10 หนังน่าดู ใน Venice Film Festival 2021

หนังจากคานส์ชุบชีวิตวงการภาพยนตร์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เทศกาลหนังสำคัญถัดมาที่คอหนังทั่วโลกเฝ้ารอคอยก็คือเทศกาลหนังเวนิส ซึ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงค่ำของวันที่ 11 กันยายน โดยปีนี้เวเนเซียจะได้บงจุนโฮมารับหน้าที่เป็นประธานกรรมการในการตัดสินรางวัลสำคัญของเทศกาล และเช่นเดียวกับสองปีก่อนหน้านี้ คณะกรรมการที่จะมาช่วยบงจุนโฮตัดสินจะมีทั้งหมด 6 คน ประกอบไปด้วยผู้กำกับนักแสดงหญิง 4 คน คือ โคลอี้ เจา, ซินเธีย เอริโว, เวอร์จีนี เอฟีรา, ซาราห์ กาดง และผู้ชาย 2 คน เซเวริโอ คอสตานโซ และอเล็กซานเดอร์ นาเนา

ในทำนองเดียวกับคานส์ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน หลังจากวันนี้ไปจนจบเทศกาล เพจเราจะคอยมาอัพเดตความเคลื่อนไหว กระแสตอบรับของหนังแต่ละเรื่องให้แฟนเพจได้ทราบกันครับ และนี่คือ 10 หนังที่เราเฝ้ารอคอยที่สุดในเทศกาล

10. Parallel Mothers

หนังเปิดเทศกาล จากผลงานกำกับโดยเปโดร อัลโมโดวา นำแสดงโดยเพเนโลพี ครูซ นักแสดงคู่บุญ ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงตั้งครรภ์สองคน ซึ่งต่างโสดและไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก อัลโมโดว่ากล่าวว่านี่คือการแสดงที่ยากและเจ็บปวดที่สุดที่เพเนโลพี ครูซเคยเล่นมา

9. เวลา

ผลงานของจักรวาล นิลธำรงค์ ที่ได้เข้าประกวดในสาย Orizzonti ว่าด้วยเรื่องราวหญิงชราที่ต้องแบกรับภาระดูแลสามีที่ล้มป่วย เปิดโอกาสให้เธอได้กลับไปสำรวจอดีตซึ่งคละเคล้าไปด้วยความสุขและทุกข์ หนังกำกับภาพโดยพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่เคยมาคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสายนี้กับ กระเบนราหู (2018)

8. Costa Brava, Lebanon

ผลงานแจ้งเกิดของผู้กำกับหญิง มูเนีย อะเคิล ซึ่งได้นาดีน ลาบากิ (Capernaum) นักแสดงและผู้กำกับมากฝีมือมาแสดงนำ ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดในอนาคตอันใกล้ ครอบครัวหนึ่งอพยพหนีฝุ่นควันและมลภาวะซึ่งกำลังปกคลุมตัวเมืองเบรุตมาพักอาศัยในย่านธรรมชาติ จนกระทั่งวันหนึ่งความปลอดภัยและความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขาต้องถูกท้าทาย เมื่อรัฐบาลประกาศสร้างพื้นที่ปลอดสารพิษไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวบ้านของพวกเขา

7. The Lost Daughter

ผลงานแจ้งเกิดในฐานะผู้กำกับของแม็กกี จิลเลนฮาล หนังดัดแปลงจากนิยายในชื่อเดียวกัน ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงวัยกลางคนที่หลังจากได้เห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างแม่และลูกสาวคู่หนึ่ง ทำให้เธอตกอยู่ในภวังค์ของอดีตที่ปะปนไปด้วยความสับสนและขมขื่น จากการตัดสินใจเมื่อครั้งที่เธอยังเป็นคุณแม่ยังสาว

6. The Hand of God

ว่ากันว่าที่คือผลงานที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุดของเปาโล ซอร์เรนติโน (The Great Beauty) ว่าด้วยเรื่องราวที่อ้างอิงมาจากชีวิตจริงของเมื่อครั้งอายุ 17 กำลังสับสนว้าวุ่นกับอนาคตที่ไม่แน่นอนอยู่ในเมืองเนเปิลบ้านเกิด จนกระทั่งวันหนึ่ง ดิเอโก มาราโดน่าย้ายมาร่วมทีมนาโปลี ทีมฟุตบอลสำคัญของเมือง ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับ

5. Last Night in Soho

ผลงานจิตวิทยาระทึกขวัญของเอ็ดการ์ ไรต์ ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาว (อันยา เทย์เลอร์ จอย) ที่อยู่ดี ๆ เธอก็สามารถย้อนเวลาไปใช้ชีวิตในลอนดอนยุค 60 ซึ่งเธอจะได้พบกับเรื่องราวที่ไม่คาดฝัน ว่ากันว่านี่คือจดหมายรักจากเอ็ดการ์ ไรต์ถึงย่านโซโหของลอนดอน ที่ซึ่งเขาเติบโตมา

4. Power of the Dog

เจน แคมเปียน (The Piano) น่าจะได้รับการจดจำในหมู่คอหนังในฐานะตำนานของคานส์ ทว่าด้วยความ อาฆาตบาดหมางระหว่าง Netflix และเทศกาลหนังสำคัญของฝรั่งเศส ทำให้ Power of the Dog ต้องหันเหมาเปิดตัวในเวทีที่เป็นมิตรกับสตรีมมิ่งมากกว่าอย่างเวนิส ส่วนที่ทำให้ Power of the Dog เป็นผลงานที่หลายคนเฝ้ารอคอย นอกจากการที่มันเป็นงานของแคมเปียนซึ่งการันตีคุณภาพได้อยู่แล้ว น่าจะเป็นความฉงนสงสัยว่าเรื่องราวที่มีความ masculine สูงมาก ๆ เมื่ออยู่ในมือของศิลปินสายเฟมินิสต์อย่างเธอ จะออกมาเป็นอย่างไร

3. The Card Counter

พอล ชเรเดอร์กลับมาที่เวนิสอีกครั้งหลังจาก The First Reform (2017) ของเขาเปิดตัวที่นี่ในสายประกวดและได้กระแสตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม ว่าด้วยเรื่องราวของอดีตทหาร (ออสการ์ ไอแซค) ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักเล่นไพ่และกำลังใช้ชีวิตอย่างเงียบเชียบเจียมตัว ทว่าชีวิตอันสงบสุขของเขาต้องถูกทำลายเมื่อได้พบกับเด็กหนุ่มเลือดร้อนคนหนึ่งที่กำลังตามล่าล้างแค้นอริเก่า

2. Spencer

พาโบล ลาร์เรน (Tony Manero, Ema) ถือเป็นอีกหนึ่งคนคุ้นเคยกับเวนิส ผลงานของเขาอย่าง Post Mortem (2010) และ Ema (2019) เคยมาเปิดตัวที่นี่และเขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสายประกวดหลักของเทศกาลเมื่อปี 2013

ผลงานล่าสุดของลาร์เรนคงไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของโลกภาพยนตร์ที่จะฟื้นคืนชีพเจ้าหญิงไดอาน่า และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ทว่าส่วนที่ทำให้ Spencer เต็มไปด้วยสเน่ห์อันน่าค้นหาจริง ๆ คือการมารับบทโดยคริสเตน สจ๊วต ซึ่งบุคลิกแตกต่างจากภาพของไดอาน่าที่เราต่างรู้จักคุ้นเคย รวมถึงการตีความเรื่องราวราชวงศ์อังกฤษของพาโบล ลาร์เรน ซึ่งใครเคยดูไตรภาคการเมืองชิลีของเขาก็น่าจะพอออกมองว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาเป็นอย่างไร

1. Mona Lisa and the Blood Moon

ชื่อของอนา ลิลี อะมีร์พัวร์ ผู้กำกับหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน อาจจะไม่ได้อยู่ในแวดวงสนทนาของคอหนังมากนัก แต่เธอเคยฝากผลงานน่าตื่นตะลึงมาแล้วในเทศกาลหนังซันแดนซ์ กับ A Girl Walks Home Alone at Night (2014) ซึ่งผสมปนเประหว่างความเป็นอิหร่านและอเมริกันได้อย่างลงตัว

Mona Lisa and the Blood Moon เป็นความพยายามอีกครั้งของอนา ลิลีที่จะตั้งคำถามถึงระเบียบสังคมซึ่งกดทับกลุ่มคนที่แปลกแยกแตกต่าง ว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวที่มีพลังวิเศษ (จอนจงซอ จาก Burning) ทำให้เธอสามารถหนีการถูกกักขังในโรงพยาบาลจิตเวช ทว่าเธอกลับต้องเจอกับโลกภายนอกและความเป็นจริงอันโหดร้าย


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s