Tag Archives: martin scorsese

Killers of the Flower Moon – แผ่นดินของเราหลั่งเลือด

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ทุนนิยมและการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) มีความสัมพันธ์แนบชิดกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในแง่ที่มันเป็นทั้งเหตุและผลของสงคราม กล่าวคือ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมส่งผลให้ประเทศนายทุนตะวันตกต้องเร่งขยายทั้งแหล่งวัตถุดิบและตลาดใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมและสงครามในที่สุด และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ณ บทสรุปของสงครามย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ทว่าคำจำกัดความของ ‘ผู้แพ้’ และ ‘ผู้ชนะ’ ไม่อาจ และไม่ควรจำกัดอยู่เพียงมิติทางการทหารเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาประกอบฉาก โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเยอรมนีในฐานะผู้แพ้สงครามย่อมบอบช้ำที่สุดในทุกมิติ แต่เราสามารถพูดได้อย่างไม่เคอะเขินหรือไม่ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสในฐานะผู้ชนะทางทหาร ชนะในทางเศรษฐกิจด้วย? ในเมื่อเราก็เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าภายหลังสงคราม ทั้งจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไม่ต้องพูดถึงรัสเซียที่ชนะในทางทหารทว่าพ่ายแพ้ราบคาบในทางเศรษฐกิจ จนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการ ปฏิวัติเดือนตุลาคม เมื่อพรรคบอลเชวิคประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ไปสู่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา

ในทางตรงกันข้าม อเมริกาที่มีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุน คอยส่งมอบยุทโธปกรณ์และเสบียงให้แก่กองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ชนะทางเศรษฐกิจอย่างสำเร็จเด็ดขาดท่ามกลางความปราชัยของเหล่ามหาอำนาจเก่าทั้งหลาย อเมริกาทราบข้อนี้ดีว่านี่คือโอกาสของพวกเขาในการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก แทนที่ขั้วอำนาจเก่าที่กำลังซมซานกลับบ้านไปเลียบาดแผลฉกรรจ์จากสงคราม นั่นคือตอนที่พวกเขาได้กระทำการ ‘เก็บประวัติศาสตร์เก่าเข้ากรุ’ และเริ่มเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพวกเขาเอง ทุนอเมริกาขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ 1920 เพราะหลายชาติยังจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าและการสนับสนุนจากอเมริกาแม้สงครามจะจบไปแล้วก็ตาม ส่งผลให้ธุรกิจของทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเร่งหาแหล่งทรัพยากรมาหล่อเลี้ยงการเติบโตของทุนอย่างเร่งด่วน ช่วงเวลานี้เองที่ Killers of the Flower Moon พาเราไปสำรวจเหตุการณ์นองเลือดบนผืนแผ่นดินอเมริกาที่ถูกเก็บงำไว้อย่างมิดชิดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมัยเก่าไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่

ในทำนองเดียวกับ Taxi Driver มาร์ติน สกอร์เซซีเปิดเรื่องราวใน Killers of the Flower Moon ด้วยภาพที่ตัวเอกของเขาเพิ่งกลับมาจากสงคราม ทว่าความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างทราวิส บิกเคิล และเออร์เนสต์ เบิร์คฮาร์ต (ลีโอนาร์โด ดิแคปริโอ) ที่เราคนดูสามารถสัมผัสรับรู้ได้ทันทีก็คือ ขณะที่ทราวิสซมซานกลับมาจากสงครามเวียดนามในสภาพบอบช้ำสุดขีด ด้วยเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นชายที่ถูกขย่มป่นปี้จนไม่เหลือชิ้นดี เออร์เนสต์ไม่เพียงเดินทางกลับมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างครบ 32 ทว่าสีหน้าท่าทางของเขายังเปี่ยมไปด้วยความผ่อนคลาย ราวกับว่าสงครามไม่ได้ทำให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจใด ๆ เลยแม้แต่น้อย เมื่อพิจารณาข้อนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าเออร์เนสต์ก็เหมือนกับอเมริกาในขณะนั้น เขามีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุน เป็นเพียงพ่อครัวในกองทัพที่คอยส่งเสบียงให้กับแนวหน้าของฝ่ายสัมพันธมิตร และเมื่อเขาเดินทางกลับมายังบ้านเกิด เออร์เนสต์ก็พบว่าดินแดนตะวันตกบ้านป่าเมืองเถื่อน (Wild West) ที่เขารู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้พลิกโฉมกลายเป็นหนึ่งในผืนแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุดในอเมริกาหลังมีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบ จนส่งผลให้เหล่าอเมริกันชนพื้นเมืองผู้ครอบครองผืนแผ่นดินแห่งนี้กลายเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดไปด้วยโดยปริยาย

ในทำนองเดียวกับทราวิส บิกเคิล อีกเช่นกัน สิ่งแรกที่เออร์เนสต์ทำหลังกลับมาถึงบ้านเกิดก็คือการไปหางานทำ (แน่นอนว่าเขาได้เป็นคนขับรถ) นั่นคือตอนที่เขาได้พบกับมอลลี (ลิลลี แกลดสโตน) หญิงสาวทายาทอเมริกันชนพื้นเมืองเลือดแท้ที่ร่ำรวยจากการครอบครองที่ดินแหล่งน้ำมัน เออร์เนสต์ตกหลุมรักมอลลี แต่การที่เขาตัดสินใจแต่งงานกับเธอหลัก ๆ ก็เพราะคำแนะนำของวิลเลียม เฮล คุณลุงของเขา ที่ชี้ให้เห็นว่าการแต่งงานกับมอลลีจะทำให้ “มรดกตกทอดลงมาในทิศทางที่ถูกต้อง” เฮลคือตัวอย่างชั้นดีของนักธุรกิจที่ร่ำรวยขึ้นมาได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจอเมริกันหลังสงครามโลก และเป็นตอนนี้เองที่เฮลและหนังเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของตัวเองออกมา เมื่อชาวโอเซจและครอบครัวของมอลลีเริ่มเสียชีวิตอย่างผิดธรรมชาติไปทีละคนตามการจัดแจงอย่างเลือดเย็นของเฮล โดยมีเออร์เนสต์คอยให้ความร่วมมืออย่างไม่มีอิดออด บ้างถูกจัดฉากให้เป็นอุบัติเหตุ บ้างถูกสรุปให้เป็นการตายอย่างปริศนา นั่นคือตอนที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ทอม ไวท์ (เจสซี พลีมอนส์) ปรากฏตัวเพื่อสืบสวนคดีฆาตกรรมในชุมชนแห่งนี้ และอย่างที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ในที่สุดเขาก็สามารถไขคดีได้สำเร็จ

หนึ่งในประเด็นที่ Killers of the Flower Moon ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูที่สุดอยู่ตรงนี้อีกเช่นกัน นั่นคือขณะที่หนังสือของเดวิด แกรนน์ ที่มาร์ติน สกอร์เซซี นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ ดำเนินเรื่องจากมุมมองของเจ้าหน้าที่สืบสวนคดี ซึ่งสกอร์เซซีเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าอีหรอบ White savior ในลักษณะที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผิวขาวผู้เข้ามาไขคดีฆาตกรรมกลายเป็นคนเข้ามามอบความยุติธรรม เข้ามาช่วยชีวิตบรรดาคนอเมริกันพื้นเมืองที่กำลังถูกไล่ฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ทว่าสกอร์เซซีกลับตัดสินใจเปลี่ยนมาเล่าเรื่องราวจากมุมมองของชายผิวขาวอย่างเออร์เนสต์ แทนที่จะเป็นมอลลีซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำโดยตรง คำวิจารณ์เชิง PC นี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า มาร์ติน สกอร์เซซีเองก็เป็นชายผิวขาว การถือวิสาสะเล่าประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวโอเซจ ถึงแม้จะด้วยความหวังดีอย่างบริสุทธิ์ใจ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เขากลายเป็น White savior ไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐในหนัง

คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ แล้วการเลือกเล่าเรื่องราวเหล่านี้จากสายตาของเออร์เนสต์ช่วยให้เขา—สกอร์เซซี รอดพ้นจากการตกเป็น White savior หรือไม่ อย่างไร? สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ขณะที่การเล่าเรื่องจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้มอลลีกลายเป็นเพียงเหยื่อ การหักเหกลับมายังเออร์เนสต์เปิดโอกาสให้เราคนดูได้รู้จักกับมอลลีที่มีชีวิตจิตใจ ได้เห็นเธอในมิติอื่น ๆ นอกจากความเป็นเหยื่อ แต่รวมถึงมอลลีในฐานะลูกสาว พี่สาว น้องสาว ภรรยา ตลอดจนมอลลีในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนโอเซจ พูดอีกอย่างคือ สกอร์เซซีทราบเป็นอย่างดีว่าเขามีข้อจำกัดอย่างไรในการเข้าไปสำรวจประวัติศาสตร์บาดแผลที่เขาทำได้เพียงรับรู้แต่ไม่มีวันเข้าใจ ถึงแม้ว่าสกอร์เซซีจะถูกรายล้อมไปด้วยชาวโอเซจทั้งหน้าและหลังกล้อง แต่ในฐานะคนทำหนังผิวขาว เขาทำได้เพียงเข้าถึงเรื่องราวเหล่านี้อย่างมีระยะห่างเท่านั้น

สกอร์เซซีทราบดีอีกเช่นกันว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ฉากที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเกิดขึ้นในตอนท้าย เมื่อหนังตัดสลับไปยังภาพเหตุการณ์ราวสิบปีให้หลัง ในตอนที่เรื่องราวการฆาตกรรมชาวโอเซจได้ถูกแปรสภาพไปเป็นรายการเพื่อความบันเทิงทางช่องวิทยุช่วงทศวรรษที่ 1930 โศกนาฏกรรมของความโอเซจถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการสรรเสริญเยินยอความสามารถและความสำเร็จของหน่วยสืบสวนสอบสวนของรัฐ ท่ามกลางซาวด์เอฟเฟคต์โห่ร้องด้วยความปีติยินดีของผู้ฟัง สกอร์เซซีตัดสินใจทำสิ่งที่เดิมพันสูงลิ่วอีกครั้งด้วยการเลือกเขียนตอนจบที่ต่างไปจากหนังสือของเดวิด แกรนน์ นั่นคือ เขาเลือกทำลายกำแพงที่สี่ด้วยการก้าวขึ้นมาบนเวทีด้วยตนเอง ก่อนจะสื่อสารกับเราคนดูโดยตรงถึงเรื่องราวแสนเรียบง่ายของมอลลีที่ซึ่งไม่เคยถูกเล่าในรายการวิทยุในวันนั้น และปิดท้ายด้วยความจริงอันแสนเจ็บปวดที่หนังเกริ่นนำไว้ตั้งแต่ฉากแรก ๆ ว่า “there was no mention of the murders” เช่นนี้เองที่สกอร์เซซีย้ำเตือนเราคนดูว่าคนผิวขาวไม่เพียงพรากชีวิตและทรัพย์สินของชาวโอเซจไปเท่านั้น แต่พวกคนผิวขาวยังพราก ‘ประวัติศาสตร์และความทรงจำ’ ไปจากพวกเขาด้วย ข้อนี้ชวนให้นึกถึงบทสนทนาอันลือลั่นระหว่างวินสตันและโอไบรอัน ในวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล เมื่อวินสตันถามโอไบรอันอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวว่า

“พี่เบิ้มมีตัวตนจริง ๆ หรือเปล่า”

“มีสิ พี่เบิ้มมีอยู่จริง พรรคก็มีอยู่จริง พี่เบิ้มคือศูนย์รวมของพรรค”

“เขามีตัวตนอยู่จริง ในแบบที่ผมมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า?” วินสตันถามซ้ำ

“แต่คุณไม่มีตัวตนอยู่จริง” โอไบรอันตอบกลับ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ก็เป็นเช่นนี้เสมอมามิใช่หรือ เหตุผลที่ประโยค “there was no mention of the murders” ต้องถูกย้ำซ้ำ ๆ กับเราคนดูหลายต่อหลายครั้งก็เพราะความรุนแรงเชิงปทัสฐาน (normative violence) หรือการทำให้ใคร หรือเหตุการณ์ใด ถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ (de-realized) ราวกับไม่เคยมีอยู่หรือกระทั่งเกิดขึ้นจริงก็นับเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ที่อาจจะรุนแรงเสียยิ่งกว่าความรุนแรงเชิงกายภาพอีกมิใช่หรือ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ของชาวโอเซจไม่เพียงถูกทำให้ หายไป อย่างที่พี่เบิ้มทำกับวินสตันเท่านั้น แต่มันถูก ขโมย ไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ความเป็นอเมริกันและความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ในอีกความหมายหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโอเซจหาได้เป็นเรื่องความเลวทรามของปัจเจก แต่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงระบบที่ฝังรากลึก นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ภาพฟุตเตจของเหตุการณ์ฆาตกรรมคนผิวดำที่ทัลซาจำเป็นต้องปรากฏอยู่ในหนังอีกเช่นกัน ราวกับสกอร์เซซีกำลังพยายามจะบอกกับคนดูผิวขาวของเขาว่า กว่าจะเป็นอเมริกาในแบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ แผ่นดินของพวกเราล้วนก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาบนกองเลือด

ตลอดชีวิตของมาร์ติน สกอร์เซซี ภาพยนตร์คืออาวุธอันทรงอานุภาพที่เขารู้จักดีที่สุด เชื่อมั่นที่สุด รักมากที่สุด และใน Killers of the Flower Moon สกอร์เซซีได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่เขามีต่อภาพยนตร์ในฐานะสื่อกลาง (medium) และใช้มันในการเปิดคลุมให้เห็นโฉมหน้าแท้จริงอันแสนอัปลักษณ์ของอเมริกา การที่สกอร์เซซีเลือกปรากฏตัวขึ้นมากลางรายการวิทยุที่กำลังออกอากาศในทศวรรษที่ 1930 (แทนที่จะเป็นปัจจุบันขณะที่เขามีชีวิตตัวตนอยู่จริง) ขีดเน้นให้เห็นว่าสกอร์เซซีทราบดีว่าเขาเองก็อยู่ในสถานะเดียวกับนักจัดรายการวิทยุผิวขาวที่หยิบฉวยเรื่องเหล่านี้ออกมาเล่าก่อนหน้าเขา จนเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของเขานั่นแหละ ในฉากสุดท้ายหนังจึงตัดสลับภาพไปยังพิธีกรรมของชาวโอเซจในเวลาปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าตอนนั้นเองที่สกอร์เซซีทำการส่งมอบคืนเรื่องราวเหล่านี้ให้แก่เจ้าของอันชอบธรรมของมัน ผู้ซึ่ง สักวันหนึ่งในอนาคต คงได้มีโอกาสเล่าเรื่องเหล่านี้อีกครั้งผ่านสายตา น้ำเสียง และความทรงจำ ของพวกเขาเอง


Taxi Driver – จนกว่าอเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

กว่าที่ภาพยนตร์เรื่อง Taxi Driver (1976) ของมาร์ติน สกอร์เซซี จะได้รับการสถาปนาเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของอเมริกา ตัวละครทราวิส บิกเคิล (โรเบิร์ต เดอนีโร) ต้องเกิดและตายมาไม่รู้กี่ครั้ง หนแรกที่เขาปรากฏกายต่อหน้าผู้ชม เขาต้องพบกับการตอบรับด้วยเสียงตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง นักดูหนังจำนวนไม่น้อยเห็นว่าพฤติกรรมของเขาเข้าข่าย “น่ารังเกียจเดียดฉันท์” บางคนถึงขั้นกล่าวว่าเขา “เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสังคม” แต่จนแล้วจนรอด กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ความเป็นอมตะของทราวิส บิกเคิล เมื่อเขาได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวละครที่ถูกสำรวจอย่างทะลุปรุโปร่งโดยนักวิจารณ์นักดูหนังรุ่นแล้วรุ่นเล่า อาจจะด้วยความที่หนังเกริ่นนำอย่างจำเพาะเจาะจงว่าทราวิส ‘เป็นอดีตทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนาม‘ ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดก็คือ ความเจ็บป่วยทางจิตของทราวิส โดยเฉพาะข้อสรุปอย่างรวบรัดว่าเขากำลังประสบกับภาวะ Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะหักล้างข้อเสนอดังกล่าว ทว่าต้องการเสนอประเด็นที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การตีกรอบความป่วยไข้ของทราวิสว่าเป็นเพียงโรค หรือผลจากความไม่สมดุลของสารเคมีทางสมองปิดกั้นเราจากความเป็นจริงในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะในมิติของความป่วยไข้ทางการเมืองและสังคม หรือให้กล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงก็คือ สังคมอเมริกันที่กำลังเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านในช่วงศตวรรษที่ 70 เพราะหากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว ทราวิส บิกเคิลยังสามารถเป็นอะไรที่เล็กจ้อยยิ่งกว่าสารเคมีในสมอง และใหญ่โตได้มากกว่าอาการแสดงทางสังคมอย่างหนึ่งเท่านั้น

ภายหลังชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง อัตลักษณ์อเมริกันได้พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในฐานะผู้นำโลก ไม่เพียงในมิติการทหารแต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม อัตลักษณ์อเมริกันซึ่งมาพร้อมลัทธิเสรีนิยมและทุนนิยมกลายเป็นสินค้าขายดิบขายดีไปทั่วโลก ทว่าความอหังกาที่จะขยายพรมแดนทางอำนาจนี้กลับประสบกับความเสื่อมถอยอย่างหนักในช่วงสงครามเวียดนาม ภาพลักษณ์ของอเมริกาได้พลิกเปลี่ยนจากวีรบุรุษผู้กอบกู้โลกจากสงคราม กลายมาเป็นทหารผู้กระหายสงครามเสียเอง อเมริกากลายเป็นรัฐจักรวรรดินิยมที่พร้อมเข้ารุกล้ำ แทรกแซง ทำลายประเทศใดก็ตามที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของลัทธิเสรีนิยมทุนนิยมอเมริกัน และก็เป็นความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามในปีค.ศ. 1975 (ปีเดียวกับที่มาร์ติน สกอร์เซซีถ่ายทำ Taxi Driver) นี้เองที่ทำลายความทะนงตนของอเมริกาจนสูญสิ้น ภาพที่เหล่าทหารอเมริกันต้องหนีอย่างไม่คิดชีวิตถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก และความจริงอันโหดร้ายก็คือ เมื่อทหารเหล่านี้กลับถึงบ้านเกิด พวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรษสงครามเฉกเช่นทหารผ่านศึกในอดีต แต่ถูกตราหน้าเป็นฆาตรกรมือเปื้อนเลือดผู้เข่นฆ่าคนบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับภาพลักษณ์อเมริกาที่กลายเป็นผู้รุกรานเข้าทำลายเสรีภาพของบ้านอื่นเมืองอื่น จนเป็นที่เกลียดชังไปทั่วโลก

อเมริกา เช่นเดียวกับทราวิส จำเป็นต้องซมซานกลับมาจากสงครามเวียดนามพร้อมกับเกียรติภูมิทหารและความเป็นชายที่ถูกบดขยี้จนไม่เหลือชิ้นดี ความพ่ายแพ้อย่างราบคาบส่งผลเชิงจิตวิทยาอย่างรุนแรงต่ออเมริกา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาต้องพบกับความจริงที่ยากจะยอมรับได้ว่า ความยิ่งใหญ่ไร้เทียมทานของพวกเขาเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ ในแง่นี้ เราอาจกล่าวได้ว่าทราวิส บิกเคิลไม่ได้เป็นเพียงอดีตทหารในสงครามเวียดนามเท่านั้น แต่ทราวิสคือ อเมริกา ในทำนองเดียวกับที่อเมริกาคือ ทราวิส ตัวละครของสกอร์เซซี เช่นเดียวกับอเมริกา กำลังอยู่ในภาวะบอบช้ำสุดขีด เขาโดดเดี่ยว เข้าสังคมไม่ได้ สูญสิ้นเกียรติภูมิในตนเองไปอย่างสิ้นเชิง ซ้ำร้ายเมื่อเขาพบว่ามหานครนิวยอร์กที่เขาอาศัยอยู่ก็กำลังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างเลวร้าย ดังที่เขาบรรยายไว้อย่างเห็นภาพชัดว่า “พวกชั้นต่ำทั้งหลายมักจะออกมาเพ่นพ่านเต็มถนนยามค่ำคืน ทั้งโสเภณี ขี้เมา พ่อค้ายา แมงดา ขี้ยา หัวขโมย พวกโรคจิต” ก่อนที่เขาจะกล่าวเสริมอย่างน่าสนใจว่า “สักวันหนึ่งถนนเส้นนี้จะต้องได้รับการชำระล้างเสียที ” นั่นคือตอนที่เราต้องกลับไปหาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของลากอง ทราวิสไม่ได้โกรธเคืองที่ พวกชั้นต่ำ เหล่านี้ทำให้มหานครนิวยอร์กอันศิวิไลซ์ต้องเปรอะเปื้อนเสื่อมโทรม แต่โกรธเคืองที่พวกเขาขโมย ความสำราญ (หรือที่ผู้ศึกษาลากองเรียกกันว่า Enjoyment) ของเขาไป ทราวิสไม่สามารถมีความสุขหรือกระทั่งใช้ชีวิตปกติได้ ในขณะที่พวกขี้ยาและแมงดาเหล่านี้ออกมาสนุกเริงร่ากันอย่างเกินหน้าเกินตา

จนกระทั่งเขาได้พบกับเบ็ตซี่ (ซีบิล เชพเพิร์ด) นั่นแหละ หญิงสาวหน้าตาสะสวย พูดจาสุภาพ หน้าที่การงานมีเกียรติ แต่งตัวสมฐานะ มีหน้ามีตาในสังคม เขาตกหลุมรักเธอเข้าอย่างจัง ไม่ว่าจะเพราะเธอตรงสเป็กของเขาหรือไม่ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบ็ตซี่เป็นภาพสะท้อนของอเมริกันชนในอุดมคติของทราวิส เป็นสิ่งที่เขาอยากให้อเมริกาเป็นและเป็นสิ่งที่เขาเองก็ฝันอยากจะเป็น แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ต้องปะทะกับความจริงว่าเขาและเธออยู่อาศัยกันคนละโลก ความแตกต่างทางชนชั้นฐานะระหว่างเขาและเธอเห็นเด่นชัดที่สุดในฉากที่เขาตัดสินใจพาเธอไปออกเดท ณ โรงภาพยนตร์สำหรับฉายหนังผู้ใหญ่ ซึ่งเบ็ตซี่มองว่าเป็นการกระทำที่ดูถูกเหยียดหยามเธออย่างยิ่ง ข้อน่าสังเกตอยู่ตรงนี้ ทราวิสไปดูหนังที่โรงภาพยนต์แห่งนี้เป็นประจำจริง ทว่าเขาไม่ได้ไปเพราะความกระสันหื่นกาม (ตรงกันข้าม เขาแทบจะไร้อารมณ์ความรู้สึกเสียด้วยซ้ำเวลาดูหนังผู้ใหญ่เหล่านั้น) แต่เพราะอย่างที่ทราวิสสารภาพกับเบ็ตซี่ เขาพาเธอไปที่นั่นเพราะ “ใคร ๆ ก็ไปกัน” แน่นอนว่าใคร ๆ ในที่นี้ย่อมหมายถึงคนในแวดวงสังคมเดียวกับเขาเท่านั้น การแตกหักกับเบ็ตซี่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อทราวิส และนั่นเป็นหนที่สองที่เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกขโมย ความสำราญ (Enjoyment) ไป ทว่าแทนที่จะโทษตัวเอง ทราวิสกลับพุ่งเป้าไปที่วุฒิสมาชิกพาแลนไทน์ ชายผู้เป็นเจ้านายของเบ็ตซี่ที่เธอเคารพนับถือ ทว่าทราวิสรู้เห็นว่าแท้จริงแล้วพาแลนไทน์ไม่ได้ประเสริฐเลิศเลอไปกว่านักการเมืองคนอื่น ๆ ที่ล้วนเจ้าเล่ห์ ฉ้อฉล ไม่รักษาคำพูด เป็นหนึ่งในเนื้อร้ายที่จะต้องถูกชะล้างไปพร้อม ๆ กับ พวกชั้นต่ำ

ใน Taxi Driver กระจกถูกนำมาใช้อย่างชาญฉลาดและมีบทบาทสำคัญยิ่ง ทั้งในฐานะสัญญะที่สื่อสะท้อนถึงความเป็นทวิลักษณ์ในตัวทราวิส และเป็น ‘กำแพงที่มองไม่เห็น’ ที่ขวางกั้นเขาจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ข้อนี้เราเห็นได้ตั้งแต่ฉากที่ทราวิสบรรยายถึงชีวิตบนท้องถนนของเขา วิธีการที่เขาสอดส่องผู้คนผ่านกระจกรถและถ้ำมองผู้โดยสารของเขาผ่านกระจกมองหลัง ประเด็นนี้พาเรากลับไปหาอีกหนึ่งแนวคิดของลากองนั่นคือทฤษฎี ‘ระยะกระจกเงา’ (Mirror stage) ที่ลากองเสนอว่าเป็นกระบวนการที่ซับเจ็กต์รับรู้ตัวตนผ่านภาพสะท้อนของตนเอง ซึ่งประจักษ์ชัดที่สุดในฉากอันเป็นที่จดจำของหนัง เมื่อทราวิสกล่าวกับตัวเองในกระจกว่า “นายกำลังพูดกับฉันเหรอ?” พร้อม ๆ กับที่เขากำลังตระเตรียมอาวุธปืนสำหรับใช้ในแผนลอบสังหารพาแลนไทน์ ฉากสั้น ๆ นี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทราวิสในฐานะผู้จ้องมอง กับทราวิสในฐานะตัวตนในจินตนาการ ซึ่งแข็งแกร่ง ก้าวร้าว และเปี่ยมล้นไปด้วยความเป็นชาย เป็นตัวตนที่เขาปราถนาจะเป็น ทว่าลึก ๆ แล้วรู้อยู่แก่ใจว่าเขาไม่สามารถเป็นทราวิสคนนั้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ช่องว่างระหว่างตัวตนและจินตภาพนี้เองที่ก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศอันเต็มไปด้วยความขาดพร่องขึ้น

ในความเห็นของนักจิตวิเคราะห์ ภาวะสุญญากาศเช่นนี้เปิดโอกาสให้ซับเจ็กต์ได้เติมเต็มตัวตนและความจริง (The real) ของเขาด้วยภาพเฟ้อฝัน (Fantasy) พูดอีกอย่างคือ ช่องว่างระหว่างตัวตนและจินตภาพบีบบังคับให้ทราวิส (และรวมถึงอเมริกาด้วย) ต้องดำเนินการสังคายนาตัวตนขนานใหญ่ ข้อนี้นำเราไปสู่สิ่งที่ซินเธีย เวเบอร์ เสนอผ่านงานเขียนเรื่อง Imagine America at War ไว้ว่า ‘การเข้าแทรกแซงในนามของมนุษยธรรมกลายมาเป็นภารกิจที่ทรงศีลธรรมสูงสุด (แทนที่การต่อสู้ในนามของประเทศชาติ—ผู้เขียน) และเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้อเมริกาสามารถฟื้นขึ้นมาจากความตกต่ำภายหลังสงครามเวียดนามได้ในที่สุด‘ พูดอีกอย่างคือ ในการที่จะก่อร่างสร้างเกียรติภูมิทหารและความเป็นชายขึ้นมาใหม่ อเมริกาหาได้ยกเลิกการแทรกแซงต่างประเทศด้วยความรุนแรง แต่พวกเขาเปลี่ยนเหตุผลของการเข้าแทรกแซง จากการกระทำเพื่อแสดงความเกรียงไกรของชาติ ไปเป็นการกระทำด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม เช่น การเข้าไปยังอัฟกานิสถานด้วยข้ออ้างว่าต้องการหยุดยั้งตัดวงจรความรุนแรงที่รัฐบาลเผด็จการกระทำต่อพลเมืองหญิง หรือการเข้าไปยังอิรักเพื่อปกป้องเสรีภาพของโลก เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน และด้วยเหตุผลเดียวกัน ทราวิสจำเป็นต้องหาอะไร หรือใครสักคนที่พร้อมจะทำให้เขาได้แสดงบทบาทของความเป็นชายอีกครั้ง นั่นคือตอนที่เขาตัดสินใจวางแผนสังหารพาแลนไทน์ สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ เขาไม่ได้ก่อการนี้เพียงเพื่อชำระแค้นที่เบ็ตซี่ทำกับเขาเท่านั้น แต่กระทำการนี้ในนามของ อเมริกา ด้วย เครื่องแบบทหารที่เขาสวมใส่อย่างภาคภูมิยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี โชคร้ายที่แผนการของเขาดันล้มเหลวไม่เป็นท่า ทว่าโชคดีเหลือเกินที่ในที่สุดเขาก็ได้พบกับไอริส (โจดี ฟอสเตอร์) เด็กหญิงที่ถูกพวกแมงดาชั้นต่ำล่อลวงไปค้าประเวณี ทราวิสจึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปปลดปล่อยไอริส คืนเธอสู่มาตรฐานคุณค่าทางสังคมแบบอเมริกัน กลับสู่สถาบันครอบครัวอันแสนอบอุ่น กลับสู่สถานศึกษาที่จะอบรมสั่งสอนให้เธอมีอนาคตที่ดี หน้าที่การงานที่มีเกียรติต่อไป แต่ข้อสำคัญที่หนังไม่ได้บอกกับเราคนดูตรง ๆ ก็แอบซ่อนอยู่ตรงนี้เอง เขาช่วยไอริสมิใช่เพราะเธอต้องการความช่วยเหลือ แต่เพราะการช่วยเหลือไอริสเติมเต็มคุณค่าบางอย่างในตัวเขาต่างหาก

มีคำกล่าวว่า ทราวิส บิกเคิลตายไปแล้ว ที่เราเห็นในฉากสุดท้ายนั่นคือจินตนาการความฝัน (Fantasy) ที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขาเท่านั้น ความฝันที่จะเห็นนิวยอร์กกลับมาเป็นมหานครที่สะอาดศิวิไลซ์ ความฝันที่จะเห็น พวกชั้นต่ำ ถูกชะล้างไปจากถนนจนหมดเกลี้ยง ความฝันที่จะกู้คืนศักดิ์ศรีและความเป็นชายของเขาและของชาติ ไม่ว่าข้อเสนอนี้จะฟังขึ้นหรือไม่อย่างไร ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้อาจจะพอเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดทราวิส บิกเคิลถึงได้เป็นอมตะ ที่ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานเท่าใด ไม่ว่าเขาจะตายอีกกี่ครั้ง เขาจะหวนกลับมาให้เราต้องถกเถียงถึงการกระทำของเขาอยู่เสมอ คงเป็นข้อนี้กระมังที่ทำให้ Taxi Driver ของมาร์ติน สกอร์เซซีเป็นมากกว่าภาพยนตร์ แต่คงสถานะทัดเทียมกับมรดกทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณของทราวิส บิกเคิลเป็นทั้งความฝันแสนหวานและความจริงแสนอัปลักษณ์ เป็นทั้งอุดมการณ์และความขยาดกลัวที่จะตามหลอกหลอนอเมริกันชนอยู่เรื่อยไป จนกว่าอเมริกาจะกลับมา Great Again