Irma Vep – ต้นฉบับไม่ได้มีไว้กราบไหว้ แต่เพื่อรื้อถอนทำลาย

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ด้วยจังหวะเวลาที่ Irma Vep ฉบับซีรีส์ของโอลิวิเยร์ อัสซายาส กำลังเข้าฉายอยู่ทาง HBO เลยถือโอกาสหยิบ Irma Vep (1996) ฉบับภาพยนตร์ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่หกของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส มาปัดฝุ่นสำรวจใหม่อีกครั้ง พบว่ามีหลายประเด็นที่ยังคงร่วมสมัยมาก ๆ อาจจะมากกว่าสมัยเมื่อครั้งที่หนังออกฉายเสียด้วยซ้ำไป ประเด็นหนึ่งที่แน่ ๆ คือการเกี่ยวรัดคัดง้างกันระหว่างวัฒธรรมตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถูกฉายทับอยู่บนการเคลื่อนผ่านของยุคสมัย เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่หนังออกฉาย อุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกในเวลานั้นกำลังเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนข้ามของชุดข้อมูลอย่างไร้พรมแดนผ่านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิตอลประสานสั่นคลอนวิธีการถ่ายทำภาพยนตร์ในแบบดั้งเดิม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสในเวลานั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะตีบตัน ผู้คนต่างถวิลหาความสำเร็จในยุคสมัยของ French New Wave แต่กระนั้น กระแสธารของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยใหม่ก็เป็นสำนึกที่ผู้คนต่างรู้ว่ามิอาจเลี่ยง Irma Vep ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของการรีเมคซีรีส์ภาพยนตร์เงียบเรื่อง Les Vampires (1916) ในแง่หนึ่งจึงเป็นภาพเปรียบของความพยายามที่จะหวนกลับไปสู่อดีต ทว่ามิใช่เพื่อเชิดชู แต่เพื่อสำรวจนิยามความหมายตัวตนของความเป็นฝรั่งเศส ในวันที่ภาพยนตร์กำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่อาจย้อนกลับ

สถานการณ์ใน Irma Vep ว่าไปแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เรากำลังพบเจอในปัจจุบันมากนัก เรอเน วิดาล (ฌ็อง ปิแอร์-เลโอด์) ผู้กำกับที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความเคารพนับถือทว่าปัจจุบันกลับกลายเป็นคนแก่ตกยุคตกสมัย ได้รับโจทย์ใหญ่จากนายทุนโทรทัศน์ให้เป็นหัวเรือหลักในการรีเมคหนังชุด Les Vampires ผลงานคลาสสิกของหลุยส์ ฟิวยาด ทว่าแทนที่จะ ‘ซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับ’ ด้วยการเลือกใช้นางเอกผิวขาวชาวฝรั่งเศส วิดาลกลับเลือกตีความตัวเอกของเรื่องใหม่ ด้วยการแคสต์นักแสดงสาวชาวฮ่องกงอย่างจางม่านอวี้ (รับบทเป็นตัวเอง) มาเป็น Irma Vep ตัวเอกของเรื่อง สำหรับนักดูหนังปัจจุบัน ประเด็นข้างต้นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนัก แต่สำหรับช่วงเวลาดังกล่าว การเลือกนักแสดงเอเชียมารับบทนำในหนังตะวันตกยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายมาก ๆ (แม้กระทั่งฮอลลีวู้ดเองก็เพิ่งจะได้รู้จักกับ เวย์น หวัง ผู้ซึ่งเป็นหัวหอกคนสำคัญที่กรุยทางให้กำเนิดกระแสธารคนทำหนังอเมริกันเชื้อสายเอเชียในช่วงยุค 2000) ไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ในฝรั่งเศส ที่นักดูหนังน้อยคนนักจะรู้จักหรือกระทั่งสนใจหนังเอเชีย

แต่หนึ่งในกลุ่มคนเพียงหยิบมือนั้นก็คือโอลิวิเยร์ อัสซายาส เมื่อช่วงปีค.ศ. 1984 ขณะที่เขายังทำงานเป็นนักวิจารณ์ของ Cahiers du Cinema นิตยสารภาพยนตร์เก่าแก่ของฝรั่งเศส อัสซายาสอาสาเขียนบทความว่าด้วยภาพยนตร์เอเชีย (ซึ่งยังไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน) เขาลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปใช้ชีวิตแรมเดือนอยู่ในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน พักอยู่ในโรงแรมราคาถูกหรือไม่ก็ห้องนั่งเล่นในบ้านของบรรดานักวิจารณ์คนทำหนัง วิ่งเต้นสัมภาษณ์ผู้คนมากหน้าหลายตา เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ตัวตนของภาพยนตร์เหล่านั้น ‘ที่นั่นคือขุมทรัพย์ทางภาพยนตร์แห่งสุดท้ายที่ยังไม่ถูกค้นพบ’ เขากล่าวในอีกหลายปีถัดมาขณะให้สัมภาษณ์ถึงนิตยสารเล่มดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในฉบับที่ขายได้น้อยที่สุดตลอดกาลของ Cahiers du Cinema จนกระทั่งกาลเวลาเลื่อนผ่าน สิบปีถัดมา อัสซายาสหันเหจากการเป็นนักวิจารณ์ เขากลายมาเป็นผู้กำกับแถวหน้าของฝรั่งเศส ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ที่นั่นเองที่เขาได้พบกับจางม่านอวี้ ที่ภาพยนตร์ของเธอและหว่องกาไว Ashes of Time เข้าฉายในสายประกวดหลัก ‘มันคือรักแรกพบ’ เขารำลึกความหลัง

‘ผมเขียนบท Irma Vep ขึ้นมาหลังจากนั้นโดยมีเธออยู่ในจินตนาการ’ อัสซายาสสารภาพ ‘แต่ทุกคนต่างบอกผมว่าเธอเป็นนักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์ของฮ่องกง เธอเข้าถึงยากมาก ๆ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะติดต่อให้เธอมาเล่นหนังเรื่องนี้’ อัสซายาสจึงตัดสินใจเดินทางไปยังจีนและฮ่องกงเพื่อแคสต์นักแสดงที่จะมาเล่นบทนี้แทนจางม่านอวี้ ‘ผมน่าจะได้เจอกับนักแสดงทุกคนในเมืองจีน แต่สุดท้ายก็ไม่พบใครที่เหมาะสม’ เขากล่าว จนกระทั่งวันหนึ่งอัสซายาสติดต่อไปยังคริสโตเฟอร์ ดอยล์ (ดอยล์เคยทำงานในวงการหนังฝรั่งเศสก่อนจะเป็นผู้กำกับภาพให้แก่หว่องกาไว) ดอยล์ที่รู้จักจางม่านอวี้เป็นอย่างดีจึงจัดแจงให้เขาได้มาดินเนอร์เธอ และอีกวันถัดมาเธอก็กลายมาเป็น Irma Vep

ภาพการปรากฏกายของจางม่านอวี้ในฉากเปิดเรื่อง ในฐานะซูเปอร์สตาร์จากเอเชีย ขณะที่เธอก้าวย่างอย่างหวาดระแวงเข้าไปยังใจกลางความวุ่นวายของอุตสาหกรรมหนังฝรั่งเศส เป็นฉากที่เรียบง่ายแต่แฝงนัยยะไว้อย่างมากมาย มันไม่เพียงบ่งชี้ถึงการทับซ้อนกันระหว่างโลกความเป็นจริงและจินตนาการ แต่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่า โลกภาพยนตร์ที่เรารู้จักกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล โลกตะวันตกในช่วงเวลานั้นยังรู้จักหนังและคนทำหนังเอเชียไม่มากนัก มีผู้กำกับนักแสดงเอเชียเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมหนังตะวันตก และจางม่านอวี้คือหนึ่งในนั้น อัสซายาสเปิดเผยว่าคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เธอเป็นเพียงตัวเลือกเดียวสำหรับเขา คือการที่เธอไม่เพียงพกอัตลักษณ์ความเป็นเอเชียอนุรักษ์นิยมติดตัวเธอไปด้วยทุกหนแห่ง แต่เธอเปิดกว้าง และมีความมั่นอกมั่นใจในแบบสมัยใหม่อยู่เต็มเปี่ยม ในอีกความหมายหนึ่ง จางม่านอวี้สะท้อนความผสมกลมกลืนระหว่างยุคสมัยเก่าและใหม่ ตะวันออกและตะวันตกด้วยตัวเธอเอง เพราะถึงแม้จะเกิดในครอบครัวคนจีน แต่การถูกเลี้ยงดูและเติบโตในสหราชอาณาจักรทำให้รูปลักษณ์เอเชียของจางม่านอวี้เจือปนไปด้วยความทันสมัย ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของมนุษย์ในยุคหลังสมัยใหม่ โดยเฉพาะในสายตาของคนตะวันตก

ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ไอคอนของกระแสคลื่นลูกใหม่แห่งภาพยนตร์ฝรั่งเศสอย่าง ฌ็อง ปิแอร์-เลโอด์ ในบทบาทผู้กำกับตกยุค ก็เปรียบได้กับภาพแทนของความเป็นสมัยเก่า ความรุ่งเรืองในอดีตที่กำลังเสื่อมมนต์ขลังและกำลังดิ้นรนหาที่หยัดยืนในโลกยุคใหม่ นั่นทำให้ภาพที่ฌ็อง ปิแอร์-เลโอด์ และจางม่านอวี้ ยืนเคียงคู่กันในฐานะผู้กำกับและนักแสดง เป็นสถานการณ์แปลกประหลาดที่เส้นแบ่งระหว่างอดีตและปัจจุบันดูจะถูกพร่าเลือน เกิดการคานงัดกันระหว่างอัตลักษณ์ตัวตนของตะวันตกและตะวันออก ยุคสมัยเก่าและสมัยใหม่ อันเป็นความอีหลักอีเหลื่อที่เกิดจากความพยายามที่จะหานิยมความหมายใหม่ให้แก่ Irma Vep

เหตุผลที่ตัวละครนี้มีความสลักสำคัญต่อคนฝรั่งเศสอย่างมาก ไม่เพียงเพราะตัวซีรีส์นั้นเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ทุก ๆ สัปดาห์ เด็กหนุ่มล้วนเฝ้ารอคอยที่จะได้ชม Les Vampire ระหว่างที่พวกเขาถูกส่งออกไปรอความตาย ณ ปราการด่านหน้าของสมรภูมิรบ) แต่อย่างที่ โจเซ มิราโน (ลู คาสเตล) ผู้กำกับที่ได้รับมอบหมายให้มากำกับซีรีส์ต่อจากวิดาล ทักท้วงไว้ในช่วงท้ายของเรื่องว่า ‘Irma Vep คือปารีส เธอคือตัวแทนของขบวนการใต้ดินในปารีส คือตัวแทนของชนชั้นแรงงานในปารีส เธอจะเป็นฟูแมนจู (ตัวละครวายร้ายชาวจีน)ได้อย่างไร?’

พูดอีกอย่าง เจตนารมณ์แท้จริงของเรอเน วิดาล (ซึ่งก็คือร่างทรงของโอลิวิเยร์ อัสซายาส) หาใช่เพียงการ ‘ไม่เคารพต้นฉบับ’ แต่คือการต่อต้าน มุ่งรื้อถอนทำลายนิยามความหมายเดิมของ Irma Vep จากผู้หญิงผิวขาวผู้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส ไปสู่หญิงสาวชาวเอเชียผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของโลกยุคใหม่ ‘ตอนคนจากช่องโทรทัศน์มาขอให้ผมทำ Les Vampire ผมคิดว่าพวกเขาคงเสียสติไปแล้ว’ เรอเน วิดาลกล่าวกับนักแสดงสาวของเขาในช่วงหนึ่ง ‘ไม่มีนักแสดงฝรั่งเศสคนไหนสามารถเป็น Irma Vep ต่อจากมิวซิดอราได้อีกแล้ว แค่คิดจะทำก็บาปมหันต์ แต่ทันทีที่ผมเห็นคุณในหนังแอคชั่นฮ่องกงราคาถูกพวกนี้ ผมรู้ได้ทันทีว่าคุณเป็นเธอได้ คุณลึกลับเหมือน Irma Vep คุณสง่างามเหมือน Irma Vep คุณมีมนต์เสน่ห์ของเธอ และเหนือสิ่งอื่นใด คุณมีความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ และผมต้องการ Irma Vep สมัยใหม่’

แต่จนแล้วจนรอด ความซับซ้อนและแปลกใหม่ของ Irma Vep ก็ทำให้วิดาลต้องตกที่นั่งลำบาก รอบฉายทดลองของหนังในห้องที่เต็มไปด้วยบรรดาผู้สร้างและทีมงาน จบลงด้วยความเงียบงัน ราวกับพวกเขาถูกดีดนิ้วปลุกให้ตื่นจากภวังค์ เพียงเพื่อพบว่าความเป็นจริงหาได้สวยหรูดั่งภาพฝัน ‘ผมไม่ได้ยินเสียงคุณหายใจด้วยซ้ำ’ ชายคนหนึ่งเรียกร้องให้วิดาลกล่าวพูดอะไรบางอย่าง ‘มันห่วย จบมั้ย’ เขาตวาดกลับก่อนจะหุนหันออกไป คำถามที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันคือ จุดใดกันแน่ที่ทำให้หนังของเรอเน วิดาลส่อแววจะล้มเหลวไม่เป็นท่า เหตุใด ‘Irma Vep ฉบับโมเดิร์น’ ถึงยังไม่เพียงพอ? วิดาลสารภาพหมดเปลือกกับจางม่านอวี้ในช่วงหนึ่งว่า ‘ผมคิดมาตลอดว่าคุณคือหัวใจของหนังเรื่องนี้ แต่ผมคิดผิด คุณเป็นเพียงเปลือกนอก […] และ Irma Vep ก็เป็นเพียงไอเดียกลวงเปล่า ไร้ซึ่งเลือดเนื้อ’

กล่าวอย่างสั้น ในที่สุดแล้ววิดาลก็ค้นพบว่า ภาพยนตร์ไม่ใช่การแทนค่าสมการอย่างง่าย ที่การสับเปลี่ยนตัวแปรเพียงเล็กน้อยก็อาจให้ผลที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ การจับจางม่านอวี้สวมชุดดำรัดติ้วแบบที่มิวซิดอราเคยสวมใส่เมื่อ 80 ปีก่อนไม่เพียงตอกย้ำซ้ำเติมว่า Irma Vep ของเขายังคงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ (ฉากที่จางม่านอวี้ลองชุดหนังรัดรูปใน sex shop เสียดสีได้แสบสันดีจริง ๆ) กระนั้นแล้ว สิ่งใดกันเล่าที่อาจมอบผลลัพธ์แปลกใหม่? เรอเน วิดาลเรียนรู้ว่า ‘ภาษาภาพยนตร์’ ต่างหากที่สามารถขยายพรมแดนการรับรู้ของคนดูไปสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

ตอนจบของ Irma Vep ควรค่าแก่การจารึกว่าเป็นหนึ่งในฉากปิดท้ายที่กล้าหาญที่สุดในโลกภาพยนตร์ ไม่เพียงเพราะมันคือการขบถต่อต้นฉบับอย่างถอนรากถอนโคน เป็นการกระทำบ้าบิ่นที่คนสมัยปัจจุบันอาจให้นิยามอย่างสาดเสียเทเสียว่า ‘ไม่เคารพผู้แต่ง’ แต่ขณะเดียวกัน มันคือการตอกย้ำถึงพลังอำนาจของภาพยนตร์ในฐานะยานพานะที่พร้อมจะพาคนดูเดินทางข้ามขีดจำกัดของจินตนาการความฝัน เรอเน วิดาล ค้นพบว่าวิธีการแสดงความเคารพต่อต้นฉบับที่ดีที่สุด คือการไม่เดินตามรอยเท้าของหลุยส์ ฟิวยาด แต่เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขามีเพียงจางม่านอวี้และไอเดียกลวงเปล่า ฉากจบของหนัง ในความหมายหนึ่ง คือการสารภาพอย่างหมดเปลือกว่าเขาเองก็สิ้นไร้ไม้ตอก นั่นคือตอนที่เขาตัดสินใจบิดพลิ้วมุมมองของหนัง จากการสังเกตการณ์ Irma Vep จากภายนอก ไปสู่การเปิดเปลือยให้เห็นภาพของเธอที่แอบซ่อนอยู่ในจินตนาการส่วนลึกของเขา มันขุ่นมัว เต็มไปด้วยรอยขีดข่วน ยับย่นเกินกว่าจะนำมาบูรณะซ่อมแซม เหนือสิ่งอื่นใด มันคือการลั่นวาทะ ‘ช่างแม่ง’ ด้วยประพันธศิลป์สูงสุด


One thought on “Irma Vep – ต้นฉบับไม่ได้มีไว้กราบไหว้ แต่เพื่อรื้อถอนทำลาย”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s