Killers of the Flower Moon – แผ่นดินของเราหลั่งเลือด

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ทุนนิยมและการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) มีความสัมพันธ์แนบชิดกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในแง่ที่มันเป็นทั้งเหตุและผลของสงคราม กล่าวคือ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมส่งผลให้ประเทศนายทุนตะวันตกต้องเร่งขยายทั้งแหล่งวัตถุดิบและตลาดใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมและสงครามในที่สุด และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ณ บทสรุปของสงครามย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ทว่าคำจำกัดความของ ‘ผู้แพ้’ และ ‘ผู้ชนะ’ ไม่อาจ และไม่ควรจำกัดอยู่เพียงมิติทางการทหารเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาประกอบฉาก โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเยอรมนีในฐานะผู้แพ้สงครามย่อมบอบช้ำที่สุดในทุกมิติ แต่เราสามารถพูดได้อย่างไม่เคอะเขินหรือไม่ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสในฐานะผู้ชนะทางทหาร ชนะในทางเศรษฐกิจด้วย? ในเมื่อเราก็เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าภายหลังสงคราม ทั้งจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไม่ต้องพูดถึงรัสเซียที่ชนะในทางทหารทว่าพ่ายแพ้ราบคาบในทางเศรษฐกิจ จนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการ ปฏิวัติเดือนตุลาคม เมื่อพรรคบอลเชวิคประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ไปสู่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา

ในทางตรงกันข้าม อเมริกาที่มีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุน คอยส่งมอบยุทโธปกรณ์และเสบียงให้แก่กองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ชนะทางเศรษฐกิจอย่างสำเร็จเด็ดขาดท่ามกลางความปราชัยของเหล่ามหาอำนาจเก่าทั้งหลาย อเมริกาทราบข้อนี้ดีว่านี่คือโอกาสของพวกเขาในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก แทนที่ขั้วอำนาจเก่าที่กำลังซมซานกลับบ้านไปเลียบาดแผลฉกรรจ์จากสงคราม นั่นคือตอนที่พวกเขาได้กระทำการ ‘เก็บประวัติศาสตร์เก่าเข้ากรุ’ และเริ่มเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพวกเขาเอง ทุนอเมริกาขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ 1920 เพราะหลายชาติยังจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าและการสนับสนุนจากอเมริกาแม้สงครามจะจบไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้ธุรกิจของทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเร่งหาแหล่งทรัพยากรมาหล่อเลี้ยงการเติบโตของทุนอย่างเร่งด่วน ช่วงเวลานี้เองที่ Killers of the Flower Moon พาเราไปสำรวจเหตุการณ์นองเลือดบนผืนแผ่นดินอเมริกาที่ถูกเก็บงำไว้อย่างมิดชิดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมัยเก่าไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่

ในทำนองเดียวกับ Taxi Driver มาร์ติน สกอร์เซซีเปิดเรื่องราวใน Killers of the Flower Moon ด้วยภาพที่ตัวเอกของเขาเพิ่งกลับมาจากสงคราม ทว่าความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างทราวิส บิกเคิล และเออร์เนสต์ เบิร์คฮาร์ต (ลีโอนาร์โด ดิแคปริโอ) ที่เราคนดูสามารถสัมผัสรับรู้ได้ทันทีก็คือ ขณะที่ทราวิสซมซานกลับมาจากสงครามเวียดนามในสภาพบอบช้ำสุดขีด ด้วยเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นชายที่ถูกขย่มป่นปี้จนไม่เหลือชิ้นดี เออร์เนสต์ไม่เพียงเดินทางกลับมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างครบ 32 ทว่าสีหน้าท่าทางของเขายังเปี่ยมไปด้วยความผ่อนคลาย ราวกับว่าสงครามไม่ได้ทำให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจใด ๆ เลยแม้แต่น้อย เมื่อพิจารณาข้อนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าเออร์เนสต์ก็เหมือนกับอเมริกาในขณะนั้น เขามีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุน เป็นเพียงพ่อครัวในกองทัพที่คอยส่งเสบียงให้กับแนวหน้าของฝ่ายสัมพันธมิตร และเมื่อเขาเดินทางกลับมายังบ้านเกิด เออร์เนสต์ก็พบว่าดินแดนตะวันตกบ้านป่าเมืองเถื่อน (Wild West) ที่เขารู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้พลิกโฉมกลายเป็นหนึ่งในผืนแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุดในอเมริกาหลังมีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบ จนส่งผลให้เหล่าอเมริกันชนพื้นเมืองผู้ครอบครองผืนแผ่นดินแห่งนี้กลายเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดไปด้วยโดยปริยาย

ในทำนองเดียวกับทราวิส บิกเคิล อีกเช่นกัน สิ่งแรกที่เออร์เนสต์ทำหลังกลับมาถึงบ้านเกิดก็คือการไปหางานทำ (แน่นอนว่าเขาได้เป็นคนขับรถ) นั่นคือตอนที่เขาได้พบกับมอลลี (ลิลลี แกลดสโตน) หญิงสาวทายาทอเมริกันชนพื้นเมืองเลือดแท้ที่ร่ำรวยจากการครอบครองที่ดินแหล่งน้ำมัน เออร์เนสต์ตกหลุมรักมอลลี แต่การที่เขาตัดสินใจแต่งงานกับเธอหลัก ๆ ก็เพราะคำแนะนำของวิลเลียม เฮล คุณลุงของเขา ที่ชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานกับมอลลีจะทำให้ “มรดกตกทอดลงมาในทิศทางที่ถูกต้อง” เฮลคือตัวอย่างชั้นดีของนักธุรกิจที่ร่ำรวยขึ้นมาได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจอเมริกันหลังสงครามโลก และเป็นตอนนี้เองที่เฮลและหนังเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของตัวเองออกมา เมื่อชาวโอเซจและครอบครัวของมอลลีเริ่มเสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติไปทีละคนตามการจัดแจงอย่างเลือดเย็นของเฮล โดยมีเออร์เนสต์คอยให้ความร่วมมืออย่างไม่มีอิดออด บ้างถูกจัดฉากให้เป็นอุบัติเหตุ บ้างถูกสรุปให้เป็นการตายอย่างปริศนา นั่นคือตอนที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ทอม ไวท์ (เจสซี พลีมอนส์) ปรากฏตัวเพื่อสืบสวนคดีฆาตกรรมในชุมชนแห่งนี้ และอย่างที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ในที่สุดเขาก็สามารถไขคดีได้สำเร็จ

หนึ่งในประเด็นที่ Killers of the Flower Moon ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูที่สุดอยู่ตรงนี้อีกเช่นกัน นั่นคือขณะที่หนังสือของเดวิด แกรนน์ ที่มาร์ติน สกอร์เซซี นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ ดำเนินเรื่องจากมุมมองของเจ้าหน้าที่สืบสวนคดี ซึ่งสกอร์เซซีเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าอีหรอบ White savior ในลักษณะที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผิวขาวผู้เข้ามาไขคดีฆาตกรรมกลายเป็นคนเข้ามามอบความยุติธรรม เข้ามาช่วยชีวิตบรรดาคนอเมริกันพื้นเมืองที่กำลังถูกไล่ฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ทว่าสกอร์เซซีกลับตัดสินใจเปลี่ยนมาเล่าเรื่องราวจากมุมมองของชายผิวขาวอย่างเออร์เนสต์ แทนที่จะเป็นมอลลีซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำโดยตรง คำวิจารณ์เชิง PC นี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า มาร์ติน สกอร์เซซีเองก็เป็นชายผิวขาว การถือวิสาสะเล่าประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวโอเซจ ถึงแม้จะด้วยความหวังดีอย่างบริสุทธิ์ใจ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เขากลายเป็น White savior ไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐในหนัง

คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ แล้วการเลือกเล่าเรื่องราวเหล่านี้จากสายตาของเออร์เนสต์ช่วยให้เขา—สกอร์เซซี รอดพ้นจากการตกเป็น White savior หรือไม่ อย่างไร? สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ขณะที่การเล่าเรื่องจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้มอลลีกลายเป็นเพียงเหยื่อ การหักเหกลับมายังเออร์เนสต์เปิดโอกาสให้เราคนดูได้รู้จักกับมอลลีที่มีชีวิตจิตใจ ได้เห็นเธอในมิติอื่น ๆ นอกจากความเป็นเหยื่อ แต่รวมถึงมอลลีในฐานะลูกสาว พี่สาว น้องสาว ภรรยา ตลอดจนมอลลีในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนโอเซจ พูดอีกอย่างคือ สกอร์เซซีทราบเป็นอย่างดีว่าเขามีข้อจำกัดอย่างไรในการเข้าไปสำรวจประวัติศาสตร์บาดแผลที่เขาทำได้เพียงรับรู้แต่ไม่มีวันเข้าใจ ถึงแม้ว่าสกอร์เซซีจะถูกรายล้อมไปด้วยชาวโอเซจทั้งหน้าและหลังกล้อง แต่ในฐานะคนทำหนังผิวขาว เขาทำได้เพียงเข้าถึงเรื่องราวเหล่านี้อย่างมีระยะห่างเท่านั้น

สกอร์เซซีทราบดีอีกเช่นกันว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ฉากที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเกิดขึ้นในตอนท้าย เมื่อหนังตัดสลับไปยังภาพเหตุการณ์ราวสิบปีให้หลัง ในตอนที่เรื่องราวการฆาตกรรมชาวโอเซจได้ถูกแปรสภาพไปเป็นรายการเพื่อความบันเทิงทางช่องวิทยุช่วงทศวรรษที่ 1930 โศกนาฏกรรมของความโอเซจถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการสรรเสริญเยินยอความสามารถและความสำเร็จของหน่วยสืบสวนสอบสวนของรัฐ ท่ามกลางซาวด์เอฟเฟคต์โห่ร้องด้วยความปีติยินดีของผู้ฟัง สกอร์เซซีตัดสินใจทำสิ่งที่เดิมพันสูงลิ่วอีกครั้งด้วยการเลือกเขียนตอนจบที่ต่างไปจากหนังสือของเดวิด แกรนน์ นั่นคือ เขาเลือกทำลายกำแพงที่สี่ด้วยการก้าวขึ้นมาบนเวทีด้วยตนเอง ก่อนจะสื่อสารกับเราคนดูโดยตรงถึงเรื่องราวแสนเรียบง่ายของมอลลีที่ซึ่งไม่เคยถูกเล่าในรายการวิทยุในวันนั้น และปิดท้ายด้วยความจริงอันแสนเจ็บปวดที่หนังเกริ่นนำไว้ตั้งแต่ฉากแรก ๆ ว่า “there was no mention of the murders” เช่นนี้เองที่สกอร์เซซีย้ำเตือนเราคนดูว่าคนผิวขาวไม่เพียงพรากชีวิตและทรัพย์สินของชาวโอเซจไปเท่านั้น แต่พวกคนผิวขาวยังพราก ‘ประวัติศาสตร์และความทรงจำ’ ไปจากพวกเขาด้วย ข้อนี้ชวนให้นึกถึงบทสนทนาอันลือลั่นระหว่างวินสตันและโอไบรอัน ในวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล เมื่อวินสตันถามโอไบรอันอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวว่า

“พี่เบิ้มมีตัวตนจริง ๆ หรือเปล่า”

“มีสิ พี่เบิ้มมีอยู่จริง พรรคก็มีอยู่จริง พี่เบิ้มคือศูนย์รวมของพรรค”

“เขามีตัวตนอยู่จริง ในแบบที่ผมมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า?” วินสตันถามซ้ำ

“แต่คุณไม่มีตัวตนอยู่จริง” โอไบรอันตอบกลับ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ก็เป็นเช่นนี้เสมอมามิใช่หรือ เหตุผลที่ประโยค “there was no mention of the murders” ต้องถูกย้ำซ้ำ ๆ กับเราคนดูหลายต่อหลายครั้งก็เพราะความรุนแรงเชิงปทัสฐาน (normative violence) หรือการทำให้ใคร หรือเหตุการณ์ใด ถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ (de-realized) ราวกับไม่เคยมีอยู่หรือกระทั่งเกิดขึ้นจริงก็นับเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ที่อาจจะรุนแรงเสียยิ่งกว่าความรุนแรงเชิงกายภาพอีกมิใช่หรือ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ของชาวโอเซจไม่เพียงถูกทำให้ หายไป อย่างที่พี่เบิ้มทำกับวินสตันเท่านั้น แต่มันถูก ขโมย ไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันและความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ในอีกความหมายหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโอเซจหาได้เป็นเรื่องความเลวทรามของปัจเจก แต่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงระบบที่ฝังรากลึก นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ภาพฟุตเตจของเหตุการณ์ฆาตกรรมคนผิวดำที่ทัลซาจำเป็นต้องปรากฏอยู่ในหนังอีกเช่นกัน ราวกับสกอร์เซซีกำลังพยายามจะบอกกับคนดูผิวขาวของเขาว่า กว่าจะเป็นอเมริกาในแบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ แผ่นดินของพวกเราล้วนก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาบนกองเลือด

ตลอดชีวิตของมาร์ติน สกอร์เซซี ภาพยนตร์คืออาวุธอันทรงอานุภาพที่เขารู้จักดีที่สุด เชื่อมั่นที่สุด รักมากที่สุด และใน Killers of the Flower Moon สกอร์เซซีได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่เขามีต่อภาพยนตร์ในฐานะสื่อกลาง (medium) และใช้มันในการเปิดคลุมให้เห็นโฉมหน้าแท้จริงอันแสนอัปลักษณ์ของอเมริกา การที่สกอร์เซซีเลือกปรากฏตัวขึ้นมากลางรายการวิทยุที่กำลังออกอากาศในทศวรรษที่ 1930 (แทนที่จะเป็นปัจจุบันขณะที่เขามีชีวิตตัวตนอยู่จริง) ขีดเน้นให้เห็นว่าสกอร์เซซีทราบดีว่าเขาเองก็อยู่ในสถานะเดียวกับนักจัดรายการวิทยุผิวขาวที่หยิบฉวยเรื่องเหล่านี้ออกมาเล่าก่อนหน้าเขา จนเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของเขานั่นแหละ ในฉากสุดท้ายหนังจึงตัดสลับภาพไปยังพิธีกรรมของชาวโอเซจในเวลาปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าตอนนั้นเองที่สกอร์เซซีทำการส่งมอบคืนเรื่องราวเหล่านี้ให้แก่เจ้าของอันชอบธรรมของมัน ผู้ซึ่ง สักวันหนึ่งในอนาคต คงได้มีโอกาสเล่าเรื่องเหล่านี้อีกครั้งผ่านสายตา น้ำเสียง และความทรงจำ ของพวกเขาเอง


Leave a comment