับของกองพันทหารซึ่งยังไม่เคยถูกเปิดเปลือยมาก่อน มันคือสายตาที่คนทำหนังผู้ชายไม่อาจหยิบมาสวมใช้ได้อย่างถนัดถนี่ นั่นคือตอนที่ท่วงทำนอง “ตุ้งติ้ง” ของปีเตอร์คุกคามความเป็นชายของฟิลอย่างฉับพลัน หากมิใช่ด้วยความหลงใหลใคร่ครอบครอง ก็คงด้วยความหวาดผวาอย่างสุดขีด ว่าสายตาเย็นชาของเด็กหนุ่มหน้าหวานอาจมองทะลุผ่านเกราะหนาเข้าไปสำรวจสิ่งที่เขาซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิดภายใน ผลลัพธ์ของมันก็อาจจะไม่ได้สดใหม่ แต่ส่วนที่แยบยลคือความสละสลวยทางสำนวนภาษาของคนทำหนัง ความที่มันไม่ผลีผลามเปิดเผยความรู้สึกอะไรก็ตามที่กำลังก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำ แต่เก็บมันไว้อย่างแอบซ่อนตามความปรารถนาในส่วนลึกของตัวละคร

บางทีฟิลก็อาจจะเหมือนกับปีเตอร์ ในแง่ที่พวกเขาต่างสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับสรีระร่างกาย ไม่ใช่เพียงเพื่อศึกษาว่ามันทำงานอย่างไร แต่เพื่อหาหนทางควบคุม บิดเบือน และเก็บงำสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการเปิดเผยให้ใครรับรู้ มันหวนกลับมาสู่ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรองโก เฮนรี ผู้ซึ่งถูกยกยอปอปั้นว่าเป็นนักขี่ม้ามือฉมัง เป็นผู้นำชั้นยอด เป็นต้นแบบของความเป็นชาย เรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาถูกสืบสาน ถ่ายทอด แพร่ขยาย จนมันกลายเป็นข้อปฏิบัติที่มิอาจขัดฝืนสำหรับใครก็ตามที่มีรูปพรรณสัณฐานเข้าได้กับความเป็นชาย ซึ่งโดยปริยาย ได้กีดกันใครก็ตามที่ไม่อาจหลอมรวมเข้ากับปทัฏฐานดังกล่าวได้อย่างสนิทแนบชิด นั่นคือเหตุผลที่ปีเตอร์ต้องถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่จอร์จต้องถูกเรียกว่า ‘ไอ้อ้วน’ ในทำนองเดียวกับที่โรสที่ไม่อาจเล่นเปียโนได้อย่างที่เธอใฝ่ฝัน แต่ฟิลไม่ได้รู้จักบรองโกในฐานะตำนานเรื่องเล่า บรองโกคือคนที่สอนวิชาเหล่านี้ให้แก่เขา และเขารู้จักบรองโกในแบบที่คนอื่นไม่มีวันได้รู้จัก บางที ฟิลก็อาจจะเหมือนกับบรองโก เขาอาจไม่ได้โอบรับปีเตอร์เข้ามาฝึกสอนวิชาความเป็นชายเพียงเพราะความเอ็นดูหรือสงสารชายหนุ่มผู้กำลังประสบกับความแปลกแยก แต่เพราะเขารู้อยู่แก่ใจเป็นอย่างดีว่าการสมยอมต่อระบบ ซึ่งก็คือความเป็นชาย คือหนทางเดียวที่โลกอันโหดร้ายแห่งนี้จะยอมรับความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งสอง


Grade: A-

Directed by Jane Campion
Screenplay by Jane Campion
Produced by Emile Sherman, Iain Canning, Roger Frappier, Jane Campion, Tanya Seghatchian
Starring Benedict Cumberbatch, Kirsten Dunst, Jesse Plemons, Kodi Smit-McPhee, Thomasin McKenzie, Genevieve Lemon, Keith Carradine ,Frances Conroy
Cinematography by Ari Wegner
Edited by Peter Sciberras
Music by Jonny Greenwood