
ฉากหนึ่งที่งดงามและคมคายที่สุดใน Burning (2018) ของอีชางดง คือฉากที่แฮมีเต้นรำ ‘Dance of the Great Hunger’ ที่นอกจากการเคลื่อนกายของแฮมีจะสละสลวยจนมิอาจละสายตา งานภาพสามารถบันทึกบรรยากาศช่วง magic hour ได้อย่างวิจิตรงดงาม นี่คือฉากที่ถูกจับวางอย่างน่าพิศวง เต็มไปด้วยนัยยะซ่อนเร้นที่เชื้อเชิญให้คนดูเข้าไปวิเคราะห์ถอดความ
โดยผิวเผินมาก ๆ Burning คือเรื่องราวรักสามเส้าที่สองชายหนุ่มต่างปราถนาอยากจะครอบครองแฮมี หนึ่งคือจงซู เด็กบ้านนอกบ้านจน และเบน เศรษฐีหนุ่มที่ร่ำรวยอย่างไม่มีเหตุผล ทว่าสิ่งที่ทำให้แฮมีดูจะผิดแผกแตกต่างไปจากชายหนุ่มทั้งสอง คือ การที่เธอโหยหา (หรือกระทั่งหิวกระหาย) อิสรภาพและความหมายของชีวิต ขณะที่จงซู หลังจากเรียนจบก็กำลังง่วนอยู่กับการเดินเตะฝุ่น ส่วนเบนก็กำลังใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยไร้จุดหมาย แฮมีที่รากเหง้าของเธอเองก็มาจากชนชั้นแรงงานกำลังขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘อิสรภาพที่แท้จริง’ แง่หนึ่งเธอจึงเป็น ‘The Great Hunger’ และเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดนี้
เพื่อสะท้อนนัยยะของช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่แฮมีกำลังเผชิญ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ฉากนี้จะต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลารอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืน (และในพื้นที่รอยต่อระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ) คนดูสามารถเห็นดวงจันทร์ที่กำลังปรากฎตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ขณะที่ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ ลับขอบฟ้าไปจนเหลือเพียงแสงจันทร์และความมืดมิด ส่วนที่เสียดแทงได้สาหัสดีจริง ๆ คือจังหวะที่กล้องค่อย ๆ เผยให้เห็นธงชาติเกาหลีใต้ปรากฏเข้ามาในจอภาพ ธงชาติที่ลอยอยู่สูงลิ่วโดดเด่นเหนือต้นไม้ใบหญ้าและตัวของแฮมีที่ตอนนี้กลายเป็นเพียงเงามืดดำสนิท นี่คือชาติที่อยู่ไกลเกินกว่าคนชายขอบจะเอื้อมถึง ชาติที่ไม่เห็นหัวคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่มีให้แม้กระทั่งที่ยืนและตัวตน