
คาร์ล มาร์กซ เคยกล่าวไว้ว่า ‘หากปรากฏการณ์กับแก่นแท้ของความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน คงป่วยการที่จะมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์‘ ระหว่างดูสารคดีเรื่อง ‘บูชา‘ ของอุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงวาทะดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าสามารถหยิบจับมาปรับใช้กับสถานการณ์ในสารคดีได้เหมาะเจาะลงตัว เพราะหากเรา หรือใครก็ตาม หลงปักใจเชื่อว่าการบริจาคเงิน ‘เล็ก ๆ น้อย ๆ’ เพียงสิบบาทยี่สิบบาทให้แก่วัด จะคืนย้อนมาซึ่งผลบุญมหาศาลทวีคูณ เช่นนั้นแล้วเส้นแบ่งระหว่างศรัทธาและความเชื่องมงายก็คงถูกลบเลือนจนหายสิ้น ขณะเดียวกันก็อดที่จะนึกไปถึงสารคดีสั้นอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ ‘สวรรคาลัย‘ ของอภิชน รัตนาภายน ที่ฉายภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต ทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมอย่างง่ายคือการมุ่งฉายภาพเหตุการณ์ความเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงสำนึกคิดของคนดู ปราศจากบทสัมภาษณ์ ไร้ซึ่งการบรรยายเบื้องลึกความหลังเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจแก่ผู้ชม ไม่มีการมอบเหตุผลอันเป็นรูปธรรม(ถ้ามี)แก่ภาพชวนตกตะลึงที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ มันเอื้อให้เราคนดูปฏิสัมพันธ์กับภาพเหล่านั้นได้อย่างอิสระเสรี และโดยปริยายก็ชวนให้เกิดการตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะเมื่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่หนังพาเราไปส่องสังเกต ค่อย ๆ กลายร่างไปเป็นคัลท์ที่เต็มไปด้วยเรื่องเหนือจริงสุดจินตนาการ ทำไปเพื่ออะไร(วะ)? เป็นคำถามที่ผุดขึ้นซ้ำ ๆ จนแทบจะเป็นแผ่นเสียงตกร่องอยู่ในห้วงความคิด
ระหว่างที่หนังตัดสลับภาพเหตุการณ์จากแต่ละภูมิภาค จุดร่วมหนึ่งที่พอจะจับสังเกตได้ นอกจากความหลงเชื่ออย่างหัวปักหัวปำ คือผู้คนที่มาร่วมสังฆกรรมกันอย่างพร้อมเพรียงต่างล้วนตกอยู่ในสถานะอดอยากขัดสน ส่วนมากขอพรให้ตัวเองร่ำรวย หลายคนขอให้ชาติหน้าสบายกว่าที่เป็นอยู่ (ซึ่งสบายกว่าที่เป็นอยู่ ก็คาดเดาได้ว่าหมายถึงร่ำรวยกว่าทุกวันนี้อีกเช่นกัน) “ขอให้รวยโคตรๆๆๆๆ ขอให้โคตรรวย รวยจนไม่มีที่เก็บเงิน” คำให้พรจากพระรูปหนึ่งดังขึ้นพร้อมเสียงแซ่ซ้องชอบใจของญาติโยมที่มาทำบุญถวายทานกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน และไม่เพียงแต่บรรดาพุทธศาสนิกชนที่เรียกร้องขอความร่ำรวยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สารคดีเผยให้เห็นว่า วัด เองก็เรียกร้องเงินทองเป็นการตอบแทนความศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วยเช่นกัน พูดอีกอย่าง สารคดี บูชา เปิดผ้าคลุมทางโครงสร้างให้เห็นว่า เมื่อสถาบันศาสนาสอดประสานรวมตัวเป็นสมการเดียวกับทุนที่ไร้การตรวจสอบ วัฒนธรรมประเพณีที่สืบสานกันมาตั้งแต่โบราณก็สามารถกลายร่างไปเป็นธุรกรรมความเชื่อได้อย่างง่ายดายเพียงใด และในเมื่อปัญหาปากท้องก็ย่อมตกอยู่ใต้อิทธิพลของสังคม ศาสนา การเมืองการปกครอง ในตัวมันเองอยู่แล้ว ปัญหาทั้งหลายทั้งมวลจึงมะรุมมะตุ้มโยงใยกันจนแกะแยกไม่ออกอย่างที่เป็นอยู่

ถึงแม้จะต้องยอมรับว่าตัวสารคดีสำเร็จลุล่วงในปลายทางที่ปักธงไว้ (การมุ่งฉายความจริงโดยไม่บิดพลิ้ว และเปิดให้คนดูได้ตั้งคำถามด้วยตนเองอย่างเสรี) แต่ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการของหนังมากนัก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ‘ความจริง’ ที่ปรากฏบนจอภาพก็เป็นเพียงเหรียญด้านเดียวของความจริง นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าภาพที่ปรากฏอยู่ในตัวสารคดีก็ย่อมผ่านกรรมวิธีทางภาพยนตร์ ความจริงที่เกิดขึ้นจึงถูกตัดแต่งและคัดกรองผ่านสายตาของคนทำหนัง เราในฐานะคนดูไม่มีโอกาสได้รับฟังผู้คนเหล่านั้นแก้ตัวให้กับพฤติกรรมบ้าบอและบ้าบิ่นของพวกเขาเอง และตัวสารคดีก็ดูจะไม่ได้สนใจที่จะเปิดเปลือยให้เห็นความลักลั่นของสถาบันต่าง ๆ ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สังคม การเมือง ซึ่งล้วนต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อความผุกร่อนของผู้คนและศาสนาอย่างที่เห็นอยู่นี้แน่ ๆ
อีกข้อที่น่าสนใจและน่าจะเป็นข้อที่ทำให้ภาพน่าขยะแขยงในหนังทวีความขนลุกขนพองขึ้นไปอีก คือความจริงที่ว่าสถานการณ์ในหนัง ซึ่งขยับสับเปลี่ยนไปจดจ่ออยู่กับพิธีกรรมความเชื่อในแต่ละภูมิภาค แง่หนึ่งก็ดูจะประพฤติตัวเป็นแบบจำลองขนาดย่อมย่อของสังคมไทยในภาพใหญ่ ซึ่งกำลังถูกหล่อเลี้ยงด้วย ‘ความเชื่อ’ และ ‘ทุน’ มากกว่าครั้งไหน ๆ ที่เคยเป็นมาในหน้าประวัติศาสตร์ ผลที่เกิดขึ้นคือความย้อนแย้ง พระสงฆ์ (อย่างน้อยก็ที่ปรากฏในตัวสารคดี) ไม่ได้ทำหน้าที่เผยแพร่พระธรรมคำสอน ในทำนองเดียวกับที่ตำรวจก็อาจกลายเป็นผู้ร้าย และทหารไม่ได้ทำหน้าที่รั้วของชาติ พูดได้ว่าในสังคมที่ความมั่งคั่งของประเทศขึ้นอยู่กับการจัดการเบ็ดเสร็จของอภิสิทธิ์ชน คนจนคนรากหญ้าจึงไร้หนทางที่จะลืมตาอ้าปาก และศาสนาที่ควรจะเป็นที่ยึดเหนี่ยว หรือที่พึ่งทางจิตใจในระดับสุดท้าย ก็กลับแปรสภาพกลายไปเป็นนายทุนหน้าเลือดที่จ้องรอคอยจะเข้ามาร่วมกินโต๊ะคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่ง นี่คือสภาวะอันน่าอดสูของสังคมไทย และส่วนที่น่าเศร้าที่สุดคือเรายังมองไม่หนทางที่จะหลุดพ้นไปจากวังวนเหล่านี้ได้เลย
ภาพยนตร์โดย อุรุพงศ์ รักษาสัตย์